ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระดับปานกลางของ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้นโดยตรงในบริษัทในสัดส่วน 50.96% รวมถึงยังสะท้อนอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอีกด้วย ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทมีพื้นฐานมาจากสถานะทางการตลาดที่แข็งแรงของบริษัทในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ตลอดจนสถานะเงินทุนที่มั่นคง ความสามารถในการสร้างผลกำไรที่แข็งแกร่ง และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากการที่บริษัทมีโครงสร้างรายได้ที่ไม่ค่อยกระจายตัวเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระดับปานกลางของบริษัททุนธนชาต
ทริสเรทติ้งมองว่า บล. ธนชาต มีฐานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระดับปานกลางของบริษัททุนธนชาต ปัจจุบันบริษัททุนธนชาตถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 50.96% ในขณะที่ Scotia Netherlands B.V. (Scotia) ถือหุ้นในสัดส่วนที่เหลือ ทั้งบริษัททุนธนชาตและ Scotia ต่างก็แต่งตั้งตัวแทนของตนเข้ามาเป็นกรรมการที่ใช่ไม่เป็นกรรมการอิสระ 1 ท่าน จากทั้งหมด 4 ท่าน นอกจากนี้ บริษัทยังดำเนินงานภายใต้กรอบการกำกับดูแลของกลุ่มทุนธนชาตเหมือนกับบริษัทลูกอื่น ๆ ของบริษัททุนธนชาตอีกด้วย
ทริสเรทติ้งยังเชื่อด้วยว่าบริษัทมีความสำคัญต่อกลยุทธ์ของกลุ่มในระยะยาวเนื่องจากบริษัทมีบทบาทสำคัญในการเติมเต็มกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจด้านการเงินที่หลากหลายของบริษัททุนธนชาต ทั้งนี้ ธุรกิจทางด้านการเงินที่สำคัญอื่น ๆ ภายใต้บริษัททุนธนชาต ได้แก่ ธุรกิจลีสซิ่ง ธุรกิจประกัน และธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ นอกจากนี้ บริษัทยังสร้างรายได้ในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญแก่บริษัททุนธนชาตซึ่งคิดเป็น 17% ของรายได้รวมของบริษัททุนธนชาตอีกด้วย
แข็งแกร่งในกลุ่มลูกค้านักลงทุนสถาบัน
จากการประเมินของทริสเรทติ้งในด้านสถานะทางธุรกิจของ บล. ธนชาตเห็นว่าบริษัทมีสถานะเป็นผู้นำทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยมีส่วนแบ่งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อยู่ที่ระดับ 4.3% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทจัดอยู่ในอันดับที่ 5 เมื่อเทียบกับคู่แข่งในด้านรายได้ในปี 2563 โดยอยู่ในตำแหน่งที่แข็งแกร่งในกลุ่มลูกค้านักลงทุนสถาบันซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 6%-8% ในปี 2563 ตัวเลขดังกล่าวลดลงจากราว ๆ 10%-12% ในปี 2562 แต่ก็ยังคงสูงเป็นอันดับที่ 3 ในบรรดาคู่แข่งที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิต
ทริสเรทติ้งยังคงมองว่าสถานะทางธุรกิจของบริษัทมีความแข็งแกร่งถึงแม้ว่าส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มลูกค้าสถาบันจะลดลงก็ตาม ทั้งนี้ ส่วนแบ่งทางการตลาดที่ลดลงดังกล่าวเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทเป็นหลักเนื่องจาก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนธนชาต จำกัด ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัททุนธนชาตอีกต่อไปภายหลังจากการปรับโครงสร้างของกลุ่มในปี 2562 การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของ บลจ. ธนชาตที่ส่งต่อมาให้บริษัทนั้นลดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทก็สามารถรักษาปริมาณการซื้อขายที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากลูกค้าสถาบันอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ บลจ. ธนชาตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเกิดจากการมีทีมวิจัยที่มีคุณภาพสูงและฝ่ายขายมากประสบการณ์ที่มีความสามารถยากที่จะลอกเลียนแบบได้ ดังนั้น ด้วยขีดความสามารถในการแข่งขันดังกล่าว ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าบริษัทจะค่อย ๆ เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มนักลงทุนสถาบันได้ในระยะปานกลาง
การพึ่งพารายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในระดับสูง
บล. ธนชาต มีการกระจายรายได้ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับคู่แข่งเนื่องจากบริษัทมีการพึ่งพาธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ค่อนข้างสูง ค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์มีสัดส่วนคิดเป็น 68% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2563 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 48% ในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของทริสเรทติ้งก็เห็นว่าความเสี่ยงที่เกิดจากการกระจุกตัวของรายได้นั้นลดลงในระดับหนึ่ง เนื่องจากบริษัทมีรายได้จากลูกค้าในกลุ่มนักลงทุนสถาบันค่อนข้างสูงซึ่งโดยทั่วไปมักมีความเหนียวแน่นมากกว่าและมีความอ่อนไหวต่อราคาน้อยกว่านักลงทุนรายย่อย บริษัทมีสัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการอยู่ที่ 12% ของรายได้รวมในปี 2563 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจาก 2% ในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 15% ในปี 2562
ทริสเรทติ้งคาดว่าการกระจายรายได้ของ บล. ธนชาต จะค่อย ๆ ดีขึ้นในระยะปานกลาง บริษัทจะมุ่งเน้นการขยายบริการที่ปรึกษาการลงทุน (มีชื่อทางการค้าว่า Zeal) และตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ในปี 2563 บริษัทรายงานรายได้ที่จำนวน 49 ล้านบาทจากบริการที่ปรึกษาการลงทุนและ 35 ล้านบาทจากค่าธรรมเนียมการเป็นตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุน ทั้งนี้ ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าบริการเหล่านี้จะช่วยลดการพึ่งพาค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และจะช่วยสร้างฐานรายได้ประจำจากค่าธรรมเนียมที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นให้แก่บริษัทในอนาคต
สถานะเงินทุนที่มั่นคงและความสามารถในการสร้างผลกำไรที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งมองว่าสถานะเงินทุนซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยง (Risk-adjusted Capital Ratio -- RAC) นั้นเป็นจุดแข็งที่สำคัญของบริษัท ทริสเรทติ้งประเมินว่าอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 25% โดยเฉลี่ย 5 ปี (2562-2566) ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 2 ในบรรดาบริษัทหลักทรัพย์ที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับ ซึ่งสถานะเงินทุนที่มั่นคงของบริษัทเป็นเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งในการรับมือกับความสูญเสียจากการดำเนินงานที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นจากความผันผวนของตลาด นอกจากนี้ บริษัทยังมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Ratio -- NCR) อยู่ที่ระดับ 119% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 7% ที่ทางการกำหนด
ความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทอยู่ในระดับแข็งแกร่งเนื่องจากบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ปรับความเสี่ยงอยู่ในระดับที่มั่นคง โดยมีค่าเฉลี่ย 5 ปีของอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Earnings before Taxes to Risk-weighted Assets -- EBT/RWA) สูงกว่า 4.22% (2562-2566) บริษัทแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความมั่นคงของกำไรในระดับสูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถึงแม้ว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีการควบคุมต้นทุนในเชิงรุก ในปี 2563 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิของบริษัทอยู่ที่ระดับ 49.8% ซึ่งต่ำกว่าระดับ 54.2% ในปี 2562 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 66.1% ในปี 2562 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนและรักษาระดับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิให้อยู่ที่ประมาณ 50% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
นโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบ
ทริสเรทติ้งประเมินสถานะความเสี่ยงของบริษัทว่าอยู่ในระดับแข็งแกร่งจากการมีนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบ ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ของบริษัทอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้เนื่องจากการลงทุนโดยบัญชีของบริษัทเองนั้นก็ใช้กลยุทธ์ที่ไม่ผันผวนไปตามตลาดโดยเน้นที่การป้องกันความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทเสนอขายเท่านั้น บริษัทยังมีกรอบการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตที่เข้มงวดซึ่งบริษัทรายงานว่าไม่มีภาระการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นสำหรับหนี้สูญในปี 2563 ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2563 เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทอยู่ที่ 3 พันล้านบาทซึ่งลดลงจาก 3.2 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 และคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 4.9% ของเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของทั้งอุตสาหกรรม ในขณะที่เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์คงค้างของบริษัทคิดเป็น 0.8 เท่าของส่วนทุน ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่านโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบของบริษัททำให้บริษัทมีความเสี่ยงน้อยกว่าคู่แข่งในสภาวะที่ตลาดการเงินมีความผันผวนสูงขึ้นในปัจจุบัน
สถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะแหล่งเงินทุนที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนเงินทุนที่มีเสถียรภาพรวม (Gross Stable Funding Ratio -- GSFR) ของบริษัทอยู่ที่ 166.1% ณ สิ้นปี 2563 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 151.4% ณ สิ้นปี 2562 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่ระดับเกินกว่า 130% ในระยะ 2 ปีข้างหน้าเนื่องจากบริษัทมีการบริหารความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) ที่รอบคอบในธุรกิจให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์อีกทั้งยังมีระดับการกู้ยืมเงินที่ต่ำ
ทริสเรทติ้งมองว่าสถานะสภาพคล่องของ บล. ธนชาต ก็อยู่ในระดับแข็งแกร่งด้วยเช่นกัน อัตราส่วนความครอบคลุมสภาพคล่อง (Liquidity Coverage Measure -- LCM) ของบริษัทค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.7 เท่า ณ สิ้นปี 2563 จากที่ระดับประมาณ 0.6-0.7 เท่าในช่วงปี 2558-2561 ซึ่งเป็นผลมาจากระดับการกู้เงินที่ลดลงหลังจากการขายพอร์ตลงทุนออกไปในปี 2562 เป็นส่วนใหญ่ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนนี้จะอยู่ในระดับสูงกว่า 1.25 เท่าในระยะยาว ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท แต่ธนาคารธนชาตก็ยังคงให้การสนับสนุนด้านเงินทุนและสภาพคล่องแก่บริษัทอย่างต่อเนื่องต่อไปโดยมีวงเงินสินเชื่อ 1.7 พันล้านบาทซึ่ง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564 วงเงินดังกล่าวจำนวน 94% นั้นบริษัทยังไม่ได้เบิกมาใช้
ผลการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ ได้รับอานิสงส์จากมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่แข็งแกร่งขึ้นในปี 2563
ตลาดหุ้นของประเทศไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 โดยเป็นผลจากมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยรายวันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในปี 2563 ส่งผลให้บริษัทหลักทรัพย์ในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งรายงานการเติบโตของรายได้โดยรวมที่ระดับ 12% ในปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่หดตัว 7% ในปี 2562 ผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) รอบใหม่ต่อบรรยากาศของตลาดและมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์นั้นถือว่ามีจำกัด โดยมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยรายวันยังคงแข็งแกร่งที่ระดับ 9.7 หมื่นล้านบาท ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับระดับ 6.7 หมื่นล้านบาทในปี 2563 ดัชนีราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเข้าใกล้ระดับก่อนการระบาดของโรคโควิด 19 โดยมีปัจจัยสนับสนุนซึ่งได้แก่การคาดการณ์รายได้ที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นของภาคธนาคารพาณิชย์และการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวหลังจากการเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในประเทศไทย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2564-2566 มีดังนี้
? ส่วนแบ่งทางการตลาดของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์จะอยู่ที่ระดับประมาณ 3%
? อัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.12%
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิจะอยู่ที่ระดับประมาณ 50%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดซึ่งได้แก่ส่วนแบ่งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งให้คงอยู่ต่อไป นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงซึ่งเป็นมาตรวัดความแข็งแรงของฐานทุนให้อยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 15% ได้ในระยะปานกลาง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 24% อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่บริษัทสามารถรักษาความแข็งแกร่งของส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เอาไว้ได้และมีแหล่งรายได้ที่กระจายตัวมากขึ้น ในทางกลับกัน อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันหากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทลดต่ำกว่า 15% นานอย่างน้อย 2 ปีติดต่อกัน หรือบริษัทมีส่วนแบ่งรายได้ในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง หรือบริษัทมีความสามารถในการสร้างผลกำไรซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- Securities Company Rating Methodology, 9 เมษายน 2563
บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) (TNS)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable