ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. บัตรกรุงไทย” เป็น “AA-” จาก “A+” และจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 1.2 หมื่นล้านบาท ที่

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 2, 2021 15:03 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ ?AA-? จากระดับ ?A+? ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1.2 หมื่นล้านบาท อายุไม่เกิน 10 ปีของบริษัทที่ระดับ ?AA-? ด้วยเช่นกัน โดยอันดับเครดิตดังกล่าวได้รวมการปรับเพิ่มสถานะเครดิตของบริษัทอันเนื่องมาจากการที่บริษัทเป็นบริษัทย่อยซึ่งมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวเป็นผลมาจากมุมมองของทริสเรทติ้งที่เห็นว่าบูรณาการระหว่างบริษัทและกลุ่มธนาคารกรุงไทยมีเพิ่มมากยิ่งขึ้นซึ่งเห็นได้จากบทบาทที่ชัดเจนของบริษัทในการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กลุ่มธนาคารกรุงไทย

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทยังคงสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลของบริษัท ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงทางด้านเครดิตที่มีความระมัดระวังซึ่งช่วยสนับสนุนคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงการมีฐานทุนที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งถูกลดทอนลงจากแรงกดดันที่มีต่อความสามารถในการทำกำไรอันเนื่องมาจากการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ย ตลอดจนการแข่งขันที่รุนแรง และภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

บริษัทเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทย

ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทมีฐานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทยซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 49.29% บริษัทมีฐานะเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของกลุ่มธนาคารกรุงไทยในธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคโดยส่วนใหญ่เป็นการให้บริการสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ หลังจากมีการปรับโครงสร้างของกลุ่มเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยบริษัทจะเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 75.05% ใน บริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง ซึ่งจะทำให้บริษัทมีความสำคัญต่อกลุ่มธนาคารกรุงไทยมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านการเงินและธุรกิจจากธนาคารกรุงไทยต่อไป ในการนี้ ทริสเรทติ้งเห็นว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่บริษัทจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากธนาคารกรุงไทยเมื่อบริษัทตกอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในการเพิ่มทุนจากธนาคารกรุงไทยเนื่องจากเป็นนโยบายของกลุ่มที่จะไม่ทำให้บริษัทกลายเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจโดยจะยังคงสถานะของบริษัทไว้ให้เป็นบริษัทลูกภาคเอกชน

ในด้านของความร่วมมือทางธุรกิจนั้น บริษัทได้วางกลยุทธ์ทางธุรกิจให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของกลุ่มธนาคารกรุงไทย บริษัทใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาของธนาคารกรุงไทยที่มีอยู่ทั่วประเทศในการเสนอผลิตภัณฑ์และให้บริการลูกค้าร่วมกัน ทั้งนี้ ประมาณ 40% ของบัตรเครดิตที่ออกใหม่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นการแนะนำมาจากธนาคารกรุงไทย บริษัทและธนาคารกรุงไทยยังมีความร่วมมือด้านการตลาดระหว่างกันและใช้แบรนด์ร่วมกันอีกด้วย ในขณะที่ระบบบริหารความเสี่ยงของบริษัทก็ได้รับการบูรณาการให้รวมอยู่ในระบบบริหารความเสี่ยงของธนาคารกรุงไทยด้วยเช่นกัน สำหรับในด้านความร่วมมือทางการเงินนั้น บริษัทได้รับการสนับสนุนทางด้านสภาพคล่องอย่างต่อเนื่องจากธนาคารกรุงไทยในรูปของวงเงินที่ไม่สามารถยกเลิกได้

สถานะทางการตลาดที่เข้มแข็ง

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัทอันได้แก่ธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลเอาไว้ได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งเป็นผลมาจากจุดแข็งในด้านการตลาดของบริษัทและแบรนด์ที่แข็งแกร่ง

บริษัทยังคงรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 13% ของสินเชื่อบัตรเครดิตและ 7% ของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นประกันเอาไว้ได้ในปี 2563 ถึงแม้ว่าผลกระทบจากการปิดเมือง (Lockdown) อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) จะส่งผลต่อปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2563 แต่การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของบริษัทลดลงเพียง 8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งน้อยกว่าอุตสาหกรรมที่หดตัวลงถึง 13% ทั้งนี้ เป็นผลเนื่องมาจากการรณรงค์ส่งเสริมการตลาดที่มีประสิทธิภาพของบริษัท

เงินให้สินเชื่อคงค้างของบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 9 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ระดับ 4% จากปีก่อนหน้า โดยสินเชื่อบัตรเครดิตเติบโต 6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าและสินเชื่อส่วนบุคคลเติบโต 1% จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีสินเชื่อคงค้างซึ่งประกอบด้วยสินเชื่อบัตรเครดิตคิดเป็นสัดส่วน 67% ของสินเชื่อรวมของบริษัท ในขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลคิดเป็น 33%

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าเงินให้สินเชื่อรวมของบริษัทจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 5%-8% ต่อปีในช่วงปี 2564-2566 ซึ่งจะมีปัจจัยสนับสนุนจากความพยายามทางการตลาดของบริษัทและการออกบัตรเครดิตแก่ลูกค้ารายใหม่ ๆ บริษัทมีเป้าหมายในการออกบัตรเครดิตใหม่จำนวน 200,000 บัตรในปี 2564 โดยทริสเรทติ้งคาดว่าปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะกลับมาดีขึ้นโดยจะขยายตัวที่ระดับ 5% ต่อปีในช่วงปี 2564-2566 อันเป็นผลมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัว สำหรับการขยายฐานสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น บริษัทจะให้ความสำคัญกับฐานลูกค้าเดิมที่ยังใช้วงเงินเบิกถอนไม่เต็มจำนวนและมีเป้าหมายที่จะขยายฐานลูกค้าใหม่อีกจำนวน 130,000 บัญชีในปี 2564 และเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทได้เปิดตัวบริการใหม่คือสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นประกัน อย่างไรก็ตาม การขยายธุรกิจใหม่ดังกล่าวนี้จะเป็นไปอย่างระมัดระวังโดยให้บริการผ่านสาขาในทำเลที่เป็นกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทยซึ่งเน้นลูกค้าในกลุ่มจำกัดเท่านั้น

คงความสามารถในการสร้างผลกำไร

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาความสามารถในการสร้างผลกำไรเอาไว้ได้อย่างต่อเนื่องในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าโดยใช้วิธีบริหารจัดการผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น รวมถึงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยแล้วนั้นถือว่าอยู่ในระดับปานกลางที่ 4.5% ในปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 5.3 พันล้านบาทในปี 2563 ลดลง 3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าโดยมีสาเหตุหลักมาจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นและรายได้หนี้สูญรับคืนที่ลดลงซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 เรื่องเครื่องมือทางการเงิน (TFRS9) และภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมนั้นก็ลดลงด้วยโดยเป็นไปตามปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ผลขาดทุนด้านเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นก็ได้รับการชดเชยบางส่วนจากรายได้ที่แข็งแกร่งจากพอร์ตสินเชื่อที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่มั่นคงที่ระดับประมาณ 13.4% แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยรับจะลดลงก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่มีการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมลดลงมาอยู่ที่ระดับ 32.9% ในปี 2563 จาก 34.1% ในปี 2562 เนื่องจากค่าใช้จ่ายทางด้านการตลาดที่ลดลงในปีที่ผ่านมา

ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 4.5% ในระหว่างปี 2564-2566 โดยประมาณการดังกล่าวมาจากการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะรักษาสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งและควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเอาไว้ได้ ทริสเรทติ้งคาดว่าผลขาดทุนด้านเครดิตมีแนวโน้มจะลดลงจากช่วงก่อนหน้าเนื่องมาจากนโยบายการคัดกรองลูกหนี้ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น อีกทั้งยังคาดด้วยว่าอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 33%-35% ในระหว่างปี 2564?2566 ในขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 12%-12.6% ในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้าจากระดับปัจจุบันที่ 13.4% อันเนื่องมาจากเพดานอัตราดอกเบี้ยรับที่ต่ำลง (เป็น 16% จาก 18%) ตามเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้จากสถานการณ์โรคโควิด 19 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการบริหารจัดการผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของบริษัทจะช่วยชดเชยรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงและช่วยสนับสนุนความสามารถในการทำกำไรได้

คุณภาพสินเชื่อโดยรวมน่าจะยังคงดีอยู่แม้ว่าจะมีแนวโน้มอ่อนแอลง

ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าสถานะความเสี่ยงของบริษัทน่าจะยังคงแข็งแกร่งเนื่องจากนโยบายในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของบริษัทที่มีความระมัดระวังอีกทั้งยังมีการยกระดับระบบการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการตั้งสำรองหนี้สูญที่เพียงพอ ทั้งนี้ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 1.8% ณ สิ้นปี 2563 จากระดับ 1.1% ณ สิ้นปี 2562 แต่ก็ยังคงต่ำกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่มีการปรับลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำของทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ถึงแม้ว่าคุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มที่จะยังคงอ่อนแอลงอีกในปีนี้ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าจะอยู่ในวิสัยที่บริษัทสามารถบริหารจัดการได้ บริษัทมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ระดับ 460% และมีอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 7.5% ในปี 2563 ภายใต้ประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายสำรองของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 6.6%-7.4% ของสินเชื่อโดยเฉลี่ยต่อปีในช่วงปี 2564-2566 เนื่องมาจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นจากเกณฑ์ในการอนุมัติสินเชื่อใหม่ที่เข้มงวดขึ้น โดยจะเห็นได้จากอัตราการอนุมัติบัตรเครดิตที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 30% ในปลายปี 2563 จากระดับประมาณ 40% ในช่วงต้นปี 2563 และลดลงมาอยู่ที่ระดับ 20% จากระดับประมาณ 30% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งนี้ จากประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่าค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทน่าจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 500% ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า

ฐานทุนที่แข็งแกร่ง

ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับฐานทุนของบริษัทจะยังคงค่อนข้างแข็งแกร่งในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า โดยประมาณการว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงโดยเฉลี่ยในระยะเวลา 5 ปีอยู่ที่ระดับประมาณ 16.7% ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 15.4% ฐานทุนของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่เพียงพอสำหรับแผนการขยายธุรกิจในระยะปานกลาง ในขณะเดียวกันภาระหนี้ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำโดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2.9 เท่า ณ สิ้นปี 2563 ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าฐานทุนของบริษัทซึ่งสะสมจากการมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องและนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่มีความระมัดระวังจะทำให้ฐานทุนของบริษัทมีความเข้มแข็งต่อไป โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนเพียงพอที่จะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินที่บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 10 เท่าได้

การระดมทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสถานะเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ การที่บริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั้งจากตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุน รวมทั้งวงเงินสินเชื่อที่มีกับสถาบันการเงินอีกหลายแห่งก็ยังเป็นแหล่งระดมเงินทุนที่หลากหลายซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สถานะเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทได้ บริษัทมีวงเงินกู้ยืมจากธนาคารกรุงไทยจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 โดย 58% ของเงินจำนวนนี้ยังไม่ได้เบิกใช้ ซึ่งวงเงินดังกล่าวช่วยเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมให้แก่บริษัท ทั้งนี้ วงเงินสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทยนี้คิดเป็น 60% ของยอดเงินกู้รวมที่บริษัทได้รับจากสถาบันการเงินอื่น ๆ

ในส่วนของโครงสร้างเงินทุนนั้น ณ สิ้นปี 2563 หนี้สินทางการเงินระยะสั้นมีสัดส่วนคิดเป็น 39% ของหนี้สินทางการเงินรวมของบริษัท ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 30% ในปี 2562 ณ วันที่ 2 เมษายน 2564 บริษัทมีหุ้นกู้ระยะยาวคงค้างจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท โดย 6.5 พันล้านบาทจากจำนวนดังกล่าวจะถึงกำหนดไถ่ถอนในปี 2564 ซึ่งบริษัทมีแผนรองรับการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเก่าแล้ว

คาดว่ายอดสินเชื่อและการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะฟื้นตัว

ธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ถดถอยอันเป็นผลจากการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดลงอย่างมากถึง 30% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 และฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2563 เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและมีการออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ สำหรับตลอดปี 2563 นั้น ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน การปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคตามที่ ธปท. บังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2563 ยังส่งผลกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการในปี 2563 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของระบบค่อนข้างทรงตัวจากมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือลูกหนี้ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของอุตสาหกรรมสำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.91% ณ สิ้นปี 2563 จาก 1.93% ณ สิ้นปี 2562 สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับ 3.45% ณ สิ้นปี 2563 จาก 3.51% ณ สิ้นปี 2562 การคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและการเติบโตของสินเชื่อในปี 2564 ในขณะที่มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ขยายระยะเวลาออกไปนั้นน่าจะช่วยประคับประคองคุณภาพสินเชื่อไม่ให้ถดถอยลงไปกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการกระตุ้นการใช้จ่ายและสร้างรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพื่อชดเชยผลตอบแทนที่ลดลงน่าจะเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการทุกราย

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน ในช่วงปี 2564-2566

? สินเชื่อรวมคงค้างของบริษัทจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 5%-8% ต่อปี

? อัตราผลตอบแทนจะอยู่ในช่วง 15%-15.2%

? ต้นทุนทางการเงินจะอยู่ในช่วง 2.7%-2.9%

? ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 6.6%-7.4%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเอาไว้ได้ ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งด้วยว่าฐานทุนและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้อีกด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีจำกัดในระยะปานกลาง ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่า 12% หรือคุณภาพสินทรัพย์ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจนส่งผลกระทบทำให้อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยเพิ่มสูงเกินกว่า 10% หรือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้เป็นระยะเวลานาน

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงระดับการให้การสนับสนุนที่ธนาคารกรุงไทยมีต่อบริษัท หรือมุมมองของทริสเรทติ้งต่อสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทยเปลี่ยนแปลงไปก็จะมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทได้ด้วยเช่นกัน

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563

บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC)

อันดับเครดิตองค์กร: AA-

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

KTC215A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA-

KTC217A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA-

KTC218A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,350 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA-

KTC21NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 630 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA-

KTC223A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA-

KTC224A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA-

KTC226A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA-

KTC229A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA-

KTC22NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA-

KTC22OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA-

KTC232A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA-

KTC233A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA-

KTC233B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA-

KTC239A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA-

KTC23DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA-

KTC23NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,140 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA-

KTC241A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA-

KTC243A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA-

KTC247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA-

KTC24NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 415 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA-

KTC259A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA-

KTC25NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA-

KTC262A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA-

KTC262B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA-

KTC269A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA-

KTC26DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA-

KTC26NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,030 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA-

KTC278A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA-

KTC278B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA-

KTC27NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA-

KTC27OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA-

KTC282A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,250 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 AA-

KTC288A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,065 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 AA-

KTC297A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 AA-

KTC29OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 AA-

KTC301A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 AA-

หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 12,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 10 ปี AA-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ