อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากการที่ธุรกิจวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลมีรายได้และกำไรที่เติบโตได้ช้ากว่าที่คาด รวมถึงความผันผวนของธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และรายได้จากการให้บริการจัดการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาที่ลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) อีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
รายได้และการทำกำไรได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19
การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบินและงานให้บริการการจราจรทางอากาศ ในปี 2563 บริษัทสร้างรายได้จากการดำเนินงานรวม 9.3 พันล้านบาท ลดลง 35% จากปี 2562 ในขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลง 55% จากปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ 1.4 พันล้านบาท
ธุรกิจการให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information Communication Technology ? ICT Solutions) แบบครบวงจร เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้สูงสุดให้แก่กลุ่มบริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่นโดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของรายได้รวมของบริษัท ทั้งนี้ ในปี 2563 รายได้จากธุรกิจ ICT ซึ่งบริหารโดย บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) (SAMTEL) มีรายได้ลดลง 40% จากปี 2562 มาอยู่ที่ 5.5 พันล้านบาท รายได้จากการให้บริการที่ลดลงอย่างมากของบริษัทสามารถเทลคอม เป็นผลมาจากรายได้ที่หายไปจากโครงการ Advance Passenger Processing System (APPS) และโครงการ Common Use Terminal Equipment (CUTE) เนื่องจากโครงการไม่ได้รับการต่อสัญญา
นอกจากนี้ รายได้ของบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (Cambodia Air Traffic Services Co., Ltd. -- CATS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทที่ทำหน้าที่ให้บริการจัดการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชา ก็ลดลงอย่างมาก โดยรายได้ในปี 2563 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 714 ล้านบาท จากระดับ 2 พันล้านบาทในปี 2562
รายได้จากการให้บริการถ่ายทอดสดรายการกีฬาในธุรกิจดิจิทัลก็ลดลงถึง 60% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ 120 ล้านบาทในปี 2563 จากระดับ 350 ล้านบาทในปี 2562 เนื่องมาจากการลดลงของการแข่งขันกีฬาในช่วงที่มีการปิดเมือง (Lockdown)
มีรายได้จากโครงการใหม่และโครงการที่เริ่มดำเนินการต่อ
ในเดือนมีนาคม 2563 บริษัทได้งานโครงการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศให้แก่กรมสรรพสามิต ระยะเวลาโครงการ 7 ปี มูลค่าโครงการรวม 8.03 พันล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการพิมพ์รหัสควบคุมบรรจุภัณฑ์ (Direct Coding) บนภาชนะบรรจุเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าประเภทสุราแช่ชนิดเบียร์ที่ผลิตในประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าโครงการจะเริ่มดำเนินการพิมพ์รหัสควบคุมบรรจุภัณฑ์ได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564
นอกจากนี้ คาดว่าบริษัทจะมีรายได้จากบริการวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัล (Digital Trunk Radio System) ให้แก่กระทรวงมหาดไทยเข้ามา หลังจากงบประมาณภาครัฐผ่านการอนุมัติแล้ว โดยคาดว่ารายได้จากโครงการดังกล่าวจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ผลการดำเนินงานจะค่อย ๆ ฟื้นตัว
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น โดยคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 1-1.3 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2564-2566 ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีงานระหว่างการพัฒนาที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) มูลค่ารวมเกือบ 1 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณ 70% เป็นงานในธุรกิจ ICT ส่วนที่เหลือเป็นงานในธุรกิจก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยและงานสายส่งไฟฟ้า
ทั้งนี้ คาดว่ารายได้ของบริษัทสามารถเทลคอม จะอยู่ในช่วง 5.5-6.5 พันล้านบาทในช่วง 2564-2566 เมื่อพิจารณาถึงแผนงานโครงการเพื่อการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศแล้ว ทริสเรทติ้งก็คาดว่าการประมูลงานโครงการรับเหมาติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ล่าช้าไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นั้นจะค่อย ๆ เริ่มกลับมาประมูลได้ในปี 2564
สำหรับธุรกิจให้บริการจัดการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชา ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้และกำไรในปี 2564 จะยังได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนเที่ยวบินจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 และจะใช้เวลาอย่างน้อยอีก 24 เดือน ที่จำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารจะกลับมาใกล้เคียงระดับก่อนมีการแพร่ระบาด
ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ในช่วง 11%-19% โดยกำไรจากธุรกิจให้บริการวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลน่าจะค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่การทำกำไรของธุรกิจให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารครบวงจรจะได้รับแรงกดดันจากการที่สัญญาให้บริการงานที่สนามบินซึ่งมีอัตรกำไรสูงยุติลง
ระดับหนี้สินจะเพิ่มสูงขึ้น
บริษัทรายงานหนี้สินทางการเงินจำนวนทั้งสิ้น 9.9 พันล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2563 ซึ่งปรับลดลงจาก 1.14 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับเกือบ 70% ในปี 2563
ในช่วงปี 2564-2566 บริษัทวางแผนจะใช้เงินลงทุนโดยรวมประมาณ 5 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 70%-75% ในขณะที่ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นชั่วคราวในปี 2564 จากภาระหนี้สินทางการเงินที่เพิ่มขึ้นและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ลดลงเล็กน้อย และอัตราส่วนทางการเงินดังกล่าวจะลงลงในระดับต่ำกว่า 6 เท่าในช่วง 2 ปีถัดไปหลังจากที่กำไรของบริษัทฟื้นตัว
เนื่องจากหนี้สินทางการเงินส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นหนี้สินที่ระดับบริษัทย่อยและเป็นหนี้สินเงินกู้โครงการซึ่งมีการโอนสิทธิ์รับเงินไปที่เจ้าหนี้โครงการ ณ เดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่มีสิทธิ์เรียกร้องก่อนต่อหนี้สินทั้งหมดของบริษัทอยู่ที่ระดับสูงกว่า 50% ดังนั้น อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทจะถูกลดทอนอันดับเครดิตลงต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กร 1 ขั้น เพื่อสะท้อนความเสี่ยงเรื่องการด้อยสิทธิ์
ต้องใช้เงินกู้ใหม่เพื่อชำระคืนหนี้เงินกู้เดิม
บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1.9 พันล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2563 และจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอีกประมาณ 0.7-1.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 12-24 เดือน ในขณะที่ความต้องการใช้เงินทุนจะประกอบด้วยเงินลงทุนและภาระหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนปีละประมาณ 1-2.5 พันล้านบาทในระหว่างปี 2564-2566 บริษัทมีภาระหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระประมาณ 1.4 พันล้านบาทในปี 2564 และอีกประมาณ 3.3 พันล้านบาทในปี 2565
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 1-1.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2566
? อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 11%-19%
? ค่าใช้จ่ายในการลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 5 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งต่อสถานะทางการแข่งขันของบริษัทในธุรกิจให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจดิจิทัลจะปรับตัวดีขึ้น และบริษัทจะมีแหล่งรายได้ใหม่จากโครงการพิมพ์รหัสควบคุมบรรจุภัณฑ์ที่จะสร้างรายได้จากการบริการอย่างต่อเนื่อง และจะช่วยทำให้บริษัทมีรายได้อย่างความสม่ำเสมอในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าได้ ในขณะเดียวกัน ก็คาดหวังว่าบริษัทจะดำเนินนโยบายในการลงทุนอย่างรอบคอบและบริหารจัดการสภาพคล่องอย่างระมัดระวัง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ความเสี่ยงจากการปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานหรือสถานะทางการเงินที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายสูงเกินกว่า 6 เท่าเป็นระยะเวลานาน ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SAMART)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable