ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ ?BBB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันในสัดส่วน 70% ของบริษัทที่ระดับ ?A? และหุ้นกู้มีการค้ำประกันในสัดส่วน 85% ที่ระดับ ?A+? ด้วย โดยหุ้นกู้ที่มีการค้ำประกันนั้นได้รับการค้ำประกันบางส่วนจาก Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ ?AAA? จากทริสเรทติ้ง
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงตำแหน่งทางการตลาดของบริษัทในฐานะเป็นผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG (Liquefied Petroleum Gas) รายใหญ่เป็นอันดับสองในประเทศไทย ตลอดจนการมีเครือข่ายกระจายสินค้าที่ครอบคลุม รวมถึงแนวโน้มการเติบโตในตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนจากยอดขายที่ลดลงอย่างมากอันเนื่องมาจากผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และความอ่อนไหวของธุรกิจต่อความผันผวนของราคา LPG ในตลาดต่างประเทศ อันดับเครดิตยังได้รวมถึงการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG (Liquefied Natural Gas) ซึ่งอาจจะส่งผลให้ภาระหนี้สินของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นผู้ค้า LPG รายใหญ่อันดับสอง
อันดับเครดิตได้พิจารณาถึงสถานะทางการตลาดที่ยังแข็งแกร่ง โดยบริษัทยังคงเป็นผู้ค้าก๊าซ LPG รายใหญ่อันดับสองของประเทศไทย ทั้งนี้ ในอุตสาหกรรมการค้าของ LPG ในประเทศไทยนั้น บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 23% ในไตรมาสแรกของปี 2564 โดยมีคู่แข่งสำคัญได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 43% และ 17% ตามลำดับ ส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทนั้นลดลงเล็กน้อยจาก 24%-25% ในช่วงปี 2560-2563 เนื่องจากการมีการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะจากผู้ค้ารายเล็ก
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าแบรนด์สินค้าที่แข็งแกร่ง ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด และการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศของบริษัทจะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ช่วยให้บริษัทสามารถรักษาตำแหน่งในการแข่งขันไว้ได้ ตลาดการค้า LPG ในประเทศของบริษัทถือเป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคง เนื่องจากราคา LPG ถูกควบคุมและได้รับการอุดหนุนบางส่วนจากรัฐบาล ซึ่งส่งผลให้อัตรากำไรจากการค้า LPG ในประเทศของบริษัทค่อนข้างมีเสถียรภาพ
มีเครือข่ายกระจายสินค้าที่ครอบคลุม
เครือข่ายการกระจายสินค้าของบริษัทถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้บริษัทมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันเหนือกว่าบริษัทอื่นอย่างชัดเจน สำหรับในประเทศไทย บริษัทมีคลังเก็บ LPG ขนาดใหญ่จำนวน 8 แห่ง มีโรงบรรจุก๊าซและสถานีบริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงมีรถและเรือขนส่ง LPG จำนวนมาก สำหรับในต่างประเทศ บริษัทมีคลังเก็บสินค้าขนาดใหญ่ 2 แห่งในประเทศจีน มีคลังเก็บ LPG ลอยน้ำ 1 แห่งในประเทศสิงคโปร์ และมีกองเรือขนส่ง LPG
สินทรัพย์หลักเหล่านี้ช่วยทำให้บริษัทมีต้นทุนการขนส่งที่แข่งขันได้ รวมถึงมีความสามารถในการจำหน่ายสินค้าได้ทั่วประเทศ และมีเสถียรภาพในการจัดส่งสินค้า สินทรัพย์ที่ตั้งอยู่นอกประเทศไทยนั้นยังมีส่วนช่วยทำให้บริษัทสามารถนำเข้า LPG มาจำหน่ายในประเทศไทย และจำหน่าย LPG ได้ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียอีกด้วย
กำไรมีความผันผวนจากราคา LPG ที่แกว่งตัว
ความอ่อนไหวของบริษัทต่อการเปลี่ยนแปลงของราคา LPG ถือเป็นข้อจำกัดที่สำคัญต่ออันดับเครดิต โดยผลกำไรของบริษัทอาจผันผวนอย่างมากในแต่ละไตรมาสตามการแกว่งตัวของราคา LPG การลดลงอย่างกระทันหันของราคา LPG อาจทำให้เกิดการขาดทุนสต๊อกสินค้าจำนวนมากซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลประกอบการทางการเงินของบริษัทได้
ทริสเรทติ้งคาดว่าความเสี่ยงจากราคา LPG ที่ผันผวนจะยังคงดำเนินต่อไป โดยพิจารณาจากแผนการขยายตลาดของบริษัทในปัจจุบัน โดยยอดขายจากธุรกิจการค้า LPG ในต่างประเทศคิดเป็น 70%-75% ของยอดขายทั้งหมดของบริษัท
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านราคาของ LPG ส่วนหนึ่งถูกชดเชยด้วยรายได้จากธุรกิจในประเทศที่มีเสถียรภาพมากกว่า และแหล่งรายได้ที่หลากหลายมากขึ้นจากธุรกิจที่ไม่ใช่การค้า LPG เช่น การค้าเคมีภัณฑ์ โรงไฟฟ้า การให้เช่าถังเก็บน้ำมัน และการค้าส่งน้ำมัน
ปริมาณการขายได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคโควิด 19
ยอดขายของบริษัทลดลงอย่างมากจากการระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด 19 ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งส่งผลให้เกิดการล็อกดาวน์และความต้องการสินค้าทั่วโลกหดตัวลง ยอดขายทั้งหมดของบริษัทลดลง 14.8% เมื่อเทียบเป็นรายปีจาก 3.80 ล้านตันในปี 2562 เป็น 3.24 ล้านตันในปี 2563 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับตัวเลขของปี 2560
ในประเทศไทย การระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลทำให้ตลาด LPG ที่อ่อนแออยู่แล้วนั้นย่ำแย่ลงไปอีก โดยความต้องการของ LPG ในประเทศลดลงประมาณ 10.8% ในปี 2563 ซึ่งมากกว่าการหดตัวที่ประมาณ 2%-5% ต่อปี ในช่วงก่อนที่จะเกิดการระบาด ยอดขายในประเทศของบริษัทลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม โดยยอดขายในประเทศของบริษัทลดลง 15.4% เหลือ0.806 ล้านตันในปี 2563 โดยยอดขายในภาคยานยนต์ยังคงมีผลการดำเนินงานอ่อนแอที่สุด โดยลดลงถึง 24.5% ในขณะที่ยอดขายของบริษัทในภาคหุงต้มและภาคอุตสาหกรรมก็ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยลดลงประมาณ 11.7% และ 15.6% ตามลำดับ ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2564 ปริมาณการขายในประเทศของบริษัทยังคงหดตัว 10.1% เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
ในขณะเดียวกัน ยอดขายจากการค้าระหว่างประเทศของบริษัทลดลง 14.6% มาอยู่ที่ 2.44 ล้านตันในปี 2563 โดยยอดขายในส่วนของตลาดนอกชายฝั่ง (Offshore Market) ซึ่งเป็นมีสัดส่วนใหญ่ที่สุดของบริษัทลดลงถึง 13.5% บริษัทยังได้รับผลกระทบจากความต้องการที่ลดลงในตลาดประเทศจีน โดยมียอดขายลดลง 20.5% ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2564 ปริมาณการขายในต่างประเทศรวมแล้วลดลง 6.9% เมื่อเทียบปีต่อปีเหลือ 0.587 ล้านตันจาก 0.631 ล้านตัน ยอดขายในตลาดนอกชายฝั่งนั้นเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวบ้างในขณะที่ตลาดจีนยังคงซบเซา
ผลประกอบการทางการเงินที่แข็งแกร่งเนื่องจากราคาขาขึ้น
การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคา LPG เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้บริษัทสามารถผ่านพ้นสภาวะการหดตัวของตลาดในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 ไปได้ ทั้งนี้ หลังจากราคา LPG ซึ่งอ้างอิงจากราคาของโพรเพนได้แตะระดับต่ำสุดที่ 230 ดอลลาร์ต่อตันในเดือนเมษายน 2563 จากนั้นราคา LPG ในตลาดโลกได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในเดือนธันวาคม 2563 และ 625 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในเดือนมีนาคม 2564 โดยราคาที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้บริษัทมีอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้น และเพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบจากยอดขายที่ลดลงได้ จนส่งผลให้มีผลประกอบการทางการเงินที่แข็งแกร่งในปี 2563
แม้ว่ารายได้จะลดลง แต่ผลกำไรของบริษัทยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มีมูลค่ารวม 4.0 พันล้านบาทในปี 2563 เพิ่มขึ้น 23.4% จากปีก่อนหน้า สำหรับไตรมาสแรกของปี 2564 EBITDA ของบริษัทมีมูลค่า 2.08 พันล้านบาทยังคงเพิ่มขึ้น คิดเป็น 123% เมื่อเทียบปีต่อปี อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อภาระหนี้สินอยู่ที่ 27.7% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA อยู่ที่ 2.7 เท่าในไตรมาสแรกของปี 2564 สิ่งเหล่านี้บ่งชี้ว่าบริษัทยังมีกระแสเงินสดที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับจากภาระหนี้ของบริษัท
ในกรณีฐานของทริสเรทติ้ง เราคาดการณ์ว่าปริมาณการขายทั้งหมดของบริษัทจะลดลงประมาณ 6% ในปี 2564 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่น่าจะยังเปราะบาง อย่างไรก็ตาม ความต้องการของ LPG ในทวีปเอเชียก็น่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น จากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ความต้องการของ LPG ในประเทศไทยน่ายังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นจากภาวะถดถอยของตลาดโดยเฉพาะในภาคยานยนต์ ในทางตรงกันข้าม คาดว่าบริษัทจะยังสามารถเติบโตต่อได้ในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดที่ยังมีอัตราการใช้ LPG ที่ต่ำอยู่
ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ 3.2-3.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 โดยอิงจากระดับกำไรเฉลี่ยที่บริษัทเคยทำได้ก่อนหน้านี้ เรามองว่าผลประกอบการที่แข็งแกร่งในไตรมาสแรกของปี 2564 นั้นไม่น่าจะดำเนินต่อไปได้ โดยพิจารณาความเสี่ยงด้านลบที่เพิ่มขึ้นจากของราคา LPG
สัดส่วนภาระหนี้สินมีโอกาสเพิ่มขึ้น
อันดับเครดิตของบริษัทนั้นยังคงถูกจำกัดจากแผนการลงทุนของบริษัทในโครงการนำเข้า LNG รวมถึงความเสี่ยงจากการดำเนินการในโครงการดังกล่าวบริษัทวางแผนจะนำเข้าและจำหน่าย LNG ให้กับผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรม และบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างวางแผนการก่อสร้างสาธารณูปโภคสำหรับรองรับ LNG ดังกล่าว โครงการ LNG นั้นยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังมีรูปแบบทางธุรกิจที่ไม่แน่นอน ทั้งในแง่ของขอบเขตของตลาดปลายทาง การแข่งขันกับคู่แข่งที่ใหญ่กว่ามากเช่นกลุ่ม ปตท. และแผนการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ บริษัทอยู่ในระหว่างประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับการก่อสร้างถังเก็บ LNG ในจังหวัดชลบุรี อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างโครงการน่าจะมีการล่าช้าเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด 19 ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าโครงการ LNG จะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปีสำหรับการก่อสร้าง ทั้งนี้ คาดว่าการก่อสร้างโครงการจะเริ่มได้ในปี 2565
จากการคาดการณ์กรณีฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่าสัดส่วนภาระหนี้สินการเงินของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง เงินลงทุนในระหว่างปี 2564-2566 จะอยู่ที่ 8.7 พันล้านบาท ซึ่งหลัก ๆ ประกอบไปด้วยเงินลงทุนจำนวน 5.3 พันล้านบาทสำหรับโครงการ LNG และ 1.2 พันล้านบาทสำหรับการลงทุนในถังเก็บก๊าซหุงต้มและคลังเก็บก๊าซแห่งใหม่ ในอีก 3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนเงินทุนต่อการดำเนินงานต่อภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทน่าลดลงเหลือ 12% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA น่าจะสูงกว่า 5 เท่า อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อส่วนทุนน่าเพิ่มขึ้นเป็น 57%-60% อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ทางการเงินน่าจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อโครงการนำเข้า LNG เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้แล้ว ทริสเรทติ้งยังคงยืนอันดับเครดิตคงเดิม ซึ่งสะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงสามารถทำกำไรได้และบริหารจัดการสภาพคล่องอย่างรอบคอบตลอดช่วงเวลาการลงทุนดังกล่าว
สภาพคล่องอยู่ในระดับจัดการได้
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทยังคงมีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดยมีแหล่งเงินทุนมากพอที่จะครอบคลุมการใช้เงินทุนในช่วง 12 เดือนข้างหน้า แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 2.5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ 2.6 พันล้านบาท และวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้มูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ การใช้เงินทุนในอีก 12 เดือนข้างหน้าประกอบด้วยการชำระคืนเงินกู้ระยะยาวจำนวน 0.9 พันล้านบาทและการจ่ายเงินปันผลจำนวน 0.92 พันล้านบาทบริษัทวางแผนจะรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ 3 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดในเดือนมกราคม 2565 เพื่อรักษาสภาพคล่องไว้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะจัดหาเงินทุนสำหรับการก่อสร้างโรงงาน LNG โดยใช้หนี้สินเป็นหลัก
บริษัทยังคงสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการเงินได้ โดยกำหนดให้คงอัตราส่วนของหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (Interest-bearing Debt -- IBD) ต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่เกิน 2 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนดังกล่าวของบริษัทอยู่ที่ 1.12 เท่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564
โครงสร้างเงินทุน
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีภาระหนี้จำนวน 1.57 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมถึงหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนประมาณ 5.3 พันล้านบาท โดยหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนนั้น ประกอบไปด้วยหนี้ที่มีหลักประกัน 2.5 พันล้านบาท และหนี้ไม่มีหลักประกันที่บริษัทย่อยจำนวน 2.8 พันล้านบาท ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้ชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้ทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 34%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? ยอดขายในตลาดต่างประเทศของบริษัทจะลดลง 6% ในปี 2564 ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1%-2% ในปี 2565-2566
? ยอดขายภายในประเทศจะลดลง 6%-7% ในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้น 3.5% ในปี 2565 จากนั้นจะคงที่ในปี 2566
? รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 6.1-6.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2564-2566
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ประมาณ 5%-6%
? เงินลงทุนโดยรวมของบริษัทจะเท่ากับ 1.5 พันล้านบาทในปี 2564 และประมาณปีละ 3.6 พันล้านบาทในปี 2565-2566
? อัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ระดับ 50% ของกำไรสุทธิ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต? Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะที่แข็งแกร่งในการเป็นผู้จัดจำหน่าย LPG รายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไทยเอาไว้ได้ โดยกระแสเงินสดที่มั่นคงจากการดำเนินงานภายในประเทศจะช่วยลดความผันผวนของผลการดำเนินงานในต่างประเทศ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าธุรกิจการค้าก๊าซในต่างประเทศจะยังคงทำกำไรได้แม้ว่าบริษัทจะเผชิญกับความเสี่ยงด้านราคาที่สูงขึ้นก็ตาม
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มในการปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นนั้นมีจำกัดเนื่องจากแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการนำเข้า LNG และความต้องการ LPG ในประเทศที่ยังลดลงต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทนั้นด้อยลงอย่างมากเป็นระยะเวลานาน ซึ่งสิ่งนี้อาจจะเกิดได้จากการลงทุนที่มากเกินไปจนส่งผลให้สถานะการเงินของบริษัทด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ
อันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนของบริษัทสะท้อนคุณภาพเครดิตของทั้งผู้ออกหุ้นกู้และผู้ค้ำประกันคือ CGIF ซึ่งอันดับเครดิตของหุ้นกู้ดังกล่าวอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านคุณภาพเครดิตของบริษัทหรือของผู้ค้ำประกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) (SGP)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
SGP221A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
SGP232A: หุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วน (85%) 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
SGP23DA: หุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วน (70%) 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
SGP241A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable