ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตประเทศ & พันธบัตรรัฐบาล “สปป. ลาว” เป็น “BBB-” จาก “BBB” แนวโน้ม “Negative”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 14, 2021 17:32 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตประเทศของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และอันดับเครดิตพันธบัตรที่ออกโดย สปป. ลาว เป็นระดับ ?BBB-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? จากระดับ ?BBB? แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? ทั้งนี้ การลดอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการเสื่อมถอยของสถานะดุลการคลังและความเสี่ยงในการดำเนินงานตามแผนการบริหารสภาพคล่องของประเทศในช่วงเวลา 18 เดือนข้างหน้า

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของ สปป. ลาว จากผลกระทบของการแพร่ระบาดซ้ำของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ในภูมิภาคซึ่งอาจส่งผลลดทอนความสามารถของประเทศในการรับมือกับความท้าทายด้านการบริหารสภาพคล่องตลอดจนความเปราะบางในภาคการคลังและการต่างประเทศ

ในขณะที่อันดับเครดิตนั้นสะท้อนถึงสถานะเครดิตประเทศของ สปป. ลาว ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กและมีศักยภาพในการขยายตัวสูง ทริสเรทติ้งคาดว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นแหล่งที่มาของรายได้ที่มีเสถียรภาพของรัฐบาล สปป. ลาว ได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ความสามารถของรัฐบาลในการบริหารจัดการความเสี่ยงในภาคการคลังและการต่างประเทศควบคู่ไปกับการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาทางเศรษฐกิจถือว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของ สปป. ลาว ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ เสถียรภาพทางการเมืองของประเทศยังคงเป็นปัจจัยบวกในการพิจารณาอันดับเครดิตของ สปป. ลาว

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

การบริหารสภาพคล่องมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ทริสเรทติ้งคาดว่า สปป. ลาว จะสามารถชำระหนี้ระยะสั้นได้ในช่วงเวลา 3 เดือนข้างหน้าเนื่องจากรัฐบาลได้เตรียมการจัดหาแหล่งสภาพคล่องเพื่อการชำระหนี้ไว้อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็คาดว่า สปป. ลาว จะยังคงต้องดำเนินการต่าง ๆ เช่น การเจรจาสัญญาเงินกู้ใหม่เพื่อมาทดแทนสัญญาเงินกู้เดิม (รีไฟแนนซ์) การแปรรูปสินทรัพย์บางส่วนของภาครัฐ และการให้สัมปทานต่าง ๆ แก่ภาคเอกชนให้แล้วเสร็จเพื่อให้ทันการณ์ต่อการชำระหนี้ในระยะเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงจากการดำเนินงานที่อยู่ในระดับสูงเมื่อพิจารณาจากความสามารถของรัฐบาลในการชำระหนี้ให้ได้ภายใต้เงื่อนไขเวลาที่กำหนด

สปป. ลาว มีภาระหนี้ที่จะต้องชำระมูลค่า 779 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขตามตลาด (Commercial Obligations) ซึ่งไม่สามารถเจรจาผ่อนผันได้มูลค่า 529 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การขาดดุลงบประมาณส่งผลให้หนี้ภาครัฐเพิ่มสูงขึ้น

ทริสเรทติ้งมองว่าสถานะดุลการคลังของรัฐบาล สปป. ลาว เสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญอันส่งผลให้ภาระหนี้ภาครัฐเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2563 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับ 5.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product -- GDP) จากระดับ 2.6% ในปี 2562 และในช่วงเวลาเดียวกัน รายได้ของรัฐบาลก็ลดลงถึง 15% อันเนื่องมาจากผลกระทบของโรคโควิด 19 ในการนี้ รัฐบาล สปป. ลาว มีความพยายามเป็นอย่างมากในการลดงบประมาณในการลงทุนที่ไม่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงเพื่อเก็บงบประมาณเอาไว้สำหรับใช้ในการชำระหนี้สาธารณะต่างประเทศ

ทริสเรทติ้งคาดว่าการขาดดุลการคลังจะส่งผลให้หนี้ภาครัฐของ สปป. ลาว เพิ่มสูงขึ้น โดยรัฐบาล สปป. ลาว ได้ตั้งเป้าขาดดุลงบประมาณไว้ที่ระดับ 2%-3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2564 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้นมีความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้นจากการกลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ

โรคโควิด 19 โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่าระดับหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศและภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยต่อรายได้ของรัฐบาลนั้นจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับในปี 2563 โดยหนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ 64% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศและภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของรัฐบาลอยู่ที่ระดับ 12% ของรายได้ภาครัฐในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ สถานะทางการคลังของ สปป. ลาว ในช่วง 18 เดือนข้างหน้าน่าจะขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้ การฟื้นตัวของรายได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยืดเยื้ออันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ความพยายามในการเพิ่มความแข็งแกร่งของดุลการคลังเพื่อเพิ่มรายได้ภาษีและควบคุมค่าใช้จ่ายภาครัฐ ภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลที่เพิ่มสูงขึ้น และเงินสดรับจากธุรกรรมของรัฐวิสาหกิจซึ่งเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว

ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของหนี้ภาครัฐจากการอ่อนตัวของค่าเงินกีบและภาระหนี้ที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐวิสาหกิจที่สำคัญบางราย ในทางตรงกันข้าม หากรัฐบาล สปป. ลาว สามารถลดการขาดดุลงบประมาณลงได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งจะถือว่าเป็นพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น

ภาคการต่างประเทศยังคงมีความเปราะบางสูง

ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าความเปราะบางของภาคการต่างประเทศจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันสถานะเครดิตของ สปป. ลาว ต่อไป โดย สปป. ลาว มีการพึ่งพาแหล่งเงินจากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ชำระหนี้ต่างประเทศและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็อยู่ในระดับค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ ระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของ สปป. ลาว เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2563 จากเดิมที่ระดับ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2562 โดยระดับในปี 2563 นั้นเทียบเท่ากับมูลค่าการนำเข้าที่ประมาณ 3 เดือนซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 2 เดือนในช่วงระหว่างปี 2560-2562 และหากไม่นับมูลค่าการนำเข้าที่เชื่อมโยงกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศแล้ว เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะเทียบเท่ากับมูลค่าการนำเข้าที่ประมาณ 4.8 เดือนในปี 2563 โดยเพิ่มขึ้นจาก 3.6 เดือนในปี 2562 แม้ว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ทริสเรทติ้งก็ยังคงคาดว่าดุลการชำระเงินของ สปป. ลาว จะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อไปอีกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจากการชำระคืนสุทธิของหนี้สาธารณะต่างประเทศและการกู้ยืมที่มีแนวโน้มลดลง การลดลงของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2563 อาจจะไม่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างอย่างเต็มรูปแบบนัก หากแต่สะท้อนถึงการนำเข้าที่ชะลอตัวชั่วคราวจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มากกว่า ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงยังคงคาดว่าค่าเงินกีบเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญอันประกอบด้วยเงินหยวนและเงินบาทนั้นจะอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2563 นั้น ค่าเงินกีบอ่อนตัวลงถึง 4.3% เมี่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ทริสเรทติ้งประมาณการว่าสัดส่วนหนี้ต่างประเทศสุทธิต่อรายรับจากดุลการค้าของ สปป. ลาว จะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 225% ในปี 2564 และประมาณการว่าสัดส่วนภาระหนี้สาธารณะต่างประเทศต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะอยู่ที่ระดับสูงประมาณ 110%-120% ในช่วงเวลาเดียวกัน กระทรวงการเงินของลาว (The Ministry of Finance of the Lao PDR -- MOFL) ได้ประมาณการภาระหนี้สาธารณะต่างประเทศของ สปป. ลาว ว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังประมาณการยอดรวมของหนี้ต่างประเทศของ สปป. ลาว ว่าจะขึ้นถึงระดับ

1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 หรือประมาณ 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ โดยในจำนวนดังกล่าวจะมีหนี้สาธารณะต่างประเทศอยู่ที่ระดับ 1.07 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การฟื้นตัวเกิดขึ้นได้ช้า

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของ สปป. ลาว จะฟื้นตัวค่อนข้างช้าโดยประมาณการอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงตามค่าเงินกีบที่ระดับ 4.3% ในปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3.3% ในปี 2563 โดยคาดว่าการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายใต้สมมติฐานที่การยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศในภูมิภาคอันเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศนั้นจะเป็นไปอย่างช้า ๆ อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดซ้ำของโรคโควิด 19 ในภูมิภาคจะเพิ่มความไม่แน่นอนให้แก่แนวโน้มเศรษฐกิจของ สปป. ลาว ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีสัดส่วนประมาณ 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจของ สปป. ลาว ในปี 2562 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment ? FDI) ในด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้นน่าจะมีแนวโน้มที่ค่อยๆ ลดลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าตามมาตรการลดการขาดดุลการคลังของรัฐบาล โดยทริสเรทติ้งคาดว่าไฟฟ้าจะยังคงเป็นสินค้าส่งออกหล้กของ สปป. ลาว จากการที่โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกันทริสเรทติ้งยังมีข้อสังเกตด้วยว่านโยบายของรัฐบาล สปป. ลาว ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาสินค้าอาหารนำเข้าและการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรนั้นถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

การจัดการกับปัญหาความเปราะบางในหลาย ๆ ด้าน

ทริสเรทติ้งมองว่ารัฐบาล สปป. ลาว ได้มีความพยายามเป็นอย่างมากในการจัดการกับปัญหาความเปราะบางทั้งในภาคการคลังและการต่างประเทศในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา โดยกระทรวงการเงินของ สปป. ลาว มีการกำหนดเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณให้ลดลงเหลือ 1% ภายในปี 2568 นอกจากนี้ ยังมีการออกมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของดุลการคลัง เช่น การปรับปรุงการจัดเก็บภาษี การใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างที่ทันสมัย การลดการทำงานซ้ำซ้อนของหน่วยงานภาครัฐ และการลดจำนวนข้าราชการ อีกทั้งรัฐบาลยังตั้งเป้าหมายที่จะจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นพร้อมทั้งชะลอการลงทุนในโครงการที่ไม่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ ในขณะที่ทริสเรทติ้งยังมองว่าความสามารถและความตั้งใจในการแปรรูปสินทรัพย์ของภาครัฐบางส่วนหรือการให้สัมปทานแก่ภาคเอกชนนั้นจะเป็นแหล่งที่มาของความยืดหยุ่นทางการเงินแหล่งหนึ่งของ สปป. ลาว อีกด้วย ในทำนองเดียวกัน การส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าประเภทอาหาร รวมทั้งการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าส่งออกด้านการเกษตร และการให้ความสำคัญกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการส่งออกที่หากประสบความสำเร็จก็น่าจะส่งผลดีต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศได้ในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น หน่วยงานด้านการเงินยังได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อใช้สกุลเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ มารองรับการชำระเงินของกิจการนำเข้าที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้แก่เงินกีบอีกด้วย อย่างไรก็ตาม มาตรการส่วนใหญ่ดังกล่าวยังคงต้องใช้เวลาในการดำเนินการและบรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้ ในขณะเดียวกัน ผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อของโรคโควิด 19 จะยิ่งทำให้ความเปราะบางนานัปการเหล่านี้มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของโอกาสในการฟื้นตัวของ สปป. ลาว เมื่อพิจารณาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดซ้ำของโรคโควิด 19 ในภูมิภาคซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อความสามารถของ สปป. ลาว ที่จะรับมือกับความท้าทายในการจัดการกับปัญหาด้านสภาพคล่องรวมถึงความเปราะบางของภาคการคลังและการต่างประเทศ โดยทริสเรทติ้งมองว่าความเปราะบางในภาคการต่างประเทศอาจส่งผลกระทบต่อการอ่อนค่าของเงินกีบมากยิ่งขึ้น

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

ทริสเรทติ้งอาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตของ สปป. ลาว ลงอีกหากมีสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่เพิ่มสูงขึ้น หรือประเด็นความเปราะบางดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นเกิดปัญหาหนักขึ้นจนส่งผลกระทบทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศเสื่อมถอยลง

ทริสเรทติ้งอาจพิจารณาปรับเพิ่มอันดับเครดิตหากรัฐบาล สปป. ลาว แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่มีนัยสำคัญในการรับมือกับความเปราะบางหลัก ๆ ดังกล่าวพร้อมทั้งความสามารถในการสร้างสภาพคล่อง (Liquidity Buffer) และแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพเพื่อรองรับภาระหนี้ในอนาคตได้

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของประเทศ (Sovereign Credit Rating), 8 ตุลาคม 2556

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)

อันดับเครดิตประเทศ: BBB-

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

MOFL21NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,870.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+ BBB-

MOFL21NB: พันธบัตรรัฐบาล 1,767.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+ BBB-

MOFL22OA: พันธบัตรรัฐบาล 1,019.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB-

MOFL23NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,063.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB-

MOFL23NB: พันธบัตรรัฐบาล 2,546.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB-

MOFL24OA: พันธบัตรรัฐบาล 340.90 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB-

MOFL256A: พันธบัตรรัฐบาล 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB-

MOFL26NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,371.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 BBB-

MOFL27OA: พันธบัตรรัฐบาล 2,967.00 ล้านบาท ไถ่ถอน 2570 BBB-

MOFL28NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,891.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 BBB-

MOFL28NB: พันธบัตรรัฐบาล 532.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 BBB-

MOFL29OA: พันธบัตรรัฐบาล 1,505.50 ล้านบาท ไถ่ถอน 2572 BBB-

MOFL30NA: พันธบัตรรัฐบาล 2,153.20 ล้านบาท ไถ่ถอน 2573 BBB-

MOFL32OA: พันธบัตรรัฐบาล 5,375.50 ล้านบาท ไถ่ถอน 2575 BBB-

MOFL25DA: พันธบัตรรัฐบาล 162 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2568 BBB-

MOFL27DA: พันธบัตรรัฐบาล 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2570 BBB-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ