ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “ธ. ทิสโก้” ที่ “A” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 21, 2021 13:47 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงตำแหน่งผู้นำของธนาคารในบริการสินเชื่อรถยนต์ ตลอดจนสถานะเงินกองทุนและความสามารถในการสร้างผลกำไรที่แข็งแกร่ง รวมถึงระบบบริหารจัดการความเสี่ยงที่เข้มงวด อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวก็มีข้อจำกัดจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของธนาคารที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดเล็ก

ทริสเรทติ้งประเมินให้ตำแหน่งทางธุรกิจของธนาคารทิสโก้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง โดย ณ สิ้นปี 2563 ธนาคารทิสโก้จัดเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่อยู่ในอันดับที่ 9 ในแง่ของขนาดสินทรัพย์ ซึ่งธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ระดับ 1.7% และของเงินฝากที่ระดับ 1.4%

การกระจายตัวด้านรายได้ของของธนาคารอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม โดยธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยคิดเป็น 85% และ 15% ของรายได้รวมในปี 2563 ตามลำดับ ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิคิดเป็น 13% ของรายได้รวม ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ทริสเรทติ้งคาดว่าการกระจายตัวของรายได้ของธนาคารจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

เป็นธนาคารพาณิชย์ที่เน้นลูกค้ารายย่อยและมีความแข็งแกร่งในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์

ธนาคารทิสโก้มุ่งเน้นในการทำธุรกิจธนาคารเพื่อรายย่อยเป็นหลักซึ่งคิดเป็น 78% ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารทิสโก้จะยังคงรักษาตำแหน่งที่แข็งแกร่งในการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ต่อไปได้ถึงแม้ว่าอัตราการเข้าถึงลูกค้าจะค่อย ๆ ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งชี้ว่าธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของบริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ระดับ 7.2% ณ สิ้นปี 2562 โดยอยู่ในอันดับที่ 4 จากผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จำนวน 18 รายในประเทศไทย เนื่องจากการมีมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดจึงทำให้อัตราการเข้าถึงลูกค้าของธนาคารค่อย ๆ ลดลงเหลือ 5.3% ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 เทียบกับจุดสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาที่ระดับ 8.0% ที่ธนาคารทำได้ในปี 2559

ในกลุ่มสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นหลักประกันนั้น ธนาคารทิสโก้ให้ความสำคัญกับการขยายพอร์ตสินเชื่อดังกล่าวโดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้นที่ระดับ 7% ในช่วงปี 2561-2563 ทั้งนี้ กลุ่มสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นหลักประกันนั้นประกอบด้วยสินเชื่อที่อยู่ที่ธนาคารทิสโก้และที่ บริษัท ไฮเวย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่ม โดยดำเนินการภายใต้ชื่อ ?สมหวัง เงินสั่งได้? พอร์ตสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นหลักประกันของกลุ่มทิสโก้จัดอยู่ในอันดับที่ 4 ของผู้ประกอบการให้บริการสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นหลักประกันในประเทศไทยที่อยู่ในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง ณ สิ้นปี 2562

เงินกองทุนอยู่ในระดับแข็งแกร่ง

ทริสเรทติ้งประเมินว่าสถานะเงินกองทุนของธนาคารทิสโก้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการที่พอร์ตสินเชื่อหดตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.1% ณ สิ้นปี 2563 โดยการมีสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งทำให้ธนาคารมีเงินสำรองที่เพียงพอจะรองรับความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในสภาวะการเงินตึงตัวได้ ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารจะอยู่ในช่วง 18%-19% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยตัวเลขดังกล่าวได้รวมสมมติฐานของทริสเรทติ้งว่าการเติบโตของสินเชื่อจะอยู่ในระดับคงที่ในปี 2564 และจะเติบโตที่ระดับประมาณ 2% หลังจากนั้น พร้อมทั้งอัตราการจ่ายเงินปันผลในระดับ 50%-85% ไว้แล้ว ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 คิดเป็น 79% ของเงินกองทุนทั้งหมดของธนาคาร ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งบ่งชี้ถึงคุณภาพของเงินกองทุนที่อยู่ในระดับปานกลาง

การลดลงของต้นทุนทางเครดิตจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการสร้างผลกำไร

ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารทิสโก้จะรักษาความสามารถในการสร้างผลกำไรที่แข็งแกร่งต่อไปได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกับคู่แข่งรายอื่น ๆ ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารทิสโก้ได้รับผลกระทบในเชิงลบจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองเพื่อรองรับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารที่ระดับ 1.4% ในปี 2563 นั้นยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.9% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ธนาคารให้ความสำคัญกับการให้บริการสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงและมาตรฐานการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ที่ค่อนข้างดีเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ทั้งนี้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิหลังจากหักต้นทุนทางเครดิต (NIM) ของธนาคารอยู่ที่ระดับ 3.4% ในปี 2563 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 1.9%

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารจะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.6%-1.7% และอัตราดอกเบี้ยสุทธิหลังจากหักต้นทุนทางเครดิตของธนาคารจะอยู่ในช่วง 3.6%-3.7% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า ภายใต้บริบทของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและมุมมองของทริสเรทติ้งที่เห็นว่าคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารน่าจะปรับตัวดีขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าต้นทุนทางเครดิตของธนาคารจะลดลงสู่ระดับปกติที่ 0.8%-0.9% ในปี 2564-2565 หลังจากที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 1.1% ในปี 2563 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมของธนาคารจะอยู่ที่ระดับประมาณ 32%-35% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าด้วย

การจัดการคุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระดับดีเยี่ยม

ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าการจัดการคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารทิสโก้มีความแข็งแกร่งโดยเห็นได้จากคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารที่ดีกว่าของคู่แข่งแม้ว่าธุรกิจสินเชื่อจะมีสภาวะแวดล้อมที่ท้าทายซึ่งเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ก็ตาม อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร (ไม่รวมรายการสินทรัพย์ระหว่างธนาคาร) อยู่ที่ระดับ 2.2% ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 3.9% สินเชื่อประมาณ 21% ของสินเชื่อทั้งหมดเข้าร่วมมาตรการบรรเทาหนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 โดยสินเชื่อจำนวน 4% ของสินเชื่อรวมยังคงอยู่ในโครงการ ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่ามาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดของธนาคารและการให้ความสำคัญกับการให้บริการสินเชื่อที่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกันนั้นเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งของธนาคาร อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารทิสโก้จะเผชิญกับปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอลงเล็กน้อยหลังจากโครงการบรรเทาหนี้สิ้นสุดลงเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ของไทย ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังเชื่อด้วยว่านโยบายการปล่อยสินเชื่อที่รอบคอบและการจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกของธนาคารน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากโรคโควิด 19 ไปได้

โครงสร้างเงินทุนที่ดีขึ้น แต่เงินฝากรายย่อยยังอยู่ในระดับปานกลาง

ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะเงินทุนของธนาคารทิสโก้จะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากธนาคารมีสัดส่วนของเงินฝากจากรายย่อยน้อยกว่าของคู่แข่งโดยอยู่ที่ระดับ 53% ของเงินฝากทั้งหมด ณ สิ้นปี 2563 ด้วยเหตุนี้ต้นทุนเงินฝากของธนาคารจึงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม แต่เมื่อมองในแง่บวก ส่วนผสมของแหล่งเงินทุนของธนาคารยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่ธนาคารลดการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมลง โดย ณ สิ้นปี 2563 เงินฝากของธนาคารคิดเป็น 92.5% ของแหล่งเงินทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 90.6% ณ สิ้นปี 2562 ในขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ระดับ 108.9% ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 96.8% ณ ช่วงเวลาเดียวกัน

สภาพคล่องอยู่ในระดับเพียงพอ

ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารทิสโก้จะยังคงรักษาสถานะสภาพคล่องให้อยู่ในระดับเพียงพอต่อไปได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ณ สิ้นปี 2563 อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมของธนาคารคิดเป็น 23.0% ของเงินฝากทั้งหมด ซึ่งเพียงพอและสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของทริสเรทติ้งที่ระดับ 20% ในขณะที่อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤติ (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) ของธนาคารอยู่ที่ระดับเฉลี่ยที่ 156% ณ เดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำถึงแม้ว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับ 182% ตามตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานก็ตาม

ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีความมั่นคงด้วยระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่งและสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่อยู่ในระดับสูง

ธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูงที่ 5.1% ในปี 2563 ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นอานิสงส์จากการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก ในขณะที่คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมปรับตัวแย่ลงแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ โดยส่วนหนึ่งมีปัจจัยสนับสนุนที่มาจากการบังคับใช้กฎระเบียบที่ประกาศโดย ธปท. ทั้งนี้ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเป็น 3.12% ณ สิ้นปี 2563 จาก 2.98% ณ สิ้นปี 2562

ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากต้นทุนทางเครดิตที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับความสามารถในการทำกำไรและเงินกองทุน ภายหลังจากการสิ้นสุดโครงการบรรเทาหนี้นั้นน่าจะบริหารจัดการได้เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยมีการกันสำรองในระดับที่สูงและมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง ยิ่งไปกว่านั้น สภาพคล่องที่อยู่ระดับสูงในระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยยังเป็นฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าอีกด้วย

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานกรณีพื้นฐานที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์สำหรับการดำเนินงานของธนาคารทิสโก้ในระหว่างปี 2564-2566 เป็นดังนี้

? อัตราการเติบโตของสินเชื่อจะคงตัวในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้น 2% หลังจากนั้น

? ต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับ 0.8%-0.9%

? อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อรวมจะอยู่ที่ระดับ 2.4%-2.5%

? อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะอยู่ที่ระดับ 18%-19%

? อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังจากหักต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับ 3.6%-3.7%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าธนาคารทิสโก้จะยังคงรักษาความสามารถในการสร้างกำไรและสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์เอาไว้ได้ ตลอดจนรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในเกณฑ์ดี และมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตจะขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารทิสโก้ในการรักษาสถานะทางการตลาดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมโดยรวมและเพิ่มการกระจายตัวของโครงสร้างรายให้มากยิ่งขึ้นเป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ คุณภาพสินทรัพย์และสถานะเงินกองทุนน่าจะอยู่ในระดับแข็งแกร่งดังเดิมในขณะที่สถานะเงินทุนค่อย ๆ เพิ่มขึ้น การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นหากคุณภาพสินทรัพย์ ตลอดจนเงินกองทุน และความสามารถในการทำกำไรของธนาคารลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564

- Banks Rating Methodology, 3 มีนาคม 2563

ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (TISCOB)

อันดับเครดิตองค์กร: A

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 70,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2568 A

- TISCO223B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,220 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ