ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB-? ในขณะเดียวกัน
ทริสเรทติ้งยังปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ?Positive? หรือ ?บวก? จาก ?Stable? หรือ ?คงที่? ด้วย โดยสืบเนื่องมาจากประกาศของ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ที่ระบุว่าบริษัทดังกล่าวจะเข้ามาลงทุนในบริษัทโดยใช้วิธีการเสนอขายหุ้นให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) และวิธีการใช้สิทธิ์ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ผู้ถือหุ้นเดิมแต่ละรายถืออยู่ (Rights Offering) ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิต ?Positive? หรือ ?บวก? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าฐานทุนและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะปานกลาง ในขณะที่อันดับเครดิตของบริษัทนั้นยังคงสะท้อนถึงสถานะทางการตลาด ตลอดจนผลการดำเนินงาน และคุณภาพสินทรัพย์ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภคของบริษัทที่เข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเป็นการขยายสินเชื่อผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด
ทั้งนี้ ธุรกรรมเพิ่มทุนโดยการเสนอขายหุ้นให้แก่บุคคลในวงจำกัดและการใช้สิทธิ์ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ผู้ถือหุ้นเดิมถืออยู่ซึ่งจะระดมทุนคิดเป็นมูลค่าจำนวน 1.065 หมื่นล้านบาทนั้นคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2564 โดยธุรกรรมดังกล่าวจะประกอบไปด้วยการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนใหม่ให้แก่บุคคลในวงจำกัดแก่บริษัทยู ซิตี้ รวมมูลค่า 7.2 พันล้านบาท ตลอดจนการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือของ บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) มูลค่า 1.2 พันล้านบาทและของผู้ถือหุ้นเดิมในส่วนที่เหลืออีก 2.3 พันล้านบาท (ภายใต้สมมติฐานที่ผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิเต็มจำนวน) ในการนี้ หุ้นเพิ่มทุนจำนวนดังกล่าวจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สถานะฐานทุนของบริษัทที่แข็งแกร่งอยู่แล้วให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นโดยวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทซึ่งอยู่ที่ระดับ 30% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ทั้งนี้ บริษัทมีแผนการจะนำเงินเพิ่มทุนที่ได้ดังกล่าวไปใช้ชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดและใช้ในการขยายธุรกิจต่อไป ทริสเรทติ้งประมาณการว่าภายหลังจากการเพิ่มทุนในครั้งนี้บริษัทจะมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงโดยเฉลี่ย 5 ปีอยู่ที่ระดับเกินกว่า 60% โดยพิจารณาจากเป้าหมายในการเติบโตของสินเชื่อที่แข็งแกร่งของบริษัท ซึ่งแผนการใช้เงินดังกล่าวน่าจะช่วยให้อัตราการก่อหนี้และสถานะทางการตลาดของบริษัทปรับตัวดียิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 การขยายสินเชื่อของบริษัทยังคงเติบโตอย่างรวดเร็วจนถึงระดับ 8.6 พันล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 30% จากช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ โดยการขยายตัวของสินเชื่อดังกล่าวนั้นเกิดจากการขยายตัวของสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันเป็นสำคัญ อัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยของบริษัทอยู่ที่ระดับ 7.4% (ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 โดยบริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่จำนวน 323 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากยอดสินเชื่อที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนกำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่ลดลง และการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ
ในขณะเดียวกัน บริษัทยังสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์และค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเอาไว้ได้อีกด้วย โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยรวมของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.6% จากระดับ 4.4% ณ สิ้นปี 2563 ในขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดขึ้นใหม่ (NPL Formation) ก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.9% (ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จากระดับ 4.6% ในปี 2563 ส่วนค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้นก็ลดลงด้วยเช่นกัน โดยมาอยู่ที่ระดับ 0.2% (ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จากระดับ 2.8% ในปี 2563
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Positive? หรือ ?บวก? อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าสถานะทุนของบริษัทน่าจะแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลาหนึ่งภายหลังจากที่บริษัทได้รับเงินเพิ่มทุนซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจที่มีค่อนข้างมากของบริษัทได้ในระยะปานกลาง ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งและผลการดำเนินงานทางการเงินที่ดีเอาไว้ได้ด้วยอีกเช่นกัน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากธุรกรรมการเพิ่มทุนในครั้งนี้สำเร็จผล อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดกลับมาเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? หากธุรกรรมดังกล่าวล้มเหลว โดยที่ทริสเรทติ้งอาจปรับลดอันดับเครดิตลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทเสื่อมถอยลงและค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับที่ทำให้อัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยลดต่ำลงกว่าระดับ 2.5% จนทำให้อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทลดลงต่ำกว่าระดับ 25% ซึ่งเป็นระดับที่บ่งบอกถึงฐานทุนที่เสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SINGER)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Positive