ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. ไทยคม” ที่ “BBB+” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 24, 2021 10:46 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่มีลักษณะเฉพาะของบริษัทในฐานะเป็นผู้ให้บริการธุรกิจสื่อสารดาวเทียมเพียงรายเดียวในประเทศไทย ตลอดจนความรู้และความเชี่ยวชาญของบริษัทในตลาดการให้บริการธุรกิจสื่อสารดาวเทียม ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงภาระหนี้ที่อยู่ในระดับปานกลางและสภาพคล่องของบริษัทซึ่งมีเพียงพอที่จะใช้ชำระคืนหนี้ที่จะครบกำหนดและใช้เป็นแหล่งเงินทุนในยามต้องการ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงโอกาสในการเข้าประมูลสิทธิการใช้วงโคจรดาวเทียมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวยังมีปัจจัยลดทอนจากผลการดำเนินการที่อ่อนลงของบริษัทอันเป็นผลจากการลดลงของความจุช่องรับส่งสัญญาณดาวเทียมสำหรับให้บริการด้านการกระจายเสียงและแพร่ภาพออกอากาศ (Broadcasting Satellite) และการลดลงของอัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมบรอดแบนด์ (Broadband Satellite) นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังมีปัจจัยหน่วงรั้งจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมให้บริการสื่อสารดาวเทียมตลอดจนสัญญาสัมปทานการดำเนินงานของบริษัทที่กำลังจะหมดอายุลงอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ช่องสัญญาณดาวเทียมที่ลดลงเป็นปัจจัยกดดันด้านรายได้

รายได้จากดาวเทียมแบบทั่วไป (Conventional Satellite) ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 2.1 พันล้านบาทในปี 2563 และอยู่ที่ระดับประมาณ 500 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งลดลงที่ระดับ 16% ในปี 2563 และยังคงลดลงที่ระดับ 15% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนในไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งเป็นผลจากการปลดระวางดาวเทียมไทยคม 5 รวมถึงการลดลงของบริการที่เกี่ยวข้องและการแข่งขันที่รุนแรงในด้านราคา

การปลดระวางของดาวเทียมไทยคม 5 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทำให้จำนวนความจุของช่องรับส่งสัญญาณดาวเทียมแบบทั่วไปของบริษัทลดลงเหลือ 71 ช่องจาก 111 ช่อง ซึ่งส่งผลให้ลูกค้าบางส่วนที่ไม่สามารถโอนย้ายการใช้บริการไปยังดาวเทียมดวงอื่น ๆ ของบริษัทต้องยกเลิกสัญญาไป นอกจากนี้ จำนวนช่องโทรทัศน์ที่ออกอากาศโดยใช้ดาวเทียมแบบทั่วไปของบริษัทก็ลดลงเหลือ 394 ช่อง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 จาก 972 ช่องในปี 2562

อัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมแบบทั่วไปของบริษัทในปี 2563 จนถึงช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ระดับเกือบ 64% โดยเพิ่มขึ้นจาก 55.5% ในปี 2562 ทั้งนี้ เนื่องจากจำนวนความจุช่องรับส่งสัญญาณที่ลดลงเหลือ 71 ช่องและการใช้บริการของลูกค้าที่มีอยู่จึงทำให้อัตราการใช้บริการของดาวเทียมแบบทั่วไปที่เหลืออยู่นั้นเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ อัตราการใช้งานดาวเทียมไทยคม 7 ที่เพิ่มขึ้นจากการใช้บริการของลูกค้าในประเทศเมียนมาและเวียดนามก็ส่งผลให้อัตราการใช้ดาวเทียมแบบทั่วไปของบริษัทเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ในอนาคตรายได้จากธุรกิจดาวเทียมแบบทั่วไปของบริษัทจะขึ้นอยู่กับการเพิ่มอัตราการใช้ช่องรับส่งสัญญาณของดาวเทียมไทยคม 7 และ ดาวเทียมไทยคม 8 เป็นสำคัญ บริษัทพยายามที่จะขยายการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมสำหรับการเดินเรือ (Maritime Services) ในภูมิภาค อีกทั้งยังวางแผนจะขยายธุรกิจไปยังน่านน้ำทะเลจีนตะวันออกและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงสร้างรายได้เพิ่มเติมจากบริการเสริมด้วย

อัตราการใช้ดาวเทียมไอพีสตาร์ยังคงลดลงต่อเนื่อง

ถึงแม้ว่าอุปสงค์ในการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม (Broadband Satellite Internet) ยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและบริการ Mobile Backhaul เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จุดย่อย ๆ เข้ากับเครือข่ายหลัก แต่บริษัทไทยคมต้องเผชิญกับความยากลำบากในการหาลูกค้าใหม่เนื่องจากสัมปทานดำเนินงานของบริษัทจะหมดอายุในปี 2564 นี้

อัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์อยู่ที่ระดับ 18% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ลดลงจากระดับ 18.5% ในปี 2563 และ 22.5% ในปี 2562 ซึ่งเป็นผลจากอัตราการใช้บริการที่ลดลงในประเทศญี่ปุ่นและอินเดียเป็นสำคัญ รายได้จากธุรกิจดาวเทียมไอพีสตาร์ในปี 2563 ลดลง 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 1.4 พันล้านบาทและยังคงลดลงอีก 23% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

บริษัทมีความพยายามที่จะเพิ่มอัตราการใช้ดาวเทียมในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยังให้บริการจัดการดาวเทียมในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการดาวเทียมบรอดแบนด์ดวงใหม่ ซึ่งปัจจุบันกำลังหารือกับพันธมิตรทางธุรกิจหลายรายเกี่ยวกับความร่วมมือในการให้บริการสื่อสารดาวเทียมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมวงโคจรระยะต่ำ (Low Earth Orbit ? LEO Satellite) อีกด้วย

สัมปทานการดำเนินงานใกล้จะหมดอายุและเจรจากับบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติเพื่ออำนวยความสะดวกในการโอนย้ายการบริหารดาวเทียม

ปัจจุบันบริษัทให้บริการด้วยดาวเทียมแบบวงโคจรค้างฟ้าจำนวน 4 ดวง โดยดาวเทียม 2 ดวง คือ ดาวเทียมไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์ และดาวเทียมไทยคม 6 อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน 30 ปีที่จะหมดอายุในเดือนกันยายน 2564 ทั้งนี้ หลังจากหมดสัมปทาน บริษัทจะเหลือดาวเทียมเพียง 2 ดวงคือดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 ซึ่งให้บริการภายใต้ใบอนุญาตระยะเวลา 20 ปีซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2575

จากการที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2564 นี้ สินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทยคม 6 จะคืนให้แก่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และเมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติได้มอบหมาย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเดิมคือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของไทยให้ทำหน้าที่บริหารจัดการดาวเทียมหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุด บริษัทได้มีการเจรจากับบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติเพื่ออำนวยความสะดวกในการโอนย้ายการบริหารดาวเทียม ในกรณีที่บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติต้องการพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในการบริหารดาวเทียม บริษัทน่าจะเป็นตัวเลือกในการแข่งขันที่ดีที่สุดเมื่อพิจารณาจากความสามารถและประสบการณ์ที่ยาวนานของบริษัทในการบริหารดาวเทียมโดยมีความเข้าใจความต้องการของลูกค้าที่ใช้บริการดาวเทียมทั้ง 2 ดวง อย่างไรก็ตาม รูปแบบธุรกิจในการบริหารจัดการดาวเทียมของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาตินั้นยังไม่มีข้อสรุปในเวลานี้

โอกาสใหม่จากการประมูลวงโคจรดาวเทียม

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ประกาศแผนว่า กสทช. จะเปลี่ยนจากการทำสัญญาสัมปทานธุรกิจดาวเทียมเป็นการให้ใบอนุญาตใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียมแทนเพื่อเป็นการส่งเสริมการเปิดเสรีอุตสาหกรรมดาวเทียม ทั้งนี้ การประมูลใบอนุญาตใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียมครั้งแรกของประเทศไทยในลักษณะจัดชุด (Package) 4 ชุดวงโคจรนี้ จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 โดยใบอนุญาตดังกล่าวจะมีระยะเวลา 20 ปี

ภายใต้ระบบใบอนุญาตใหม่นี้ ผู้ให้บริการดาวเทียมที่ได้รับใบอนุญาตจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ กสทช. ปีละ 4.25% ของรายได้ ในขณะที่ต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ภายใต้ระบบสัญญาสัมปทานมีอัตราอยู่ที่ 22.5% ทั้งนี้ คาดว่าผู้ประกอบการภายใต้ระบบใบอนุญาตจะได้ประโยชน์จากต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ (Regulatory Cost) ที่ต่ำลง อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่แท้จริงที่ผู้ประกอบการจะได้รับนั้นขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการขยายขอบเขตการให้บริการและการเข้าถึงลูกค้าเป็นหลัก ทริสเรทติ้งคาดว่าการแข่งขันทางด้านราคารวมถึงการแข่งขันจากเทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรระยะต่ำที่กำลังจะเกิดขึ้นและค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่เพิ่มขึ้นอาจลดทอนประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการประหยัดต้นทุนในระยะแรกของการดำเนินธุรกิจ

ทริสเรทติ้งคาดว่าผู้เข้าร่วมการประมูลซึ่งเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจโทรคมนาคมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับดาวเทียมจะมีเพียงไม่กี่รายเนื่องจากผู้ประมูลต้องมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ด้านประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการดาวเทียมและมีฐานะทางการเงินที่ดี ดังนั้น ด้วยความได้เปรียบด้านการแข่งขันทั้งในเรื่องของความชำนาญและประสบการณ์ในการบริหารดาวเทียมของบริษัทไทยคม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะเป็นผู้แข่งขันรายสำคัญในการประมูลในครั้งนี้ หากบริษัทประสบความสำเร็จในการประมูล ธุรกิจภายใต้ระบบใบอนุญาตนี้จะช่วยเสริมสร้างโอกาสการเติบโตของรายได้และกำไรให้แก่บริษัทได้ในระยะยาว

ผลการดำเนินงานลดลงอย่างต่อเนื่อง

ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2563 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2564 ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมีรายได้ในปี 2563 อยู่ที่ระดับประมาณ 3.6 พันล้านบาท ลดลงจากระดับ 4.7 พันล้านบาทในปี 2562 จากการลดลงของอัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์ รวมถึงการปลดระวางดาวเทียมไทยคม 5 และการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2564 รายได้ของบริษัทลดลงอีก 18% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อน โดยอยู่ที่ระดับประมาณ 790 ล้านบาท อนึ่ง รายได้ของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ให้บริการพื้นฐานด้านการสื่อสารผ่านดาวเทียมในลักษณะการขายส่งช่องสัญญาณดาวเทียม อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อได้ส่งผลต่อธุรกิจโฆษณาซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อลูกค้าที่ดำเนินธุรกิจการกระจายเสียงและการแพร่ภาพออกอากาศบางส่วน

บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายในปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 1.4 พันล้านบาท ลดลงจากประมาณ 1.8 พันล้านบาทในปี 2562 และอยู่ที่ระดับประมาณ 270 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากระดับ 312 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน บริษัทได้ใช้มาตรการลดต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพื่อให้สอดคล้องกับฐานรายได้ที่เล็กลง ทำให้อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับประมาณ 34.6% ในไตรมาสแรกของปี 2564 โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 32.3% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในช่วงระหว่างปี 2564-2566 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้และกำไรของบริษัทจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อไปเนื่องจากสัญญาสัมปทานการดำเนินงานของดาวเทียม 2 ดวงที่จะหมดอายุในปี 2564 ภายใต้สมมติฐานขั้นพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ที่ไม่รวมการดำเนินงานของดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทย 6 หลังจากหมดอายุสัมปทานจะอยู่ในช่วง 1.3-2.7 พันล้านบาทต่อปี เมื่อพิจารณาจากพื้นฐานของธุรกิจดาวเทียมที่มีต้นทุนการดำเนินงานคงที่ที่อยู่ในระดับสูงและรายได้ที่มีแนวโน้มจะลดลงแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ในช่วง 36%-38% อย่างไรก็ตาม ความต่อเนื่องของธุรกิจจากโครงการดาวเทียมดวงใหม่และธุรกิจใหม่อื่น ๆ น่าจะช่วยเสริมสร้างฐานรายได้ของบริษัทและสร้างความสม่ำเสมอของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้

ภาระหนี้อยู่ในระดับปานกลาง

เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทยังไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่และบริษัทได้ทำการจ่ายชำระคืนหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดและจ่ายคืนหนี้เงินกู้ตามกำหนด เงินกู้รวมของบริษัทจึงค่อย ๆ ลดลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทมีเงินกู้รวมอยู่ที่ 3.8 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2564 ลดลงจากระดับ 4.1 พันล้านบาทในปี 2562 และบริษัทมีสถานะทางการเงินเป็นเงินสดสุทธิ (Net Cash Position) ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีเงินสดในมือและเงินฝากอื่น ๆ รวมทั้งสิ้นเกือบ 6.9 พันล้านบาทซึ่งเพียงพอที่จะใช้ชำระคืนหนี้ตามกำหนดและใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการใหญ่ ๆ ได้ในกรณีที่จำเป็น

ในช่วง 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนเพื่อบำรุงรักษาสินทรัพย์และลงทุนอื่นๆ โดยรวมที่จำนวนเกือบ 100 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ หากบริษัทไม่มีการลงทุนในโครงการดาวเทียมดวงใหม่ ทริสเรทติ้งก็คาดว่าระดับภาระหนี้ของบริษัทจะลดลงอย่างต่อเนื่องต่อไป อย่างไรก็ตาม หากการลงทุนใหม่เกิดขึ้นเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจก็คาดว่าเงินสดรวมถึงเงินฝากอื่น ๆ ที่มีอยู่จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นทางการเงินได้พอสมควร ในสถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าระดับหนี้สินของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการลงทุนเมื่อพิจารณาถึงเงินลงทุนที่จำเป็นสำหรับโครงการดาวเทียมดวงใหม่ ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 4-5.5 เท่าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะทรงตัวอยู่ในช่วง 12%-18% ในระยะ 2 ปีข้างหน้า ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินรวมต่อเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับไม่เกิน 35%

มีสภาพคล่องที่เพียงพอ

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบไปด้วยเงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 2.2 พันล้านบาทรวมทั้งเงินลงทุนระยะสั้นและเงินฝากอื่น ๆ คิดเป็นมูลค่าอีก 4.7 พันล้านบาท โดยคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่เกือบ 1 พันล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่แหล่งเงินทุนนั้นน่าจะเพียงพอต่อความต้องการใช้จ่ายในอนาคต ทั้งนี้ ความต้องการในการใช้เงินทุนของบริษัทจะประกอบไปด้วยเงินลงทุนเกือบ 100 ล้านบาทในปี 2564 ในขณะที่บริษัทมีหุ้นกู้และเงินกู้ธนาคารระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 2.6 พันล้านบาทในปี 2564 และมีภาระเงินกู้ระยะยาวจากธนาคารที่จะครบกำหนดชำระอีกประมาณ 350 ล้านบาทในปี 2565 นอกจากนี้ บริษัทยังมีภาระหนี้สินตามสัญญาเช่าที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปีอีก 80 ล้านบาทด้วย

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? รายได้ของบริษัทจะยังคงได้รับแรงกดดันโดยคาดว่าจะลดลงเหลือ 1.3-2.7 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2566

? อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ในช่วง 36%-38% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า

? เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณปีละ 100 ล้านบาทในช่วงปี 2564-2566

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดการให้บริการสื่อสารดาวเทียมของประเทศไทยไว้ได้ อีกทั้งยังคาดหวังว่าหากบริษัทประสบความสำเร็จในการประมูลใบอนุญาตสิทธิการใช้วงโคจรดาวเทียมใหม่ รายได้จากธุรกิจหรือโครงการใหม่ๆ ของบริษัทจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นแม้จะต้องใช้เวลาก็ตาม นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังให้บริษัทรักษาระดับสภาพคล่องให้เพียงพอที่จะใช้ชำระคืนหนี้ที่จะครบกำหนดและใช้ในการลงทุนเมื่อมีความจำเป็นด้วยเช่นกัน

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ ในขณะที่อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากผลการดำเนินงานของบริษัทดีกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้ หรือหากบริษัทสามารถดำเนินธุรกิจใหม่และ/หรือโครงการดาวเทียมดวงใหม่ได้สำเร็จและสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องโดยที่บริษัทยังคงรักษาสถานะทางการเงินให้มีความแข็งแกร่งเอาไว้ได้

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) (THCOM)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB+

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

THCOM21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+

THCOM21OB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,775 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ