ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. ดั๊บเบิ้ล เอ (1991)” ที่ “BBB” และจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 5 พันล้านบาท ที่ “BBB” แนวโน้ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 23, 2021 10:31 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ของบริษัทในวงเงินไม่เกิน 5 พันล้านบาทที่ระดับ ?BBB? อีกด้วย ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ดังกล่าวไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรวมทั้งเพื่อขยายธุรกิจและชำระหนี้

อันดับเครดิตดังกล่าวยังคงสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนของไทย ตลอดจนความแข็งแกร่งของตราสัญลักษณ์ ?ดั๊บเบิ้ล เอ? (Double A) และการดำเนินงานแบบครบวงจรของบริษัทต่อไป อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นและลงของอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ รวมถึงอุปสงค์ของกระดาษพิมพ์เขียนที่ชะลอตัว ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการขยายธุรกิจของบริษัทไปสู่อุตสาหกรรมกระดาษบรรจุภัณฑ์เมื่อเร็ว ๆ นี้อีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

การดำเนินงานแบบครบวงจรช่วยสนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขัน

ขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนของไทยเป็นผลมาจากการดำเนินธุรกิจที่ครบวงจรตั้งแต่การผลิตเยื่อกระดาษไปจนถึงการผลิตกระดาษ โดยการดำเนินงานดังกล่าวทำให้เกิดการผสานพลัง (Synergy) และช่วยควบคุมต้นทุน ทั้งนี้ การที่เยื่อกระดาษซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตกระดาษมีลักษณะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์จึงทำให้ราคาเยื่อกระดาษมีความผันผวน ดังนั้น ผู้ผลิตกระดาษที่มีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษเป็นของตนเองจึงมีความได้เปรียบในด้านต้นทุน ซึ่งบริษัทเองก็มีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษเป็นของตนเองที่ดำเนินงานร่วมกันกับโรงงานผลิตกระดาษในจังหวัดปราจีนบุรีด้วยเช่นกัน

การขยายธุรกิจไปสู่ผลิตภัณฑ์กระดาษบรรจุภัณฑ์

บริษัทได้ขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมกระดาษบรรจุภัณฑ์ในปี 2563 โดยได้เปิดตัวสินค้าใหม่ 2 ชนิด ได้แก่ กระดาษคราฟท์และเยื่อกระดาษที่ทำจากกระดาษใช้แล้ว สินค้าทั้ง 2 ชนิดนี้ผลิตที่โรงงานของบริษัทในจังหวัดปราจีนบุรีซึ่งบริษัทใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1.5 พันล้านบาท

การขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมกระดาษบรรจุภัณฑ์เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของบริษัท โดยในด้านบวกนั้นจะเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงของแหล่งรายได้ของบริษัทและลดความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์กระดาษพิมพ์เขียนที่ค่อย ๆ ปรับตัวลดลง ส่วนในด้านลบนั้น การขยายธุรกิจดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงจากการดำเนินงานให้แก่บริษัท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเห็นว่าความเสี่ยงในด้านการตลาดของสินค้าใหม่เหล่านี้ยังพอยอมรับได้ โดยบริษัทใช้โรงงานผลิตกระดาษของตนเองที่มีอยู่แล้วในการผลิตกระดาษคราฟท์ซึ่งทำให้บริษัทสามารถเลือกได้ว่าจะผลิตกระดาษพิมพ์เขียนหรือกระดาษคราฟท์โดยขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด สำหรับเยื่อที่ทำจากกระดาษใช้แล้วนั้น บริษัทมีสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ระยะเวลา 3 ปีกับผู้ผลิตกระดาษรายหนึ่งในประเทศจีนคือ Shanying Group ซึ่งสัญญาดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงในด้านอุปสงค์ลงไปได้ อย่างไรก็ตาม ความไม่เพียงพอของวัตถุดิบยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ทั้งนี้ กระดาษใช้แล้วเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเยื่อกระดาษที่ทำจากกระดาษใช้แล้ว หาก Shanying Group ไม่สามารถจัดหากระดาษใช้แล้วให้แก่บริษัทได้อย่างเพียงพอ ปริมาณการผลิตเยื่อกระดาษที่ทำจากกระดาษใช้แล้วของบริษัทก็อาจต่ำกว่าเป้าหมายได้

แม้สินค้าใหม่ทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวจะเพิ่มความเสี่ยงจากการดำเนินงานให้สูงยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความเพียงพอของวัตถุดิบ แต่ผลกระทบในเชิงลบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทนั้นน่าจะมีขอบเขตจำกัด โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะให้ความสำคัญกับสินค้าหลักของบริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระดาษพิมพ์เขียน ซึ่งตราสัญลักษณ์ ?ดั๊บเบิ้ล เอ? (Double A) นั้นช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัท ในช่วง 3 ปีข้างหน้ากระดาษคราฟท์และเยื่อกระดาษที่ทำจากกระดาษใช้แล้วน่าจะสร้างรายได้ให้แก่บริษัทรวมกันไม่ถึง 10% ของรายได้จากการดำเนินงานรวม ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของสินค้าใหม่ทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไปเนื่องจากยังเพิ่งอยู่ในระยะที่เริ่มผลิตได้ไม่นาน

ผลการดำเนินงานในปี 2563 ต่ำกว่าที่คาดไว้

ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปีที่แล้ว โดยรายได้จากการดำเนินงานรวมลดลง 12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมาอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายลดลง 44.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมาอยู่ที่ 2.9 พันล้านบาท โดยสินค้าหลักของบริษัททั้งกระดาษพิมพ์เขียนและเยื่อกระดาษได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวและราคาในตลาดโลกที่ลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) นอกจากนี้ บริษัทยังประสบกับปัญหาการผลิตที่ไม่ราบรื่นจากการเริ่มผลิตสินค้าใหม่คือกระดาษคราฟท์และเยื่อกระดาษที่ทำจากกระดาษใช้แล้วอีกด้วย

ผลการดำเนินงานจะฟื้นตัวในปี 2564

ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะฟื้นตัวกลับมาในปี 2564 โดยอุปสงค์กระดาษพิมพ์เขียนจากตลาดหลักในต่างประเทศของบริษัทเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ในขณะที่ราคาขายของทั้งกระดาษพิมพ์เขียนและเยื่อกระดาษก็เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.9-2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายน่าจะฟื้นตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.5-4 พันล้านบาทต่อปีโดยมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้อยู่ที่ระดับ 18%-19% การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องและความผันผวนของราคาเยื่อกระดาษจะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัท โดยราคาเยื่อกระดาษในระดับต่ำนั้นอาจสร้างแรงกดดันต่อราคากระดาษพิมพ์เขียนในทางอ้อมซึ่งจะทำให้อัตรากำไรของบริษัทลดลงได้

ภาระหนี้จะปรับตัวดีขึ้น

ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้ของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของกำไร โดยในช่วง 3 ปีข้างหน้าเงินลงทุนและภาระหนี้ที่บริษัทจะต้องชำระน่าจะอยู่ในช่วง 2-3 พันล้านบาทต่อปี ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาทต่อปี เนื่องจากกระแสเงินสดภายในของบริษัทน่าจะเพียงพอสำหรับรองรับรายจ่ายดังกล่าวได้เกือบทั้งหมด บริษัทจึงไม่น่าจะมีความต้องการเงินทุนจากภายนอก ดังนั้น ภาระหนี้ของบริษัทจึงน่าจะลดลง ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.5-3.5 เท่าในช่วงปี 2564-2566 โดยลดลงจากระดับสูงสุดที่ 4.8 เท่าในปี 2563

โครงสร้างเงินทุนของบริษัทก็น่าจะปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 50%-60% ในช่วงระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ซึ่งลดลงจากระดับ 63.6% ในปี 2563 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2563 นั้นไม่ใช่เกิดจากผลการดำเนินงานที่ปรับตัวลดลงเท่านั้น แต่ยังเกิดจากผลของการปรับโครงสร้างกลุ่มอีกด้วย เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 บริษัทได้ขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ใน บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ให้แก่บริษัทแห่งหนึ่งที่อยู่ภายใต้ผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มเดียวกัน และจ่ายเงินปันผลในมูลค่าที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งแม้การปรับโครงสร้างดังกล่าวจะไม่กระทบกระแสเงินสดของบริษัทอย่างมีสาระสำคัญแต่ก็ทำให้กำไรสะสมและส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ณ เดือนมิถุนายน 2564 หนี้สินรวมของบริษัทมีจำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่มีหลักประกันจำนวน 413 ล้านบาทซึ่งถือเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) ทำให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมอยู่ที่ระดับประมาณ 3% เนื่องจากสัดส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ของทริสเรทติ้งที่ 50% ทริสเรทติ้งจึงพิจารณาว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันไม่ได้มีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับเจ้าหนี้ในลำดับชั้นที่อยู่สูงกว่า

สภาพคล่องน่าจะบริหารจัดการได้

บริษัทสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้เป็นอย่างดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 129 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินกู้ระยะสั้นสำหรับใช้เป็นทุนหมุนเวียนจำนวน 83 ล้านบาทและเป็นเงินกู้ระยะยาวจากสถาบันการเงินอีกจำนวน 46 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมกันอยู่ที่จำนวน 518 ล้านบาทรวมทั้งยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้มูลค่า 3.8 พันล้านบาทด้วย ซึ่งสินทรัพย์สภาพคล่องเหล่านี้น่าจะเพียงพอในการรองรับภาระหนี้ที่กำลังจะครบกำหนดได้ทั้งจำนวน บริษัทไม่มีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วงที่เหลือของปี 2564 แต่มีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 1.3 พันล้านบาทในปี 2565 ในการนี้ บริษัทวางแผนจะชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2565 ด้วยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท

หุ้นกู้ของบริษัทมีข้อกำหนดที่สำคัญในการดำรงอัตราส่วนทางการเงินในส่วนของอัตราส่วนเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนทุนที่ระดับไม่เกิน 2 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนดังกล่าว ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 อยู่ที่ระดับ 1.5 เท่า ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ตลอดระยะเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า

สมมติฐานพื้นฐาน

? รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะอยู่ในช่วง 1.9-2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566

? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับ 18%-19%

? เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาทต่อปี

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจผลิตกระดาษพิมพ์เขียนเอาไว้ได้ และคาดว่าความสามารถในการทำกำไรและความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นในระหว่างปี 2564-2566

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตในระยะใกล้มีโอกาสค่อนข้างจำกัด ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงได้หากผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) (DA)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

DA235A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB

DA241A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,850 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB

DA24OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,623 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB

DA252A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB

DA261A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,399 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 BBB

หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 10 ปี BBB

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com

ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500

? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ