ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ที่ระดับ ?AAA? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงบทบาทของ สพพ. ซึ่งมีฐานะเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ (Government-related Entity ? GRE) ที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลไทยในระดับ ?สูงสุด? (Integral) อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบทบาทของ สพพ. ในการดำเนินนโยบายสาธารณะระหว่างประเทศนั้น ?มีความสำคัญมากที่สุด? (Critical) ต่อรัฐบาลอีกด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าโอกาสที่ สพพ. จะได้รับการสนับสนุนเป็นกรณีพิเศษจากรัฐบาลเมื่อ สพพ. มีปัญหาทางการเงินนั้นมีความเป็นไปได้ในระดับสูง
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นองค์กรที่มีความเชื่อมโยงในระดับสูงสุดกับรัฐบาลไทย
อันดับเครดิตองค์กรของ สพพ. สะท้อนถึงสถานะของ สพพ. ที่เป็นองค์กรเกี่ยวข้องกับภาครัฐซึ่งมีความเชื่อมโยงในระดับสูงสุดกับรัฐบาลไทย ทั้งนี้ ภายใต้ ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ? ของทริสเรทติ้งนั้น การกำหนดอันดับเครดิตองค์กรของ สพพ. อยู่บนพื้นฐานการประเมินระดับความเชื่อมโยงของ สพพ. กับรัฐบาลและความสำคัญด้านบทบาทของ สพพ. ที่มีต่อรัฐบาล
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประเมินว่า สพพ. มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลไทยในระดับสูงสุดจากการที่รัฐบาลมีสถานะเป็นเจ้าของ สพพ. และมีอำนาจเต็มในการควบคุมการบริหารงานของ สพพ. ทั้งนี้ สิ่งที่สะท้อนการควบคุมอย่างเต็มที่จากภาครัฐคือคณะกรรมการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (คพพ.) มีสมาชิกเป็นตัวแทนที่มาจากหน่วยงานของภาครัฐบาลและการที่ โดย สพพ. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง
สพพ. มีบทบาทพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะในการดำเนินนโยบายทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจระหว่างประเทศในนามของรัฐบาลไทยเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ โดยกิจกรรมดังกล่าวมิได้อยู่บนพื้นฐานในเชิงพาณิชย์ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ต่ำที่หน่วยงานในภาคเอกชนจะสามารถดำเนินบทบาทแทน สพพ. ได้
ในความเห็นของทริสเรทติ้งมองว่าหาก สพพ. เกิดการผิดนัดชำระหนี้เพียงครั้งเดียวก็อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชื่อเสียงของรัฐบาลได้เนื่องจากหนี้สินของ สพพ. จัดเป็นหนี้สาธารณะ จากข้อมูลของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่าหนี้สินของ สพพ. เป็นหนี้สาธารณะที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน ซึ่งภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะนั้น สพพ. จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลก่อนที่จะมีการก่อหนี้ใดๆ
เงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นรายได้หลัก
ทริสเรทติ้งคาดว่ารัฐบาลจะยังคงให้เงินสนับสนุนสำหรับการดำเนินงานตามปกติอย่างต่อเนื่องแก่ สพพ. ต่อไป โดยเงินสนับสนุนจากรัฐบาลถือว่าเป็นแหล่งเงินทุนหลักในการดำเนินกิจกรรมของ สพพ. ทั้งสำหรับการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและวิชาการแก่ประเทศผู้รับ ทั้งนี้ เงินอุดหนุนที่ สพพ. ได้รับในแต่ละปีนั้นจะขึ้นอยู่กับความต้องการในการใช้เงินทุนในอนาคตและปริมาณเงินสดที่ สพพ. มีอยู่ นอกจากนี้ ในงบกำไรหรือขาดทุนของ สพพ. ยังจัดให้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นรายรับอีกด้วย
ในระหว่างปีงบประมาณ 2561 ถึง 2563 เงินอุดหนุนจากรัฐบาลมีสัดส่วนมากกว่า 80% ของรายได้รวมของ สพพ. ในขณะที่ส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมดเป็นรายได้จากดอกเบี้ยสุทธิ โดยสัดส่วนกว่า 60% ของค่าใช้จ่ายของ สพพ. ประกอบด้วยเงินให้เปล่าแก่ผู้ขอรับความช่วยเหลือและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (26%) และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย (14%)
การสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นปัจจัยเสริมอันดับเครดิต
อันดับเครดิตองค์กรของ สพพ. สะท้อนมุมมองของทริสเรทติ้งว่ามีความเป็นไปได้ที่ สพพ. จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างทันท่วงทีและเพียงพอเมื่อ สพพ. ประสบปัญหาทางการเงิน ทั้งนี้ สพพ. ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลผ่านการจัดทำงบประมาณประจำปีเพื่อให้ สพพ. มีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินโครงการที่ได้รับความเห็นชอบ แต่อย่างไรก็ดี หาก สพพ. มีปัญหาไม่ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้เงินกู้ ทริสเรทติ้งก็ยังเชื่อว่ารัฐบาลจะให้การสนับสนุนเงินทุนแก่ สพพ. อย่างเพียงพอที่จะรองรับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ การขยายวงเงินปล่อยกู้ของ สพพ. ทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดยในเอกสารที่ใช้ประกอบการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีของแต่ละโครงการนั้นมีข้อความที่อนุญาตให้ สพพ. ขอรับเงินสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลเพื่อให้เพียงพอในการชำระหนี้ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินรายใดรายหนึ่งเกิดผิดนัดชำระหนี้
ยังคงดำเนินการตามภารกิจเชิงกลยุทธ์พร้อมรักษางบดุลให้แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งคาดว่า สพพ. จะยังคงมุ่งเน้นพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ อาทิ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเป็นหลักในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดย สพพ. ได้เพิ่มความระมัดระวังในการดำเนินโครงการต่าง ๆ อันเนื่องมาจากความเสี่ยงทางเครดิตประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นของ สปป. ลาว และสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันของเมียนมา ซึ่งความท้าทายดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงปัจจัยที่ชะลอความพยายามของ สพพ. ในการพัฒนาโครงการในประเทศเป้าหมายเท่านั้นซึ่งมิใช่เป็นปัจจัยที่จะล้มเลิกการพัฒนาแต่อย่างใด
ณ เดือนมีนาคม 2564 สพพ. มีมูลค่าสินเชื่อที่ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งไม่รวมรายได้ค้างรวมรับอยู่ที่ 9.4 พันล้านบาท โดยประเทศที่ได้รับสินเชื่อดังกล่าวประกอบด้วยรัฐบาลของ สปป. ลาว ในสัดส่วน 94% ของสินเชื่อรวมและรัฐบาลของกัมพูชาในสัดส่วน 6% ซึ่งสินเชื่อรวมของ สพพ. เพิ่มขึ้นจากระดับ 8.7 พันล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2562
สพพ. ยังคงดำเนินนโยบายที่มีความระมัดระวังต่อไปโดยได้กำหนดเพดานอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไว้ที่ระดับ 0.5 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2564 อัตราส่วนดังกล่าวของ สพพ. อยู่ในระดับต่ำที่ 0.3 เท่า ในขณะเดียวกัน สพพ. มีเงินสดและเงินฝากระยะสั้นมูลค่า 2.2 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า สพพ. จะยังคงรักษาสถานภาพในการเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐซึ่งมีความเชื่อมโยงในระดับสูงสุดกับรัฐบาลต่อไป และทริสเรทติ้งยังคาดว่า สพพ. จะยังคงดำเนินบทบาทในการเป็นส่วนหนึ่งของภาครัฐซึ่งดำเนินนโยบายเกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านโดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาล
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของ สพพ. อาจเปลี่ยนแปลงไปหากทริสเรทติ้งเห็นว่าความสัมพันธ์กับรัฐบาลและ/หรือความสำคัญของ สพพ. ที่มีต่อรัฐบาลนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ, 30 กรกฎาคม 2563
สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.)
อันดับเครดิตองค์กร: AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable