ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (หรือเรียกว่า ?ทรัสต์ฯ?) ที่ระดับ ?A? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2.5 พันล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 10 ปีของทรัสต์ฯ ที่ระดับ ?A? ด้วยเช่นกัน โดยทรัสต์ฯ จะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปชำระคืนภาระหนี้บางส่วน
โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการที่ทรัสต์ฯ มีตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่ง การกระจายตัวที่ดีของพอร์ตการลงทุน กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ที่แข็งแกร่ง รวมทั้งการมีภาระหนี้สินทางการเงินที่อยู่ในระดับปานกลาง นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความกังวลจากอายุสัญญาเช่าที่ค่อนข้างสั้นและการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ซึ่งอาจกระทบต่อความต้องการและการต่ออายุสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้า
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในฐานะทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าประเภทโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ
ทริสเรทติ้งคาดว่าทรัสต์ฯ จะสามารถดำรงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมของไทยเอาไว้ได้ โดยเป็นทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าประเภทโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศด้วยมูลค่าสินทรัพย์เพื่อการลงทุนจำนวน 4.41 หมื่นล้านบาทและมีพื้นที่ให้เช่าทั้งสิ้น 2.03 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) ณ เดือนมีนาคม 2564 ทรัสต์ฯ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องผ่านการซื้อสินทรัพย์ใหม่ ๆ จากสปอนเซอร์หลักของทรัสต์ฯ คือ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีสถานะเป็นผู้นำในธุรกิจพัฒนาคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าในประเทศไทย อีกทั้งทรัสต์ฯ ยังมองหาโอกาสในการลงทุนในสินทรัพย์ทางด้านอุตสาหกรรมและโลจิสติคส์จากบุคคลภายนอก
ในปีการเงิน 2563 (ปีการเงินของทรัสต์ฯ เริ่มจาก 1 ตุลาคมถึง 30 กันยายน) ทรัสต์ฯ ได้ลงทุนซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมในมูลค่า 4.97 พันล้านบาทประกอบด้วย 2.87 พันล้านบาทจากสปอนเซอร์ และ2.1 พันล้านบาทจากบุคคลภายนอกคือ บริษัท สหไทย พรอพเพอร์ตี้ แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด นอกจากนี้ ในครึ่งแรกของปีการเงิน 2564 ทรัสต์ฯ ได้ลงทุนซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมในมูลค่า 2.79 พันล้านบาทจากสปอนเซอร์ ในขณะเดียวกัน ทรัสต์ฯ ยังมีแผนการลงทุนที่จะซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมในมูลค่าอีกราว 2.1 พันล้านบาทภายในครึ่งหลังของปีการเงิน 2564 อีกด้วย โดยในอนาคต ทรัสต์ฯ ตั้งใจจะลงทุนในสินทรัพย์เพื่อการให้เช่าใหม่ ๆ อีกประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปี
การกระจายตัวที่ดีของพอร์ตการลงทุนด้วยอัตราการให้เช่าที่อยู่ในระดับน่าพอใจ
สินทรัพย์ของทรัสต์ฯ ยังคงมีความหลากหลายเป็นอย่างดีทั้งในแง่ทำเลที่ตั้งและผู้เช่า พื้นที่ให้เช่าของทรัสต์ฯ ประกอบด้วยคลังสินค้าในสัดส่วน 57% และโรงงาน 43% สินทรัพย์ให้เช่าของทรัสต์ฯ กระจายตัวไปในทำเลที่เป็นยุทธศาสตร์ 3 ทำเลสำคัญสำหรับโลจิสติกส์และอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยซึ่งประกอบด้วยเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) คิดเป็นสัดส่วน 59% บริเวณเหนือกรุงเทพฯ 23% และบริเวณตะวันออกของกรุงเทพฯ อีก 18% ผู้เช่าพื้นที่ของทรัสต์ฯ ก็มีความหลากหลาย โดยกระจายตัวอยู่ในอุตสาหกรรมหลายประเภทประกอบด้วยผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (34%) อุตสาหกรรมยานยนต์ (22%) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (19%) และผู้ค้าปลีก (6%) โดยพิจารณาตามพื้นที่เช่า ทั้งนี้ ผู้เช่ารายใหญ่ 10 อันดับแรกของทรัสต์ฯ มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 27% ของพื้นที่เช่าทั้งหมดของทรัสต์ฯ และ 24% ของรายได้ค่าเช่าและบริการ ในครึ่งแรกของปีการเงิน 2564
แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่ทรัสต์ฯ ก็ยังคงรักษาอัตราการให้เช่าที่ระดับ 80%-83% ภายในปีการเงิน 2563 จนถึงครึ่งแรกของปีการเงิน 2564 เอาไว้ได้ อุปสงค์ที่ลดลงจากอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีการเงิน 2563 ถูกชดเชยด้วยอุปสงค์ในคลังสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากผู้ให้บริการโลจิสติกส์ อีกทั้งความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีนทำให้โรงงานหลายแห่งย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย สำหรับปีการเงิน 2564 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและประเทศที่พัฒนาแล้วภายหลังจากมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เช่าที่ดำเนินธุรกิจเพื่อส่งออก นอกจากนี้ การขยายขนาดสินทรัพย์ที่มีอัตราเช่าสูงจากสปอนเซอร์และแผนการขายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้บางส่วนออกไปน่าจะช่วยให้ผลการดำเนินงานของทรัสต์ฯ คงอยู่ที่ระดับปัจจุบันได้
การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด 19 อาจสร้างแรงกดดันต่ออัตราค่าเช่าและอัตราการต่ออายุสัญญา
ในมุมมองของทริสเรทติ้ง ทรัสต์ฯ มีความเสี่ยงจากการที่ผู้เช่าจะไม่ต่ออายุสัญญาเช่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่กินเวลานาน ผู้เช่าบางส่วนอาจตัดสินใจต่ออายุสัญญาก่อนที่สัญญาเช่าฉบับเดิมจะหมดอายุเพียงแค่ 1-2 เดือน อุปสงค์ใหม่จากนักลงทุนต่างชาติที่ชะลอตัวลงจากมาตรการจำกัดการเดินทางที่ยังคงอยู่ อีกทั้ง ผู้เช่าส่วนหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ให้บริการโลจิสติกส์ตัดสินใจต่ออายุสัญญาเช่าสั้นกว่าปกติ ดังนั้น ทรัสต์ฯ มีเวลาที่สั้นลงเพื่อหาผู้เช่ารายใหม่มาทดแทนผู้เช่ารายเดิมที่ไม่ต่อสัญญา อัตราการต่ออายุของสัญญาในปีการเงิน 2563 อยู่ที่ 59% จากเกินกว่า 75% ในช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 67% ในครึ่งแรกของปีการเงิน 2564 ปัจจุบัน สัญญาเช่าส่วนใหญ่ของทรัสต์ฯ มีระยะเวลาการเช่านาน 3 ปี โดย 17% ของพื้นที่เช่าทั้งหมดของทรัสต์ฯ จะครบกำหนดต่อสัญญาในช่วงครึ่งหลังของปีการเงิน 2564 ในขณะที่ 26% ของพื้นที่เช่าทั้งหมดจะครบกำหนดในปีการเงิน 2565 อีก 22% จะครบกำหนดในปีการเงิน 2566 และที่เหลือจะครบกำหนดหลังจากนั้น
ในอนาคต การเติบโตของอุปสงค์ใหม่จากนักลงทุนต่างชาติขึ้นอยู่กับอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศไทย อัตราการเติบโตที่ช้าของอุปสงค์ใหม่จะลดทอนความสามารถในการขึ้นอัตราค่าเช่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราการให้เช่า (รวมการรับประกัน) จะอยู่ที่ระดับประมาณ 81%-84% ในขณะที่อัตราค่าเช่าคลังสินค้าและโรงงานของทรัสต์ฯ จะอยู่ในระดับคงที่ในช่วง 3 ปีข้างหน้า รายได้ของทรัสต์ฯ คาดว่าจะอยู่ที่ 3.2-3.4 พันล้านบาทต่อปีในปีการเงิน 2564-2566
กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ยังคงแข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของทรัสต์ฯ ยังคงแข็งแกร่งจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อสินทรัพย์คุณภาพดีอย่างต่อเนื่องและค่าใช้จ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลดลง ในปีการเงิน 2563 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของทรัสต์ฯ เพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 2.41 พันล้านบาทเนื่องจากการเติบโตของรายได้และค่าใช้จ่ายที่ลดลง รายได้ของทรัสต์ฯ เติบโตขึ้น 9% จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 3.04 พันล้านบาท โดยสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มสินทรัพย์ที่มีอัตราการให้เช่าสูง อีกทั้ง การเปลี่ยนการคิดอัตราภาษีที่ดินจาก 12.5% บนรายได้ค่าเช่าและบริการเป็น 0.3%-0.7% ของมูลค่าทรัพย์สิน (ขึ้นกับมูลค่าทรัพย์สิน) ตามที่กำหนดโดยหน่วยงานของรัฐ และมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 90% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ในปีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ภาษีจ่ายของทรัสต์ฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 79% ในปีการเงิน 2563 เทียบกับ 74% ในปีการเงิน 2562
อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายในปีการเงิน 2563 ของทรัสต์ฯ อยู่ที่ 7 เท่า เช่นเดียวกับในปีการเงิน 2562 เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อสินทรัพย์ใหม่ ทั้งนี้ คาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 75%-77% และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายควรรักษาที่ระดับ 2.5-2.6 พันล้านบาทต่อปีในปีการเงิน 2564-2566 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5-6 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 5-5.5 เท่า
ภาระหนี้สินทางการเงินอยู่ในระดับปานกลาง
ทริสเรทติ้งคาดว่าทรัสต์ฯ จะสามารถคงสถานะทางการเงินไว้ได้ในระดับปานกลาง ภายใต้กลยุทธ์เติบโตของทรัสต์ฯ ทริสเรทติ้งคาดว่าทรัสต์ฯ จะใช้แหล่งเงินเพื่อการลงทุนในอนาคตด้วยการเพิ่มทุนและการกู้ยืมผสมกัน ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าทรัสต์ฯ จะรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อมูลค่าสินทรัพย์รวม (LTV) ไม่ให้เกิน 30% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 5 เท่า
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ทรัสต์ฯ มีอัตราส่วน LTV อยู่ที่ระดับ 24% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายรักษาระดับอยู่ที่ 3.95 เท่า ภายใต้นโยบายการเงิน ทรัสต์ฯ บริหารจัดการแหล่งเงินทุนเพื่อให้มั่นใจว่ารักษาอัตราส่วน LTV ไม่เกิน 30% ในครึ่งแรกของปีการเงิน 2564 ทรัสต์ฯ ได้ลงทุนซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมจำนวน 2.79 พันล้านบาทด้วยการก่อหนี้ 100% ต่อมาได้ทำการเพิ่มทุนมูลค่า 2.82 พันล้านบาทในเดือนมกราคม 2564 เพื่อนำไปใช้ชำระหนี้จากสถาบันการเงินเกือบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ทรัสต์ฯ มีแผนจะลงทุนซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมอีกจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2.1 พันล้านบาทภายในเดือนกันยายน 2564 นี้ ด้วยการกู้ยืม 100% คาดว่าจะทำให้อัตราส่วน LTV เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 28% ณ สิ้นปีการเงิน 2564
ตามเงื่อนไขทางการเงินระบุให้ทรัสต์ฯ จะต้องรักษาอัตราส่วน LTV ให้ต่ำกว่า 60% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายเกินกว่า 5 เท่า ซึ่ง ณ เดือนมีนาคม 2564 ทรัสต์ฯ มีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 24% และ 7 เท่าตามลำดับ ทริสเรทติ้งประเมินว่าทรัสต์ฯ จะไม่มีปัญหาในการปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการเงินดังกล่าวในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้งประเมินว่าทรัสต์ฯ จะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้าจากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน แหล่งสภาพคล่องของทรัสต์ฯ ประกอบไปด้วยเงินสดประมาณ 692 ล้านบาทและวงเงินกู้ยืมที่มีกับสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 1.6 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2-2.5 พันล้านบาทในอีก 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 6-7 เท่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
ณ เดือนมีนาคม 2564 ทรัสต์ฯ มีภาระหนี้คงค้างทั้งสิ้นจำนวน 1.08 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 8.34 พันล้านบาทและเงินกู้ยืมจากธนาคารจำนวน 2.44 พันล้านบาท ทรัสต์ฯ ตั้งใจจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปชำระคืนหุ้นกู้จำนวน 1.8 พันล้านบาทที่ครบกำหนดในเดือนมิถุนายน 2564 และภาระหนี้จากการลงทุนในสินทรัพย์เพิ่มเติมบางส่วน ทรัสต์ฯ มีภาระหนี้ที่จะต้องชำระจำนวน 1.3 พันล้านบาทในปีการเงิน 2565 ตามด้วยจำนวน 500 ล้านบาทในปีการเงิน 2566 และจำนวน 7.18 พันล้านบาทในปีต่อ ๆ มา จากสินทรัพย์ขนาดใหญ่และ LTV ที่ค่อนข้างต่ำ ทรัสต์ฯ จะสามารถรีไฟแนนซ์หนี้ได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? อัตราการให้เช่า (รวมการรับประกัน) จะอยู่ที่ระดับประมาณ 80%-85% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 75%-77% ในปีการเงิน 2564-2566
? เงินทุนสำหรับซื้อสินทรัพย์ใหม่อยู่ที่ 4.8 พันล้านบาทในปีการเงิน 2564 และ 2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2565-2566
? แหล่งเงินเพื่อการลงทุนในการซื้อสินทรัพย์ใหม่จะมาจากทั้งการเพิ่มทุนและการกู้ยืม โดยคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์จะอยู่ที่ระดับไม่เกิน 30%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าอสังหาริมทรัพย์ของทรัสต์ฯ จะสามารถสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอและรักษาอัตราการให้เช่าที่สูงกว่า 80% พร้อมทั้งรักษาอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายให้อยู่ที่ระดับสูงกว่า 70% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าทรัสต์ฯ จะสามารถรักษาอัตราส่วน LTV ไม่ให้เกิน 30% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายให้อยู่ที่ระดับประมาณ 4.5-5.5 เท่าเอาไว้ได้อีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของทรัสต์ฯ อาจได้รับการปรับลดลงหากอัตราการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ลดลงต่ำกว่าประมาณการอย่างมีนัยสำคัญและ/หรือมีการกู้ยืมเพื่อขยายธุรกิจเกินกว่าที่คาดไว้จนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับเกินกว่า 6 เท่าเป็นระยะเวลานาน ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากกระแสเงินสดของทรัสต์ฯ เพิ่มขึ้นหรือโครงสร้างเงินทุนของทรัสต์ฯ แข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและนำไปสู่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ระดับต่ำกว่า 3 เท่าอย่างมั่นคง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์, 12 ตุลาคม 2559
ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FTREIT)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TREIT216A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A
TREIT21DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A
TREIT226A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
TREIT244A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
TREIT256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 380 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A
TREIT286A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,260 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A
TREIT28DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A
FTREIT238A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
FTREIT268A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A
FTREIT274A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 450 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A
FTREIT304A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 550 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 10 ปี A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable