ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. เอส 11 กรุ๊ป” ที่ “BBB-” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 30, 2021 19:33 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เอส 11 กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานทุนที่แข็งแกร่ง ตลอดจนสถานะทางการตลาดที่ดีในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างแข็งแกร่งของบริษัท

ปัจจัยสำคัญที่เป็นข้อจำกัดสำหรับอันดับเครดิตของบริษัทประกอบไปด้วยหนี้เสียที่อยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมถึงภาระหนี้ระยะสั้นที่มีจำนวนมาก นอกจากนี้ อันดับเครดิตของบริษัทยังได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมซึ่งอาจทำให้การเพิ่มอัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยรับมีจำกัด ในขณะที่สถานะเครดิตที่มีความเสี่ยงสูงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทนั้นยังสะท้อนถึงความสามารถในการชำระคืนหนี้ที่มีความอ่อนไหวในระดับสูงต่อสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแออีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ฐานทุนที่แข็งแกร่งและการก่อหนี้ที่อยู่ในระดับต่ำ

ฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทถือเป็นปัจจัยในด้านบวกต่ออันดับเครดิต ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีสินเชื่อที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคงตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แต่บริษัทก็สามารถดำรงฐานทุนให้อยู่ในระดับที่เข้มแข็งเอาไว้ได้จากการสะสมผลกำไรอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ในระดับ 24.0% โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 22.9% และระดับ 20.4% ในปี 2563 และปี 2562 ตามลำดับซึ่งเป็นผลมาจากความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งและสินเชื่อรวมของบริษัทที่หดตัวเพียงเล็กน้อยตั้งแต่ปี 2563 จากผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)

ในด้านของการก่อหนี้นั้น บริษัทยังคงรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2 เท่า โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทอยู่ในระดับ 1.17 เท่า ซึ่งลดลงจากระดับ 1.28 เท่าและ 1.56 เท่าในปี 2563 และปี 2562 ตามลำดับ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาฐานทุนที่แข็งแกร่งและภาระหนี้ให้อยู่ในระดับต่ำเอาไว้ได้ในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นจากการที่บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรในระดับสูง รวมทั้งมีการเติบโตของสินเชื่อที่เข้มแข็ง และมีการจ่ายเงินปันผลในระดับปานกลาง

การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้แข็งแกร่ง

ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งของบริษัทนั้นเกิดจากความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำนั้นมาจากการที่บริษัทสามารถบริหารและใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่ามีความยั่งยืน ตัวอย่างเช่น ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีอัตราส่วนสินเชื่อรวมต่อจำนวนพนักงานทั้งหมดอยู่ที่ระดับ 12.6 ล้านบาทต่อคน ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากระดับ 12.8 ล้านบาทต่อคน ณ สิ้นปี 2562 โดยอัตราส่วนนี้ถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ ทั้งนี้ ในปี 2563 ค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็นระดับ 28.9% จากระดับ 30.8% ในปี 2562 และดีกว่าค่าเฉลี่ยของคู่แข่งซึ่งอยู่ในระดับเกินกว่า 50%

ประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่สูงช่วยให้บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สามารถรองรับผลกระทบจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปี 2563 ได้ ทั้งนี้ กำไรสุทธิของบริษัทในปี 2563 ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างคงที่ที่จำนวน 491 ล้านบาท ซึ่งลดลง 7% จากปี 2562 ในขณะที่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทซึ่งประเมินจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 4.96% ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 5.15% ในปี 2562 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มค่าเผื่อสำหรับรองรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าคู่แข่งที่มีค่าเฉลี่ยประมาณ 3%-3.5%

ความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังคงอ่อนแอ

คุณภาพสินทรัพย์ที่ค่อนข้างอ่อนแอของบริษัทยังคงเป็นข้อจำกัดที่สำคัญต่ออันดับเครดิตของบริษัท ถึงแม้ว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทจะค่อนข้างคงที่ที่ระดับ 10.4% ณ สิ้นปี 2563 จากระดับ 10.3% ณ สิ้นปี 2562 แต่อัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยกลับปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็น 9.5% ในปี 2563 จาก 7.7% ในปี 2562 อย่างไรก็ตาม การปรับตัวเพิ่มของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้น ถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรม ที่ต้องประสบกับผลขาดทุนด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อมทางด้านเครดิตที่อ่อนแอ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยของบริษัทในปี 2564 จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับในปี 2563 เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงมีความเปราะบางอันเป็นผลมาจากการระบาดอย่างต่อเนื่องของโรคโควิด 19

ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 9.9% ในปี 2563 จาก 7.8% ในปี 2561-2562 จากผลของการเริ่มใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) และคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทที่ถดถอยลงจากผลกระทบจากโรคโควิด 19 ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2564 ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยซึ่งปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้วของบริษัท ปรับเพิ่มยิ่งขึ้นเป็นระดับ 12.3% จากผลของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ล่าช้าอาจทำให้คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทมีความอ่อนแอมากขึ้นและอาจทำให้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในระยะปานกลาง ทริสเรทติ้งประมาณการว่าผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 9% ในระหว่างปี 2565-2566 ตามสมมติฐานที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวในปีหน้า อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ต่ำและฐานทุนที่ค่อนข้างแข็งแรงจะยังคงช่วยสนับสนุนความสามารถในการทำกำไรและสถานะเครดิตของบริษัทท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ ในขณะเดียวกัน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างแข็งแรงที่ 134% โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 113% ในปี 2562

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอแม้จะมีภาระหนี้ระยะสั้นอยู่ในระดับสูง

สถานะแหล่งเงินทุนของบริษัทถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแรงเมื่อประเมินจากอัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพที่อยู่ในระดับ 121% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีสัดส่วนภาระหนี้ระยะสั้นที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปีที่อยู่ในระดับสูง แต่ทริสเรทติ้งยังมองว่าความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของบริษัทในอีก 12 เดือนข้างหน้านั้นยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 สัดส่วนภาระหนี้ระยะสั้นของบริษัทอยู่ที่ระดับ 79.7% ของภาระหนี้ทั้งหมดของบริษัท และจากภาระหนี้ระยะสั้นทั้งหมดที่จะครบกำหนดนั้นเป็นเงินกู้ยืมระยะยาวในสัดส่วน 69% และอีก 31% เป็นเงินกู้ระยะสั้น

ทริสเรทติ้งมองว่าความสัมพันธ์ที่ดีที่บริษัทมีกับสถาบันการเงินต่าง ๆ และวงเงินสินเชื่อคงเหลือที่เพียงพอนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดทอนความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่อาจจะเกิดขึ้นให้แก่บริษัทท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอน โดย ณ เดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีส่วนต่างทางด้านระยะเวลา(duration gap) ระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินภายในระยะเวลา 1 ปีที่เป็นบวก โดยบริษัทประมาณการว่ากระแสเงินสดที่บริษัทจะได้รับจากการชำระคืนจากลูกหนี้ในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านบาท ในขณะที่ภาระการชำระคืนหนี้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 2.1 พันล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่สามารถเบิกใช้ได้จำนวนประมาณ 1.5 พันล้านบาท

ผู้ประกอบการรายใหม่จะเพิ่มแรงกดดันต่อผลตอบแทนและคุณภาพสินทรัพย์

ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยปรับตัวลดลงถึง 11.8% ในปี 2563 ซึ่งส่งผลทำให้สินเชื่อรวมของผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ทั้ง 9 รายในฐานข้อมูลทริสเรทติ้งปรับตัวลดลง 2% ในปี 2563 ถึงแม้ว่าการเติบโตของยอดขายรถจักรยานยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มธุรกิจให้บริการขนส่ง แต่การอนุมัติสินเชื่อของผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยังคงมีความระมัดระวังอันเนื่องมาจากความกังวลต่อความสามารถในการชำระคืนหนี้ของผู้ซื้อรถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ตาม ยอดสินเชื่อปล่อยใหม่อาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากแผนการส่งเสริมการขายโดยการลดอัตราดอกเบี้ยของผู้ประกอบการรายใหม่เพื่อสร้างแรงจูงใจ แต่การแข่งขันที่รุนแรงก็น่าจะสร้างแรงกดดันมากขึ้นต่ออัตราผลตอบแทนของสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อของทั้งอุตสาหกรรมในระยะปานกลาง

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2564-2566 ดังนี้

? สินเชื่อของบริษัทจะลดลงประมาน 5% ในปี 2564 และจะเติบโตที่ระดับ 5% ต่อปีหลังจากนั้น

? อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงจะคงอยู่ในระดับมากกว่า 15%

? อัตราผลตอบแทนจากรายได้ดอกเบี้ยต่อสินเชื่อรวมจะคงอยู่ในระดับประมาน 26%

? ต้นทุนทางด้านเครดิตจะอยู่ในระดับมากกว่า 10% ในปี 2564 และจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 9% ต่อปีหลังจากนั้น

? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะอยู่ในระดับ 30%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าอย่างน้อยที่สุดบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดของบริษัทเอาไว้ได้ ในขณะเดียวกันจะยังคงมีผลการดำเนินงานทางการเงิน ตลอดจนคุณภาพสินทรัพย์ และการก่อหนี้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัทในการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้นในขณะที่ยังคงสามารถดำรงสถานะทางการเงินโดยรวมให้เข้มแข็งเอาไว้ได้ซึ่งสะท้อนจากการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่ในระดับปานกลาง รวมถึงผลการดำเนินงานที่ดี และมีฐานทุนที่แข็งแกร่ง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทยังคงเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับที่ทำให้ความสามารถในการทำกำไรเมื่อพิจารณาจากกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยลดลงต่ำกว่า 1.5% หรือความเพียงพอของเงินทุนซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงที่ลดลงต่ำกว่าระดับ 15% อย่างต่อเนื่อง

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563

บริษัท เอส 11 กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (S11)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ