ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัท ตลอดจนการมีสินค้าที่อยู่อาศัยจำนวนมากที่มีความหลากหลายในทุกระดับราคา และผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งจากรายได้ที่เติบโตในสินค้าประเภทบ้านจัดสรรและส่วนแบ่งกำไรจำนวนมากจากโครงการร่วมทุน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับปานกลางและการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(โรคโควิด 19) ซึ่งอาจจะเพิ่มความกดดันต่ออุปสงค์ที่อยู่อาศัยให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทเป็น 1 ใน 5 ของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยชั้นนำของประเทศไทย โดยบริษัทมีสินค้าที่หลากหลายในตลาดที่อยู่อาศัยราคาระดับปานกลางจนถึงสูง บริษัทมีแบรนด์หลัก ๆ ในกลุ่มที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรซึ่งประกอบด้วย ?Pleno? ?บ้านกลางเมือง? ?The Centro? ?The City? และ ?The Palazzo? ในขณะที่แบรนด์ในกลุ่มคอนโดมิเนียมประกอบด้วย ?Aspire? ?Life? ?Rhythm? และ ?The Address? บริษัทมีผลงานเป็นที่ยอมรับในเรื่องความสามารถในการปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าที่อยู่อาศัยให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภค อีกทั้งยังสามารถบริหารการก่อสร้างและส่งมอบสินค้าได้ทันตามกำหนดอีกด้วย ซึ่งทำให้แบรนด์สินค้าของบริษัทเป็นที่ยอมรับอย่างสูงในหมู่ลูกค้าในเมืองใหญ่ ๆ นอกจากนี้ ในปี 2563 บริษัทยังได้ขยายโครงการบ้านเดี่ยวไปในต่างจังหวัดภายใต้แบรนด์ใหม่คือ ?อภิทาวน์? และได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าอีกด้วย
รายได้และกำไรของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด 19 ในปี 2563 รายได้ของบริษัทสามารถเติบโตสู่ระดับสูงสุดที่ 3 หมื่นล้านบาทจาก 2 หมื่นล้านบาทในปี 2559 อีกทั้งบริษัทยังได้รับส่วนแบ่งกำไรจำนวนมากจากโครงการร่วมทุนที่ประมาณ 1-1.2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2561-2562 และเพิ่มขึ้นเป็น 1.9 พันล้านบาทในปี 2563 อีกด้วย บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 4.5-5.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2560-2562 และเพิ่มขึ้นเป็น 6 พันล้านบาทในปี 2563 ทั้งนี้ อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทมีความสม่ำเสมออยู่ที่ระดับประมาณ 20% ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
สัดส่วนสินค้าของบริษัทมีความสมดุลโดยมีสินค้าที่หลากหลายครอบคลุมทุกระดับราคา
สัดส่วนสินค้าของบริษัทมีความสมดุลเป็นอย่างดีระหว่างโครงการคอนโดมิเนียมและโครงการบ้านจัดสรร รวมทั้งยังมีความหลากหลายและครอบคลุมเกือบทุกประเภทของที่อยู่อาศัยในตลาดโดยมีทำเลที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่ บริษัทสามารถสร้างแบรนด์บ้านเดี่ยวของตนเองและมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดขายในโครงการบ้านจัดสรรของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.78 หมื่นล้านบาทในปี 2563 จาก 1.8-1.9 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2561-2562 โดยมูลค่ายอดขายของบริษัท (รวมยอดขายจากโครงการร่วมทุน) ในปี 2563 อยู่ที่ 3.17 หมื่นล้านบาท ซึ่งประมาณ 47% เป็นยอดขายจากโครงการบ้านเดียว อีก 41% มาจากโครงการทาวน์เฮ้าส์ และ 12% มาจากโครงการคอนโดมิเนียม
ทริสเรทติ้งมองว่าการที่สินค้าของบริษัทมีความหลากหลายนั้นช่วยทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการปรับสินค้าให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้น รายได้และกำไรของบริษัทยังมีความผันผวนน้อยกว่าบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่น ๆ อีกด้วย บริษัทมีโครงการที่อยู่อาศัยระหว่างการพัฒนา ณ สิ้นปี 2563 ประกอบไปด้วยโครงการบ้านเดี่ยว 43 โครงการ โครงการทาวน์เฮ้าส์ 59 โครงการ และโครงการคอนโดมิเนียม 16 โครงการ (รวมโครงการร่วมทุน 11 โครงการ) โดยสินค้าเหลือขายทั้งหมดซึ่งรวมทั้งที่สร้างแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการก่อสร้างคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบไปด้วยบ้านเดี่ยวในสัดส่วน 32% ทาวน์เฮ้าส์ 40% และคอนโดมิเนียม 28%
คาดว่าบริษัทจะรักษาผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งได้อย่างต่อเนื่อง
ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2563 ดีกว่าประมาณการของทริสเรทติ้ง ถึงแม้จะมีการระบาดของโรคโควิด 19 มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 บริษัทก็ยังสามารถสร้างรายได้สูงสุดที่ระดับ 3 หมื่นล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 25% จากปี 2562 การมีสินค้าจำนวนมากและหลากหลายทำให้โครงการบ้านจัดสรรของบริษัทสร้างรายได้ที่แข็งแกร่งถึง 2.44 หมื่นล้านบาทในปี 2563 โดยเพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับ 1.7-1.8 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2561-2562 ซึ่งรายได้จากโครงการบ้านจัดสรรที่เพิ่มขึ้นนั้นช่วยชดเชยรายได้ที่ลดลงจากโครงการคอนโดมิเนียมในช่วงปี 2562-2563 บริษัทสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นโดยรวมเอาไว้ได้ที่ระดับ 32%-34% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 2.7-2.9 หมื่นล้านบาทต่อปีและจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 4.5-4.8 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.2-3.5 พันล้านบาทต่อปีซึ่งอยู่บนพื้นฐานประมาณการรายได้และกำไรที่จะมาจากยอดขายที่แข็งแกร่งและมูลค่ายอดขายรอการรับรู้รายได้จากโครงการคอนโดมิเนียมร่วมทุนจำนวนมาก
ณ สิ้นปี 2563 มูลค่ายอดขายโครงการของบริษัทที่รอรับรู้เป็นรายได้อยู่ที่ระดับ 1.02 หมื่นล้านบาทซึ่งคาดว่าจะทยอยรับรู้เป็นรายได้ที่ประมาณ 9.8 พันล้านบาทในปี 2564 และส่วนที่เหลือในปี 2565 ส่วนโครงการคอนโดมิเนียมภายใต้โครงการร่วมทุนที่มียอดขายมูลค่าราว ๆ 2.33 หมื่นล้านบาทนั้นคาดว่าจะทยอยส่งมอบให้แก่ลูกค้าเกือบทั้งหมดได้ในช่วงปี 2564-2566 โดยโครงการร่วมทุนมูลค่าประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทคาดว่าจะส่งมอบได้ในปี 2564 และประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ในขณะส่วนที่เหลือจะโอนได้ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในโครงการร่วมทุนประมาณ 1-1.2 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อของโรคโควิด 19
ทริสเรทติ้งคาดว่าอุปสงค์ของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยในปี 2564 จะเติบโตเพียงเล็กน้อยจากปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนคืออัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ การขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรวมทั้งการลดค่าโอนและจดจำนองสำหรับบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทก็น่าจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ที่อยู่อาศัยระดับล่างได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญต่อการฟื้นตัวและผลกำไรในอนาคตของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หากการกระจายวัคซีนมีความล่าช้า อีกทั้งหนี้เสียในกลุ่มผู้กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงขึ้นก็ส่งผลให้นโยบายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารมีความเข้มงวดยิ่งขึ้น ดังนั้น กำลังซื้อของผู้ซื้อบ้านที่ลดลงเมื่อบวกกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจึงจะยังคงส่งผลกดดันต่ออุปสงค์ที่อยู่อาศัยต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ซื้อบ้านระดับราคาปานกลางซึ่งเป็นกลุ่มผู้ซื้อเป้าหมายของบริษัท
เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดคอนโดมิเนียมจากทั้งผู้ซื้อภายในประเทศและต่างประเทศที่ชะลอตัวลง บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่จึงได้เปลี่ยนมามุ่งเน้นโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การแข่งขันในตลาดกลุ่มนี้จึงเริ่มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและอาจส่งผลกดดันอัตรากำไรของบริษัทในระยะสั้นถึงปานกลางได้ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายให้อยู่ที่ระดับเกินกว่า 16% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าเอาไว้ได้
ภาระหนี้อยู่ในระดับปานกลาง
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ทางการเงินของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับปานกลางเช่นนี้ต่อไปในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดย ณ สิ้นปี 2563 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุน (รวมเงินกู้จากกิจการร่วมค้าในสัดส่วน 51%) ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 46.6% ลดลงจาก 56.5% ในปี 2562 ซึ่งอัตราส่วนนี้ลดลงเนื่องจากบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีในกลุ่มโครงการบ้านจัดสรรและยังมีการส่งมอบคอนโดมิเนียมในโครงการร่วมทุนขนาดใหญ่อีกหลายโครงการอีกด้วย
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 45%-50% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า หรือเมื่อหักด้วยเงินสดแล้วอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 0.8-1 เท่า ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ของบริษัทเองคิดเป็นมูลค่า 3-3.5 หมื่นล้านบาทต่อปีและโครงการร่วมทุนมูลค่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า บริษัทได้ตั้งงบประมาณซื้อที่ดินใหม่ (ทั้งสำหรับโครงการของบริษัทเองและของโครงการร่วมทุน) ไว้ที่ 1-1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ดังนั้น อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจึงคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 10%-15% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะอยู่ที่ระดับไม่เกิน 6 เท่า
มีสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบไปด้วยเงินสดในมือจำนวน 3.9 พันล้านบาทและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่ติดเงื่อนไขในการเบิกอีกจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2564 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะมีมากกว่า 3.2 พันล้านบาท ในขณะที่เงินทุนที่บริษัทจะต้องใช้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ระดับ 7.8 พันล้านบาทซึ่งประกอบด้วยภาระในการจ่ายชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้นจำนวน 3.1 พันล้านบาท หนี้สินตามสัญญาเช่าการเงินจำนวน 100 ล้านบาท และหุ้นกู้จำนวน 4.6 พันล้านบาท โดยทั่วไปแล้วบริษัทมักวางแผนระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากการโอนโครงการคอนโดมิเนียม ในขณะที่หนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนส่วนใหญ่นั้นบริษัทมักชำระคืนด้วยเงินสดจากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทน่าจะสามารถบริหารโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางการเงินของเงินกู้ยืมได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขทางการเงินของเงินกู้ยืมที่มีกับธนาคารและหุ้นกู้ บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ให้เกินกว่า 2 เท่า โดยบริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าว ณ เดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 0.71 เท่า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2564-2566 ดังนี้
? บริษัทจะเปิดขายโครงการที่อยู่อาศัยในปี 2564 รวมมูลค่า 4.3 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยคอนโดมิเนียมที่บริษัทพัฒนาเองมูลค่า 4.2 พันล้านบาทและที่พัฒนาภายใต้โครงการร่วมทุนอีกจำนวน 1 หมื่นล้านบาท อีกทั้งจะเปิดขายโครงการบ้านจัดสรรมูลค่า 2.88 หมื่นล้านบาทด้วย โดยในอนาคตหลังปี 2564 เป็นต้นไปบริษัทจะเปิดขายโครงการที่อยู่อาศัยใหม่มูลค่าประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี
? รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ 2.7-2.9 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 ในขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1-1.2 พันล้านบาทต่อปีเนื่องจากโครงการร่วมทุนคาดว่าจะส่งมอบคอนโดมิเนียมให้แก่ลูกค้ามูลค่าประมาณ 1.1-1.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
? งบประมาณในการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการของบริษัทเองจะอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปีและอีกประมาณ 3-4 พันล้านบาทต่อปีสำหรับโครงการภายใต้กิจการร่วมค้า
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันที่เข้มแข็งในกลุ่มสินค้าหลักและจะสามารถปรับปรุงสินค้าให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและความต้องการของลูกค้าได้อย่างสมดุลอีกด้วย นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งด้วยว่าบริษัทจะยังคงดำรงนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังต่อไปและจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้อยู่ในระดับไม่เกิน 55% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าเอาไว้ได้ อีกทั้งยังคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 10%-15%
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจมีการปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากจากระดับในปัจจุบัน หรืออัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 55% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินต่ำกว่า 10% เป็นเวลาต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นหากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นโดยที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 40%-45% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ที่ระดับประมาณ 20% เป็นเวลาต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) (AP)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
AP217A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A-
AP21DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A-
AP221A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
AP222A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
AP228A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
AP238A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,230 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
AP238B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
AP241A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
AP247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
AP248A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 770 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
AP258A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 850 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A-
AP261A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable