ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB+? พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? จาก ?Negative? หรือ ?ลบ? โดยการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความคาดหวังว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะฟื้นตัวซึ่งจะส่งผลให้กำไรและระดับการก่อหนี้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้น
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในกลุ่ม Tier 1 ของประเทศไทย ตลอดจนผลการดำเนินงานที่แข็งแรงในธุรกิจหลัก และการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวก็ลดทอนลงบางส่วนจากอัตรากำไรที่ค่อนข้างเบาบาง รวมถึงความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้า และลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของอุตสาหกรรมรถยนต์ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความเสี่ยงจากการดำเนินงานในต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งอาจสร้างความท้าทายที่มีนัยสำคัญในขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสในการขยายฐานทางการตลาดให้แก่บริษัทได้เช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลการดำเนินงานอยู่ในช่วงฟื้นตัว
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะผ่านจุดต่ำสุดและเริ่มฟื้นตัวในปี 2564 โดยรายได้จากการดำเนินงานรวมน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.1-2.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากแรงหนุนของทั้ง 2 ธุรกิจหลักของบริษัทคือธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ทั้งนี้ คำสั่งผลิตชิ้นส่วนโครงช่วงล่างสำหรับรถกระบะอีซูซุ ดีแม็กซ์ และมาสด้า บีที-50 ในประเทศไทยรวมทั้งผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนหล่อขึ้นรูปโลหะในกลุ่มประเทศยุโรปจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของรายได้ของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ในขณะที่การเปิดโชว์รูมแห่งใหม่ ๆ จะช่วยเพิ่มรายได้ของธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทน่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยเช่นกัน โดยการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตจะทำให้การประหยัดต่อขนาดเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงปี 2564-2566 ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.1-2.3 พันล้านบาทต่อปี ขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับ 10%-11%
แม้อัตรากำไรของบริษัทจะค่อนข้างเบาบาง แต่ความสามารถของบริษัทในการผลักภาระต้นทุนวัตถุดิบไปให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์จะยังช่วยให้อัตรากำไรมีความมั่นคงและคาดการณ์ได้ นอกจากนั้น บริษัทยังพยายามเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและลดต้นทุนซึ่งส่งผลให้อัตรากำไรปรับเพิ่มขึ้นได้ในช่วงหลายปีก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ในปี 2563 ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้เพิ่มความพยายามในการควบคุมต้นทุนและการจัดการสินค้าคงเหลือเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
สัดส่วนการดำเนินงานในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น
บริษัทใช้เงินเกือบ 7 พันล้านบาทในการลงทุนใน Sakthi Group ที่มีฐานการผลิตหลักอยู่ในประเทศโปรตุเกสและอินเดีย การลงทุนในระยะแรกประกอบไปด้วย 1) หุ้นสามัญในสัดส่วน 49.99% ของ Sakthi Global Auto Holdings Ltd. (SGAH) ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่นของ Sakthi Group และ 2) เงินให้กู้ยืมแก่ SGAH ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม 2562 SGAH ไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ให้แก่บริษัทได้ บริษัทจึงดำเนินการยึดหุ้นสามัญที่เหลืออยู่ใน SGAH (50.01%) และตั้งด้อยค่าเงินลงทุนจำนวน 1.1 พันล้านบาท ปัจจุบันบริษัทถือหุ้น 100% ใน SGAH ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 77% ใน Sakthi Auto Component Limited ในประเทศอินเดีย นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้นโดยตรงในสัดส่วน 100% ใน Sakthi Portugal S.A. ในประเทศโปรตุเกสซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น AAPICO Maia S.A. อีกด้วย
ผลการดำเนินงานของ Sakthi Group ได้รวมเข้ามาในงบการเงินรวมของบริษัทตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 โดยในปี 2563 การลงทุนในต่างประเทศนี้สร้างรายได้จำนวน 3.2 พันล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 20% ของรายได้รวมของบริษัท นอกจากฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว การลงทุนใน Sakthi Group ยังช่วยให้บริษัทเข้าถึงตลาดยุโรปและยังช่วยขยายสายผลิตภัณฑ์ไปสู่ชิ้นส่วนหล่อขึ้นรูปโลหะที่มีอัตรากำไรสูงอีกด้วย ส่วนในด้านลบนั้น การลงทุนใน Sakthi Group ได้เพิ่มความเสี่ยงจากการดำเนินงานให้แก่บริษัท โดยนอกจากสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่แตกต่างแล้วค่าใช้จ่ายดำเนินงานในต่างประเทศยังค่อนข้างสูง ซึ่งสิ่งดังกล่าวอาจท้าทายความพยายามของบริษัทในการเพิ่มผลกำไร สถานะเครดิตของบริษัทอาจถดถอยลงได้หากผลการดำเนินงานในต่างประเทศอ่อนแอ แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะบริหารจัดการความเสี่ยงจากการดำเนินงานในต่างประเทศด้วยความระมัดระวัง โดยผลการดำเนินงานในระยะยาวนั้นยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไป
สถานภาพในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังสามารถรักษาสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เอาไว้ได้ ทั้งนี้ ธุรกิจดังกล่าวสร้างรายได้ให้แก่บริษัทในสัดส่วนประมาณ 70%-80% ของรายได้รวมและช่วยให้รายได้ของบริษัทเติบโตในช่วงหลายปีก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยบริษัทสามารถบริหารงานจนรายได้เติบโตแม้อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจะมีอัตราการเติบโตเพียงเล็กน้อยก็ตาม
สถานะในการแข่งขันของบริษัทเกิดจากการมีประวัติผลงานที่มีมาอย่างยาวนานในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อป้อนให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายโดยที่บริษัทไม่เคยมีประวัติในการสูญเสียคำสั่งซื้อจากลูกค้ารายใหญ่เลย การดำเนินงานที่ไว้ใจได้ประกอบกับความน่าเชื่อถือของบริษัทก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัทและผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ เช่น อีซูซุ คอนติเนนทอล ออโต้อัลลายแอนซ์ (กิจการร่วมค้าระหว่างฟอร์ดและมาสด้า) ดาน่า และนิสสัน ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์เหล่านี้ก็ไม่ค่อยเปลี่ยนผู้ผลิตชิ้นส่วนหลักเนื่องจากมีต้นทุนการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ บริษัทเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนโครงช่วงล่างรถกระบะแต่เพียงรายเดียวของอีซูซุในประเทศไทย โดยอีซูซุถือเป็นลูกค้าหลักที่สร้างรายได้คิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท ความสัมพันธ์ที่ยาวนานและใกล้ชิดกับผู้ผลิตรถยนต์ดังกล่าวประกอบกับต้นทุนในการเปลี่ยนผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ค่อนข้างสูงสำหรับผู้ผลิตรถยนต์เป็นปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงในการพึ่งพิงลูกค้าหลักของบริษัทลงได้ ทั้งนี้ ความเสี่ยงในการพึ่งพิงลูกค้าเป็นผลมาจากจำนวนผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำที่มีค่อนข้างน้อยในอุตสาหกรรมยานยนต์
ระดับการก่อหนี้จะปรับตัวดีขึ้น
การลงทุนขนาดใหญ่ใน Sakthi Group และผลกระทบจากโรคโควิด 19 ส่งผลทำให้ระดับการก่อหนี้ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 54.7% ในปี 2563 จากระดับต่ำกว่า 40% ในอดีต อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.4 เท่าในปี 2563 เมื่อทียบกับระดับที่ต่ำกว่า 3 เท่าในอดีต อย่างไรก็ดี ภายใต้คาดการณ์การฟื้นตัวของกำไร ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นจนคืนกลับสู่ระดับเดิมในอดีต โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนน่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 40% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 3 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ณ เดือนมีนาคม 2564 หนี้สินรวมของบริษัทมีจำนวน 9.8 พันล้านบาทซึ่งเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) ที่จำนวน 3.1 พันล้านบาท โดยหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนประกอบด้วยหนี้ที่มีหลักประกันจำนวน 1 พันล้านบาทและหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทย่อยอีกจำนวน 2.1 พันล้านบาท ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมอยู่ที่ระดับประมาณ 34% เนื่องจากสัดส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ของทริสเรทติ้งที่ 50% ทริสเรทติ้งจึงมิได้คาดว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันจะด้อยสิทธิ์กว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญ
สภาพคล่องน่าจะบริหารจัดการได้
บริษัทน่าจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้อย่างเหมาะสม โดยในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปี 2564 บริษัทมีหนี้ที่จะครบกำหนดจำนวนประมาณ 3.5 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้ระยะสั้นที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 1.9 พันล้านบาท หนี้ระยะยาว 1 พันล้านบาท และหุ้นกู้อีกประมาณ 0.6 พันล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมกันอยู่ที่จำนวนประมาณ 0.7 พันล้านบาท โดยที่เงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปี 2564 น่าจะอยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท ดังนั้น บริษัทจะมีสินทรัพย์สภาพคล่องและเงินทุนจากการดำเนินงานรวมกันที่จำนวน 2.1 พันล้านบาท ส่วนต่างที่ยังขาดอยู่อีก 1.4 พันล้านบาทนั้นน่าจะได้รับการชำระทั้งหมดด้วยวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ที่บริษัทมีอยู่จำนวนประมาณ 3.1 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินสดรับจากการขายเงินลงทุนอีกประมาณ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย โดยบริษัทวางแผนจะนำเงินสดที่ได้ไปใช้ชำระคืนหุ้นกู้จำนวน 0.6 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดในเดือนกันยายน 2564
ข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ระบุให้บริษัทต้องรักษาอัตราส่วนหนี้สินรวมสุทธิต่อส่วนทุนไว้ที่ระดับไม่เกิน 2 เท่าซึ่งบริษัทสามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่สามารถดำรงอัตราส่วนทางการเงินจำนวน 3 อัตราตามข้อกำหนดของวงเงินกู้จากสถาบันการเงินในปี 2563 ไว้ได้เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่บริษัทก็ได้รับการยกเว้นข้อกำหนดจากสถาบันการเงินที่บริษัทกู้ยืมแล้ว ทั้งนี้ภายใต้คาดการณ์การฟื้นตัวของกำไร ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
สมมติฐานพื้นฐาน
? รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.1-2.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ในช่วง 10%-11%
? เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ 0.4-0.9 พันล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ฟื้นตัวและทำให้ระดับการก่อหนี้ลดต่ำลง ในขณะที่ความเสี่ยงจากการดำเนินงานในต่างประเทศนั้นน่าจะจัดการได้ดี นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการแข่งขันในธุรกิจหลักของบริษัทเอาไว้ได้ด้วยเช่นกัน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีค่อนข้างจำกัดในระยะเวลาอันใกล้ แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้หากการลงทุนในต่างประเทศประสบความสำเร็จและช่วยเพิ่มกระแสเงินสดให้แก่บริษัท ในขณะที่ระดับการก่อหนี้ยังอยู่ในการควบคุม ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอกว่าที่คาดไว้และ/หรือสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงจากระดับปัจจุบันซึ่งอาจเป็นผลมาจากการตั้งด้อยค่าเงินลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติมหรือการลงทุนที่มากเกินไป อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าระดับ 50% หรือบริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อกำหนดทางการเงินของเงินกู้ได้ในระยะเวลาที่นานพอควร
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) (AH)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable