ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) ที่ระดับ ?A-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของ ชสอ. ที่มีต่อระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ ตลอดจนผลการดำเนินงานที่มั่นคง สินเชื่อที่มีคุณภาพสูงต่อเนื่อง และความได้เปรียบทางการแข่งขันจากสิทธิพิเศษด้านกฎระเบียบที่สหกรณ์ได้รับการยกเว้นภาษีและมีบุริมสิทธิ์เป็นลำดับแรกก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สหกรณ์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตก็ลดทอนลงบางส่วนจากเกณฑ์การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์โดยทั่วไปที่ยังไม่ค่อยเข้มงวด รวมทั้งการที่ ชสอ. มีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของเงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกและจากเงินลงทุนในตราสารทุน ตลอดจนภาระหนี้ที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง
ทั้งนี้ ในการพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าว ทริสเรทติ้งยังคำนึงถึงความพร้อมของ ชสอ. ที่จะปรับตัวและปฏิบัติให้เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบภายหลังจากที่กฎระเบียบใหม่ที่ใช้ควบคุมการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์มีผลบังคับใช้ด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ชสอ. มีความพร้อมในการปรับตัวและปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่
ทริสเรทติ้งมองว่า ชสอ. มีความพร้อมที่จะปรับตัวและปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ได้เป็นอย่างดีโดยไม่มีประเด็นกังวลร้ายแรงเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดกับการดำเนินงานของ ชสอ. นับตั้งแต่กฎระเบียบใหม่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2562 ทั้งนี้ กฎระเบียบใหม่ดังกล่าวได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพื่อใช้ในการกำกับดูแลสหกรณ์ให้เข้มงวดยิ่งขึ้นทั้งในส่วนของกิจกรรมที่เกี่ยวกับการรับฝากเงิน การให้กู้ยืม และการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์ ในการนี้ ทริสเรทติ้งเห็นว่ากฎระเบียบใหม่นี้เป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในระยะยาวของสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบการเงินของไทย
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ากฎระเบียบใหม่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อโอกาสในการเติบโตของ ชสอ. และจะทำให้ผลการดำเนินงานทางการเงินของ ชสอ. อ่อนแอลงบ้าง ยกตัวอย่างเช่น นโยบายการลงทุนและเกณฑ์ในการสำรองสภาพคล่องและตั้งสำรองสำหรับหนี้สูญในกฎระเบียบใหม่ที่เข้มงวดยิ่งขึ้นนั้นจะทำให้การลงทุนของ ชสอ. มีความยืดหยุ่นน้อยลงและผลตอบแทนจากสินทรัพย์ก็ลดลงด้วย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมิได้คาดหวังว่าผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของ ชสอ. จะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของ ชสอ. อย่างมีนัยสำคัญ
สหกรณ์ออมทรัพย์ยังคงได้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษ
สิทธิพิเศษในรูปแบบต่าง ๆ ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ได้รับอันได้แก่ การยกเว้นภาษีและการมีบุริมสิทธิ์เป็นลำดับแรกก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ นั้นยังคงมีอยู่ต่อไป กล่าวคือ สหกรณ์ออมทรัพย์และสมาชิกได้รับการยกเว้นภาษีหลัก ๆ เช่น ภาษีดอกเบี้ยออมทรัพย์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีจากเงินลงทุน นอกจากนี้ พ.ร.บ. สหกรณ์ยังกำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์ขั้นปฐมภูมิมีบุริมสิทธิ์เป็นลำดับแรกก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ในการได้รับดอกเบี้ยและได้รับชำระคืนเงินกู้จากลูกหนี้อีกด้วย สิทธิพิเศษด้านบุริมสิทธิ์ดังกล่าวช่วยให้สหกรณ์ออมทรัพย์มีข้อได้เปรียบในการให้กู้แก่สมาชิกเหนือกว่าสถาบันการเงินอื่น ๆ ในขณะที่เงินกู้ส่วนใหญ่ที่ให้แก่สมาชิกสามัญของสหกรณ์ออมทรัพย์ขั้นปฐมภูมินั้นดำเนินการภายใต้ข้อตกลงกับนายจ้างหรือหน่วยงานต้นสังกัดว่าการชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นของเงินกู้ตามงวดนั้นสามารถใช้วิธีหักจากเงินเดือนของสมาชิกได้ กรณีดังกล่าวจึงส่งผลให้สหกรณ์ออมทรัพย์ขั้นปฐมภูมิส่วนใหญ่มีคุณภาพสินเชื่อที่ดีและมีความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายหนี้เสียของเงินที่ให้กู้แก่สมาชิกของสหกรณ์ที่ต่ำกว่าด้วย ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลต่อคุณภาพเงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกของสหกรณ์ขั้นทุติยภูมิอย่าง ชสอ. ด้วย
การกำกับดูแลที่ยังไม่เข้มงวดมาก
การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์มีความเข้มงวดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินซึ่งมีการกำกับดูแลที่ใกล้ชิดและเข้มงวดมากกว่า ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นจุดอ่อนสำคัญที่สร้างข้อจำกัดให้แก่สถานะอันดับเครดิตของสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทย ถึงแม้ว่ากรอบกฎระเบียบใหม่จะช่วยในการควบคุมกิจการของสหกรณ์ได้เข้มงวดยิ่งขึ้น แต่การบังคับใช้กฎระเบียบทั้งหลายให้มีประสิทธิภาพได้นั้นจะต้องมีการติดตามตรวจสอบอย่างเข้มงวดและอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์ปฏิบัติตามอย่างแท้จริง ซึ่งดูเหมือนว่าสิ่งดังกล่าวจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้
มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางทางการเงิน
ทริสเรทติ้งคาดว่า ชสอ. จะยังคงรักษาบทบาทในการเป็นตัวกลางทางการเงินให้แก่สหกรณ์สมาชิกโดยการรับฝากเงินและให้กู้ยืม ในขณะเดียวกัน ชสอ. ยังมีบทบาทหลักในการส่งเสริมและพัฒนากิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทยด้วย ชสอ. มีบทบาทสำคัญซึ่งดำเนินการใน 2 รูปแบบ คือ ทำหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. สหกรณ์และเป็นตัวแทนของสหกรณ์สมาชิก ทั้งนี้ ชสอ. มีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการระดับชาติต่าง ๆ มากมายและร่วมดำเนินกิจกรรมของกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะช่วยสนับสนุน ส่งเสริม วางแผน และพัฒนากิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทย สหกรณ์ออมทรัพย์ขั้นปฐมภูมิมีหน้าที่ให้เงินกู้ยืมและผลประโยชน์ในรูปสวัสดิการต่าง ๆ แก่สมาชิก ในทำนองเดียวกัน ชสอ. ก็ให้เงินกู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกเสมือนเป็นแหล่งเงินทุนอีกทางหนึ่งและยังสร้างประโยชน์ต่าง ๆ ในรูปแบบของการให้คำปรึกษา รวมถึงการจัดอบรมและสัมมนาโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อช่วยยกระดับความแข็งแกร่งทั้งทางด้านการดำเนินงานและการเงินของสหกรณ์สมาชิกด้วย
มีความเสี่ยงทางด้านราคาตลาดจากการกระจุกตัวของพอร์ตการลงทุน
ทริสเรทติ้งมองว่าการเผชิญกับความเสี่ยงทางด้านราคาตลาดอันเนื่องมาจากการลงทุนนั้นเป็นความกังวลสำคัญต่ออันดับเครดิตของ ชสอ. ทั้งนี้ นโยบายการลงทุนของ ชสอ. ได้เริ่มเปลี่ยนมาเป็นแบบเชิงรุกมากขึ้นโดยมีการเพิ่มสัดส่วนของการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทตราสารทุนซึ่งถือว่าเป็นหลักทรัพย์ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตลาดในระดับสูง ชสอ. มีอัตราส่วนเงินลงทุนต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ระดับ 44% ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2563 (สิ้นสุด ณ เดือนมีนาคม 2564) โดยเงินลงทุนประกอบไปด้วยเงินลงทุนในตราสารทุนในสัดส่วน 47% ในหุ้นกู้ในสัดส่วน 40% และในการลงทุนอื่น ๆ อีก 13% ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2563 ซึ่งเปรียบเทียบกับนโยบายการลงทุนก่อนหน้านี้ที่ประกอบด้วยเงินลงทุนในตราสารทุนในสัดส่วนเพียง 5% หุ้นกู้ 85% และอื่นๆ อีก 10% โดย ชสอ. ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนในปี 2562 ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่า ชสอ. จะจำกัดการลงทุนในตราสารทุนลงในอนาคต ทั้งนี้ การลงทุนในตราสารทุนที่มากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อสถานะเครดิตของ ชสอ. ได้
ชสอ. มีความเสี่ยงจากการมีเงินลงทุนในหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ที่จำนวน 1.9 พันล้านบาทซึ่งคิดเป็นประมาณ 1% ของสินทรัพย์รวมและ 5% ของทุนทั้งหมดของ ชสอ. ซึ่งปัจจุบันบริษัทการบินไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงผลกระทบจากความเป็นไปได้ที่ ชสอ. จะมีผลขาดทุนจากเงินลงทุนในหุ้นกู้ไม่มีประกันของบริษัทการบินไทยด้วย
อัตราการก่อหนี้ยังอยู่ในระดับสูงและมีฐานทุนอยู่ในระดับปานกลาง
ฐานทุนของ ชสอ. ซึ่งประกอบไปด้วยทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้ว ทุนสำรองตามกฎหมาย ทุนสำรองตามข้อบังคับ กำไรหรือขาดทุนจากเงินลงทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น และกำไรสุทธินั้นมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนการก่อหนี้ซึ่งวัดโดยอัตราส่วนทุนต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ระดับ 25% ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2563 แต่อัตราส่วนดังกล่าวก็ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งมานานซึ่งมีอัตราส่วนดังกล่าวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 40% ทั้งนี้ ชสอ. มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ที่ระดับ 27.6% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ของกฎระเบียบใหม่ที่กำหนดไว้ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 15%
ตามเงื่อนไขข้อบังคับของ ชสอ. มีการกำหนดให้สหกรณ์สมาชิกจะต้องซื้อหุ้นของ ชสอ. เพิ่มเติมในสัดส่วนที่สอดคล้องกับทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้วของสหกรณ์สมาชิก ในสถานการณ์ปกติ ทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้วของ ชสอ. จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้วของสหกรณ์สมาชิกแต่ละรายก็จะเพิ่มขึ้นอย่างอัตโนมัติตามกลไกปกติในการซื้อหุ้นเพิ่มรายเดือนของสหกรณ์สมาชิก ทริสเรทติ้งคาดหวังว่า ชสอ. จะสร้างความแข็งแกร่งของฐานทุนให้มากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงในทางลบของกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์หรือตลาดการเงินภายในประเทศ
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งคาดว่า ชสอ. จะยังคงสามารถรักษาสภาพคล่องให้มีความเพียงพอจากการได้รับวงเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ซึ่งวงเงินดังกล่าวน่าจะเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่องที่เหนือความคาดหมายได้
โดยเฉลี่ยแล้วเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์นั้นมีสัดส่วนคิดเป็น 12% ของหนี้สินรวมหรือ 9% ของสินทรัพย์รวมของ ชสอ. ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สภาพคล่องส่วนเกินจากเงินรับฝากของสหกรณ์สมาชิกทำให้ ชสอ. ไม่มีเงินกู้ยืมใด ๆ จากธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2563 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าเงินทุนขนาดใหญ่ที่ได้จากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินมักมีความเสี่ยงด้านการกู้ยืมต่อมากกว่าการใช้เงินฝากและการกู้ยืมจากสหกรณ์สมาชิกเป็นแหล่งเงินทุนเนื่องจากเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินส่วนมากนั้นเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น
ชสอ. มีสินทรัพย์สภาพคล่องคิดเป็นสัดส่วน 49.6% ของสินทรัพย์รวมของ ชสอ. ณ เดือนมีนาคม 2564 และมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องที่ระดับ 7.4% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ของกฎระเบียบใหม่ที่กำหนดไว้ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 6%
มีการกระจุกตัวของเงินให้กู้ยืมแต่มีการจัดการคุณภาพสินเชื่อที่ดี
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่า ชสอ. มีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของเงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกค่อนข้างมาก โดยเงินให้กู้ยืมที่ ชสอ. ให้แก่สมาชิก 20 อันดับแรกคิดเป็นสัดส่วน 59% ของเงินให้กู้ยืมรวม ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2563 อันเนื่องมาจาก ชสอ. ให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกเพียง 204 รายจากจำนวนสหกรณ์สมาชิกทั้งหมด 1,099 ราย ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2563 ทั้งนี้ เงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกคิดเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดที่ 51% ของสินทรัพย์รวมของ ชสอ. ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2563 ในขณะที่ประมาณ 44% ของสินทรัพย์รวมของ ชสอ. เป็นเงินลงทุนและส่วนที่เหลืออีก 5% เป็นเงินสดและสินทรัพย์อื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวลดทอนลงจากองค์ประกอบของเงินให้กู้ยืมของ ชสอ. ที่เป็นหนี้คุณภาพดี
ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2563 ชสอ. มีเงินให้กู้ยืมที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพียง 17.1 ล้านบาทหรือคิดเป็น 0.02% ของเงินให้กู้รวมคงค้าง เงินให้กู้ยืมของ ชสอ. ที่เป็นหนี้คุณภาพดีนั้นสะท้อนถึงเงินที่ให้กู้แก่สมาชิกสหกรณ์ขั้นปฐมภูมิที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตค่อนข้างต่ำซึ่งได้รับอานิสงส์จากสิทธิพิเศษด้านกฎระเบียบของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีบุริมสิทธิ์เป็นลำดับแรกก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ และจากกลไกการชำระคืนหนี้ด้วยระบบหักเงินเดือนตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ในการนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังให้ ชสอ. ยังคงรักษานโยบายการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดต่อไปเพื่อรักษาคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีเอาไว้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของ ชสอ. ในระหว่างรอบปีบัญชี 2564-2566 ดังนี้
? ส่วนของทุนรวมจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 5% ต่อปี
? เงินให้กู้ยืมจะลดลง 3% ในปีบัญชี 2564 และจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 3% ต่อปีในรอบปีบัญชี 2565-2566
? ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วง 0.16%-0.18% ต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า ชสอ. จะรักษาบทบาทหน้าที่สำคัญที่มีต่อระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ต่อไป แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่มั่นคงของ ชสอ. รวมถึงเงินให้กู้ยืมที่มีคุณภาพสูง และฐานเงินทุนหลักที่ได้รับจากสมาชิกอีกด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังด้วยว่า ชสอ. จะสามารถปฏิบัติตามการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบได้อีกด้วยเช่นกัน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มการเพิ่มอันดับเครดิตของ ชสอ. มีข้อจำกัดจากกรอบการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังขาดการกำกับดูแลที่ใกล้ชิดและการติดตามตรวจสอบที่เข้มงวดจากหน่วยงานรับผิดชอบ ในทางตรงกันข้าม นโยบายการลงทุนในเชิงรุกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในตราสารทุนที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการปรับลดอันดับเครดิตได้ นอกจากนี้ การดำเนินงานและนโยบายการเงินในเชิงรุกที่อาจทำให้สถานะเครดิตโดยรวมของ ชสอ. อ่อนแอลง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบใด ๆ ที่จะลดทอนสิทธิพิเศษของสหกรณ์ออมทรัพย์ก็อาจมีผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของ ชสอ. ได้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสหกรณ์ออมทรัพย์, 28 กันยายน 2563
ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (FSCT)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable