ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงสถานะผู้นำในตลาดเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มในประเทศไทยและตราสินค้าของบริษัทซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี ตลอดจนฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัท อันดับเครดิตของบริษัทยังคงได้รวมการปรับเพิ่มสถานะเครดิตขึ้นมา 1 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Stand-alone Credit Profile : SACP) ที่ระดับ ?a? ซึ่งสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยเชิงกลยุทธ์ (Strategic Subsidiary) ของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (หรือ ?ไทยเบฟ? ซึ่งได้รับอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งที่ระดับ ?AA? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่?) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดบางประการจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจหลักของบริษัท และผลการดำเนินงานของธุรกิจอาหารที่อ่อนแอลงอันเป็นผลกระทบที่เกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ยืดเยื้อ รวมถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลง
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ธุรกิจเครื่องดื่มมีเสถียรภาพท่ามกลางผลกระทบจากโรคโควิด 19
ธุรกิจเครื่องดื่มของบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีและมีเสถียรภาพที่ดีท่ามกลางผลกระทบที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อและเศรษฐกิจที่ซบเซา ทั้งนี้ ทริสเริทติ้งคาดว่าธุรกิจเครื่องดื่มของบริษัทจะยังคงขับเคลื่อนได้ดีต่อไปตลอดปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 - กันยายน 2564)
ในปีงบประมาณ 2563 บริษัทมียอดขายในธุรกิจเครื่องดื่มรวม 6 พันล้านบาท ลดลง 7% จากปีงบประมาณ 2562 โดยมีปัจจัยสำคัญจากยอดขายสินค้าส่งออกที่ลดลงอันเป็นผลจากการปิดพรมแดน ในขณะที่ยอดขายเครื่องดื่มในประเทศลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ยอดขายในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 เติบโตเกือบ 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 4.7 พันล้านบาท ถึงแม้ว่ายอดขายสินค้าส่งออกจะลดลงก็ตาม แต่บริษัทก็ยังคงมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแคมเปญส่งเสริมการขายช่วงฤดูร้อนที่ได้ผล รวมทั้งจากการออกสินค้าใหม่และการขยายช่องทางการจัดจำหน่าย ทั้งนี้ ยอดขายเครื่องดื่มในประเทศซึ่งไม่รวมสินค้าที่บริษัทรับจ้างผลิตมีการเติบโตถึง 8% ผ่านทางการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในร้านค้าแบบดั้งเดิม และจากการขยายตลาดไปยังพื้นที่ในต่างจังหวัดมากยิ่งขึ้น ส่วนยอดขายเครื่องดื่มส่งออกนั้นเริ่มปรากฏสัญญาณการฟื้นตัวของยอดขายหลังจากที่ลดลงถึงจุดต่ำสุดท่ามกลางวิกฤติโรคโควิด 19 ในปีก่อน
ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 ธุรกิจเครื่องดื่มของบริษัทยังคงสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายประมาณ 1.2 พันล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2563 (ไม่รวมค่าสินไหมทดแทนจากประกันจำนวน 293 ล้านบาท) บริษัทมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน การปรับสินค้าหรือช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น และใช้แคมเปญส่งเสริมการขายผ่านสื่อออนไลน์ที่มีประสิทธิผล เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรไว้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนี้ การออกสินค้าใหม่ที่ได้รับการตอบรับที่ดีก็สามารถสร้างยอดขายและกำไรเพิ่มเติมอีกด้วย
สมมติฐานประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจเครื่องดื่มของบริษัทจะยังคงระดับผลการดำเนินงานที่น่าพอใจในปีงบประมาณ 2564 ไว้ได้ แม้ว่าจะต้องเผชิญสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 หลายระลอกและมียอดขายสินค้าส่งออกลดลงก็ตาม ทั้งนี้ คาดว่ารายได้จะเติบโตระดับปานกลางในช่วง 2 ปีถัดไป โดยการเติบโตจะมาจากการฟื้นตัวของยอดขายของสินค้าส่งออก การครอบคลุมตลาดที่กว้างขึ้น และจากการออกสินค้าใหม่ ๆ อีกด้วย
เป็นผู้นำในตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศไทย
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งในตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศไทยไว้ได้ต่อไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากตราสินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี รวมถึงเครือข่ายกระจายสินค้าที่ครอบคลุมทั่วประเทศของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ของบริษัท โดยตราสัญลักษณ์ ?โออิชิ? (OISHI) เป็นที่รู้จักอย่างดีในผู้บริโภคไทย บริษัทกระจายสินค้าผ่านเครือข่ายการกระจายสินค้าของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ (รวมถึงเครือข่ายของ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ด้วย) ซึ่งมีเครือข่ายที่กว้างขวางครอบคลุมร้านค้าและร้านอาหารท้องถิ่นกว่า 450,000 แห่ง ทั้งนี้ กลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตของทั้งบริษัทไทยเบฟเวอเรจและบริษัทโออิชิต่างมุ่งเน้นการขยายการจัดจำหน่ายสินค้าไปยังพื้นที่ที่ยังเข้าถึงได้ไม่มาก บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 48.5% ในช่วง 12 เดือนย้อนหลังสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 46.6% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ยังคงมีความรุนแรงจากการทำโปรโมชั่นของคู่แข่ง การแข่งขันด้านราคาในบางช่องทางการจัดจำหน่ายและบางพื้นที่ และจากเครื่องดื่มทางเลือกชนิดอื่น ๆ อีกด้วย
ธุรกิจอาหารยังคงเผชิญความท้าทายต่อไป
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลกระทบจากโรคโควิด 19 และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาล รวมถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลง จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารของบริษัทอย่างมากในปีงบประมาณ 2564 และแนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจอาหารอาจจะใช้ระยะเวลาพอสมควรและอาจยาวนานกว่าที่ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ครั้งก่อน
ในปีงบประมาณ 2563 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจอาหารลดลง 30% จากปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 5 พันล้านบาท และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 รายได้จากธุรกิจอาหารยังคงลดลง 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 2.9 พันล้านบาท การซื้ออาหารกลับบ้านและการสั่งอาหารให้ส่งถึงบ้านช่วยลดผลกระทบในช่วงที่มีการปิดเมืองลงไปได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม รายได้จากส่วนนี้ยังมีขนาดเล็กอยู่ อัตราการทำกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของธุรกิจอาหารลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 3% ในช่วงปีงบประมาณ 2563 จนถึงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เปรียบเทียบกับระดับ 11%-12% ในอดีต ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ที่หดตัวลงในขณะที่ยังมีต้นทุนดำเนินงาน เช่น ค่าใช้จ่ายบุคลากร และค่าเช่า
สมมติฐานประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจร้านอาหารของบริษัทจะลดลงอย่างมากในปีงบประมาณ 2564 อันเป็นผลจากสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อ ทั้งนี้ คาดว่าธุรกิจร้านอาหารจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2565 หลังจากการฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชากรในวงกว้าง และผู้คนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ พร้อมกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่จะฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดว่ารายได้จากสินค้าอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและอาหารสำเร็จรูปแช่เย็นจะค่อย ๆ เติบโตเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีงบประมาณข้างหน้า โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสสำเร็จรูปบรรจุขวดเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ประกอบอาหารรับประทานที่บ้าน ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจนี้ยังมีโอกาสเติบโตจากการออกสินค้าสำเร็จรูปชนิดใหม่ ๆ และมีรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ตลอดจนมีการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในวงกว้างมากขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจอาหารจะฟื้นตัวกลับมาที่ระดับ 5.0-6.5 พันล้านบาทต่อปีในปีงบประมาณ 2565-2566 นอกจากนี้ รายได้จะเติบโตจากการขยายสาขาและมีรูปแบบร้านอาหารที่หลากหลายมากขึ้นอีกด้วย โดยบริษัทได้นำเสนอรูปแบบร้านอาหารแบบใหม่ ๆ เช่น รถจำหน่ายอาหารเคลื่อนที่ (Food Truck) อีกทั้งใช้วิธีการทำการตลาดที่รวมทุกช่องทางการติดต่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (Omni-channel) เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยคาดว่ารายได้ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ ๆ เหล่านี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีงบประมาณข้างหน้าบริษัทวางแผนจะขยายสาขาร้านอาหาร 15-20 สาขาต่อปี รวมทั้งขยายสาขาในประเทศเพื่อนบ้านด้วย
กำไรลดลงในปีงบประมาณ 2564 แต่คาดว่าจะฟื้นตัวหลังจากนั้น
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้รับแรงกดดันจากยอดขายจากธุรกิจอาหารที่หดตัวลง ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะลดลงในปีงบประมาณ 2564 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายและระดับกำไรที่แข็งแกร่งของธุรกิจเครื่องดื่มจะช่วยพยุงการทำกำไรโดยรวมของบริษัทเอาไว้ได้และจะทำให้บริษัทยังคงมีผลกำไรในปีงบประมาณ 2564 และคาดว่าในช่วง 2 ปีงบประมาณข้างหน้า บริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากธุรกิจอาหารที่มียอดขายฟื้นตัว รวมถึงยอดขายเครื่องดื่มที่เติบโตและจากการออกสินค้าใหม่ บริษัทยังคงมุ่งเน้นมาตรการควบคุมค่าใช้จ่าย เช่น ควบคุมของทิ้งสิ้นเปลือง เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการบริหารค่าใช้จ่ายบุคลากร โดยคาดว่าระดับกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ในช่วง 1.8-2.1 พันล้านบาทในช่วงปีงบประมาณ 2565-2566 โดยเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทน่าจะอยู่ในช่วง 1.5-2.0 พันล้านบาทต่อปี ในช่วงปีงบประมาณ 2564-2566
หนี้สินอยู่ในระดับต่ำและมีสภาพคล่องเพียงพอ
บริษัทอยู่ในสถานะปลอดหนี้มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 จนถึง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 และมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีฐานทุนจำนวนเกือบ 7 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2564 นอกจากนี้ บริษัทมีเงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดรวมประมาณ 1.8 พันล้านบาท รวมถึงยังมีวงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 8 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ประมาณ 1.5-1.7 พันล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับการลงทุนตามแผน รวมถึงใช้ในการลงทุนอื่น ๆ และการจ่ายเงินปันผลด้วย
ทั้งนี้ ความต้องการในการใช้เงินทุนหลัก ๆ ของบริษัทนั้นคือการลงทุน ซึ่งคาดว่าบริษัทจะมีการใช้เงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาทในช่วงปีงบประมาณ 2564-2566 หากไม่มีการซื้อกิจการโดยการก่อหนี้ขนาดใหญ่ ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะยังคงมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง หรือมีความต้องการในการกู้ยืมน้อยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
เป็นบริษัทเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มบริษัทไทยเบฟเวอเรจ
ทริสเรทติ้งพิจารณาสถานะของบริษัทโออิชิ กรุ๊ป เป็นบริษัทย่อยเชิงกลยุทธ์ของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ ตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ? (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้ง บริษัทมีบูรณาการเชิงกลยุทธ์ทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและทางการเงินร่วมกับบริษัทไทยเบฟเวอเรจ โดยในปีงบประมาณ 2563 บริษัทสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% ของรายได้ธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และธุรกิจอาหารของกลุ่ม และสร้างกำไรในสัดส่วน 50% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของกลุ่มธุรกิจนี้ เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญของบริษัทในการเป็นบริษัทหลักในธุรกิจนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงเป็นบริษัทเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจโดยมีบูรณาการเชิงกลยุทธ์สำหรับธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารของกลุ่มในระยะยาวต่อไป
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จะลดลงในปีงบประมาณ 2564 และจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ระดับ 1.15-1.32 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปีงบประมาณ 2565-2566
? อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 15%-16% ในช่วงปีงบประมาณ 2564-2566
? เงินลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาทในช่วงปีงบประมาณ 2564-2566
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสถานะในการเป็นบริษัทย่อยเชิงกลยุทธ์ของบริษัทไทยเบฟเวอเรจต่อไป ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดในธุรกิจชาพร้อมดื่ม ในขณะที่คาดว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจร้านอาหารจะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมาในช่วงระยะปานกลาง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังด้วยว่าบริษัทจะยังคงนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง รวมทั้งรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องที่เพียงพอเอาไว้ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากบริษัทมีการลงทุนด้วยการก่อหนี้เชิงรุก หรือหากบริษัทมีผลการดำเนินงานอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญและมากกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทมีผลการดำเนินงานและมีกระแสเงินสดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและอย่างต่อเนื่องจากขนาดรายได้ที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นหรือจากความหลากหลายของที่มาของรายได้ ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจเปลี่ยนแปลงได้ด้วยเช่นกันในกรณีที่ทริสเรทติ้งเห็นว่าระดับการสนับสนุนที่บริษัทได้รับจากบริษัทไทยเบฟเวอเรจนั้นเปลี่ยนแปลงไป
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (OISHI)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable