ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท อินโดรามาเวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?AA-? และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนของบริษัทที่ระดับ ?A? นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 6 พันล้านบาทและหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe) ในวงเงินไม่เกิน 4 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ ?AA-? ด้วย ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? จาก ?Negative? หรือ ?ลบ? อีกด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอนุพันธ์ (Petrochemicals and Derivatives Industry) ตลอดจนผลการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นของบริษัท
ในขณะที่อันดับเครดิต ?AA-? ยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์ของบริษัท ตลอดจนความได้เปรียบในการแข่งขันจากการมีระบบการผลิตที่ครบวงจร (Vertical Integration) การมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย รวมทั้งการมีฐานการผลิตและฐานลูกค้าที่กระจายตัวอยู่ใน 6 ทวีปทั่วโลก นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสามารถและประสบการณ์ของคณะผู้บริหารของบริษัท รวมทั้งการที่บริษัทสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญในอุตสาหกรรมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความผันผวนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วยเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลการดำเนินงานดีขึ้นในปี 2564
ผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวอย่างมากในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 โดยอุปสงค์ด้านผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทุกประเภทที่ฟื้นตัวอย่างมากนั้นเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วผนวกกับการขาดแคลนวัตถุดิบและข้อจำกัดในการขนส่ง บริษัทได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์การกระจายการผลิตในหลายภูมิภาค ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถจัดหาสินค้าให้แก่ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องในแต่ละภูมิภาค ความไม่สมดุลของอุปทานและอุปสงค์ดังกล่าวทำให้กำไรของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและสร้างประโยชน์ให้แก่ธุรกิจทุกประเภทของบริษัท นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจออกไซด์บูรณาการและอนุพันธ์ (Integrated Oxide and Derivative Products --- IOD ) ของบริษัทก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจากกิจการของ Spindletop ที่บริษัทซื้อมาเมื่อเดือนมกราคม 2563 นั้นเพิ่มขึ้นเป็น 124 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จาก 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จากสาเหตุหลักคืออุปสงค์ที่แข็งแกร่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ขั้นปลาย (Downstream) เช่น สารลดแรงตึงผิวซึ่งใช้ในผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว (Personal Care Product) ตลอดจนผลิตภัณฑ์ดูแลบ้าน (Home Care Product) ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร (Crop Solutions) และผลิตภัณฑ์เพื่อการขุดเจาะน้ำมัน (Oilfield Products) นอกจากนี้ การกลับมาบริโภคน้ำมันเบนซินตามปกติหลังจากการผ่อนปรนมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ยังช่วยเพิ่มอุปสงค์ของสาร MTBE (Methyl Tertiary Butyl Ether) ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์หลักของ Spindletop
สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 157% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านบาทซึ่งรวมกำไรจากสินค้าคงคลังจำนวน 6 พันล้านบาทด้วย การบริหารเงินทุนหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพช่วยให้บริษัทสามารถดำรงหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วให้อยู่ที่ประมาณ 2.2 แสนล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2564 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.7 เท่า (ปรับปรุงเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ณ เดือนมิถุนายน 2564 จากระดับ 7.5 เท่า ณ เดือนธันวาคม 2563
ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับราว ๆ 3.5-4 เท่า ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งเป็นระดับที่ดีกว่าที่ทริสเรทติ้งเคยประมาณการไว้ที่ 4-5 เท่าในช่วงปี 2564-2565 อย่างมีนัยสำคัญ
ซื้อกิจการ Oxiteno เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มธุรกิจ IOD
ในเดือนสิงหาคม 2564 บริษัทได้ประกาศว่าจะซื้อกิจการ Oxiteno ซึ่งเป็นผู้ผลิตสารลดแรงตึงผิวและเคมีภัณฑ์ระดับโลกสัญชาติบราซิลด้วยมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย Oxiteno จะเพิ่มกำลังการผลิตในกลุ่มธุรกิจ IOD 1.5 ล้านตันต่อปีให้แก่บริษัทซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 19 ล้านตันต่อปี ในการนี้ บริษัทคาดว่าธุรกรรมการซื้อกิจการ Oxiteno จะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ซึ่งบริษัทจะต้องชำระเงินจำนวน 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ วันที่ธุรกรรมแล้วเสร็จและจะต้องชำระส่วนที่เหลืออีก 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2567
ทริสเรทติ้งมองว่าการซื้อกิจการ Oxiteno จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจของบริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในกลุ่ม IOD โดยผลิตภัณฑ์ของ Oxiteno นั้นมุ่งเน้นที่กลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลายซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าปัจจุบันของบริษัทและยังช่วยให้บริษัทสามารถเข้าถึงตลาดในกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ได้อีกด้วย ในปี 2563 Oxiteno มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 187 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บริษัทคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของ Oxiteno จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 290 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2566 โดยการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายการตลาดของกลุ่มธุรกิจ IOD ของบริษัทเพื่อช่วยเพิ่มยอดขายรวมถึงการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานระหว่างกลุ่มธุรกิจเพื่อช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน
ภายใต้ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่า Oxiteno จะสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายให้แก่บริษัทที่ประมาณ 140-190 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในช่วงปี 2565-2567 โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ในระดับเกินกว่า 4 เท่าในปี 2565 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นเป็น 3-4 เท่าในปีถัด ๆ ไป
ธุรกิจมีขนาดใหญ่และมีความหลากหลาย
บริษัทเป็นผู้ผลิตพลาสติก PET (Polyethylene Terephthalate) แบบบูรณาการ (Combined PET) รายใหญ่ที่สุดในโลก โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นที่ประมาณ 17.2 ล้านตันต่อปี ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจ Combined PET 72% ธุรกิจ IOD 15% และธุรกิจเส้นใยและด้าย 12% บริษัทมีกลยุทธ์ที่จะขยายกำลังการผลิตในธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์ตั้งแต่วัตถุดิบตั้งต้น (ได้แก่ Paraxylene ? PX หรือ Purified Terphthalic Acid -- PTA และ Monoethylene Glycol -- MEG) ไปจนถึงผลิตภัณฑ์อนุพันธ์ (ได้แก่ พลาสติก PET รวมถึงเส้นใยและด้าย เคมีภัณฑ์อื่น ๆ และบรรจุภัณฑ์) ทั้งนี้ หลังจากที่ซื้อกิจการของ Spindletop ในช่วงต้นปี 2563 แล้ว ธุรกิจ IOD ของบริษัทก็ขยายจากการผลิตแค่เพียง MEG และ Purified ethylene oxide (PEO) ไปจนถึงเคมีภัณฑ์อนุพันธ์ขั้นปลาย บริษัทได้เพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ผลิตภัณฑ์ขั้นปลายในกลุ่มธุรกิจ IOD ด้วยการซื้อกิจการของ Oxiteno ซึ่งคาดว่าจะรวมกิจการเข้ามาในกลุ่มบริษัทได้ภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 การเป็นผู้ผลิตแบบบูรณาการทำให้บริษัทอยู่ในสถานะที่มีข้อได้เปรียบหลายประการไม่ว่าจะเป็นการมีต้นทุนที่แข่งขันได้ การมีประสิทธิภาพในการผลิต รวมถึงการมีฐานการผลิตในหลากหลายภูมิภาคและการเข้าถึงตลาดที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ปัจจุบันบริษัทมีฐานการผลิตอยู่ใน 33 ประเทศซึ่งครอบคลุม 6 ทวีป ได้แก่ ทวีปเอเชีย อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป อาฟริกา และออสเตรเลีย
แสวงหาความยั่งยืน
เนื่องจากความยั่งยืนเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของบริษัทในขณะที่พลาสติก PET สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) ได้เต็ม 100% บริษัทจึงมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยการผลิตพลาสติกครบวงจรแบบยั่งยืน โดยบริษัทได้เข้าสู่ธุรกิจรีไซเคิลมาตั้งแต่ปี 2554 เมื่อครั้งที่บริษัทซื้อกิจการของ Wellman International (Wellman) ในทวีปยุโรป นับจากนั้นมาบริษัทก็ได้ดำเนินการรีไซเคิลขวด PET รวมถึงการผลิตเกล็ด PET รีไซเคิลเพื่อนำไปใช้ในการผลิตเส้นใยและแผ่นพลาสติก รวมถึงยังออกผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ บริษัทยังได้นำองค์ความรู้จาก Wellman มาใช้ในการขยายกำลังการผลิตที่โรงงานของบริษัทในประเทศเม็กซิโก สหรัฐฯ และไทยด้วย ปัจจุบันบริษัทสามารถนำเกล็ด PET รีไซเคิลมาใช้ในกระบวนการ Virgin Polymerization ได้สูงสุดถึง 30% ตามความต้องการของลูกค้า ในการนี้ บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิต PET รีไซเคิลให้ได้ถึง 750,000 ตันต่อปีภายในปี 2568 จากประมาณ 330,000 ตันต่อปี ณ เดือนมิถุนายน 2564
มุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพในการทำกำไรให้มากขึ้น
บริษัทได้ดำเนินตามกลยุทธ์การปรับปรุงคุณภาพในการทำกำไรจากสินทรัพย์หลังจากที่บริษัทได้ซื้อกิจการจำนวนมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยกลยุทธ์ดังกล่าวมุ่งเน้นที่จะเพิ่มการใช้กำลังการผลิตและเพิ่มเสถียรภาพในการผลิตของแต่ละโรงงาน ตลอดจนการบริหารจัดการระดับสินค้าคงคลังให้เหมาะสมโดยผ่านการบริหารห่วงโซ่อุปทานไปจนถึงการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมถึงใช้ประโยชน์จากเครือข่ายการตลาดที่มีอยู่ทั่วโลกในการจัดจำหน่าย ในการนี้ บริษัทมีแผนจะใช้งบลงทุนประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ เพื่อดำเนินการตามกลยุทธ์ดังกล่าว (โครงการ Olympus) ในระหว่างปี 2563-2566 โดยบริษัทคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนกลับมาที่ประมาณ 610 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีภายในปี 2566 ซึ่งในปี 2563 นั้น บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 92 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากโครงการนี้
กระแสเงินสดจะเพิ่มขึ้นในปี 2565-2566
ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5.4-5.6 หมื่นล้านบาทในปี 2564 จากประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาทในปี 2563 ซึ่งสะท้อนถึงกำไรของกลุ่มผลิตภัณฑ์ Combined PET ที่อยู่ในระดับสูงและกำไรจากสินค้าคงคลังในช่วงครึ่งแรกของปี 2564
ทริสเรทติ้งมองว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับลดลงกลับคืนสู่ระดับปกติตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เป็นต้นไปซึ่งจะทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายหลักต่อตันของการผลิตโดยรวมของบริษัทลดลงมาอยู่ในช่วงประมาณ 106-111 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับปี 2564 จาก 116 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะไม่มีผลขาดทุนจากสินค้าคงคลังในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจึงคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับราว ๆ 3.5-4 เท่าภายในสิ้นปี 2564
สำหรับในระหว่างปี 2565-2566 นั้น ทริสเรทติ้งเชื่อว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายหลักต่อตันของบริษัทจะลดลงจากระดับที่สูงในปัจจุบัน แต่บริษัทจะได้รับประโยชน์จากการรวมกิจการของ Oxiteno เข้ามาในปี 2565 ทั้งนี้ การรวมกิจการดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายให้แก่บริษัทที่ประมาณ 140-190 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี โดยทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายหลักต่อตันของบริษัทจะอยู่ในช่วง 106-111 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งรวมสินทรัพย์ของ Oxiteno แล้ว ในขณะที่ผลผลิตของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 15-17 ล้านตันต่อปีในช่วงปี 2565-2566 จากประมาณ 15 ล้านตันในปี 2564 และเมื่อพิจารณาจากโครงการ Olympus แล้ว ทริสเรทติ้งมีมุมมองที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมว่าบริษัทจะมีกำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 250-350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากโครงการนี้ในช่วงปี 2565-2566 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นที่ระดับ 5.8-6.4 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566 โดยคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นชั่วคราวเกินกว่า 4 เท่าในปี 2565 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 3-4 เท่าในปีถัด ๆ ไป
มีสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้เงินกู้ที่จะครบกำหนดในระยะ 12 เดือนข้างหน้าซึ่งบริษัทมีเงินกู้ยืมระยะยาวและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระรวมทั้งสิ้นประมาณ 2 หมื่นล้านบาท บริษัทสามารถชำระคืนหนี้เงินกู้จำนวนนี้ได้โดยใช้เงินสดที่มีอยู่ในมือจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 และเงินทุนจากการดำเนินงานในระยะ 12 เดือนข้างหน้าที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ยืมระยะสั้นที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 6.1 หมื่นล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2564 ด้วย
โครงสร้างหนี้
ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีภาระหนี้รวมที่จำนวน 2.2 แสนล้านบาท (รวมหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน) โดยหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนของบริษัทประกอบด้วยหนี้ที่มีหลักประกันจำนวน 2 หมื่นล้านบาทและหนี้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันอีกจำนวน 5.9 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นหนี้ของบริษัทย่อยของบริษัท ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้ทั้งหมดของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 36% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายหลักต่อตันจะอยู่ระหว่าง 106-111 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปี 2564-2566
? ผลประโยชน์ที่จะรับรู้จากโครงการ Olympus จะอยู่ที่ประมาณ 250-350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในช่วงปี 2565-2566
? ผลผลิตรวมจะอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านตันในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 15-17 ล้านตันต่อปีในระหว่างปี 2565-2566
? เงินลงทุนซื้อกิจการของ Oxiteno ในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2565 จะมีมูลค่าประมาณ 3.5-3.6 หมื่นล้านบาท
? งบลงทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2564-2566
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถพลิกผลการดำเนินงานกลับมาได้อย่างมีนัยสำคัญในช่วงปี 2564-2565 ตามการฟื้นตัวที่เข้มแข็งของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทจากการกระจายธุรกิจและการบูรณาการ รวมถึงการเพิ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงเข้ามาในผลิตภัณฑ์ของบริษัท คาดว่าจะช่วยให้บริษัทสามารถรับมือกับความผันผวนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอนุพันธ์ไปได้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะยังคงรักษาระดับอยู่ในช่วง 3-4 เท่าได้ในระยะปานกลาง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นนั้นยังมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าอันเนื่องมาจากการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้น ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้อย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจเกิดจากการมีกำไรที่น้อยกว่าที่คาดไว้หรือการซื้อกิจการมูลค่าสูงด้วยการก่อหนี้ที่มากกว่าที่คาดการณ์
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid Securities), 28 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) (IVL)
อันดับเครดิตองค์กร: AA-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
IVL21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 37 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA-
IVL21OB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,163 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA-
IVL21OC: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA-
IVL224A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,250.5 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA-
IVL224B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,649.5 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA-
IVL225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA-
IVL22DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,645 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA-
IVL236A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA-
IVL236B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA-
IVL243A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA-
IVL245A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA-
IVL24NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA-
IVL24DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,475 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA-
IVL256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA-
IVL25NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA-
IVL25DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,150 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA-
IVL26OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA-
IVL275A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA-
IVL27NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA-
IVL27NB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,990 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA-
IVL286A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 AA-
IVL28OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 AA-
IVL295A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 AA-
IVL306A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 AA-
IVL30NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,010 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 AA-
IVL31OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 AA-
IVL32NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 AA-
IVL336A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2576 AA-
IVL19PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 15,000 ล้านบาท A
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาท และหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe)
ในวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 12 ปี AA-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable