ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานของบริษัทที่ได้รับการยอมรับในธุรกิจฟอกหนังโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ รวมถึงอัตรากำไรในระดับสูงและกระแสเงินสดที่สามารถคาดการณ์ได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากธุรกิจของบริษัทที่มีขนาดเล็กรวมทั้งความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตรากำไรและการกระจุกตัวของฐานลูกค้าในธุรกิจฟอกหนัง นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความเสี่ยงจากการดำเนินงานและระดับการก่อหนี้ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากธุรกิจใหม่ ๆ ที่บริษัทกำลังลงทุนอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ธุรกิจมีการเติบโตแต่มีขนาดเล็ก
ธุรกิจของบริษัทเติบโตขึ้นแต่ยังมีขนาดเล็ก รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทอยู่ในช่วง 1.6-2 พันล้านบาทมาโดยตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเติบโตขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 350 ล้านบาทในปี 2562 และปี 2563 จากระดับต่ำกว่า 100 ล้านบาทในปี 2559 ซึ่งมาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่มีสัดส่วนรายได้และกำไรเพิ่มสูงขึ้น
ในปี 2563 ธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทมีสัดส่วนประมาณ 22% ของรายได้แต่มีสัดส่วนถึงเกือบครึ่งหนึ่งของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายรวม ส่วนธุรกิจฟอกหนังซึ่งประกอบด้วยสินค้าประเภทเบาะหนังรถยนต์ หนังฟอก ของเล่นกัดแทะสำหรับสุนัข และเฟอร์นิเจอร์หนังนั้นยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัท โดยเบาะหนังรถยนต์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของรายได้รวม
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะทรงตัวหรือเติบโตเพียงเล็กน้อยในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยรายได้จากการดำเนินงานรวมน่าจะอยู่ที่ 1.6-2.2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายน่าจะอยู่ในช่วง 290-350 ล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ รายได้และกำไรจากธุรกิจใหม่ซึ่งประกอบด้วยเรือและรถมินิบัสที่ทำด้วยอะลูมิเนียมและโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะนั้นยังคงไม่แน่นอนโดยขึ้นอยู่กับความสำเร็จของธุรกิจดังกล่าว
มีผลงานที่ได้รับการยอมรับในฐานะผู้ฟอกหนังสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจฟอกหนังเอาไว้ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผลิตภัณฑ์ประเภทเบาะหนังรถยนต์ ทั้งนี้ บริษัทเริ่มผลิตเบาะหนังรถยนต์ให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2538 ในฐานะที่เป็นผู้จัดหาสินค้าในกลุ่ม Tier 2 บริษัทผลิตสินค้าให้แก่ผู้จัดหาสินค้าในกลุ่ม Tier 1 ซึ่งผลิตสินค้าให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ เช่น ?ฮอนด้า? ?อีซูซุ? และ ?โตโยต้า? อีกทอดหนึ่ง คุณภาพสินค้าของบริษัทนั้นเป็นที่ยอมรับจากผู้ผลิตรถยนต์เป็นอย่างดีโดยเห็นได้จากการที่บริษัทได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เบาะหนังรถยนต์จะยังคงสร้างรายได้หลักให้แก่บริษัทต่อไปในช่วง 3 ปีข้างหน้า การอยู่ในห่วงโซ่อุปทานธุรกิจผลิตรถยนต์นั้นน่าจะช่วยประกันกระแสรายได้ให้แก่บริษัทเนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์มักจะเลือกผู้จัดหาผลิตภัณฑ์หนังเพียงรายเดียวหรืออย่างมากเพียงไม่กี่รายสำหรับรถยนต์ในโมเดลหนึ่ง ๆ ซึ่งจะมีช่วงอายุอยู่ที่ประมาณ 4-6 ปีโดยไม่นิยมเปลี่ยนผู้จัดหาตลอดอายุของโมเดลรถยนต์รุ่นนั้น ๆ เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพสินค้าของตน ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างบริษัทและผู้ผลิตรถยนต์ช่วยรักษาโอกาสที่บริษัทจะได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดหาผลิตภัณฑ์หนังให้แก่รถยนต์โมเดลใหม่ ๆ
ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของฐานลูกค้า
จุดแข็งในฐานะผู้ผลิตเบาะหนังรถยนต์ที่ได้รับการยอมรับถูกลดทอนลงจากการกระจุกตัวทางธุรกิจที่ค่อนข้างสูงของบริษัท เนื่องจากธุรกิจผลิตรถยนต์ภายในประเทศมีผู้ผลิตรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย บริษัทจึงต้องพึ่งพิงลูกค้าที่มีอยู่ไม่มาก โดยลูกค้าหลัก 3 รายแรกสร้างรายได้ให้แก่บริษัทในสัดส่วนประมาณ 60% ของรายได้รวมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การสูญเสียลูกค้าหลักเพียงรายเดียวหรือการลดลงของรายได้ของลูกค้าหลักรายใดรายหนึ่งก็อาจสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับผู้จัดหาสินค้าในกลุ่ม Tier 1 และผู้ผลิตรถยนต์ก็ช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียลูกค้าลงไปได้บ้าง ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวน่าจะช่วยลดผลกระทบในด้านลบในช่วงที่ธุรกิจผลิตรถยนต์ชะลอตัวได้
สัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าช่วยลดความผันผวนของกำไร
อัตรากำไรที่สูงกว่าและกระแสเงินสดที่มั่นคงมากกว่าของธุรกิจผลิตไฟฟ้าเมื่อเทียบกับธุรกิจฟอกหนังช่วยทำให้กำไรของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นและมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 28% ในปี 2563 จาก 16% ในปี 2559 อันเป็นผลมาจากการมีโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 1 แห่งที่เพิ่มเข้ามาในปี 2560 และโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 1 แห่งในปี 2561 อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 21% จาก 6% ในช่วงเวลาเดียวกัน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าให้อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ในระดับสูงถึง 30%-40% เมื่อเทียบกับธุรกิจหนังฟอกซึ่งอยู่ที่ 5%-15% ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 14% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากแรงหนุนของธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่มีกำไรสูงและมั่นคง ทั้งนี้ นอกจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะทวีความสำคัญมากขึ้นแล้วการปรับลดลงของราคาหนังดิบและความพยายามของบริษัทในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก็ทำให้อัตรากำไรของธุรกิจฟอกหนังเพิ่มขึ้นด้วย
ปัจจุบันบริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจำนวน 2 แห่งที่ดำเนินงานอยู่คือโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญารวมกันที่ขนาด 13 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งดังกล่าวมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และในแต่ละสัญญามีการระบุราคาซื้อขายไฟฟ้าที่ชัดเจนซึ่งทำให้กระแสเงินสดที่บริษัทได้รับจากโรงไฟฟ้านั้นสามารถคาดการณ์ได้ ในทางตรงกันข้าม อัตรากำไรของธุรกิจฟอกหนังนั้นค่อนข้างผันผวนไปตามราคาวัตถุดิบ โดยหนังดิบถือเป็นวัตถุดิบหลักซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 40%-50% ของต้นทุนการผลิต ความที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ก็ทำให้ราคาหนังดิบมีความผันผวนสูง การที่ธุรกิจฟอกหนังยังคงเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลัก ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจึงจะยังคงขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของราคาหนังดิบด้วย
การลงทุนใหม่จะเพิ่มความเสี่ยงในการดำเนินงานและระดับภาระหนี้
บริษัทได้ขยายกิจการไปสู่ธุรกิจเรือและรถมินิบัสที่ประกอบจากอะลูมิเนียมโดยใช้เงินลงทุนไปประมาณ 300 ล้านบาทใน บริษัท สกุลฏ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ออกแบบและผู้จัดจำหน่ายยานพาหนะที่ประกอบจากอะลูมิเนียมในช่วงปี 2561-2563 นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ซึ่งใช้ขยะเชื้อเพลิง (Refuse-derived Fuel -- RDF) เป็นวัตถุดิบด้วย โครงการดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1.3 พันล้านบาท เนื่องจากบริษัทยังไม่เคยมีผลงานเกี่ยวกับธุรกิจใหม่ดังกล่าวมาก่อน ธุรกิจเหล่านี้จึงอาจสร้างทั้งความท้าทายและโอกาสให้แก่บริษัท โดยธุรกิจเรือและรถมินิบัสอะลูมิเนียมนั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น การไม่มีสัญญาขายระยะยาวและการได้รับการยอมรับในคุณภาพของสินค้าถือเป็นปัจจัยที่ท้าทายต่อความสำเร็จในธุรกิจนี้ ในขณะที่การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะจะช่วยให้ธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทเติบโตขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากขนาดของการลงทุนแล้ว หากบริษัทไม่มีเงินเพิ่มทุนใหม่เข้ามาเลยก็อาจเป็นสิ่งที่สร้างภาระให้แก่งบดุลของบริษัทได้ นอกจากนี้ บริษัทอาจจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการดำเนินงานที่เกิดจากความล่าช้าในการก่อสร้าง หรือจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม หรือการต่อต้านจากชุมชนในท้องถิ่น หรือมีความเสี่ยงในการปฏิบัติงานได้อีกด้วย
โครงการโรงไฟฟ้าขยะดังกล่าวมีการดำเนินการ 2 ระยะ ระยะแรกเป็นการก่อสร้างระบบบริหารจัดการและกำจัดขยะ และระยะที่ 2 เป็นการก่อสร้างระบบผลิตไฟฟ้า ซึ่งในระยะแรกนั้นโครงการจะรับขยะชุมชนมาจากเทศบาลนครนครสวรรค์ก่อนที่จะผ่านกระบวนการคัดแยกและจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) โดยโครงการจะได้ค่าจัดการขยะด้วย ซึ่งก่อนที่จะเริ่มโครงการระยะที่ 2 บริษัทจำเป็นจะต้องได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเสียก่อน หากบริษัทเริ่มโครงการระยะที่ 2 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอาจเพิ่มสูงขึ้นเป็น 7-8 เท่าจาก 5-6 เท่า อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเพิ่มทุนเพื่อลดภาระด้านโครงสร้างเงินทุน ทั้งนี้ หุ้นกู้ของบริษัทมีข้อกำหนดสำคัญในการดำรงอัตราส่วนทางการเงินในส่วนของอัตราส่วนเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนทุนที่ระดับไม่เกิน 3 เท่า ซึ่งบริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าว ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 0.9 เท่า การลงทุนในระยะที่ 2 ของโครงการโรงไฟฟ้าขยะด้วยการก่อหนี้ทั้งหมด 100% อาจทำให้อัตราส่วนเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนทุนของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.4 เท่าได้
สภาพคล่องน่าจะจัดการได้
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถจัดการกับสภาพคล่องในระยะสั้นได้แม้จะมองว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างสูงก็ตาม บริษัทมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้จำนวน 2 ชุดมูลค่ารวมกันประมาณ 516 ล้านบาท บริษัทวางแผนจะชำระหนี้คงค้างหุ้นกู้ CWT205A มูลค่า 235.97 ล้านบาทที่จะครบกำหนดในวันที่ 23 พฤษภาคม 2564 ด้วยเงินกู้ระยะยาวก้อนใหม่จากธนาคารจำนวน 141 ล้านบาท ที่เหลืออีกประมาณ 95 ล้านบาทน่าจะใช้คืนได้ด้วยเงินสดในมือและวงเงินกู้ระยะสั้นคงเหลือที่มีอยู่ สำหรับหุ้นกู้ CWT21NA มูลค่า 280 ล้านบาทที่จะครบกำหนดในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 นั้น บริษัทวางแผนจะขอเงินกู้ระยะยาวจากธนาคารและออกหุ้นกู้เพื่อนำมาชำระ
สมมติฐานพื้นฐาน
? รายได้จากการดำเนินงานรวมจะอยู่ในช่วงประมาณ 1.6-2.2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 14% ในช่วงเวลาประมาณการ
? เงินลงทุนรวมจะอยู่ในช่วงประมาณ 100-600 ล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาประมาณการ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าผลิตภัณฑ์เบาะหนังรถยนต์จะยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทต่อไป ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้ผลิตรถยนต์น่าจะช่วยเป็นหลักประกันที่จะทำให้บริษัทได้สัญญาจัดจ้างผลิตเบาะหนังสำหรับโมเดลรถยนต์ใหม่ ๆ ในอนาคต ในขณะที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้นน่าจะช่วยให้อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทยังคงทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 14% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทน่าจะสามารถจัดการกับสภาพคล่องได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีค่อนข้างจำกัดในช่วงที่บริษัทมีแผนการลงทุนขนาดใหญ่และยังมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถขยายฐานกระแสเงินสดให้ใหญ่ขึ้นอีกทั้งยังรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายให้อยู่ในระดับไม่เกิน 5 เท่าได้อย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือหากสถานะทางการเงินและสภาพคล่องของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่คาดไว้ ซึ่งอาจเกิดจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่รุนแรงยิ่งขึ้นกว่าการคาดการณ์ หรือบริษัทมีการลงทุนด้วยการก่อหนี้มากจนเกินไป
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CWT)
อันดับเครดิตองค์กร: BB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable