ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส” ที่ “A-” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 23, 2021 09:54 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว ตลอดจนการมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้า การกระจายความหลากหลายไปในธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่นๆ รวมถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ และความสามารถในการทำกำไรที่สม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูงและการกระจุกตัวของลูกค้า

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ผลการดำเนินงานน่าพอใจแม้จะได้รับผลกระทบจาก โรคโควิด 19

ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่ง การผลิตในปริมาณมากที่ทำให้เกิดการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) และความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับผู้จัดหาวัตถุดิบซึ่งรวมถึงผู้จัดหาจำนวน 2 รายที่บริษัทได้เข้าไปซื้อหุ้นในสัดส่วน 25% ในปี 2562 เป็นปัจจัยที่ช่วยทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนในการผลิตลงได้ ในขณะที่ประสิทธิภาพในการผลิตและการใช้ประโยชน์จากเตาหลอมแก้วที่มากกว่า 80% ขึ้นไปยังช่วยลดต้นทุนในขั้นตอนการผลิตได้อีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งโรงงานให้อยู่ใกล้เคียงกับลูกค้าและผู้จัดหาวัตถุดิบเพื่อช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง และนอกเหนือจากความสามารถในการลดต้นทุนแล้ว บริษัทยังมุ่งเน้นไปที่สินค้าบรรจุภัณฑ์แก้วที่มีมูลค่าสูงเพื่อที่จะเพิ่มความสามารถในการทำกำไรอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ส่งผลกระทบต่อธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วของบริษัทในปี 2563 เป็นอย่างมาก มาตรการของภาครัฐในการห้ามการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการปิดเมือง (Lockdown) ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ทำให้ยอดขายในธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วลดลงถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ยอดขายได้ฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 หลังจากการผ่อนปรนมาตรการของภาครัฐ จึงทำให้ยอดขายบรรจุภัณฑ์แก้วโดยรวมในปี 2563 ของบริษัทลดลงเพียง 7%

ในปี 2563 ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงแข็งแกร่งแม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยสืบเนื่องมาจากสาเหตุหลัก ได้แก่ รายได้เสริมที่มาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ตลอดจนราคาเชื้อเพลิงและวัตถุดิบที่ลดลง ทั้งนี้ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ที่ 2.6 พันล้านบาทในปี 2563 มากกว่าที่ระดับ 1.9-2.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2559-2562 โดยทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 2.5-2.8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีประมาณการ 2564-2566

มีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย

บริษัทมีการดำเนินกลยุทธ์ที่จะกระจายแหล่งที่มาของรายได้ให้มีความหลากหลายเพื่อที่จะสร้างความมั่นคงให้แก่กระแสรายได้ในอนาคต โดยในปี 2562 บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท โซล่าร์ พาวเวอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 67% ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 2 แห่งในประเทศเวียดนาม โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2562 และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity -- EVN) เป็นระยะเวลา 20 ปีโดยได้รับอัตราซื้อไฟฟ้าที่ 9.35 เซ็นต์ต่อกิโลวัตต์/ชั่วโมง โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ทั้ง 2 โครงการนี้สามารถสร้างรายได้ให้แก่บริษัทที่จำนวน 456 ล้านบาทในปี 2563 และทริสเรทติ้งประมาณการว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะสร้างรายได้ที่ประมาณ 400-420 ล้านบาทต่อปีในช่วงประมาณการ

บริษัทยังแสวงหาโอกาสลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์เพื่อที่จะก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรตามแผนกลยุทธ์ ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน 2564 บริษัทได้เข้าซื้อหุ้น 100% ของบริษัทบรรจุภัณฑ์ 2 แห่งจาก บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทเอง โดยบริษัทบรรจุภัณฑ์ทั้ง 2 แห่งดังกล่าว ได้แก่ บริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายฟิล์มพลาสติก ฝาพลาสติกสำหรับปิดบรรจุภัณฑ์ ขวดพลาสติก PET และหลอดพรีฟอร์ม (Preform) และ บริษัท บางกอกบรรจุภัณฑ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกล่องกระดาษลูกฟูก โดยยอดเงินลงทุนในการซื้อกิจการทั้งหมดอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท ในการนี้ รายได้จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.6-1.7 พันล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12% ของรายได้รวมของบริษัทในช่วงปีประมาณการ

ภาระหนี้อยู่ในระดับสูง แต่กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะอยู่ในระดับสูงในช่วงปีประมาณการ ทั้งนี้ แผนการลงทุนในระหว่างปี 2564-2566 จะอยู่ที่ประมาณ 1.7-4.3 พันล้านบาทต่อปี โดยค่าใช้จ่ายในการลงทุนซึ่งไม่รวมงบจำนวน 1.7 พันล้านบาทที่ใช้ไปในการซื้อกิจการธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ในปี 2564 แล้วจะประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายจำนวน 1.6 พันล้านบาทสำหรับการสร้างเตาหลอมแก้วใหม่ในปี 2565-2566 และส่วนที่เหลือสำหรับการซ่อมบำรุงเตาหลอมแก้วครั้งใหญ่และสำหรับการซ่อมบำรุงตามปกติ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 64%-68% ตลอดช่วงปีประมาณการ

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอสำหรับช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวน 2 พันล้านบาท เงินสดในมือจำนวน 210 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงิน ทั้งนี้ แหล่งเงินทุนสำหรับการซื้อกิจการบรรจุภัณฑ์อื่นจำนวน 1.7 พันล้านบาทมาจากเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินทั้งหมด ส่วนการใช้เงินทุนอื่นๆ นั้นจะเป็นการจ่ายคืนหนี้จำนวน 1.7 พันล้านบาทและการลงทุนต่างๆ อีกจำนวน 1 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 20% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า และคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 4.5-5 เท่าในระหว่างปี 2564-2566

ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของตลาดผูกอยู่กับตลาดเครื่องดื่มภายในประเทศเป็นหลัก

บริษัทมียอดขายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องดื่มถึงประมาณ 90% ของยอดขายบรรจุภัณฑ์แก้วทั้งหมดของบริษัท ในปี 2563 ขวดเบียร์ ขวดน้ำอัดลม และขวดสำหรับบรรจุเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ คิดเป็นสัดส่วน 41% 37% และ 12% ของยอดขายขวดทั้งหมดของบริษัทตามลำดับ การลดลงของยอดขายเครื่องดื่มทั้งประเภทที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดขายบรรจุภัณฑ์ของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทพยายามที่จะลดความเสี่ยงในส่วนนี้ลงในระดับหนึ่งโดยการเพิ่มยอดขายสินค้าในธุรกิจกลุ่มอื่นๆ ซึ่งสร้างอัตรากำไรที่มากกว่า เช่น ธุรกิจอาหารและยาที่ต้องการบรรจุภัณฑ์แก้วที่มีการออกแบบพิเศษเฉพาะตัว

ในปี 2563 สินค้าของบริษัทจำนวน 91% เป็นการจำหน่ายภายในประเทศ บริษัทได้พยายามลดความเสี่ยงที่เกิดจากการชะลอตัวของอุปสงค์บรรจุภัณฑ์ภายในประเทศด้วยการเพิ่มยอดขายในตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น โดยสัดส่วนยอดขายในตลาดต่างประเทศของบริษัทเมื่อเทียบกับยอดขายรวมเริ่มเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ โดยขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 9% ในปี 2563 จากระดับ 5% ในปี 2558

อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดอยู่ในระดับสูง

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดแก้วมีต้นทุนในการลงทุนที่สูงและต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นอกจากนี้ ความซื่อสัตย์ของลูกค้าที่ให้การสนับสนุนสินค้าของผู้ประกอบการดั้งเดิมที่เป็นผู้นำตลาดอยู่แล้วยังถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ได้ยากขึ้นอีกด้วย

ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วชั้นนำในประเทศไทยต่างก็มีสายสัมพันธ์กับบริษัทที่เป็นผู้นำในด้านเครืองดื่มภายในประเทศซึ่งต่างก็เป็นผู้ซื้อบรรจุภัณฑ์แก้วรายสำคัญทั้งสิ้น ปัจจุบันอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์แก้วมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ครองตลาดอยู่ 3 ราย คือ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบุญรอด (Boon Rawd Group) บริษัท อุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น (TCC Group) และ บริษัท สยามกลาส อินดัสทรี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือโอสถสภา (Osotspa Group)

นอกจากนี้ ยังเป็นการยากที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะสามารถใช้เตาหลอมแก้วได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากเตาหลอมแก้วนั้นต้องมีการเปิดใช้งานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การประหยัดจากขนาดจึงยังเป็นข้อจำกัดอีกประการหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดนี้ด้วยเช่นกัน

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? รายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 15% ในปี 2564 เนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภคเครื่องดื่มโดยภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจากการซื้อกิจการของบริษัทบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ในช่วงเดือนเมษายน 2564 ทั้งนี้ ยอดขายจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% ในปี 2565 และ 2% ในปี 2566

? อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับประมาณ 15% และอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 20% ในช่วงปี 2564-2566

? งบลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 2.7 พันล้านบาทในปี 2564 ที่ระดับ 4.3 พันล้านบาทในปี 2565 และที่ระดับ 1.7 พันล้านบาทในปี 2566

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วเอาไว้ได้โดยมีธุรกิจในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ สร้างรายได้สนับสนุนธุรกิจหลัก

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้เป็นอย่างมากและรักษาเสถียรภาพของอัตรากำไรได้โดยไม่ทำให้ฐานะการเงินอ่อนแอลง ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดจากการที่ความสามารถในการทำกำไรและรายได้ของบริษัทลดลงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่การลงทุนเชิงรุกมากเกินไปจนทำให้เกิดภาระหนี้ที่สูงขึ้นจนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 6 เท่าหรือมากกว่าติดต่อกันในช่วงระยะเวลาหนึ่งก็อาจนำไปสู่การลดอันดับเครดิตได้เช่นเดียวกัน

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) (BGC)

อันดับเครดิตองค์กร: A-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ