ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB? และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ ?BBB-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ทั้งนี้ อันดับเครดิตหุ้นกู้อยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรซึ่งสะท้อนถึงความด้อยกว่าในเชิงโครงสร้างของภาระหนี้ของเงินกู้ยืมไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทเมื่อเทียบกับสิทธิเรียกร้องในการชำระคืนหนี้ของบริษัทย่อยต่าง ๆ ของบริษัท
อันดับเครดิตองค์กรสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัทซึ่งมีแรงผลักดันจากความเข้มแข็งในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ ตลอดจนผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัทลูกหลักคือ บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) รวมถึงสถานะทางการแข่งขันที่ค่อนข้างแข็งแกร่งในธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท
ในขณะที่อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตลอดจนการกระจุกตัวของแหล่งรายได้ และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจให้เช่าพื้นที่ของบริษัทอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ความร่วมมือภายในกลุ่มที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นเพื่อรองรับโครงสร้างธุรกิจที่กระจายตัว
สถานะความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทสะท้อนถึงการกระจายตัวของแหล่งรายได้ที่อยู่ในระดับปานกลาง โดยบริษัทเน้นธุรกิจค้าปลีก (Retail) และธุรกิจการเงิน (Finance) เป็นหลัก รายได้รวมของบริษัทในปี 2563 ส่วนใหญ่มาจาก บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ (Gadget) (คิดเป็น 61% ของรายได้รวมในปี 2563) บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ซึ่งดำเนินธุรกิจจัดเก็บหนี้และซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหาร (27%) บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล จำกัด หรือเดิมชื่อ บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล (Retail Lending) (7%) และ บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจให้เช่าพื้นที่ (4%) นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มอีก เช่น บริษัท บีนส์แอนด์บราวน์ จำกัด บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด อย่างไรก็ตาม แม้จะมีรายได้ที่หลากหลายจากบริษัทในกลุ่ม แต่กำไรหลักของกลุ่มก็มาจากบริษัทลูกเพียงไม่กี่แห่งโดยบริษัทหลักคือบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส
เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในด้านความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มเจมาร์ท หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของบริษัทคือการส่งเสริมการผสานประโยชน์จากความร่วมมือกันของบริษัทภายในกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมกันจำหน่ายสินค้าที่มีอยู่ภายในกลุ่ม โดยหนึ่งในตัวอย่างดังกล่าวคือการจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัทเจมาร์ท โมบาย ผ่านทางเครือข่ายของบริษัทซิงเกอร์ประเทศไทย ในขณะเดียวกัน บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล ก็เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อผ่อนชำระ (Instalment Loan) และสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) แก่ลูกค้าของบริษัท เจมาร์ท โมบาย ส่วนบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ก็เป็นผู้ให้บริการติดตามหนี้ให้แก่บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล และบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย พร้อมทั้งซื้อหนี้ด้อยคุณภาพจากทั้ง 2 บริษัทมาบริหาร ในขณะที่บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท ยังให้การสนับสนุนบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซส ด้วยการช่วยปรับปรุงและจำหน่ายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รอการขายออกไป เป็นต้น
ทริสเรทติ้งมองว่าการผสานพลังทางธุรกิจกันภายในกลุ่มนั้นสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นอีกได้แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการที่จะส่งผลทำให้แต่ละธุรกิจสามารถมีประสิทธิภาพในการจัดการต้นทุนภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอในปัจจุบันได้ ในขณะเดียวกัน กลุ่มเจมาร์ทก็ยังคงจำเป็นต้องมีการบริหารธุรกิจและเงินทุนภายในกลุ่มที่ดีเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถานะทางธุรกิจด้วย
มีการพึ่งพิงผลการดำเนินงานของบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส
ธุรกิจจัดเก็บและบริหารหนี้ด้อยคุณภาพภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส เป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งที่สุดและสร้างกำไรที่สำคัญที่ช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานโดยรวมของกลุ่มเจมาร์ท โดยในปี 2563 บริษัทเจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ยังคงเป็นผู้นำส่งผลกำไรที่สำคัญให้แก่กลุ่มด้วยผลกำไรสุทธิที่ระดับประมาณ 1 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 59.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน) หรือคิดเป็นประมาณ 80% ของกำไรสุทธิของกลุ่มเจมาร์ท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลการดำเนินงานของกลุ่มเจมาร์ทมีการพึ่งพิงผลการดำเนินงานของบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ในระดับสูง
นอกจากนี้ ความสำคัญของบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ที่มีต่อกลุ่มเจมาร์ทยังเห็นได้จากการที่บริษัทได้รับการจัดสรรเงินลงทุนจากกลุ่มในปี 2563 ในสัดส่วนมากกว่า 85% ของการลงทุนรวมของกลุ่มอีกด้วย โดยแนวโน้มการได้รับการจัดสรรเงินลงทุนที่สูงกว่าบริษัทย่อยรายอื่นในกลุ่มดังกล่าวนี้คาดว่าจะยังคงต่อเนื่องไปในอนาคตจากการประกาศแผนธุรกิจของกลุ่มเมื่อเร็ว ๆ นี้
ธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโตได้ในระดับปานกลาง
ผลการดำเนินงานในธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ดำเนินการโดยบริษัทเจมาร์ท โมบาย ชะลอตัวลงอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โรคโควิด 19) และการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในปี 2563 ยอดขายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่และสินค้าที่เกี่ยวข้อง (รวมรายได้จากกิจกรรมส่งเสริมการขาย) ของบริษัทเจมาร์ท โมบาย ลดลง 5.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 7.1 พันล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 84 ล้านบาทในปี 2563 ปรับลดลง 7.7% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่ในไตรมาสแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้ที่ปรับดีขึ้น 32.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 3.9 พันล้านบาท โดยการปรับตัวที่ดีขึ้นนั้นมาจากการผสานพลังทางธุรกิจกันภายในกลุ่มจากการใช้เครือข่ายของบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายรวมไปถึงการให้บริการสินเชื่อโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านทางบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย และบริษัท เคบี เจ แคปปิตอล
พันธมิตรรายใหม่ช่วยลดภาระต่าง ๆ
ในช่วงต้นปี 2564 KB Kookmin Card Co., Ltd. จากประเทศเกาหลีใต้ได้เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัท เจ ฟินเทค ในสัดส่วน 51% จากบริษัทเจมาร์ท โดยส่วนที่เหลือมีบริษัทเจมาร์ทเป็นผู้ถือหุ้น ภายหลังจากการขายหุ้นดังกล่าว บริษัท เจ ฟินเทค ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล และไม่มีส่วนในงบการเงินรวมของบริษัทเจมาร์ทอีกต่อไป เนื่องจาก KB Kookmin Card มีสัดส่วนการถือหุ้นที่มีอำนาจการควบคุมและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำจากการมีสถานะทางเครดิตที่แข็งแกร่ง บริษัทดังกล่าวจึงจะเป็นผู้จัดหาและสนับสนุนเงินทุนมาเพื่อรองรับการเติบโตในธุรกิจการให้สินเชื่อของบริษัท เคบี เจ แคปปิตอล ซึ่งจะทำให้บริษัทเจมาร์ทลดภาระในการที่จะต้องหาเงินทุนมาให้แก่บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล ลงไป นอกจากนี้ เงินทุนที่ได้รับจาก KB Kookmin Card ยังทำให้บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล สามารถชำระคืนเงินกู้ยืมระหว่างกันจำนวน 2.9 พันล้านบาทแก่บริษัทเจมาร์ทได้อีกด้วย ซึ่งส่งผลทำให้สถานะหนี้ของกลุ่มปรับตัวดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การไม่มีส่วนในงบการเงินรวมของกลุ่มเจมาร์ทยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากธุรกิจหลักของบริษัท เคบี เจ แคปปิตอล อีกเช่นกัน ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่ากรณีดังกล่าวน่าจะช่วยให้ผลการดำเนินงานของบริษัทเจมาร์ทมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นในระยะยาว โดยหากบริษัท เคบี เจ แคปปิตอล มีผลการดำเนินงานที่ดีก็จะนำส่งผลกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมมาให้บริษัทเจมาร์ทได้ในอนาคต
กำไรจากธุรกิจของบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท ปรับตัวดีขึ้นแต่ยังมีความไม่แน่นอน
บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท ยังคงมีสัดส่วนรายได้ที่ส่งให้แก่กลุ่มเจมาร์ทที่ไม่มากซึ่งคิดเป็นเพียง 4% ของรายได้รวมของกลุ่มและ 4% ของกำไรสุทธิของกลุ่มในปี 2563 ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอและการปิดเมือง (City Lockdown) อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้บริษัทต้องทำการปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Junction) ที่ไม่สร้างกำไรลงและลดค่าเช่าศูนย์การค้าชุมชน (Community Mall) เพื่อช่วยเหลือลูกค้าของบริษัทในยามยากลำบาก ซึ่งทำให้รายได้รวมของบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท ลดลง 41% ในปี 2563 มาอยู่ที่ระดับ 522 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 กำไรสุทธิของบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 56 ล้านบาทจาก 17 ล้านบาทในปี 2562 จากผลของการจัดประเภทของสินทรัพย์และค่าเช่าจ่ายตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS 16) นอกจากนี้ การปิดสาขาที่ไม่สร้างกำไรและการลดค่าเช่าจากการเจรจากับทางเจ้าของสถานที่หรือผู้ให้เช่าก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดต้นทุนด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในมุมมองทริสเรทติ้งเห็นว่าผลการดำเนินงานในอนาคตของบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท ยังคงมีความไม่แน่นอนจากอุปสรรคที่ภาคธุรกิจค้าปลีกต้องพบเจอจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด 19
ภาระหนี้ที่ปรับตัวดีขึ้น
ภาระหนี้ของบริษัทเจมาร์ทที่ปรับตัวดีขึ้นนั้นเกิดจากการที่บริษัทไม่ต้องนำงบการเงินของบริษัท เคบี เจ แคปปิตอล มารวมในการจัดทำงบการเงินรวมของกลุ่มเจมาร์ทและจากการเพิ่มทุนของบริษัทผ่านการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2563 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.4 เท่าจาก 3.9 เท่าในปี 2562 ทั้งนี้ ในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2566) ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 3.0-3.3 เท่าซึ่งอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าผลงานการจัดเก็บหนี้ของบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ยังจะอยู่ในระดับเดิมไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม การซื้อหนี้ด้อยคุณภาพแบบเชิงรุกและการลงทุนด้วยเงินลงทุนจำนวนมากอาจเป็นแรงกดดันต่อภาระหนี้และสถานะเครดิตของบริษัทได้ในระยะปานกลาง
แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้
ในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทจะยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยแหล่งสภาพคล่องส่วนใหญ่ตามงบการเงินรวมซึ่งจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวนประมาณ 3.5-5 พันล้านบาทต่อปีรวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ เดือนมีนาคม 2564 อีกจำนวนประมาณ 4.9 พันล้านบาทนั้นน่าจะเพียงพอที่จะสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทได้ ในขณะที่บริษัทจะมีความต้องการใช้เงินทุนซึ่งประกอบด้วยภาระการลงทุนที่ประมาณ 580 ล้านบาทต่อปีและเงินลงทุนเพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารอีกประมาณ 4-6 พันล้านบาทต่อปี ในการนี้ ทริสเรทติ้งไม่มีความกังวลต่อสภาพคล่องของบริษัทในระยะ 12 เดือนข้างหน้าเนื่องจากบริษัทไม่มีหนี้สินทางการเงินที่จะครบกำหนดชำระในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีข้อสังเกตว่าบริษัทควรมีการขยายวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่หลากหลายขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนความต้องการด้านสภาพคล่องในยามที่ตลาดทุนมีความโกลาหลผิดปกติซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่สูงขึ้นได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ในระยะ 3 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2566) ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทเจมาร์ทดังต่อไปนี้
? บริษัทจะมีรายได้ที่ระดับ 1.1-1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี
? อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจจัดเก็บหนี้จะอยู่ที่ระดับ 70% ส่วนของธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่จะอยู่ที่ระดับ 10%-15% และของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ที่ระดับ 25%
? เงินลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 580 ล้านบาทต่อปี และเงินลงทุนเพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารจะอยู่ที่ 4-6 พันล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? อยู่บนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพเอาไว้ได้ต่อไป ในขณะที่สถานะในการแข่งขันในธุรกิจจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่จะยังคงเดิม โดยทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าผลการดำเนินงานของบริษัทลูกรายอื่น ๆ จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตนั้นอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทเจมาร์ทสามารถปรับปรุงกระแสเงินสดให้แข็งแกร่งขึ้นและสามารถคงระดับภาระหนี้เอาไว้ได้ ในขณะที่ความกดดันทางด้านลบต่ออันดับเครดิตจะเกิดจากผลการดำเนินงานที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งในส่วนของบริษัทเองหรือในส่วนของบริษัทลูกต่าง ๆ หรือจากการลงทุนในเชิงรุกซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้จนระดับอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่สูงเกินกว่า 5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) (JMART)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
JMART239A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB-
JMART249A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable