ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” เป็น “A” จาก “A+” และเปลี่ยนแนวโน้ม เป็น “Stable” จาก “Negative”

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 16, 2021 14:54 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ ?A? จาก ?A+? และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? จาก ?Negative? หรือ ?ลบ? โดยการลดอันดับเครดิตในครั้งนี้สะท้อนถึงความล่าช้าในการดำเนินการลดหนี้ของบริษัทและแนวโน้มที่บริษัทจะยังคงมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูงต่อไปในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าจนไม่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในระดับก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งและผลงานที่ได้รับการยอมรับในธุรกิจหลักของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีปัจจัยลดทอนจากผลการดำเนินงานที่ลดลงของบริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจค้าปลีกและรายได้จากค่าเช่า ตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแออันเกิดจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

แผนการลดหนี้ที่ล่าช้า และมีหนี้สินทางการเงินคงอยู่ในระดับสูงอย่างยาวนาน

อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดจากการมีความเสี่ยงทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง โดย ณ เดือนมิถุนายน 2564 หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยของบริษัทซึ่งรวมถึงหนี้สินทางการเงินที่เกิดจากสัญญาเช่ามีมูลค่ารวมทั้งสิ้นเกือบ 1.63 แสนล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูงตั้งแต่มีการซื้อกิจการของ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (บิ๊กซี) ในปี 2559 โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย 8.3 เท่า ณ สิ้นปี 2563 และ 8.1 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2564

บริษัทมีความตั้งใจที่จะลดระดับหนี้ลงให้ได้ภายในปี 2564 อย่างไรก็ตาม แผนการลดหนี้ที่บริษัทกำลังศึกษาแนวทางอยู่นั้นต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย

ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าระดับภาระหนี้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 1.55-1.6 แสนล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้าเมื่อพิจารณาจากเงินลงทุนก้อนใหญ่ที่บริษัทต้องใช้ในการขยายสาขาร้านค้าปลีกและขยายกำลังการผลิต ในขณะเดียวกันทริสเรทติ้งก็คาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะอ่อนแอลงในปี 2564 อันเป็นผลกระทบที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อ แต่ก็คาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาในได้ช่วงระหว่างปี 2565-2566 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายสุทธิที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 8-9 เท่าในระหว่างปี 2564-2565 และจะลดลงต่ำกว่าระดับ 7 เท่าในปี 2566

ธุรกิจค้าปลีกและรายได้ค่าเช่าได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19

ในปี 2563 ผลการดำเนินงานของบิ๊กซีได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปและสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางซึ่งสะท้อนให้เห็นจากยอดขายจากสาขาเดิมของบิ๊กซีที่หดตัวลดลง 15.3% จากปี 2563 และลดลงที่ระดับ 17.9% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ในขณะเดียวกัน รายได้ค่าเช่าของบิ๊กซียังได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดของรัฐบาล โดยร้านค้าที่เช่าพื้นที่ของบิ๊กซีจำนวนมากต้องปิดเป็นการชั่วคราวในช่วงการประกาศมาตรการดังกล่าว รายได้ค่าเช่าของบิ๊กซีในปี 2563 ลดลง 23% จากปีก่อนเนื่องจากบิ๊กซีมีการผ่อนผันค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าบางส่วนในช่วงมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ในขณะที่การปิดร้านค้าของผู้เช่าบางส่วนได้ส่งผลทำให้อัตราการเช่าพื้นที่ลดลง

ในมุมมองของทริสเรทติ้งคาดว่าแนวโน้มของธุรกิจค้าปลีกของบริษัทในปี 2564 น่าจะยังคงอ่อนแอ โดยสมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายจากสาขาเดิมของบิ๊กซีจะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2564 ในขณะที่รายได้ค่าเช่าจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หลายระลอก

ทริสเรทติ้งคาดว่าความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะฟื้นตัวในปี 2565 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการกระจายวัคซีนในวงที่กว้างขึ้นรวมถึงการผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม นอกจากนี้ รายได้จะเติบโตจากการขยายสาขาอีกด้วย ซึ่งบิ๊กซียังคงมุ่งเน้นการขยายสาขาร้านค้าปลีกขนาดเล็กเพื่อเข้าถึงลูกค้าในชุมชนและพัฒนาการผสมผสานรูปแบบร้านค้าปลีกให้ดีขึ้น ในช่วง 3 ปีข้างหน้า บิ๊กซีวางแผนจะขยายสาขาร้านสะดวกซื้อให้ได้ 150-300 แห่งและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่อีก 2-3 แห่งต่อปี รวมทั้งขยายสาขาในประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ธุรกิจสินค้าบรรจุภัณฑ์ค่อนข้างเสถียรท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสถานะผู้นำในตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วและกระป๋องอลูมิเนียมต่อไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากคำสั่งซื้อจำนวนมากจากลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทหลายแห่ง รวมทั้ง จากความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าในหลากหลายกลุ่ม คุณภาพสินค้าที่ดี และนวัตกรรมสินค้าใหม่ บริษัทเป็นผู้นำตลาดในผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากปริมาณการขาย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาด 40%-50% ในตลาดกระป๋องอลูมิเนียม และ 30%-40% ในตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วในปี 2563

บริษัทได้รับคำสั่งซื้อสินค้าบรรจุภัณฑ์ในปริมาณมากจาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องดื่มรายสำคัญของ บริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทในเครือ (กลุ่มบริษัททีซีซี) โดยยอดขายดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของยอดขายขวดแก้วและประมาณ 20% ของยอดขายกระป๋องอลูมิเนียมของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังจำหน่ายสินค้าบรรจุภัณฑ์ให้แก่บริษัทอื่นๆ นอกกลุ่มบริษัททีซีซีอีกด้วย โดยส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่ทำสัญญาซื้อขายระยะยาว

การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสู่การบริโภคที่บ้านมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้อุปสงค์ด้านเครื่องดื่มได้ปรับเปลี่ยนจากการนั่งบริโภคในร้านมาเป็นการบริโภคที่บ้าน อย่างไรก็ตาม สินค้าบรรจุภัณฑ์ของบริษัทในปี 2563 ได้รับผลกระทบจากการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงบังคับใช้มาตรการปิดเมืองทั่วประเทศ (Lockdown) ซึ่งส่งผลให้รายได้ของบริษัทในปี 2563 ลดลงเล็กน้อยประมาณ 3% จากปี 2562 ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าแนวโน้มของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในปี 2564 นั้นมีความยืดหยุ่นมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจค้าปลีกในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงอันเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

นอกจากนี้ บริษัทยังได้สร้างการเติบโตของยอดขายจากการออกสินค้าประเภทใหม่ๆ เช่น บรรจุภัณฑ์แก้วสำหรับเครื่องดื่มวิตามิน ขวดแก้วน้ำหนักเบาสำหรับบรรจุอาหาร รวมทั้งยังได้พัฒนากระป๋องอลูมิเนียมสำหรับบรรจุกาแฟและน้ำผลไม้ตลอดจนกระป๋องที่มีขนาดเพรียวเพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ อีกทั้งขยายขอบเขตตลาดให้กว้างยิ่งขึ้นอีกด้วย

ผลการดำเนินงานอ่อนตัวลงแต่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในไม่กี่ปีข้างหน้า

บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานในปี 2563 อยู่ที่เกือบ 1.58 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงประมาณ 9.4% จากปีก่อน รายได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ลดลง 10% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 7.26 หมื่นล้านบาท ในขณะเดียวกัน ความสามารถในการทำกำไรก็อ่อนแอลงด้วย โดยในปี 2563 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 1.95 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงจากระดับประมาณ 2.12 หมื่นล้านบาทในปี 2562 และอยู่ที่ระดับประมาณ 9.3 พันล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานของบริษัทในปี 2564 จะลดลงประมาณ 10% จากปี 2563 ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงในธุรกิจค้าปลีกและรายได้ค่าเช่าที่ลดลงจากผลของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจสินค้าและบริการเวชภัณฑ์ในปี 2564 จะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการแพร่ระบาดหลายระลอก ทั้งนี้ ธุรกิจที่หลากหลายของบริษัทน่าจะช่วยบรรเทาความรุนแรงจากผลกระทบในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงได้บ้าง โดยทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทจะฟื้นตัวกลับมาในปี 2565 ซึ่งประเมินจากระยะเวลาในการกระจายวัคซีนที่ทำได้ในระดับสูง โดยรายได้จะกลับสู่ระดับก่อนมีการแพร่ระบาดที่ประมาณ 1.6-1.8 แสนล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2566

ในช่วงปี 2564-2566 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทน่าจะอยู่ในช่วง 12.5%-13% ที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุน การผสานพลังด้านโลจิสติกส์ภายในกลุ่ม และการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดีขึ้น นอกจากนี้ การออกสินค้าใหม่และการจัดประเภทสินค้าและ/หรือผสมผสานสินค้าที่สร้างกำไร รวมไปถึงการเพิ่มสัดส่วนสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัทเองจะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการทำกำไรให้แก่บริษัทได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ต้นทุนคงที่และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่อยู่ในระดับสูงเพื่อใช้สนับสนุนธุรกิจค้าปลีกทำให้การทำกำไรของบริษัทถูกลดทอนลง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจะค่อยๆ ลดลงในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และจะเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2-2.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566

สภาพคล่องที่บริหารจัดการได้

ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้ ทั้งนี้ บริษัทมีความจำเป็นจะต้องกู้เงินใหม่เพื่อนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมส่วนใหญ่ที่จะครบกำหนดในช่วงเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีภาระหนี้หุ้นกู้และเงินกู้ระยะยาวจากธนาคารจำนวนประมาณ 1.53 หมื่นล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในปี 2564 และอีกประมาณ 2.56 หมื่นล้านบาทที่จะครบกำหนดในปี 2565 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีความต้องการใช้เงินทุนในการขยายสาขาร้านค้าปลีกและเพิ่มกำลังการผลิตที่ปีละประมาณ 7 พันล้านบาทถึง 1 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2564-2566 นอกจากนี้ กำไรของบริษัทยังลดลงจากการมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ในขณะที่บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 3.4 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2564 และเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับเกือบ 1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2564 อนึ่ง เมื่อพิจารณาจากความสามารถในการเข้าถึงตลาดทุนของบริษัทแล้ว ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าความเสี่ยงในการกู้เงินใหม่เพื่อนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมของบริษัทจะบรรเทาลงอย่างมีนัยสำคัญ

ณ เดือนมิถุนายน 2564 เมื่อพิจารณาจากภาระหนี้ส่วนใหญ่ที่เป็นหนี้ของบริษัทเองและเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกันแล้ว ทริสเรทติ้งจึงจัดให้เจ้าหนี้หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความเสี่ยงจากการด้อยสิทธิอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลให้ทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทให้อยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท

ในข้อกำหนดทางการเงินที่บริษัทมีกับผู้ถือหุ้นกู้และธนาคารระบุให้บริษัทต้องคงระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนทุนไม่ให้เกิน 2 เท่า ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.3 เท่า ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ต่อไปตลอดช่วงประมาณการ

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? รายได้ของบริษัทจะลดลงในปี 2564 และจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ระดับ 1.6-1.8 แสนล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566

? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ในช่วง 12.5%-13% ในระหว่างปี 2564-2566

? เงินลงทุนจะอยู่ที่ประมาณปีละ 7 พันล้านบาทถึง 1 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2564-2566

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจหลักของบริษัทได้ต่อไปโดยรายได้และความสามารถในการทำกำไรจะค่อย ๆ ฟื้นคืนกลับมาในช่วง 2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าระดับภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะลดลงในช่วงระยะปานกลางโดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะไม่เพิ่มสูงเกินไปกว่าระดับที่ประมาณการไว้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงจากที่คาดไว้เป็นอย่างมากหรือหากบริษัทมีการลงทุนและ/หรือมีการซื้อกิจการขนาดใหญ่โดยใช้เงินทุนจากการก่อหนี้ ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทมีกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและมีภาระหนี้สินทางการเงินที่ลดลงอย่างมาก

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC)
อันดับเครดิตองค์กร:                                                                                                                                   A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BJC219A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 9,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564	A
BJC21DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,050 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564	A
BJC223A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565	A
BJC223B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565	A
BJC226A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,740 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565	A
BJC233A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566	A
BJC233B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566	A
BJC239A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566	A
BJC239B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566	A
BJC23DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566	A
BJC243A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567	A
BJC246A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 12,256.6 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567	A
BJC249A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567	A
BJC253A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568	A
BJC259A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568	A
BJC25DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568	A
BJC269A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 20,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569	A
BJC26DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,730 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569	A
BJC273A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570	A
BJC273B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570	A
BJC279A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570	A
BJC283A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571	A
BJC293A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572	A
BJC299A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572	A
BJC303A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573	A
BJC306A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,003.4 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573	A
แนวโน้มอันดับเครดิต:	Stable


บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ