ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันของ บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (TLT หรือผู้ออกหุ้นกู้) ภายใต้โครงการ Medium-term Debentures ในวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันของบริษัทในวงเงิน 1.3 แสนล้านบาทภายใต้โครงการหุ้นกู้สกุลเงินบาทของบริษัท ปี พ.ศ. 2561 และภายใต้โครงการหุ้นกู้สกุลเงินบาทของบริษัท ปี พ.ศ. 2563 ที่ระดับ ?AAA? และ ?T1+? ด้วย
หุ้นกู้ทั้งหมดของบริษัทได้รับการค้ำประกันโดย Toyota Motor Finance (Netherlands) B.V. (TMF หรือผู้ค้ำประกัน) โดย TMF เป็นบริษัทลูกของ Toyota Financial Service Corporation (TFS) ที่ถือหุ้น 100% โดย Toyota Motor Corporation (TMC) ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มโตโยต้า บริษัททั้ง 3 แห่งคือ TMF TFS และ TMC ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ ?A+? แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? รวมทั้งได้รับการจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ระยะสั้นที่ระดับ ?A-1+? จาก S&P Global Ratings ด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นการค้ำประกันแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้
อันดับเครดิตหุ้นกู้ระยะสั้นและระยะปานกลางของ TLT สะท้อนถึงการค้ำประกันแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้โดย TMF ซึ่งอันดับเครดิตของ TMF อยู่บนพื้นฐานของสถานะอันดับเครดิตของ TMC ทั้งนี้ ภายใต้โครงสร้างการค้ำประกันดังกล่าว TMC ได้ทำสัญญาให้การสนับสนุนสินเชื่อ (Credit Support Agreement - CSA) กับ TFS ในขณะเดียวกัน TFS ก็ได้ทำสัญญา CSA กับ TMF ด้วยเช่นกัน ภายใต้เงื่อนไขของสัญญา CSA ดังกล่าว TMC จะทำหน้าที่รักษาสภาพคล่องทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เพียงพอสำหรับรองรับภาระหนี้หุ้นกู้ หรือพันธบัตร และตราสารทางการเงิน (Commercial Paper -- CP) อื่น ๆ ของบริษัทลูกซึ่งได้แก่ TFS และ TMF นอกจากนี้ TMC ยังจะเป็นผู้จัดหาสภาพคล่องทางการเงินที่เพียงพอสำหรับเงื่อนไขการค้ำประกันของ TMF อีกด้วย
ทั้งนี้ การค้ำประกันของ TMF บังคับใช้ภายใต้กฎหมายของประเทศเนเธอร์แลนด์โดยเป็นการค้ำประกันแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้ ซึ่งผู้ค้ำประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระคืนหนี้ตามกำหนดเวลาของหุ้นกู้แต่ละชุดที่ออกให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ของ TLT ซึ่งภาระในการค้ำประกันของ TMF มีสถานะทางกฎหมายอยู่ในระดับเดียวกับตราสารหนี้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิอื่น ๆ ของผู้ค้ำประกันที่ออกทั้งในปัจจุบันและในอนาคต อีกทั้งยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือเพิกถอนได้โดยปราศจากการยินยอมทั้งจากตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้และผู้ค้ำประกันคือ TMF
ผู้ค้ำประกันจะไม่มีภาระในการชำระหนี้แทนในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระหนี้ด้วยเหตุอันเกิดจากการเข้าแทรกแซงหรือการกระทำต่าง ๆ โดยองค์กรใด ๆ ของรัฐบาลไทย ดังนี้ (1) ระงับการชำระหนี้เนื่องจากผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถโอนเงินไปให้นายทะเบียน หรือผู้ถือหุ้นกู้ หรือไม่สามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นสกุลเงินที่ต้องชำระหนี้ตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ได้ (2) ทำให้ต้องมีการโอนการถือหุ้นข้างมากหรือควบคุมผู้ออกหุ้นกู้ให้โอนหุ้นข้างมากดังกล่าวไปยังบุคคลที่สามซึ่งมิใช่สมาชิกของกลุ่มโตโยต้า (3) การเวนคืนหรือการโอนซึ่งทรัพย์สินของผู้ออกหุ้นกู้ให้เป็นของรัฐซึ่งมีมูลค่ารวมอย่างน้อย 10% ของมูลค่าสุทธิของสินเชื่อเช่าซื้อสุทธิของผู้ออกหุ้นกู้และบริษัทลูกของผู้ออกหุ้นกู้ และ (4) การเวนคืนหรือการโอนทรัพย์สินให้เป็นของรัฐอันมีผลทำให้ผู้ออกหุ้นกู้และบริษัทลูกของผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเห็นว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมีน้อยมาก
สถานะทางการตลาดยังคงแข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าสถานะทางการตลาดและความได้เปรียบในเชิงแข่งขันและผลิตภัณฑ์ของ TMC ยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ การมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและการครอบคลุมตลาดทั่วโลก ตลอดจนการเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี ทั้งนี้ TMC เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดของยอดขายรถยนต์ทั่วโลกประมาณ 12% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
TMC มียอดขายรถยนต์รวมโดยเฉลี่ยทั้งสิ้นประมาณ 7.6 ล้านคันในรอบปีบัญชี 2564 (เมษายน 2563-มีนาคม 2564) โดยลดลงถึง 15% จากจำนวน 8.9 ล้านคันในรอบปีบัญชี 2563 ยอดขายที่ลดลงอย่างมากนั้นเนื่องมาจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ยอดขายของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็น 2.1 ล้านคันในช่วงไตรมาสแรกของรอบปีบัญชี 2565 เทียบกับยอดขาย 1.2 ล้านคันหรือเพิ่มขึ้นถึง 85% จากช่วงเวลาเดียวกันของรอบปีบัญชี 2564 โดยยอดขายที่ปรับตัวดีขึ้นมาจากยอดขายในทวีปอเมริกาเหนือและประเทศจีน ในไตรมาสแรกของรอบปีบัญชี 2565 (สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564) ยอดขายในประเทศญี่ปุ่นคิดเป็นรายได้หลักที่ระดับ 40% ตามมาด้วยทวีปอเมริกาเหนือ 28% ทวีปเอเชียยกเว้นญี่ปุ่น 15% ทวีปยุโรป 10% และภูมิภาคอื่น ๆ อีก 7%
คาดว่าผลประกอบการทางการเงินยังคงแข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลประกอบการทางการเงินของ TMC ยังคงแข็งแรงจากความพยายามอย่างต่อเนื่องในการลดต้นทุนและจากการออกแบบรถยนต์รุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกที่ลดลงอย่างมากจากสถานการณ์โรคโควิด 19 นั้นยังคงกดดันความสามารถในการทำไรของ TMC และผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ เป็นอย่างมากในระยะใกล้ ๆ นี้ ทำให้กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลง 8% เป็น 2.2 ล้านล้านเยนในรอบปีบัญชี 2564 ผลจากนโยบายลดต้นทุนของ TMC ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสแรกของรอบปีบัญชี 2565 กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวเป็น 35% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 997 พันล้านเยนจากช่วงเดียวกันของรอบปีบัญชี 2564 จากการคาดการณ์ของ TMC กำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.5 ล้านล้านเยนในรอบปีบัญชี 2565 เป็นผลมาจากยอดขายรถยนต์รวมที่คาดว่าจะฟื้นตัว
สถานะสภาพคล่องสูงและการจัดหาแหล่งเงินทุนมีความเหมาะสม
TMC มีการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังมาโดยตลอด บริษัทมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่งโดยมีเงินสดและสินทรัพย์สภาพคล่องที่มีคุณภาพสูงจำนวนมาก อันได้แก่ พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นและพันธบัตรสหรัฐฯ (US Treasuries) ณ สิ้นไตรมาสแรกของรอบปีบัญชี 2565 TMC มีสินทรัพย์สภาพคล่องสูงถึง 8.1 ล้านล้านเยน ซึ่งคิดเป็น 13% ของสินทรัพย์รวม นอกจากนี้ บริษัทยังมีแหล่งเงินทุนที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศเป็นเงินกู้ธนาคาร หุ้นกู้และตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น (Commercial Papers) อีกด้วย ภายใต้มาตรฐานบัญชี IFRS เงินกู้ยืมระยะสั้นของ TMC คิดเป็น 48% ของเงินกู้ยืมรวม ส่วนที่เหลือ 52% เป็นหุ้นกู้ระยะยาวและหนี้สินทางการเงินอื่น สัดส่วนเงินกู้ยืมระยะยาวที่ค่อนข้างมากจะช่วยลดทอนความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่องจากผลกระทบจากความไม่สอดคล้องกันระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินจากธุรกิจให้บริการสินเชื่อ (Captive Finance) ของบริษัท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? อันดับเครดิตของ TMC ที่จัดโดย S&P Global Ratings จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
? จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในการค้ำประกันแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้ของ TMF ที่มีต่อหุ้นกู้ของ TLT
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนสถานะเครดิตของ TMF หรือผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ของ TLT ซึ่งสะท้อนสถานะเครดิตของบริษัทแม่ลำดับสุดท้ายคือ TMC โดยอันดับเครดิตองค์กรในปัจจุบันของ TMC ในระบบ International Scale ที่ระดับ ?A+/Stable? ซึ่งจัดอันดับเครดิตโดย S&P Global Ratings นั้นยังคงสะท้อนสถานะเครดิตที่แข็งแกร่งของ TMC
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันของ TLT อาจมีการปรับลดลงหากเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในด้านลบต่อสถานะเครดิตของ TMC
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (TLT)
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
หุ้นกู้มีการค้ำประกันในวงเงิน 60,000 ล้านบาท ในโครงการ Medium-term Debentures:
- TLT21NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AAA
- TLT22DA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AAA
- TLT22OA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AAA
- TLT235A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AAA
- TLT24OA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AAA
- TLT255A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AAA
หุ้นกู้มีการค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 130,000 ล้านบาท ในโครงการหุ้นกู้สกุลเงินบาทของบริษัท ปี พ.ศ. 2561:
- หุ้นกู้ระยะยาวมีการค้ำประกัน AAA
- TLT21DA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AAA
- TLT21OA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AAA
- TLT21OB: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AAA
- TLT221A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AAA
- TLT222A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AAA
- TLT223A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AAA
- TLT225A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AAA
- TLT228A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AAA
- TLT22NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,260 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AAA
- TLT232A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AAA
- TLT237A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AAA
- หุ้นกู้ระยะสั้นมีการค้ำประกัน T1+
หุ้นกู้มีการค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 130,000 ล้านบาท ในโครงการหุ้นกู้สกุลเงินบาทของบริษัท ปี พ.ศ. 2563:
- หุ้นกู้ระยะยาวมีการค้ำประกัน AAA
- TLT234A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AAA
- TLT235B: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AAA
- TLT23NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AAA
- TLT243A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AAA
- TLT245A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,910 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AAA
- TLT248A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AAA
- TLT253A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AAA
- TLT255B: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AAA
- TLT258A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AAA
- TLT263A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AAA
- TLT265A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AAA
- TLT285A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,290 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 AAA
- หุ้นกู้ระยะสั้นมีการค้ำประกัน T1+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable