ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ ?BBB+? จากเดิมที่ระดับ ?BBB? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยการเพิ่มอันดับเครดิตในครั้งนี้สะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและการดำเนินงานที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งนี้ อันดับเครดิต ?BBB+? ยังคงสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอซึ่งบริษัทได้รับจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement ? PPA) ระยะยาวภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer ? SPP) ที่มีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวก็มีข้อจำกัดบางส่วนจากกระบวนการปรับโครงสร้างภายในกลุ่มบริษัทที่ยังคงดำเนินอยู่
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวช่วยให้มีรายได้มั่นคง
รายได้ของบริษัทประมาณ 75%-85% มาจากการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม โดยบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. รวม 296 เมกะวัตต์ระยะเวลา 25 ปี หรือคิดเป็น 41% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำจำนวน 167.6 เมกะวัตต์ (คิดเป็น 23% ของกำลังการผลิตทั้งหมด) ให้แก่บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) โดยมีอายุสัญญาตั้งแต่ 1 ปีถึง 19 ปีอีกด้วย ในขณะที่ลูกค้าในสวนอุตสาหกรรมในจังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทราเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าและไอน้ำในสัดส่วนที่เหลือ
ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. นั้น กฟผ. จะซื้อไฟฟ้าจากบริษัทในปริมาณขั้นต่ำที่ระดับ 80% ของกำลังการผลิตตามสัญญาโดยขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงไฟฟ้า ในขณะที่ผู้ซื้อไฟฟ้ารายอื่นก็มีสัญญาที่ระบุปริมาณการสั่งซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำด้วยเช่นกัน
โครงการ IPP อยู่ระหว่างการพัฒนา
ปัจจุบันโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer --- IPP) ของบริษัทหรือ ?โครงการโรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์? นั้นอยู่ระหว่างการพัฒนาหลังจากที่ล่าช้ามากว่า 10 ปีเนื่องจากความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมจากการที่โรงไฟฟ้าใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก อย่างไรก็ตาม ในที่สุดโครงการนี้ก็ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานกำกับดูแลโดยให้เปลี่ยนประเภทเชื้อเพลิงเป็นก๊าซธรรมชาติเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 และบริษัทก็ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. และสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เรียบร้อยแล้ว โครงการ IPP ขนาด 560 เมกะวัตต์นี้มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2570 ปัจจุบันบริษัทอยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับโรงไฟฟ้าและท่อก๊าซธรรมชาติซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 นี้ เมื่อการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้รับความเห็นชอบ บริษัทจะทำการคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการและจัดหาแหล่งเงินทุนต่อไป บริษัทมีสัดส่วนการลงทุนในโครงการนี้จำนวน 65% และที่เหลือเป็นสัดส่วนการลงทุนของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3.4 พันล้านบาทสำหรับส่วนทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น ในช่วงปี 2567-2570
ธุรกิจเอทานอลปรับตัวดีขึ้น
ธุรกิจเอทานอลของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่บริษัทได้ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สามารถใช้มันสำปะหลังและกากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการผลิตแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2561 การปรับปรุงดังกล่าวช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการวัตถุดิบและช่วยลดต้นทุนในการผลิต โดยในปี 2563 โรงงานเอทานอลของบริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 72% จากประมาณ 50% ในปี 2562 ในขณะเดียวกัน กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจากโรงงานเอทานอลก็เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 146 ล้านบาทในปี 2563 จาก 120 ล้านบาทในปี 2562 โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 ธุรกิจเอทานอลมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ 65% และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจำนวน 49 ล้านบาท
ความสำเร็จในการเปลี่ยนค่าไฟฟ้าเป็นแบบ FiT
ในปี 2563 บริษัทประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนอัตราค่าไฟฟ้ากับ กฟผ. สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทจำนวน 116 เมกะวัตต์ (คิดเป็น 16% ของกำลังการผลิตรวมของบริษัท) โดยอัตราค่าไฟฟ้าได้รับการปรับเปลี่ยนจากการคำนวณค่าไฟฟ้าโดยอ้างอิงราคาเชื้อเพลิง (Indexed Fuel Price) มาเป็นแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่อัตรา 3.66 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (หน่วย) ทั้งนี้ อัตราค่าไฟฟ้าแบบ FiT นั้นจะมีความผันผวนต่อราคาเชื้อเพลิงน้อยกว่าแบบที่คำนวณโดยอ้างอิงราคาเชื้อเพลิง ภายใต้โครงสร้างค่าไฟฟ้าแบบเดิมนั้น ค่าไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทจะอ้างอิงกับราคาก๊าซธรรมชาติและราคาน้ำมันเตาซึ่งค่อนข้างมีความผันผวน ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าแบบ FiT จะมีองค์ประกอบ 2 ส่วนคือส่วนที่ตรึงราคาไว้ที่ 1.81 บาทต่อหน่วยและส่วนที่ผันแปรไปตามอัตราเงินเฟ้อที่จำนวน 1.85 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ ในปี 2563 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับตัวดีขึ้นเป็น 4.65 พันล้านบาทจาก 4.47 พันล้านบาทในปี 2562 ซึ่งดีกว่าที่ทริสเรทติ้งเคยประมาณการไว้ที่ระดับ 3.8-4.1 พันล้านบาทต่อปีโดยใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบเดิม
สถานะทางการเงินปรับตัวดีขึ้น
ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วที่ระดับ 1.4 หมื่นล้านบาท ลดลงจากประมาณ 1.69 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 โดยบริษัทได้ชำระคืนหุ้นกู้บางส่วนก่อนกำหนดจำนวน 1.1 พันล้านบาทในเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.3% จากระดับ 63.5% ในปี 2562 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายก็ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3 เท่าในปี 2563 จาก 3.8 เท่าในปี 2562
ในเดือนพฤษภาคม 2564 บริษัทได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่โดยการออกหุ้นกู้มูลค่า 5.5 พันล้านบาท ในการนี้ บริษัทได้นำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ใหม่รวมกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไปใช้ชำระคืนเงินกู้ระยะยาวก่อนกำหนดรวม 1.9 พันล้านบาทและชำระหนี้หุ้นกู้มูลค่า 3.9 พันล้านบาทที่ครบกำหนดในเดือนสิงหาคม 2564 ดังนั้น ตารางการชำระหนี้เงินกู้ในปัจจุบันของบริษัทจึงมีความสอดคล้องกับกระแสเงินสดของบริษัทมากขึ้น และอายุเฉลี่ยของเงินกู้โดยปรับเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5 ปี จากประมาณ 3 ปีในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2564-2566 โดยประมาณการนี้อยู่บนสมมติฐานที่บริษัทจะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงประมาณการดังกล่าว ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3.9 พันล้านบาทในช่วงปี 2564-2566 โดยส่วนใหญ่จะนำไปขยายระบบสายส่งและปรับปรุงสถานีไฟฟ้าใน ?สวนอุตสาหกรรม 304? เพื่อรองรับอุปสงค์ในการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นของลูกค้าอุตสาหกรรมทั้งรายเก่าและรายใหม่ นอกจากนี้ บริษัทจะนำเงินลงทุนอีกส่วนหนึ่งไปใช้ในการบำรุงรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าของบริษัทเพื่อยืดอายุโรงไฟฟ้าให้สามารถรองรับอุปสงค์ของลูกค้าอุตสาหกรรมหลังจากที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. จะเริ่มหมดอายุในปี 2567
ทริสเรทติ้งประมาณการว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 4.1-4.6 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 โดยใช้ฐานการคำนวณจากอัตราค่าไฟฟ้าแบบ FiT สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทและคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าโดยรวมได้ที่ระดับประมาณ 84%-86% โดยระดับกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายนี้น่าจะเพียงพอสำหรับการลงทุนตามแผนของบริษัท ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะแกว่งตัวอยู่ที่ประมาณ 3 เท่าในปี 2564 และจะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 2-3 เท่าในระหว่างปี 2565-2566 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 45%-55% ในช่วงปี 2564-2565 จากที่ระดับ 55.3% ณ สิ้นปี 2563
สภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทน่าจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้อย่างเหมาะสมตลอดระยะเวลาประมาณการ ทั้งนี้ บริษัทได้ชำระคืนหนี้หุ้นกู้มูลค่า 3.9 พันล้านที่ครบกำหนดในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2564 เรียบร้อยแล้ว โดยใช้เงินสดที่มีอยู่และเงินสดจากการดำเนินงาน ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ประมาณ 3-3.5 พันล้านบาทต่อปีซึ่งเพียงพอสำหรับการชำระหนี้หุ้นกู้ครั้งต่อไปในเดือนกรกฎาคม 2565 จำนวน 1.8 พันล้านบาท
โครงสร้างหนี้
ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีภาระหนี้ทั้งสิ้นจำนวน 1.77 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันที่ออกโดยบริษัททั้งหมด ส่วนบริษัทย่อยของบริษัทนั้นได้ทำการชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนดทั้งหมดแล้วในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้ชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้ทั้งหมดของบริษัทจึงอยู่ที่ระดับ 0% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? ระดับความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ 84%-86% ในช่วงระหว่างปี 2564-2566
? อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทจะคำนวณตามอัตราค่าไฟฟ้าแบบ FiT
? กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 4.1-4.6 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2564-2566
? ค่าใช้จ่ายลงทุนโดยรวมคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.9 พันล้านบาทในระหว่างปี 2564-2566
? อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2-3 เท่าในช่วงปี 2564-2566
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำรงผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าของบริษัทโดยจะสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนได้ตามแผน นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถจัดหาลูกค้าอุตสาหกรรม มาทดแทนสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ที่กำลังจะทยอยหมดอายุลงได้อย่างราบรื่นในระยะปานกลางถึงระยะยาว
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสที่บริษัทจะได้รับการปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้านั้นมีค่อนข้างจำกัด ในทางตรงกันข้าม ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการลดอันดับเครดิตอาจเกิดจากการที่ผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงอย่างมีสาระสำคัญหรือบริษัทมีการลงทุนขนาดใหญ่โดยการใช้เงินกู้ซึ่งจะทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงมากกว่าที่ประมาณการไว้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) (NPS)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
NPS242A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,383.7 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
NPS24NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,250 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
NPS258A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,298.2 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+
NPS265A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 BBB+
NPS273A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,250 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable