ทริสเรทติ้งมองว่าอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) (MAJOR) ยังไม่ได้รับผลกระทบในทันทีจากการที่บริษัทตัดสินใจขายหุ้นของ บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (SF) ออกไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการของบริษัทได้ออกประกาศมติเห็นชอบในการทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นสามัญทั้งหมดจำนวน 647,158,471 หุ้นของ SF ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 30.36% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ SF ให้แก่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (CPN) ที่ราคา 12 บาทต่อหุ้น โดยธุรกรรมดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ MAJOR ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2564 ที่จะถึงนี้และจะขึ้นอยู่กับผลการตรวจสอบสถานะของ SF (Due Diligence) ที่กระทำโดย CPN ในการนี้ บริษัทมีแผนจะนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นดังกล่าวไปใช้ชำระคืนหนี้ที่มีอยู่ รวมทั้งใช้เป็นเงินสำรองสำหรับการลงทุนในอนาคต และใช้ในการจ่ายเงินปันผลพิเศษ
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าธุรกรรมการขายหุ้นในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัททั้งในส่วนของโครงสร้างเงินทุนและสถานะสภาพคล่องที่จะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในช่วงที่ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงในสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ ๆ ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวและแผนการใช้เงินที่จะได้จากการขายหุ้นในครั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าอันดับเครดิตจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในขณะนี้
ผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่องต่อไป สำหรับในปี 2564 นั้นทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะฟื้นตัวช้ากว่าที่ได้ประมาณการณ์ไว้เนื่องจากความรุนแรงของการระบาดครั้งล่าสุดและแผนการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าทั่วประเทศ แม้ว่าผู้สร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดจะเริ่มออกฉายภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 แล้ว แต่บริษัทก็ต้องเลื่อนการฉายในประเทศไทยออกไปเนื่องจากความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็คาดว่าการระบาดจะสามารถควบคุมได้ในวงกว้างภายในช่วงปลายปี 2564 ตามกำหนดการของรัฐบาลที่จะสามารถฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนได้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผลการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 และปี 2566 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ารายได้ของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ 2.5 พันล้านบาทในปี 2564 และจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 5.9 พันล้านบาทในปี 2565 และ 9.8 พันล้านบาทในปี 2566 โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทน่าจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 3.6 เท่าในปี 2565 และ 1.7 เท่าในปี 2566 จาก 10.6 เท่าในปี 2564
อันดับเครดิตของ MAJOR ยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย ตลอดจนการมีโรงภาพยนตร์ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดีทั่วประเทศ และสถานะที่เป็นเอกลักษณ์ของบริษัทในธุรกิจสื่อโฆษณาเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวก็ถูกลดทอนบางส่วนจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ ปริมาณของภาพยนตร์ที่เข้าฉาย รวมทั้งความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์ การแข่งขันจากกิจกรรมนันทนาการประเภทอื่น และโรคระบาดต่าง ๆ
MAJOR ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งที่ระดับ ?A? ทั้งสำหรับองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ?