ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A? รวมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของธนาคารที่ระดับ ?A? และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารที่ระดับ ?BBB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการมีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย ตลอดจนเงินกองทุนที่เพียงพอซึ่งได้รับแรงหนุนจากความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง และคุณภาพสินทรัพย์ที่สามารถจัดการได้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากการที่ธุรกิจธนาคารของธนาคารเกียรตินาคินภัทรมีขนาดค่อนข้างเล็ก
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ธุรกิจธนาคารมีขนาดเล็กแต่แข็งแกร่งขึ้น
การประเมินสถานะทางธุรกิจของธนาคารเกียรตินาคินภัทรของทริสเรทติ้งสะท้อนถึงการมีธุรกิจธนาคารที่มีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่น ๆ อย่างไรก็ตามธนาคารเกียรตินาคินภัทรมีตำแหน่งทางการตลาดที่ดีในธุรกิจวาณิชธนกิจและธุรกิจบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล จากฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้ให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของทริสเรทติ้ง ธนาคารเกียรตินาคินภัทรมีส่วนแบ่งการตลาดในระดับปานกลางที่ 5.9% ณ สิ้นปี 2562 ณ สิ้นปี 2563 ธนาคารมีส่วนแบ่งการตลาดสินเชื่อและเงินฝากอยู่ที่ระดับประมาณ 2.1% และ 1.7% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่น
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของธนาคารเกียรตินาคินภัทรมีความแข็งแกร่งขึ้น สิ่งนี้ได้รับแรงหนุนจากความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจตลาดทุนที่แข็งแกร่งของธนาคาร ความร่วมมือดังกล่าวประกอบด้วยการให้สินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมด้านตลาดทุน การแนะนำลูกค้าภายในกลุ่ม และการให้บริการบัญชีเงินฝากของธนาคารเกียรตินาคินภัทรกับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจบริหารความมั่งคั่งของบริษัทหลักทรัพย์ของกลุ่ม (บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร) เพื่อใช้ในการทำธุรกรรมการลงทุน
ผลประกอบการที่แข็งแกร่งได้รับการสนับสนุนจากแหล่งรายได้ที่หลากหลาย
ธนาคารเกียรตินาคินภัทรรายงานผลประกอบการที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ในปี 2563 ผลประกอบการของธนาคารลดลง 14.2% ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงน้อยที่สุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่นๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากแหล่งที่มาของรายได้ที่หลากหลายและการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานที่ทำได้ค่อนข้างดี ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของธนาคารเกียรตินาคินภัทรคิดเป็นประมาณ 66% ของรายได้รวมของธนาคารในปี 2563 ตามมาด้วยธุรกิจตลาดทุน (26%) และธุรกิจบริหารหนี้เสีย (8%) แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของแหล่งรายได้ที่หลากหลายของธนาคารเกียรตินาคินภัทร ซึ่งช่วยประคับประคองธนาคารได้ดีในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ
ทริสเรทติ้งมองธุรกิจตลาดทุนของธนาคารในเชิงบวกว่าเป็นแหล่งการกระจายความเสี่ยงที่ดี แม้ว่าจะก่อให้เกิดความผันผวนของกำไรก็ตาม รายได้และกำไรจากธุรกิจตลาดทุนโดยทั่วไปได้รับผลกระทบจากสภาวะตลาดในประเทศและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาธนาคารได้ดำเนินกลยุทธ์ในการขยายประเภทผลิตภัณฑ์ ให้กับลูกค้าที่มีความมั่งคั่งผ่านการลงทุนโดยตรงในตลาดต่างประเทศและกองทุนหุ้นนอกตลาด แม้ว่าสิ่งนี้จะช่วยกระจายความเสี่ยงในระยะยาว แต่ทริสเรทติ้ง
มองว่าอาจต้องใช้เวลาในการเติบโตเพื่อให้มีผลกระทบเชิงบวกต่อโครงสร้างรายได้ของบริษัท
เงินกองทุนอยู่ในระดับเพียงพอ โดยได้รับการสนับสนุนจากความสามารถในการทำกำไรที่ดี
ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารเกียรตินาคินภัทรจะรักษาสถานะเงินกองทุนให้อยู่ในระดับเพียงพอ โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของที่คาดการณ์ไว้อยู่ในช่วง 15.6%-16.1% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการเงินทุนเชิงรุกของธนาคาร และการเสริมสร้างเงินกองทุนจากภายในที่แข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งประมาณการว่าธนาคารจะขยายพอร์ตสินเชื่อประมาณ 5% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ระดับ 14.3% สูงกว่า ณ สิ้นปี 2562 ที่ระดับ 13.6% เล็กน้อย ในขณะเดียวกันเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของคิดเป็น 78.4% ของเงินกองทุนทั้งหมด ซึ่งบ่งชี้ถึงคุณภาพของเงินกองทุนของธนาคารซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง ในมุมมองของทริสเรทติ้ง เงินกองทุนของธนาคารเกียรตินาคินภัทรอยู่ในระดับเพียงพอที่จะรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจและตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารเกียรตินาคินภัทรจะรักษาความสามารถในการทำกำไรที่มั่นคงเพื่อสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของเงินกองทุนในอีก 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าผลประกอบการของธนาคารในปี 2564-2566 จะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.6%-1.8% จากการเติบโตของสินเชื่อในระดับปานกลางในช่วง 3 ปีข้างหน้า การลดลงของต้นทุนทางเครดิต และการประหยัดต้นทุนด้านการเงินอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารในปี 2563 ลดลงสู่ระดับ 1.52% จากระดับ 1.94% ในปี 2562 แต่ยังดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 0.92% ในช่วงเวลาเดียวกัน
คุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้
ทริสเรทติ้งคาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารเกียรตินาคินภัทรจะปรับตัวอ่อนแอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับที่สามารถจัดการได้ภายหลังจากมาตรการบรรเทาหนี้สิ้นสุดลงในปี 2564 สอดคล้องกับแนวโน้มของอุตสาหกรรม ณ สิ้นปี 2563 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (ไม่รวมเงินลงทุนในสิทธิเรียกร้อง หรือสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ) ลดลงเหลือ 2.9% จาก 4.0% ณ สิ้นปี 2562 สาเหตุหลักมาจากกฎเกณฑ์การยกเว้นการจัดชั้นหนี้ตามประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการบริหารคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกของธนาคาร ทริสเรทติ้งคาดการณ์อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (ไม่รวมเงินลงทุนในสิทธิเรียกร้อง) ของธนาคารจะอยู่ที่ประมาณ 3.4%-4.2% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า และคาดว่าธนาคารจะยังคงตั้งสำรองอย่างรอบคอบที่ระดับสูงในปี 2564 เนื่องจากสภาพแวดล้อมการดำเนินงานที่ท้าทาย
สินเชื่อของธนาคารเกียรตินาคินภัทรที่อยู่ภายใต้มาตรการบรรเทาหนี้ ณ สิ้นปี 2563 ลดลงเหลือประมาณ 11% ของสินเชื่อรวม จากประมาณ 40% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ลูกค้าที่ยังอยู่ในมาตรการทั้งหมดอยู่ในกลุ่มสินเชื่อเชิงพาณิชย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าอพาร์ทเมนต์และโรงแรม และส่วนใหญ่มีอพาร์ทเมนต์และโรงแรมเป็นหลักประกัน ในมุมมองของทริสเรทติ้ง ลูกค้าของธนาคารเกียรตินาคินภัทรในกลุ่มอพาร์ทเมนต์และโรงแรมซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากโรคโควิด 19 อยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ เนื่องจากอัตราส่วนการให้สินเชื่อเทียบกับมูลค่าหลักประกันโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50%
สัดส่วนโครงสร้างเงินทุนดีขึ้น
ทริสเรทติ้งเห็นพัฒนาการในเชิงบวกของสถานะเงินทุนของธนาคารในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากธนาคารมีพัฒนาการที่ดีในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเงินทุน สัดส่วนของบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (Current Account and Savings Account ? CASA) ต่อเงินฝากทั้งหมด เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสู่ระดับ 52.5% จาก 37.5% ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในกลุ่มธนาคารขนาดเล็กด้วยกัน การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2563 นั้นสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของธนาคารในการเพิ่มบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ จากการเปิดตัวบัญชีเงินฝากเพื่อการลงทุนที่ให้ดอกเบี้ยสูงเหมือนเงินฝากประจำ (KKP Smart Settlement -- KKPSS) สำหรับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ฐานเงินฝากที่เพิ่มขึ้นของธนาคารเกียรตินาคินภัทรทำให้ธนาคารสามารถลดต้นทุนทางการเงินลงมาอยู่ที่ระดับ 1.8% ในปี 2563 (1.7% สำหรับค่าเฉลี่ยรายเดือน) จาก 2.3% ในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางการเงินของธนาคารยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 1.4% เล็กน้อยในช่วงเวลาเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นบัญชีเงินฝากเพื่อการลงทุนของธนาคารยังมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวจากขนาดของบัญชีเงินฝากที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ณ สิ้นปี 2563 อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารที่ 105.3% ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 96.8% ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าการลดลงของต้นทุนทางการเงินจะยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากธนาคารมีแผนจะขยายฐานเงินฝากในอีก 2-3 ปีข้างหน้าด้วย KKPSS และบัญชีเงินฝาก e-saving ที่เพิ่งเปิดตัว
สภาพคล่องเพียงพอ
ทริสเรทติ้งมองว่าสถานะสภาพคล่องของธนาคารเกียรตินาคินภัทรอยู่ในระดับเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ณ สิ้นปี 2563 อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมคิดเป็น 22.9% ของเงินฝากทั้งหมด เพียงพอและสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 20% ในมุมมองของทริสเรทติ้ง ในด้านที่เป็นบวก อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤติ (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) ของธนาคารปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเป็น 182.9% โดยเฉลี่ยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 สอดคล้องกับอุตสาหกรรมโดยรวม
ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีความมั่นคงด้วยระดับเงินกองทุนและสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่อยู่ในระดับสูง
ธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูงที่ 5.1% ในปี 2563 ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก ในขณะที่คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมปรับตัวแย่ลงอย่างมากแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ โดยส่วนหนึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการบังคับใช้กฎระเบียบที่ประกาศโดย ธปท. สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเป็น 3.12% ณ สิ้นปี 2563 จาก 2.98% ณ สิ้นปี 2562
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากต้นทุนทางเครดิตต่อความสามารถในการทำกำไรและเงินกองทุน ภายหลังจากการสิ้นสุดมาตรการบรรเทาหนี้น่าจะมีจำกัดเนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยมีการกันสำรองในระดับสูงและมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง ยิ่งไปกว่านั้น สภาพคล่องระดับสูงในระบบธนาคารสนับสนุนฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับการดำเนินงานของธนาคารเกียรตินาคินในระหว่างปี 2564-2566 ดังนี้
? อัตราการเติบโตของสินเชื่อ: 5% ต่อปี
? ต้นทุนทางเครดิต: 1.4%-2.0% ของค่าเฉลี่ยสินเชื่อ
? อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (ไม่รวมเงินลงทุนในสิทธิเรียกร้อง): 3.4%-4.2%
? อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1: 15.6%-16.1%
? ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิหลังหักต้นทุนทางเครดิต: 2.9%-3.2%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าธนาคารเกียรตินาคินภัทรจะยังคงรักษาสถานะเงินกองทุนของธนาคารและคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับแข็งแกร่ง ตลอดจนเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการผสานพลังกับธุรกิจตลาดทุนและธุรกิจบริหารความมั่งคั่งให้มากขึ้นเพื่อรักษาผลการดำเนินงานทางการเงินที่ดีและการกระจายตัวของรายได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตจะขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารเกียรตินาคินภัทรในการพัฒนาธุรกิจธนาคารและความสามารถในการระดมเงินฝาก ในขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ การกระจายตัวของรายได้ รวมไปถึงเสริมสร้างสถานะเงินกองทุนให้แข็งแกร่งขึ้น อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากเงินกองทุน รวมไปถึงคุณภาพสินทรัพย์ หรือสภาพคล่องอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- Banks Rating Methodology, 3 มีนาคม 2563
ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (KKP)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
KK218A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A
KKP224A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
KKP30NA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ Basel III 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 BBB+
KKP314A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ Basel III 2,852 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable