ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ระดับ ?AAA? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทยในระดับสูงและมีบทบาทที่สำคัญในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบในการจัดหาไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในประเทศและเป็นเจ้าของระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงทั่วทั้งประเทศแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของ กฟผ. และการได้รับการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากรัฐบาลไทยด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลในระดับสูง
ทริสเรทติ้งประเมินว่า กฟผ. มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทยในระดับสูง โดย กฟผ. ได้รับการจัดตั้งให้เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 (พ.ร.บ. กฟผ.) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง ส่วนคณะกรรมการและผู้ว่าการของ กฟผ. นั้นได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี ในขณะที่แผนวิสาหกิจ กฟผ. ฉบับปัจจุบันนั้นมีการจัดทำเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (2561-2580) และแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวซึ่งได้รวมแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1) เข้าไว้ด้วยโดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาทบทวนแผนวิสาหกิจ ดังกล่าว ส่วนแผนค่าใช้จ่ายและการลงทุนของ กฟผ. นั้นมีกระทรวงพลังงานตลอดจนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจเห็นชอบ ส่วนแผนการกู้เงินและชำระหนี้เงินกู้นั้นจะต้องเสนอให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงการคลังพิจารณาด้วย
กฟผ. ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่อีกด้วย ทั้งนี้ พ.ร.บ. กฟผ. พ.ศ. 2511 ระบุว่ารัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษแก่ กฟผ. ในกรณีที่รายได้ของ กฟผ. ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายซึ่งรวมถึงรายจ่ายดอกเบี้ยและการชำระคืนเงินกู้
มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทย
ทริสเรทติ้งเชื่อว่า กฟผ. จะยังคงบทบาทที่สำคัญในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทยต่อไป โดย กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจสำคัญซึ่งรับผิดชอบการผลิตและจัดหาไฟฟ้าให้แก่ประเทศ ภายใต้โครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าแบบผู้ซื้อไฟฟ้ารายเดียว (Enhanced Single Buyer Model) กฟผ. จึงเป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาไฟฟ้าให้แก่ประเทศทั้งจากไฟฟ้าที่ กฟผ. ผลิตเองและไฟฟ้าที่รับซื้อมาจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน โดย กฟผ. จำหน่ายไฟฟ้าแบบขายส่งให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) (ได้รับอันดับเครดิตระดับ ?AAA? แนวโน้ม ?Stable? หรือ ?คงที่? จากทริสเรทติ้ง) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) (ได้รับอันดับเครดิตระดับ ?AAA? แนวโน้ม ?Stable? หรือ ?คงที่? จากทริสเรทติ้ง) ผ่านระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (National Grid) ทั่วประเทศ
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ในระบบไฟฟ้าของ กฟผ. มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 46,096 เมกะวัตต์ โดย กฟผ. เป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าทั้งสิ้น 52 แห่งโดยมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 16,037 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็น 34.8% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในระบบไฟฟ้าของ กฟผ. ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือนั้นเป็นการรับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนภายในประเทศในสัดส่วน 52.8% และนำเข้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และประเทศมาเลเซียอีก 12.4%
ในฐานะที่เป็นเจ้าของและผู้บริหารระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของประเทศแต่เพียงผู้เดียว กฟผ. จึงเป็นผู้บริหารศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ (National Control Center -- NCC) เพื่อบริหารจัดการกระแสไฟฟ้าให้มีเพียงพอสำหรับความต้องการของทั้งประเทศ โดยโรงไฟฟ้าทั้งหมดที่เชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. นั้นล้วนอยู่ภายใต้การบริหารของศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติเพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ตามแผน
โครงสร้างค่าไฟฟ้าสะท้อนต้นทุนการลงทุนและผลตอบแทน
ค่าไฟฟ้าในประเทศไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยโครงสร้างค่าไฟฟ้าได้รับการออกแบบเพื่อให้ กฟผ. ได้รับการชดเชยเงินลงทุนรวมถึงผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Invested Capital -- ROIC) ทั้งในส่วนของการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า นอกจากนี้ ภายใต้โครงสร้างค่าไฟฟ้าดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับราคาเชื้อเพลิงหรือราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนจะมีการนำมาพิจารณาเพื่อกำหนดค่าปรับปรุงเชื้อเพลิง หรือค่า Ft (Fuel Adjustment Charge) ก่อนที่จะกำหนดเป็นค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าต่อไปด้วย โดย กกพ. จะคำนวณและประกาศการเปลี่ยนแปลงค่า Ft ในทุก 4 เดือน ดังนั้น กฟผ. จึงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงในระดับที่จำกัด
รายได้ที่แน่นอนจากลูกค้าที่มีความน่าเชื่อถือ
กฟผ. จำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตเองและจัดหามาได้ให้แก่ กฟภ. ในสัดส่วนประมาณ 70% และจำหน่ายให้แก่ กฟน. ประมาณ 28% ทั้ง กฟภ. และ กฟน. ต่างก็เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของไทยด้วยเช่นกัน โดย กฟภ. รับผิดชอบการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตต่างจังหวัด ในขณะที่ กฟน. รับผิดชอบการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตนครหลวง (กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรี)
ยอดขายไฟฟ้าลดลงเล็กน้อยจากผลกระทบของโรคโควิด 19
ในปี 2563 ยอดขายไฟฟ้าของ กฟผ. ลดลงประมาณ 3% มาอยู่ที่ 187,365 ล้านหน่วยเนื่องจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โรคโควิด 19) โดยอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยลดลงถึง 6.1% ในปี 2563 ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 ยอดขายไฟฟ้าของ กฟผ. ลดลงประมาณ 6% ซึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ระลอก 2 เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งยังไม่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 มากนัก อย่างไรก็ตาม การบริโภคไฟฟ้าในประเทศไทยของทั้งปี 2564 คาดว่าน่าจะกลับมาเติบโตที่ประมาณ 1%-2% จากปี 2563
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปี 2563 รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าประจำเดือน การขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้า ฯลฯ โดยภาระทางการเงินที่เกิดจากมาตรการดังกล่าวในปี 2563 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท (ไม่รวมการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า) ทั้งนี้ ภาระดังกล่าวอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ กฟผ. จำนวน 5.8 พันล้านบาท ในขณะที่ส่วนที่เหลืออยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ กฟภ. และ กฟน.
มีนโยบายด้านการเงินที่ระมัดระวัง
กฟผ. มีนโยบายด้านการเงินที่ระมัดระวังโดยมีการดำรงเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเอาไว้ไม่ต่ำกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีแนวทางในการปฏิบัติงานเพื่อรักษาวินัยทางการเงินด้วย โดยแนวทางที่สำคัญ ๆ ประกอบด้วย การรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) ที่ไม่เกิน 1.5 เท่า อัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (Self-financial Ratio) ที่ไม่ต่ำกว่า 25% และอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Coverage Ratio) ที่ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า เป็นต้น
มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
กฟผ. ยังคงมีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็งโดยมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแรง ณ สิ้นปี 2563 กฟผ. มีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วรวมทั้งสิ้น 3.13 แสนล้านบาทซึ่งรวมภาระผูกพันในการซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชน (หนี้สินตามสัญญาเช่าทางการเงินของโรงไฟฟ้า) จำนวน 2.27 แสนล้านบาท ทั้งนี้ กฟผ. มีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ระดับ 39.1% ณ สิ้นปี 2563 โดยในปี 2563 กฟผ. มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายรวม 1.1 แสนล้านบาทและมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ 2.9 เท่า
กฟผ. ยังมีสภาพคล่องที่แข็งแรงอีกด้วยโดยมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 7 หมื่นล้านบาทรวมทั้งวงเงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานในระยะ 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 7-7.5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อรวมเงินสดและวงเงินกู้ระยะสั้นที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมทั้งประมาณการเงินทุนจากการดำเนินงานของ กฟผ. แล้วถือว่าเพียงพอที่จะใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2564 ที่จำนวนประมาณ 1 หมื่นล้านบาทได้
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศไทย
ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างไฟฟ้าของประเทศไทยจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกันกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกซึ่งมุ่งไปสู่การผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กแบบกระจายศูนย์โดยเป็นแรงผลักดันที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการด้านเทคโนโลยี(Disruptive Technology) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองและเชื่อมต่อถึงกันผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ได้ ดังนั้น โครงสร้างการผลิตไฟฟ้าในอนาคตจึงมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนจากการผลิตไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ไปเป็นการผลิตแบบกระจายศูนย์ นอกจากนี้ แนวโน้มที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือกระแสเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) ซึ่งจะเป็นประเด็นที่นำไปสู่การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน (Renewable Source) มากยิ่งขึ้น ในขณะที่กระแสของการใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrification) ที่ทำให้เกิดการใช้ไฟฟ้าในยานพาหนะและระบบขนส่งอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นนั้นก็น่าจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญต่อการใช้ไฟฟ้าในอนาคตด้วย
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อบทบาทของ กฟผ. ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศในระยะยาว ทั้งนี้ ตามแผน PDP2018 Revision 1 นั้น ไฟฟ้าที่ผลิตโดยผู้ใช้ไฟฟ้า (Independent Power Supply) คาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 17% ของการใช้ไฟฟ้าในปี 2580 จากประมาณ 13% ในปี 2561 ในขณะที่โรงไฟฟ้าของ กฟผ. จะมีกำลังการผลิตลดลงเหลือ 24% ของกำลังการผลิตในประเทศจาก 34% ในช่วงเดียวกัน แม้ทริสเรทติ้งจะมองว่าบทบาทที่สำคัญของ กฟผ. ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าอาจจะลดลงไปบ้างในระยะยาว แต่ทริสเรทติ้งก็เชื่อว่า กฟผ. จะยังคงมีบทบาทสำคัญในการจัดหาและดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศต่อไป
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? ยอดขายไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1%-2% ต่อปีในช่วงปี 2564-2566
? กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.05-1.1 แสนล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566
? ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและเงินลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.6 แสนล้านบาทในช่วงปี 2564-2566
? อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 เท่าในช่วงปี 2564-2566
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า กฟผ. จะยังคงดำรงบทบาทที่สำคัญในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทยต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยที่มีผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากสถานะในการเป็นรัฐวิสาหกิจของ กฟผ. เปลี่ยนแปลงไป หรือบทบาทของ กฟผ. ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของไทยลดความสำคัญลงไป จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของภาครัฐ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ, 30 กรกฎาคม 2563
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT)
อันดับเครดิตองค์กร: AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable