ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (Title Loan) และฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งของบริษัท อีกทั้งยังสะท้อนถึงกำไรที่ดี คุณภาพสินทรัพย์ที่ค่อนข้างคงที่ ตลอดจนแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย และสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอและการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในอุตสาหกรรมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ยังคงเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงดำรงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันต่อไปได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถต่อยอดความชำนาญในการดำเนินธุรกิจรวมทั้งขยายเครือข่ายสาขาและฐานลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 บริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างที่เติบโตขึ้น 17% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมาอยู่ที่ 7.35 หมื่นล้านบาทอันเป็นผลมาจากความพยายามในการทำการตลาดและขยายพื้นที่ดำเนินธุรกิจโดยการเปิดสาขาเพิ่มขึ้น ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 จำนวนสาขาของบริษัทขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5,005 แห่งจากที่มีเป้าหมายที่จำนวน 5,500 แห่งภายในสิ้นปี 2564 ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดสินเชื่อใหม่ของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 10%-20% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2564-2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (Auto Title Loan) ซึ่งยังคงมีอุปสงค์ที่ดีจากผลของภาวะสภาพคล่องที่ตึงตัวอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
เมื่อไม่นานนี้ บริษัทได้กระจายความหลากหลายของธุรกิจโดยขยายสู่ธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มลูกค้าเก่าและลูกค้าปัจจุบันซึ่งมีประวัติในการชำระเงินที่ดี โดยดำเนินการผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท เมืองไทยลีสซิ่ง จำกัด ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจใหม่ดังกล่าวจะช่วยพยุงการเติบโตของยอดสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยรับในระยะยาว ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ยอดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1.2 พันล้านบาท โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสินเชื่อให้ได้ที่ระดับ 5 พันล้านบาทภายในปลายปี 2564
การทำกำไรอยู่ในระดับเพียงพอภายใต้ภาวะแวดล้อมที่ท้าทาย
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาคุณภาพกำไรต่อไปได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2563 ยังคงแข็งแกร่งแม้จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอันเป็นผลสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) โดยความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัท ซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 8.5% ในปี 2563
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 อัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยเมื่อปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปียังคงอยู่ที่ระดับ 8.5% โดยบริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.37 พันล้านบาท เติบโต 11% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งกำไรสุทธิที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิที่สูงขึ้นและการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัท
ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยของบริษัทจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 6%-8% ในระหว่างปี 2564-2566 ซึ่งประมาณการดังกล่าวเป็นผลมาจากการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่ง และควบคุมค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเอาไว้ได้ ถึงแม้ว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงในกลุ่มสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนลดลงก็ตาม ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราดอกเบี้ยรับของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 19% ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้าจากระดับปัจจุบันที่ 19.9% ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการขยายสู่ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่จะช่วยสนับสนุนความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมไว้ที่ระดับ 40%-43% ในระหว่างปี 2564-2566 โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าประสิทธิภาพในการปล่อยสินเชื่อของสาขายังคงเดิม อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตของบริษัทในระหว่างปี 2564?2566 อาจจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าในช่วงที่ผ่านมาเล็กน้อยจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและแนวโน้มที่สินทรัพย์จะเสื่อมถอยลงภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลงในปี 2564
คุณภาพสินทรัพย์ยังอยู่ภายใต้การควบคุม
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษามาตรฐานในการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดและกระบวนการจัดเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพเพื่อที่จะสามารถควบคุมผลขาดทุนจากเครดิตที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในเวลานี้ได้ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 1% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งยังคงเป็นอัตราส่วนที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน ในด้านการตั้งสำรอง บริษัทมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยสำหรับปี 2563 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.4% จากระดับ 1% ในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสแรกของปี 2564 อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 0.8% (ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของบริษัทจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1.1%-1.2% ของสินเชื่อถัวเฉลี่ยในระหว่างปี 2564-2566 ทั้งนี้ จากประมาณการค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นดังกล่าวของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนสำรองสำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 160%-170% ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนดังกล่าว ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 184%
แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้า โดยในปี 2564 คาดว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดรับเฉลี่ยเดือนละประมาณ 3 พันล้านบาทซึ่งมากเพียงพอรองรับกระแสเงินสดออก
ส่วนในด้านของแหล่งเงินทุนนั้น บริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายทั้งจากวงเงินสินเชื่อที่มีกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่งและจากการออกหุ้นกู้และตั๋วแลกเงิน โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 บริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้นจำนวน 2.89 หมื่นล้านบาท ซึ่ง 44% ของวงเงินดังกล่าวนั้นยังไม่ได้มีการเบิกใช้ นอกจากนี้ ในปี 2563 บริษัทยังได้รับสินเชื่อฉุกเฉินดอกเบี้ยต่ำจำนวน 5 พันล้านบาทจากธนาคารออมสินเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องในช่วงที่มีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้อีกด้วย
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 บริษัทยังคงมีอัตราส่วนเงินทุนที่มีเสถียรภาพที่แข็งแกร่งที่ระดับ 154.1% เนื่องจากบริษัทเน้นการใช้เงินกู้ระยะยาวมากกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ณ เดือนมีนาคม 2564 นั้นประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะยาวในสัดส่วนถึง 67% และที่เหลือ 33% เป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น
ฐานทุนยังคงแข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งประเมินฐานทุนของบริษัทให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ๆ ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิต โดยวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยง โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 24.2% ทั้งนี้ ระดับฐานทุนของบริษัทถือว่าเหมาะสมกับอันดับเครดิตในปัจจุบันและเพียงพอต่อการสนับสนุนแผนการขยายสินเชื่อของบริษัทในระยะปานกลาง ทริสเรทติ้งคาดว่าฐานทุนของบริษัทจะอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีผลกำไรที่ดีและนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่มีความระมัดระวัง โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ในช่วง 23.6%-24.8% ในปี 2564-2566
จากประมาณการอัตราเติบโตของสินเชื่อของบริษัทที่ระดับ 10%-15% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะยังปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขสำคัญทางการเงินได้แม้บริษัทยังคงมีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องก็ตาม โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ระดับ 2.6 เท่าในขณะที่เงื่อนไขสำคัญทางการเงินกำหนดให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไว้ที่ระดับ 4.5 เท่า
สินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกันยังคงเติบโตต่อไปได้แม้จะมีแรงกดดันด้านดอกเบี้ยรับ
ถึงแม้ว่าผู้ให้บริการายใหญ่ 3 อันดับแรกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของสินเชื่อลดลงมาอยู่ที่ระดับ 13% ในปี 2563 จากระดับ 30%-40% ในปีก่อนจากมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกแรก แต่สภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากการแพร่ระบาดที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดอุปสงค์ในการกู้ยืมเพื่อนำกระแสเงินสดมาช่วยพยุงธุรกิจและใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชนในกลุ่มเปราะบางด้วยเช่นกัน ซึ่งกรณีดังกล่าวน่าจะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยังคงเติบโตต่อไปในระยะที่ยาวนานขึ้น ถึงแม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อจำนำทะเบียนรถให้เป็น 24% ต่อปี แต่อัตราผลตอบแทนของสินเชื่อก็ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น อีกทั้งคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมก็ยังอยู่ภายใต้การควบคุม ส่งผลให้มีผู้ประกอบการรายใหม่สนใจเข้าสู่ตลาดดังกล่าวมากยิ่งขึ้น การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยรับของผู้ประกอบการโดยเฉลี่ยปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 20% ในปี 2563 อย่างไรก็ตาม การเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่หรือธุรกิจที่สร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม เช่น ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตที่บรรดาผู้ประกอบการพัฒนาออกมานำเสนอนั้นก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยชดเชยรายได้ดอกเบี้ยรับที่ปรับลดลง ซึ่งสิ่งดังกล่าวน่าจะช่วยพยุงผลการดำเนินงานทางการเงินของผู้ประกอบการให้ยังคงแข็งแกร่งต่อไปได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2564-2566 มีดังนี้
? ยอดสินเชื่อใหม่จะเติบโตในช่วง 10%-20%
? อัตราดอกเบี้ยรับจะยังคงอยู่ที่ระดับ 19%
? ค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตจะอยู่ในช่วง 1.1%-1.2%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกันเอาไว้ต่อไปได้ รวมทั้งบริษัทจะมีความสามารถในการทำกำไรที่ยังคงแข็งแกร่งอีกทั้งยังสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อ และรักษาอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทยังคงแข็งแกร่งด้วยอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยที่อยู่ในระดับสูงกว่า 8% และอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 25% อย่างต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่ง ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญหรือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลงมากกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MTC217A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
MTC21NC: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,680.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
MTC222A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,650.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
MTC227B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,043.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
MTC22NB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,349.70 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
MTC22NC: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,163.40 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
MTC232C: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,514 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
MTC237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,756.70 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
MTC23NB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,319.20 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
MTC23NC: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,836.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
MTC243B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,486 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable