ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงประสบการณ์ของบริษัทในการพัฒนาและดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศไทยและกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการที่บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับหน่วยงานการไฟฟ้าต่าง ๆ ของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนจากการที่ธุรกิจของบริษัทมีขนาดเล็กและจากความเสี่ยงในการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ ในต่างประเทศ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่ระดับการก่อหนี้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นจากแผนการขยายธุรกิจของบริษัทอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีผลงานที่ยอมรับได้ในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์
ความแข็งแกร่งของบริษัทเกิดจากการมีผลงานที่เป็นที่ยอมรับในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ โดยบริษัทเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากการเริ่มพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในปี 2554 ซึ่งมีกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 72 เมกกะวัตต์ หลังจากนั้นบริษัทก็ได้ขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และกัมพูชา
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 กำลังการผลิตรวมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 273 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้ประมาณ 159 เมกะวัตต์ได้ดำเนินการผลิตแล้ว ทั้งนี้ หากนับตามสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าแล้ว บริษัทจะมีกำลังการผลิตรวมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าทั้งสิ้นประมาณ 178 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศไทย (64 เมกะวัตต์) ประเทศกัมพูชา (60 เมกะวัตต์) ประเทศไต้หวัน (40 เมกะวัตต์) และประเทศญี่ปุ่น (14 เมกะวัตต์)
กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้า
ในการพิจารณาอันดับเครดิต ทริสเรทติ้งคำนึงถึงความเสี่ยงในระดับต่ำซึ่งเป็นธรรมชาติของธุรกิจผลิตไฟฟ้า โดยแม้บริษัทเพิ่งขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ อันประกอบด้วยการรับเหมาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์บนหลังคา การจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ด้านไฟฟ้า และนวัตกรรมใหม่ ๆ แต่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะยังคงเป็นธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ความเสี่ยงในระดับต่ำซึ่งเป็นธรรมชาติของธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้นเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเสี่ยงในการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำ ความเสี่ยงในการได้รับชำระเงินจากผู้รับซื้อไฟฟ้าที่อยู่ในระดับต่ำ และการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว เป็นต้น
พลังแสงอาทิตย์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในปริมาณที่คาดการณ์และสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอน บริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้ามากกว่า 30 แห่งในพื้นที่ที่หลากหลายซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกในด้านการกระจายตัวของพื้นที่ ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปริมาณไฟฟ้ารวมต่อปีที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ของบริษัทเป็นไปตามปริมาณไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ตามความน่าจะเป็นที่ 75% (ระดับ P75) ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของโรงไฟฟ้าเหล่านี้ทรงตัวอยู่ในระดับที่น่าพอใจที่ประมาณ 80%
ธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีความเสี่ยงในการได้รับชำระเงินจากผู้รับซื้อไฟฟ้าในระดับต่ำเพราะโรงไฟฟ้าของบริษัทส่วนใหญ่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับหน่วยงานด้านไฟฟ้าภาครัฐ โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวมีระยะเวลาที่ยาวนานสูงสุดถึง 25 ปี นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขยับขยายไปสู่การจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ภาคเอกชน ซึ่งสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาคเอกชนโดยทั่วไปนั้นมีความเสี่ยงในการได้รับชำระเงินจากผู้รับซื้อไฟฟ้าที่สูงกว่า อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตภายใต้รูปแบบสัญญาดังกล่าวจะยังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า 5% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของบริษัท
ธุรกิจมีขนาดเล็ก แต่อยู่ในช่วงการเติบโต
บริษัทกำลังอยู่ในช่วงของการเติบโตแต่ก็ยังมีขนาดเล็กอยู่ โดยทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้รวมจากการดำเนินงานของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 พันล้านบาทในปี 2566 จาก 495 ล้านบาทในปี 2563 ภายใต้สมมติฐานว่าบริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ปีละ 30 เมกะวัตต์เพิ่มเติมจากเดิมที่มีตลอดช่วง 3 ปีข้างหน้าเมื่อพิจารณาจากกลยุทธ์การเติบโตของบริษัท ซึ่งทำให้คาดว่ารายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 920 ล้านบาทในปี 2566 จาก 347 ล้านบาทในปี 2563 ส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่ 3 ธุรกิจซึ่งประกอบไปด้วยการรับเหมาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์บนหลังคา การจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงาน และนวัตกรรมใหม่ ๆ จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของรายได้รวม โดยรายได้จากธุรกิจใหม่เหล่านี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 700-800 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของธุรกิจใหม่เหล่านี้ยังจำเป็นจะต้องรอการพิสูจน์ต่อไปเนื่องจากยังอยู่ในระยะเริ่มต้น
ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในอีก 3 ปีข้างหน้าโดยจะอยู่ที่ 929 ล้านบาทในปี 2566 จาก 487 ล้านบาทในปี 2563 ทั้งนี้ 3 ใน 4 ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทนั้นน่าจะยังคงมาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่มีอัตรากำไรสูงต่อไปแม้ธุรกิจใหม่ดังกล่าวจะสร้างรายได้อย่างมีนัยสำคัญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับ 50%-60% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าเมื่อเทียบกับระดับ 66% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 โดยการลดลงของอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้สะท้อนถึงสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจใหม่ที่มีอัตรากำไรต่ำกว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้า
ความเสี่ยงจากการจัดการโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ในต่างประเทศ
ในสถานการณ์ที่โอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ภายในประเทศมีค่อนข้างจำกัดอันเนื่องมาจากกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยที่อยู่ในระดับสูง ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะเน้นขยายการลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไต้หวันและกัมพูชาซึ่งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน
บริษัทประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ขนาด 6 เมกะวัตต์แห่งแรกในประเทศไต้หวันในปี 2562 โดยมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์กำลังการผลิตรวม 45 เมกะวัตต์ในประเทศไต้หวันที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาอีกด้วย โครงการในต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัทคือโครงการ ?National Solar Park? ซึ่งอยู่ในประเทศกัมพูชา การพัฒนาโครงการดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ซึ่งบริษัทประมูลได้สัญญาในระยะแรกที่กำลังการผลิตขนาด 60 เมกะวัตต์โดยมีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าในช่วงปลายปี 2565 ส่วนผลการประมูลโครงการในระยะที่ 2 (40 เมกะวัตต์) นั้นยังไม่มีการประกาศผล
ทริสเรทติ้งเห็นว่าการลงทุนในประเทศกัมพูชามีความเสี่ยงสูงกว่าในประเทศไทย โดยหนึ่งในนั้นก็คือความเสี่ยงของคู่สัญญาซึ่งทริสเรทติ้งมองว่าสถานะเครดิตของการไฟฟ้ากัมพูชา (Electricity of Cambodia ? EDC) ที่เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าภาครัฐนั้นไม่เข้มแข็งเท่ากับของผู้รับซื้อไฟฟ้าภาครัฐในประเทศไทย ในขณะที่ประวัติผลงานในการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ในประเทศกัมพูชานั้นก็ยังมีจำกัดอีกด้วยเนื่องจากยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา แต่การเข้ามามีบทบาทของธนาคารพัฒนาเอเชียซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโครงการและผู้สนับสนุนทางการเงินหลักก็ช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการพัฒนาลงได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการควบคุมต้นทุนจะเป็นสิ่งท้าทายเนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในระยะแรกมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าในระดับต่ำที่ 3.877 เซ็นต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เนื่องจากกำลังการผลิตของโครงการนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 34% ของกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมที่คิดตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ณ เดือนมิถุนายน 2564 ผลการดำเนินงานของโครงการนี้จึงน่าจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงหลายปีข้างหน้า
การก่อหนี้จะเพิ่มสูงขึ้น
อันดับเครดิตมีปัจจัยลดทอนจากแนวโน้มที่หนี้สินจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัท โดยกระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้นั้นมีแนวโน้มที่จะลดลงในช่วงของการลงทุน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่างบลงทุนของบริษัทจะอยู่ในช่วง 1.5-3 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ที่ 400-700 ล้านบาทต่อปีนั้นไม่น่าจะครอบคลุมงบลงทุนได้ทั้งหมด และจะทำให้บริษัทต้องหาแหล่งเงินทุนจากภายนอกเพื่อนำมาสนับสนุนการลงทุนใหม่ ๆ ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่มีการเพิ่มทุนนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8%-10% ในช่วงปี 2564-2566 จากระดับที่สูงกว่า 15% ในปีก่อน ๆ และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 7-9 เท่าในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อเทียบกับระดับ 3.6 เท่า ณ เดือนมีนาคม 2564 ในการนี้ บริษัทมีแผนจะเพิ่มทุนเพื่อลดแรงกดดันจากระดับการก่อหนี้
ณ เดือนมีนาคม 2564 หนี้สินรวมของบริษัทมีจำนวน 1.8 พันล้านบาทซึ่งทั้งหมดเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) โดยหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนประกอบด้วยหนี้ที่มีหลักประกันจำนวน 1.6 พันล้านบาทและหนี้ที่ไม่มีหลักประกันอีกจำนวน 0.2 พันล้านบาทของบริษัทย่อย ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมอยู่ที่ 100% เนื่องจากสัดส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ของทริสเรทติ้งที่ 50% ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันจะด้อยสิทธิ์กว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ไม่มีหลักประกันของบริษัทจะต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ขั้น
สภาพคล่องน่าจะบริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะบริหารจัดการสภาพคล่องได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ หนี้ของบริษัทเกือบทั้งหมดเป็นเงินกู้โครงการซึ่งแผนชำระคืนเงินกู้ค่อนข้างสอดคล้องกับกระแสเงินสดของโครงการนั้น ๆ โดยในช่วง 3 ปีข้างหน้าบริษัทมีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 150-350 ล้านบาทต่อปีในขณะที่จะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ประมาณ 400-700 ล้านบาทต่อปี ส่วนยอดคงค้างของเงินกู้ระยะสั้นประมาณ 40 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2564 นั้นบริษัทน่าจะชำระด้วยเงินสดในมือที่มีอยู่ประมาณ 52 ล้านบาท
บริษัทไม่มีข้อกำหนดทางการเงินใด ๆ แต่บริษัทย่อยของบริษัทมีข้อกำหนดทางการเงินของเงินกู้โครงการที่ต้องดำรงอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 1.1-1.2 เท่าและรักษาอัตราส่วนเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนทุนไม่เกิน 3-4 เท่า ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทย่อยเหล่านี้สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้
สมมติฐานพื้นฐาน
? บริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 30 เมกะวัตต์ในช่วงระหว่างปี 2564-2566
? รายได้จากการดำเนินงานรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 พันล้านบาทในปี 2566
? อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ระหว่าง 50%-60%
? เงินลงทุนรวมจะอยู่ในช่วง 1.5-3 พันล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะยังคงสร้างผลการดำเนินงานให้แก่บริษัทเป็นหลัก อีกทั้งโรงไฟฟ้าของบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจและสร้างกระแสเงินสดที่เชื่อถือได้ต่อไป นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาและมีผลตอบแทนที่น่าพอใจ
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีจำกัดในช่วงที่บริษัทมีการขยายการลงทุนจำนวนมาก แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถเพิ่มฐานกระแสเงินสดและพัฒนาผลการดำเนินงานให้ดีขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญในขณะที่ยังรักษาโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแรงเอาไว้ได้ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ต่ำกว่าการคาดการณ์หรือเป้าหมายที่วางไว้อย่างมาก หรือหากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจเกิดจากการลงทุนโดยการก่อหนี้จำนวนมากและ/หรือความล่าช้าของโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (PRIME)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable