ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BB-? ในขณะเดียวกันทริสเรทติ้งจัดแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ?Negative? หรือ ?ลบ? อันดับเครดิตสะท้อนถึงทำเลที่ตั้งและคุณภาพที่ดีของโรงแรมของบริษัทซึ่งมีการบริหารงานอย่างมืออาชีพโดยเครือข่ายโรงแรมระดับโลก อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อธุรกรรมการขายและเช่ากลับโรงแรมซึ่งเป็นสินทรัพย์สร้างรายได้เพียงแห่งเดียวของบริษัทให้แก่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (ทรัสต์ฯ) ที่เพิ่งตั้งใหม่นั้นดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนเนื่องจากบริษัทจะมีภาระผูกพันทางการเงินที่จะต้องซื้อโรงแรมกลับจากทรัสต์ฯ ในระยะเวลา 5 ปีหลังจากนั้น นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความเสี่ยงจากการพึ่งพิงรายได้จากสินทรัพย์เพียงแห่งเดียวรวมถึงความเสี่ยงจากการลงทุนด้วยเงินที่ได้จากการขายโรงแรมของบริษัทอีกด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของโอกาสในการฟื้นตัวของการดำเนินกิจการโรงแรมเนื่องจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และความคาดหมายของทริสเรทติ้งที่มีต่อสถานะเครดิตของบริษัทว่าจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อไปอีกในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
แผนการทำธุรกรรมการขายและเช่ากลับ
บริษัทมีแผนจะขาย ?โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเท็ล แอนด์ ทาวเวอร์ส? ให้แก่ทรัสต์ฯ ที่เพิ่งตั้งใหม่โดยมีมูลค่าประมาณ 4.5 พันล้านบาทในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 หลังจากนั้นบริษัทจะเช่าโรงแรมกลับมาด้วยสัญญาอายุ 3 ปีในเบื้องต้นโดยสามารถต่อสัญญาเช่าได้ครั้งละ 1 ปีอีก 2 ครั้งซึ่งจะทำให้สัญญาเช่าอาจมีอายุสูงสุดได้ถึง 5 ปี
บริษัทมีภาระผูกพันที่จะต้องซื้อสินทรัพย์คืนกลับมาจากทรัสต์ฯ ณ สิ้นปีที่ 5 ที่ราคาขายครั้งแรกรวมกับส่วนเพิ่มบางส่วน นอกจากนี้ บริษัทยังมีสิทธิในการซื้อสินทรัพย์คืน ณ สิ้นปีที่ 3 และสิ้นปีที่ 4 ตามราคาที่ได้ตกลงกันไว้อีกด้วย
เงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์จะใช้สำหรับการดำเนินกิจการโรงแรมในช่วงที่บริษัทได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และใช้ในการบำรุงรักษาและปรับปรุงโรงแรม ส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับการลงทุนโดยมีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะนำผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนและกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานมาใช้ในการซื้อสินทรัพย์คืน ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะทำการลงทุนจากเงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์ด้วยความรอบคอบเนื่องจากเงินดังกล่าวจะเป็นแหล่งเงินทุนหลักที่บริษัทจะใช้สำหรับการซื้อสินทรัพย์คืนในเวลา 5 ปีหลังจากนี้
ในการวิเคราะห์ของทริสเรทติ้งพิจารณาว่าธุรกรรมการขายและเช่ากลับมีลักษณะเดียวกันกับการกู้ยืมเงิน ในการนี้ ทริสเรทติ้งพิจารณาให้ค่าเช่าภายใต้สัญญาเช่าและส่วนเพิ่มจากการซื้อคืนเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนทางการเงิน ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังพิจารณาให้ผลตอบแทนจากการลงทุนจากเงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในแต่ละปีด้วย
คาดว่าผลการดำเนินงานของโรงแรมจะยังคงอ่อนตัวในปี 2564
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของโรงแรมของบริษัทจะยังคงอ่อนตัวในปี 2564 แต่คาดว่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในปี 2565-2566 ทั้งนี้ ในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นั้น โรงแรมของบริษัทให้บริการแก่ลูกค้าชาวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่โดยเน้นที่กลุ่มการจัดประชุมและงานแสดงสินค้า (MICE) รวมถึงลูกค้าจากบริษัทต่าง ๆ ปัจจุบันโรงแรมมีความพยายามที่จะนำเสนอแผนการส่งเสริมการขายเพื่อดึงดูดลูกค้าในประเทศ แต่อัตราการเข้าพักยังคงอยู่ในระดับต่ำแม้ว่าจะเป็นช่วงก่อนที่จะมีการระบาดรอบที่ 2 ในเดือนธันวาคม 2563 ก็ตาม ทั้งนี้ อัตราการเข้าพักในระดับต่ำเช่นนี้อาจจะกินเวลาไปจนถึงช่วงสิ้นปี 2564 ก่อนที่จะมีการยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะเริ่มฟื้นตัว
ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPAR) ของโรงแรมของบริษัทในปี 2564 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 80% ซึ่งต่ำกว่าปี 2562 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 มาอยู่ที่ระดับประมาณ 30% ซึ่งต่ำกว่าปี 2562 และปี 2566 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 10% ซึ่งต่ำกว่าปี 2562
รายได้ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์เพียงแห่งเดียว
โรงแรมของบริษัทได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและตั้งอยู่ในทำเลที่ดี โดยบริษัทได้ว่าจ้าง Marriott International Inc. ให้เป็นผู้บริหารโรงแรมภายใต้แบรนด์ ?เชอราตัน? ทั้งนี้ เครือข่ายโรงแรมระดับสากลนั้นมีตราสินค้าที่แข็งแกร่ง อีกทั้งยังมีระบบการบริหารจัดการโรงแรมที่ดีและมีช่องทางการขายที่มีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม บริษัทก็เผชิญกับความเสี่ยงจากการดำเนินงานสินทรัพย์เพียงแห่งเดียว ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าการมีโรงแรมหลายแห่งที่มีความหลากหลายกระจายตัวในทำเลที่ตั้งแตกต่างกันไปโดยให้บริการลูกค้าได้หลากหลายกลุ่มนั้นมักจะมีความผันผวนต่อความเสี่ยงในเหตุการณ์ต่าง ๆ ในระดับที่ต่ำกว่า
ภาระหนี้คาดว่าจะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังเสร็จสิ้นธุรกรรมขายและเช่ากลับ
หลังจากการทำธุรกรรมขายและเช่ากลับสินทรัพย์โรงแรมแล้วเสร็จ ภาระหนี้สุทธิของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 4.5 พันล้านบาทเมื่อเทียบกับสถานะปลอดหนี้ของบริษัทในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาทในปี 2564 และจะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 500 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566 โดยอัตราส่วนหนี้ทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับเกินกว่า 100 เท่าในปี 2564 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 7-8 เท่าในช่วงปี 2565-2566 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีแผนลงทุนมูลค่าประมาณ 82 ล้านบาทในระยะ 3 ปีข้างหน้า
สภาพคล่องในระยะสั้นยังไม่น่ากังวล
บริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดย ณ เดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบไปด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 274 ล้านบาท ในขณะที่เงินสดสุทธิที่จะได้จากการขายโรงแรมให้แก่ทรัสต์ฯ จะอยู่ระหว่าง 4 พันล้านบาทถึง 4.5 พันล้านบาท แหล่งเงินสดดังกล่าวของบริษัทถือว่าเพียงพอต่อการใช้เงินทุนในช่วง 12 เดือนข้างหน้าโดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่บริษัทสำรองสภาพคล่องอย่างเพียงพอก่อนที่จะนำเงินส่วนที่เหลือไปใช้ในการลงทุน
ในปี 2564 ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ใช้จ่ายออกไปสุทธิที่ประมาณ 140 ล้านบาทโดยมีแผนในการลงทุนอีกประมาณ 20 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทไม่มีภาระหนี้ที่จะต้องชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จะอยู่ที่จำนวน 170 ล้านบาทในปี 2564 และจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 700 ล้านบาทในปี 2565 และ 900 ล้านบาทในปี 2566
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ประมาณ 15% ในปี 2564 และจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 60% ในปี 2565 และปี 2566
? เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณ 82 ล้านบาทในช่วงประมาณการ 3 ปี
? บริษัทจะขายโรงแรมให้แก่ทรัสต์ฯ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวในด้านผลการดำเนินงานของบริษัทอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ครั้งล่าสุด ตลอดจนความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ นอกจากนี้ การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอาจจะต้องใช้เวลามากกว่าที่คาดการณ์ไว้เนื่องจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลกอาจลดทอนให้อุปสงค์ในด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศถดถดยลง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นนั้นยังไม่เกิดขึ้นในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? หากผลการดำเนินงานของบริษัทกลับมาเป็นปกติหลังจากที่การแพร่ระบาดได้รับการควบคุมได้ในวงกว้างและมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศได้รับการผ่อนคลาย ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทถดถอยลงไปมากกว่าที่ทริสเรทติ้งได้ประมาณการไว้ หรือหากบริษัทนำเงินที่ได้จากการขายโรงแรมไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากกว่าที่คาด
เนื่องจากบริษัทเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ดังนั้น หากอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ ได้รับการปรับลดลงก็จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ROH)
อันดับเครดิตองค์กร: BB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative