ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A+? และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ (Hybrid Debentures) ของบริษัทที่ระดับ ?A-? พร้อมคงแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ด้วย
อันดับเครดิตดังกล่าวยังคงสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของไทย ตลอดจนการมีฐานการผลิตในประเทศต่าง ๆ รวมถึงการมีสินค้าและตลาดที่หลากหลาย นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความยืดหยุ่นทางการเงินจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ของบริษัทซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งความเสี่ยงจากโรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้าสินค้า
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง
บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างมากในปี 2563 โดยสาเหตุหลักมาจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในธุรกิจสุกร ในขณะที่ธุรกิจสัตว์น้ำในประเทศไทยก็ฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ราคาสุกรในประเทศไทยและเวียดนามปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากจากการขาดแคลนสุกรอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดที่ยาวนานของโรคอหิวาต์อาฟริกาในสุกร (African Swine Fever -- ASF) ส่งผลให้ราคาสุกรโดยเฉลี่ยในประเทศเวียดนามปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ในขณะที่ราคาสุกรในประเทศไทยก็เพิ่มขึ้น 10% ในปี 2563
กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดที่ 8.3 หมื่นล้านบาทในปี 2563 เมื่อเทียบกับ 3.6-5.6 หมื่นล้านบาทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 14.1% ในปี 2563 จากระดับ 7%-10% ในช่วงปี 2560-2562
ในอนาคตข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะได้รับแรงกดดันที่สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและราคาสุกรที่ปรับตัวลดลง ทริสเรทติ้งคาดว่าราคาสุกรจะปรับตัวลดลงจากระดับที่สูงผิดปกติในปีนี้ แต่ก็อาจจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงเนื่องจากสถานการณ์ขาดแคลนสุกรจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์อาฟริกาในสุกรที่น่าจะยังคงอยู่ต่อไปในระยะสั้นถึงปานกลาง
โดยรวมแล้วทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและลดต้นทุน รวมทั้งแผนการเพิ่มกำลังการผลิตของบริษัท ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) นั้นน่าจะช่วยให้ผลการดำเนินงานของบริษัทมีความมั่นคงได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนในธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตของ Tesco Asia ในประเทศไทยและมาเลเซียที่บริษัทซื้อกิจการมาในสัดส่วนจำนวนมาก การลงทุนในครั้งนี้จะช่วยเสริมสถานะทางธุรกิจของบริษัทให้แข็งแกร่งขึ้นทั้งในด้านของช่องทางการจัดจำหน่ายและการขยายสู่ตลาดดังกล่าว
การควบรวมธุรกิจสุกรในประเทศจีน
ในเดือนธันวาคม 2563 บริษัทได้ดำเนินธุรกรรมควบรวมกิจการโดยการรวมธุรกิจอาหารสัตว์ในประเทศจีนเข้ากับธุรกิจสุกรที่ดำเนินงานโดยบริษัทย่อยของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประเทศจีนเป็นตลาดสุกรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและเติบโตเร็วโดยมีมูลค่าตลาดที่ประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายหลังการควบรวมกิจการ บริษัทย่อยของบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 35% ของบริษัทที่ควบรวมรายใหม่ดังกล่าวคือ Chia Tai Investment Co., Ltd. (CTI) ในขณะที่อีก 65% ถือหุ้นโดยบริษัทย่อยรายหนึ่งของเครือเจริญโภคภัณฑ์
การควบรวมกิจการในครั้งนี้จะส่งผลให้รายได้และกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงจากผลของการไม่รวมผลการดำเนินงานของธุรกิจอาหารสัตว์ในประเทศจีนไว้ในงบการเงินรวม ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้รวมของบริษัทจะลดลงประมาณ 1.3 แสนล้านบาทต่อปีและกำไรจากการดำเนินงานจะลดลงประมาณ 7 พันล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม การลดลงของรายได้และกำไรจากธุรกิจอาหารสัตว์ในประเทศจีนจะถูกทดแทนด้วยส่วนแบ่งกำไรและรายได้เงินปันผลจากการถือหุ้นในธุรกิจสุกรครบวงจรที่มีศักยภาพการเติบโตสูงในประเทศจีนต่อไป
ความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้นชั่วคราว
ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีการก่อหนี้จำนวนมากเพื่อซื้อกิจการในช่วงที่ผ่านมา แต่โครงสร้างทางการเงินและกระแสเงินสดเพื่อรองรับการชำระหนี้ของบริษัทกลับปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมากจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง
ด้วยมูลค่าเงินลงทุนในกิจการของ Tesco Asia จำนวน 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท) ส่งผลให้หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.8 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 จากระดับ 3.5 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 59.6% ณ สิ้นปี 2563 จากระดับ 62.1% ณ สิ้นปี 2562 เช่นเดียวกับกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ที่ปรับตัวดีขึ้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอยู่ที่ระดับ 4.5 เท่าในปี 2563 โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 6-8 เท่าในระหว่างปี 2560-2562 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ที่ระดับ 14.6% ในปี 2563 เพิ่มจากระดับ 7%-10% ในระหว่างปี 2560-2562
แม้ว่าความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2563 แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์การเติบโต บริษัทจึงได้วางแผนงบลงทุนจำนวนมากไว้ที่ประมาณ 3-3.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นกลับมาอยู่ที่ระดับ 5-7 เท่าในระหว่างปี 2564-2566 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนคาดว่าจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 60%
สภาพคล่องที่พอเพียง
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้า บริษัทมีเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2564 ประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท ส่วนแหล่งที่มาของเงินสดเพื่อรองรับการชำระหนี้โดยหลัก ๆ จะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ในขณะที่สภาพคล่องของบริษัทนั้นมีเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นรวมประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 เป็นเงินสำรอง นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินลงทุนจำนวนมากใน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศไทยอีกส่วนหนึ่งด้วย ปัจจุบันบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 34.1% ในบริษัทซีพี ออลล์ โดยมูลค่าเงินลงทุนดังกล่าวเมื่อคิดตามราคาตลาด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 แล้วจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนในบริษัทซีพี ออลล์ นี้จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทในช่วงที่ขาดแคลนสภาพคล่องได้
เป็นผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร
บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของประเทศไทย โดยในกลุ่มอาหารสัตว์นั้นบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในแง่ของปริมาณการผลิตประมาณครึ่งหนึ่งในธุรกิจอาหารกุ้งและมีส่วนแบ่งทางการตลาดคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของตลาดอาหารสัตว์บก ส่วนในกลุ่มไก่และสุกรนั้นบริษัทมีปริมาณการผลิตไก่และสุกรภายในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 22% และ 32% ตามลำดับ ทั้งนี้ บริษัทได้ประโยชน์ด้านความได้เปรียบในการแข่งขันจากการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) เนื่องจากบริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของประเทศ
ความหลากหลายทางภูมิศาสตร์และผลิตภัณฑ์
การกระจายตัวของฐานการผลิตและตลาดในเชิงพื้นที่ช่วยลดความเสี่ยงในด้านการดำเนินงานให้แก่บริษัทได้บางส่วน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 บริษัทมีฐานการผลิตอยู่ใน 17 ประเทศซึ่งตั้งอยู่ใน 5 ทวีป โดยในปี 2563 รายได้รวมของบริษัทประมาณ 31% มาจากฐานการผลิตภายในประเทศและอีก 69% มาจากฐานการผลิตในต่างประเทศ กิจการในประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วน 27% ของรายได้รวมของบริษัท ตามมาด้วยรายได้จากกิจการในประเทศเวียดนามในสัดส่วน 18% ส่วนแหล่งรายได้หลักอื่น ๆ นั้นมาจากประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น สหราชอาณาจักร ไต้หวัน อินเดีย สหรัฐอเมริกา กัมพูชา รัสเซีย และตุรกี ซึ่งในแต่ละประเทศมียอดขายคิดเป็นสัดส่วน 2%-4% ของรายได้รวมในปี 2563
แหล่งรายได้หรือตลาดของบริษัทนั้นมีการกระจายตัวในหลากหลายพื้นที่ ทั้งนี้ ยอดขายในประเทศไทยมีสัดส่วนเพียง 26% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2563 ในขณะที่ยอดขายในทวีปเอเชียซึ่งเป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโตในปัจจุบันนั้นมีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็น 61% ของรายได้รวม ส่วนประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้นมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 9% และ 4% ของรายได้รวมตามลำดับ ทั้งนี้ ความพยายามอย่างต่อเนื่องของบริษัทในการกระจายฐานธุรกิจให้ครอบคลุมพื้นที่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นนั้นยังช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดจากโรคระบาดและการกีดกันทางการค้าอีกด้วย
ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ก็ช่วยลดความผันผวนของกำไรของบริษัทได้อีกส่วนหนึ่งด้วย บริษัทเป็นผู้ผลิตสินค้าสัตว์บกและกุ้งที่ครบวงจรโดยมีผลิตภัณฑ์ซึ่งประกอบไปด้วยอาหารสัตว์ เนื้อไก่ สุกร และกุ้ง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ ธุรกิจที่สร้างรายได้มากที่สุดในปี 2563 คือธุรกิจฟาร์ม ได้แก่ ไก่ สุกร และกุ้งซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 47% ของรายได้รวม ตามมาด้วยรายได้จากธุรกิจอาหารสัตว์ (37%) และธุรกิจอาหาร (16%)
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะลดลง 21% ในปี 2564 จากการนำรายได้จากธุรกิจอาหารสัตว์ในประเทศจีนออกไปจากงบการเงินรวมและรายได้จะเติบโตที่ระดับ 4% ต่อปีในช่วงปี 2565-2566
? อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ในระดับประมาณ 12%-15% ในช่วงปี 2564-2566
? หากไม่รวมการซื้อกิจการ ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3-3.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2566
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเอาไว้ได้ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าความหลากหลายของการดำเนินงาน ตลอดจนผลิตภัณฑ์ และตลาดของบริษัทจะช่วยลดทอนผลกระทบจากความผันผวนของสินค้าการเกษตรซึ่งคล้ายกับสินค้าโภคภัณฑ์และโรคระบาดลงได้บางส่วน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและบริษัทแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสามารถในการชำระหนี้ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่คาด หรือบริษัทหรือมีการก่อหนี้เพื่อซื้อกิจการจนส่งผลให้งบดุลและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงจนส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 8 เท่าอย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid Securities), 12 กันยายน 2561
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
CPF218A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
CPF218B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
CPF225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
CPF228A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
CPF231A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
CPF235A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
CPF237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,940 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
CPF244A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
CPF246A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 8,407.6 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
CPF246B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,725 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
CPF24NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
CPF251A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,460 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
CPF257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
CPF261A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 13,064.5 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+
CPF276A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,164.4 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+
CPF276B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,643 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+
CPF277A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+
CPF281A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,540 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
CPF281B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,028.7 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
CPF28NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
CPF30NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A+
CPF311A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,034.4 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A+
CPF314A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A+
CPF326A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 940 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 A+
CPF328A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 A+
CPF331A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,372.4 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2576 A+
CPF356A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,120 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2578 A+
CPF418A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2584 A+
CPF41DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2584 A+
CPF17PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 15,000 ล้านบาท A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable