ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่มีโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบครอบคลุมพื้นที่ในเขตชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ตลอดจนการมีกระแสเงินสดที่แน่นอน และความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็มีข้อจำกัดบางประการจากความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นของบริษัท
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นผู้ให้บริการน้ำดิบรายสำคัญในเขตชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทเป็นผลมาจากการที่บริษัทเป็นผู้ให้บริการน้ำดิบรายสำคัญในเขตชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก การมีโครงข่ายท่อน้ำดิบที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างสมบูรณ์ทำให้การส่งน้ำจากแหล่งน้ำต่าง ๆ ไปยังพื้นที่ให้บริการในจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทราเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โครงข่ายที่สมบูรณ์และครอบคลุมนี้เป็นปัจจัยที่สร้างอุปสรรคในการเข้ามาแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ และนอกเหนือจากการใช้เงินลงทุนที่สูงเพื่อสร้างสาธารณูปโภคในการส่งน้ำแล้ว การสร้างท่อส่งน้ำใหม่ก็จำเป็นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ของภาครัฐอีกด้วย
แหล่งน้ำที่บริษัทมีอยู่นั้นถือเป็นข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่ง กล่าวคือ บริษัทมีสิทธิในการเข้าถึงแหล่งน้ำได้หลายแห่งทั้งที่เป็นแหล่งน้ำของภาครัฐและภาคเอกชน โดย ณ เดือนมิถุนายน 2564 ความจุของแหล่งน้ำที่บริษัทมีสิทธิสูบมาใช้ได้อยู่ที่ 430 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)
อุปสงค์ในการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
บริษัทประสบความสำเร็จในการขยายฐานการให้บริการน้ำในเขตพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor ? EEC) ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แม้ว่ายอดขายน้ำดิบและน้ำประปาจะมีสัดส่วนอยู่ที่ 59% และ 35% ของยอดขายทั้งหมดของบริษัทในปี 2563 แต่น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมและการให้บริการน้ำแบบครบวงจรนั้นคาดว่าจะมีสัดส่วนที่มากขึ้นในระยะใกล้
สัญญาให้บริการน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมระยะยาวจำนวน 2 ฉบับที่บริษัทได้มีการลงนามไปแล้วกับ บริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด และ บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด เมื่อปี 2561 จะเริ่มให้บริการได้ในปี 2564 ตามแผน ทั้งนี้ บริษัทได้เริ่มให้บริการน้ำแก่บริษัทอมตะ วอเตอร์ ในเดือนมกราคม 2564 และคาดว่าจะให้บริการแก่บริษัทกัลฟ์ พีดี ได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 นี้ สัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้คาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้แก่บริษัทประมาณ 100 ล้านบาทในปี 2564 และ 240 ล้านบาทต่อปีตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป
ส่วนโครงการจัดหาน้ำประปา ตลอดจนการบำบัดน้ำเสีย และการนำน้ำที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ในสนามบินอู่ตะเภานั้นคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในปี 2566
นอกจากนี้ ในปี 2563 บริษัทยังได้ลงนามในสัญญากับบริษัทอีกหลายแห่งที่อยู่ในเขตโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกซึ่งรวมถึงข้อตกลงในโครงการขนาดใหญ่ที่มีกับ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการให้บริการน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมรวมถึงน้ำดิบและน้ำประปาในพื้นที่โครงการวังจันทร์ วัลเล่ย์ อีกด้วย ทั้งนี้ บริการเหล่านี้คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2564-2565
บริษัทให้ความสำคัญในการขยายการให้บริการในเขตโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเป็นหลัก ในขณะเดียวกันก็ยังแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในพื้นที่อื่น ๆ อีกด้วย
ฟื้นตัวจากภาวะภัยแล้งในปี 2564
หนึ่งในปัจจัยที่ยากต่อการคาดเดาซึ่งส่งผลกระทบต่อการให้บริการน้ำคือสภาวะอากาศ ในช่วงฤดูร้อนหรือฤดูแล้งนั้น แหล่งน้ำต่าง ๆ จะลดน้อยลงในขณะที่การสูบน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ห่างไกลจะทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น บริษัทจึงได้ลงทุนสร้างแหล่งน้ำของตนเองและจัดหาแหล่งน้ำสำรองจากภาคเอกชนเอาไว้ให้เพียงพอนอกเหนือจากแหล่งน้ำที่ได้รับจัดสรรจากกรมชลประทานแม้ว่าจะมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูงก็ตาม
สถานการณ์ภัยแล้งในประเทศไทยเริ่มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในปี 2562-2563 ซึ่งเป็นปีที่มีฝนตกน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี ปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยองลดลงเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2560-2561 ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท โดยรายได้ของบริษัทในปี 2563 ลดลง 10% มาอยู่ที่ 4.2 พันล้านบาทจาก 4.7 พันล้านบาทในปี 2562 ทั้งนี้ ปริมาณขายน้ำดิบที่ลดลงถึง 19% ในปี 2563 เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รายได้ของบริษัทลดลง
ในปี 2564 บริษัทเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดย ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2564 ปริมาณน้ำกักเก็บในแหล่งน้ำสำคัญของบริษัทในจังหวัดชลบุรีและระยองอยู่ที่ระดับ 67% ของความจุสูงสุดซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำกักเก็บในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ระดับ 23% อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564 และน้ำในแหล่งน้ำของบริษัทน่าจะมีเพียงพอสำหรับการให้บริการตลอดทั้งปี
ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 6% มาอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท ส่วนปริมาณขายน้ำดิบก็เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปี 2563
ความสามารถในการทำกำไรยังแข็งแกร่งแม้ว่าจะลดลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แน่นอนเป็นจุดแข็งที่สำคัญของบริษัท ถึงแม้ในปี 2563 บริษัทจะประสบกับสถานการณ์ภัยแล้ง แต่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทก็อยู่ที่ระดับ 2 พันล้านบาท โดยลดลง 10% จากระดับ 2.3-2.4 พันล้านบาทในช่วงปี 2558-2562 ส่วนอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายนั้นลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48% จากระดับ 50%-55% ในช่วงปี 2558-2562
ราคาขายน้ำดิบอัตราใหม่ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้แก่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในปี 2564 โดยโครงสร้างราคาใหม่นี้จะส่งผ่านภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้ใช้น้ำในขณะเดียวกันก็ยังมีระบบแรงจูงใจและบทลงโทษแก่ผู้ใช้น้ำเพื่อกระตุ้นให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ทั้งนี้ ราคาขายน้ำดิบอัตราใหม่นี้จะมีการปรับราคาตามการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคและอัตราค่าไฟฟ้า รวมทั้งต้นทุนแหล่งน้ำที่อาจเพิ่มขึ้นตามพระราชบัญญัติน้ำ พ.ศ. 2560 ด้วย โดยราคาขายน้ำอัตราใหม่ในปี 2564 นี้จะสูงกว่าราคาขายเฉลี่ยในปี 2563 ประมาณ 2%-3%
เนื่องจากปริมาณน้ำในแหล่งน้ำหลัก ๆ ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะดีขึ้นในปี 2564 โดยบริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 12% ในไตรมาสแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2563
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 11% ในปี 2564 และ 5% ต่อปีในระหว่างปี 2565-2566 อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะแกว่งตัวอยู่ที่ระดับ 50% ไปจนตลอดปีประมาณการ ส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายในปี 2564 น่าจะกลับมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.4 พันล้านบาทจากการมีรายได้จากลูกค้าใหม่
ภาระหนี้จะเพิ่มขึ้นจากโครงการลงทุน
ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างหนี้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นในปี 2564 และจะค่อยๆ ทยอยลดลงในปี 2565-2566 โดยที่ผ่านมาบริษัทมีการลงทุนจำนวนมากในการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าและเพื่อแก้ปัญหาความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความแห้งแล้ง
บริษัทมีแผนการลงทุนที่ประมาณ 7 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีแผนการลงทุนประมาณ 4.9 พันล้านบาทในปี 2564 ประกอบด้วย งบประมาณจำนวน 3 พันล้านบาทในการลงทุนเพื่อสร้าง ?อ่างเก็บน้ำทับมา? ของบริษัทและใช้ก่อสร้างท่อส่งน้ำใหม่เพื่อเชื่อมต่อกับ ?อ่างเก็บน้ำคลองหลวง? ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้คาดว่าจะเพิ่มปริมาณน้ำดิบให้แก่บริษัทได้ประมาณ 13% ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป
บริษัทจะนำเงินลงทุนส่วนที่เหลือไปใช้ในการปรับปรุงสถานีสูบน้ำที่มีอยู่รวมทั้งใช้เสริมประสิทธิภาพเทคโนโลยีและเครื่องจักรเพื่อสนับสนุนโครงการระบบน้ำครบวงจรต่างๆ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 50% ในปี 2564 ก่อนที่จะค่อยๆ ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 48% ในปี 2566 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 5 เท่าในปี 2564 และจะทยอยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.2 เท่าในปี 2566
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 โครงสร้างหนี้เงินกู้และสภาพคล่องของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่ดี โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 42.2% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 3.9 เท่าในไตรมาสแรกของปี 2564
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 11% ในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้น 5% ต่อปีในระหว่างปี 2565-2566
? อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 44% และอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 50% ในช่วงปี 2564-2566
? งบลงทุนรวมจะอยู่ที่ระดับ 4.9 พันล้านบาทในปี 2564 1.2 พันล้านบาทในปี 2565 และ 800 ล้านบาทในปี 2566
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำเนินธุรกิจและสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอต่อไป นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะขยายธุรกิจโดยการก่อหนี้อย่างระมัดระวังและจะยังคงมีวินัยทางการเงินเช่นเดิมต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้เป็นอย่างมากโดยไม่ทำให้ฐานะการเงินอ่อนแอลง ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดจากการลงทุนเชิงรุกที่มากเกินไปจนส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มสูงเกินกว่า 50% อย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) (EASTW)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
EASTW226A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
EASTW256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable