ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท โรงพยาบาล บำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนความเป็นผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนระดับพรีเมี่ยมในประเทศไทยและชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักอย่างดีทั้งในกลุ่มผู้ป่วยภายในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทจากการมีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับต่ำและสภาพคล่องที่เพียงพออีกด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทพึ่งพารายได้หลักจากผู้ป่วยต่างชาติซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และจากการที่บริษัทมีโรงพยาบาลหลักเพียงแห่งเดียว
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลการดำเนินงานได้รับผลกระทบจากการลดลงอย่างมากของผู้ป่วยต่างชาติ
มาตรการควบคุมการเข้าประเทศที่เข้มงวดและการกักกันโรคสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยลดลง ทั้งนี้ ในปี 2563 รายได้รวมของผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) ลดลงประมาณ 12% จากปี 2562 อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ป่วยต่างชาตินั้นมีรายได้ที่หดตัวมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญถึง 15%-35% จากปีก่อน
โดยปกติแล้วสัดส่วนรายได้รวมของบริษัทนั้นมาจากผู้ป่วยต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 65% การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมทั้งการจำกัดการเดินทางและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพส่งผลทำให้จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ในปี 2563 ลดลงถึง 45% จากปี 2562 และทำให้รายได้รวมของบริษัทลดลงประมาณ 33%
บริษัทมีความพยายามที่จะเพิ่มรายได้จากผู้ป่วยชาวไทยและผู้ป่วยต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยให้มากขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ใช้บริการของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ในการกักตัวเพื่อสังเกตอาการและเข้ารับการรักษา (Alternative Hospital Quarantine ? AHQ) และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ใช้บริการกักตัวเพื่อสังเกตอาการ (Alternative State Quarantine ? ASQ) ของโรงพยาบาลฯ ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้จากบริการด้านสุขภาพในส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 18% ของรายได้จากการให้บริการทางการแพทย์รวมสุทธิของบริษัท โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 5% ในปี 2563 ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยนอก (Outpatient) ในกลุ่มผู้ป่วยภายในประเทศและการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยใน (Inpatient) ภายใต้ระบบการกักตัวเพื่อสังเกตอาการช่วยชดเชยการลดลงอย่างมากของผู้ป่วยต่างชาติได้บางส่วน
ทริสเรทติ้งคาดว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอาจจะยืดเยื้อออกไปและมีแนวโน้มที่จะยาวนานกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ในครั้งก่อน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 หลังจากประเทศต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้แก่พลเมือง ด้วยสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของประเทศไทยในเรื่องคุณภาพการให้บริการด้านการแพทย์ ตลอดจนทำเลที่ตั้งที่สะดวก และราคาที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าผู้ป่วยต่างชาติจำนวนมากยังคงต้องการเข้ามารับบริการด้านการแพทย์ในประเทศไทยเช่นเดิม โดยทริสเรทติ้งคาดว่าจำนวนผู้ป่วยต่างชาติจะกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับในช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดได้ภายในปี 2566
ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 และคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะเติบโตเพิ่มขึ้นที่ระดับ 15%-20% ต่อปีในช่วงหลายปีข้างหน้า
การเพิ่มขึ้นของรายได้จากผู้ป่วยภายในประเทศช่วยบรรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด 19
แม้จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 จะเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย แต่บริษัทก็มีรายได้จากผู้ป่วยคนไทยที่ยังคงเติบโตในปี 2564 ต่อเนื่องจนถึงช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 โดยก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นั้น สัดส่วนรายได้ของบริษัทที่มาจากผู้ป่วยคนไทยคิดเป็นประมาณ 35% ของรายได้รวม ในขณะที่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หลายระลอกนั้น บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยคนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 51% ของรายได้จากการให้บริการด้านสุขภาพรวมในปี 2563 และอยู่ที่ระดับประมาณ 56% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564
บริษัทได้มุ่งให้ความสำคัญกับผู้ป่วยภายในประเทศรายใหม่ทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยให้มากขึ้นโดยผ่านการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด การรณรงค์ส่งเสริมการขาย การให้ส่วนลดค่าห้อง และการใช้ช่องทางการติดต่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (Omni-channel) เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าเป้าหมาย นอกจากนี้ บริษัทยังใช้เครื่องมือที่ใช้สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (Loyalty Program) เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเก่ากลับมาใช้บริการอีก ส่งผลให้รายได้จากผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 6% ในปี 2563 และเพิ่มขึ้นอย่างมากถึงประมาณ 20% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทริสเรทติ้งคาดว่าจำนวนผู้ป่วยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อไปในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากผลงานทางการแพทย์ที่เป็นที่ยอมรับมานานและเชื่อถือได้ของบริษัท ตลอดจนคุณภาพการให้บริการที่อยู่ในระดับสูง และค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสม นอกจากนี้ การเติบโตของรายได้น่าจะมาจากการให้บริการทางการแพทย์ใหม่ ๆ ตลอดจนการให้บริการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และบริการด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Care) อีกด้วย
มีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนระดับพรีเมี่ยม
บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งโดยเป็นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำระดับพรีเมี่ยมในประเทศไทย บริษัทมีกลุ่มลูกค้าเป็นผู้ป่วยต่างชาติและผู้ป่วยชาวไทยที่มีรายได้สูงเป็นส่วนใหญ่และแข่งขันโดยสร้างความแตกต่างด้วยการให้บริการรักษาโรคที่มีความซับซ้อน บริษัทเป็นโรงพยาบาลเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทยเมื่อพิจารณาในแง่ของความสามารถในการให้บริการผู้ป่วยต่างชาติในตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ระดับโลกโดยให้บริการระดับตติยภูมิและการรักษาเฉพาะทางแก่ผู้ป่วยต่างชาติจำนวนประมาณ 600,000 รายต่อปีและมีสัดส่วนรายได้คิดเป็นประมาณ 65% ของรายได้จากบริการทางการแพทย์รวมของบริษัท ซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขันของบริษัทในกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์นั้นสะท้อนถึงความเชี่ยวชาญและชื่อเสียงของบริษัทในอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเอกชนตลอดจนการมีเครือข่ายทางการตลาดในต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ในส่วนของรายได้นั้น ในปี 2563 บริษัทมีรายได้จากการรักษาพยาบาลจำนวนทั้งสิ้น 1.23 หมื่นล้านบาทซึ่งจัดอยู่ในอันดับที่สองของกลุ่มผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนใน ต.ล.ท.
ในอนาคต ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าบริษัทน่าจะยังคงสามารถรักษาสถานะทางการตลาดและความได้เปรียบทางการแข่งขันในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในกลุ่มผู้มีรายได้สูงต่อไปได้โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเครื่องหมายการค้าที่แข็งแกร่งของโรงพยาบาลและผลงานทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือ บริษัทให้บริการทางการแพทย์มายาวนานกว่า 4 ทศวรรษและมีชื่อเสียงในด้านการให้การรักษาพยาบาลในขั้นสูงกว่าระดับตติยภูมิและการรักษาเฉพาะทาง บริษัทมีการลงทุนในด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงอย่างต่อเนื่องและยังคงให้บริการด้วยคุณภาพระดับสูงพร้อมกับมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีทักษะเชี่ยวชาญซึ่งทำให้บริษัทสามารถให้บริการทางการแพทย์ที่มีความซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถขยายฐานรายได้และเพิ่มความสามารถในการทำกำไรได้มากยิ่งขึ้นในระยะปานกลางเมื่อการเดินทางระหว่างประเทศฟื้นกลับมาและมาตรการกักตัวสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศมีการผ่อนคลายมากขึ้น
ความเสี่ยงจากการมีโรงพยาบาลหลักเพียงแห่งเดียว
สถานะเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดจากการมีความเสี่ยงในเรื่องการมีโรงพยาบาลหลักเพียงแห่งเดียว ซึ่งรายได้เกือบทั้งหมดของบริษัทมาจากโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 3 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากอัตราเฉลี่ยของความสามารถในการให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาลหลักของบริษัทแล้ว อัตราการใช้เตียงในปี 2563 ของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 50% โดยจำนวนเตียงคงเหลือที่โรงพยาบาลหลักนั้นคาดว่าจะยังสามารถรองรับปริมาณผู้ป่วยที่จะเพิ่มขึ้นได้ในช่วงระยะปานกลาง
บริษัทวางแผนในการปรับปรุงพื้นที่ในบางชั้นของอาคารหลักเพื่อให้เป็นพื้นที่ให้บริการทางการแพทย์และเพิ่มคลินิกพิเศษใหม่ ๆ เข้ามา ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีการยกระดับและปรับปรุงบริการรวมทั้งอุปกรณ์อย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทสามารถรองรับผู้ป่วยนอกที่จะเข้ามาใช้บริการที่โรงพยาบาลหลักได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังจะเพิ่มหอผู้ป่วยที่ให้การดูแลผู้ป่วยวิกฤต (Intensive Care Unit -- ICU Ward) ขนาด 12 เตียงและทำการปรับปรุงหอผู้ป่วยในเพื่อรองรับการเข้าพักรักษาตัวของผู้ป่วยในโรงพยาบาลอีกด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนขยายพื้นที่ให้บริการไปยังบริเวณซอยสุขุมวิท 1 เพื่อลดความแออัดในพื้นที่โรงพยาบาลหลักอีกด้วยเช่นกัน ซึ่งโครงการบนถนนสุขุมวิท ซอย 1 นั้นบริษัทจะพัฒนาเป็นอาคาร 3 หลังโดยอาคารแรกจะใช้เป็นที่จอดรถ อาคารที่ 2 จะเป็นสำนักงาน และอาคารที่ 3 จะเป็นคลินิกผู้ป่วยนอก ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้เริ่มการก่อสร้างในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566
บริษัทให้บริการด้านเวชศาสตร์ป้องกันและการรักษาสุขภาพแบบบูรณาการภายใต้ชื่อ ?ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์? (VitalLife) ที่โรงพยาบาลหลัก โดยบริษัทได้ร่วมกับหุ้นส่วนทางธุรกิจขยายการให้บริการส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ไปยังศูนย์ที่ตำบลบางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งบริษัทใช้งบประมาณลงทุนด้านเครื่องมือจำนวนประมาณ 300 ล้านบาทสำหรับโครงการนี้ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ได้เปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยให้บริการดูแลสุขภาพแบบบูรณาการ รวมถึงโปรแกรมสุขภาพส่วนบุคคล ตลอดจนการส่งเสริมการป้องกันโรคและการปรับวิถีชีวิต
งบประมาณค่าใช้จ่ายในการลงทุนของบริษัทในช่วงระหว่างปี 2564-2567 คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้นเกือบ 9 พันล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวรวมการลงทุนในโครงการบนถนนสุขุมวิท ซอย 1 จำนวน 1.9 พันล้านบาทและโครงการขยายพื้นที่ในอาคารอื่น ๆ ในโรงพยาบาลหลักในระหว่างปี 2564-2567 อีกจำนวน 2.2 พันล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงทั่วไปตามแผนซึ่งรวมถึงค่าบำรุงรักษาด้านเทคโนโลยีและอื่น ๆ นั้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณปีละ 1-1.4 พันล้านบาท
คาดว่าการทำกำไรจะปรับตัวดีขึ้นใน 1-2 ปีข้างหน้า
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้รับแรงกดดันจากการลดลงของผู้ป่วยต่างชาติในช่วงปี 2563-2564 ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ป่วยต่างชาติเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลด้วยโรคที่มีความซับซ้อนและเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง ซึ่งรายได้จากการดูแลรักษาเฉพาะทางสำหรับผู้ป่วยต่างชาติที่เป็นโรคที่มีความรุนแรงนั้นสูงกว่าผู้ป่วยชาวไทย
บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 2.7 พันล้านบาทในปี 2563 ซึ่งลดลงประมาณครึ่งหนึ่งจากปี 2562 และอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 โดยบริษัทมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 22% ในปี 2563 และ 18% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ซึ่งลดลงจากระดับ 30% ในอดีตเนื่องจากรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติที่ลดลง
บริษัทได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย ลดค่าใช้จ่ายในการขาย บริหารค่าใช้จ่ายบุคลากร รวมทั้งเลื่อนการลงทุนหลัก ๆ ออกไปเพื่อลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 18% ในปี 2564 และจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับ 22%-31% ในช่วงปี 2565-2567 โดยความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นจะมีปัจจัยขับเคลื่อนที่มาจากจำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น การเพิ่มขึ้นของรายได้จากผู้ป่วยภายในประเทศ รวมถึงรายได้จากการให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทางและการรักษาในระดับสูงกว่าขั้นตติยภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น
งบการเงินที่มีหนี้สินอยู่ในระดับต่ำและมีสถานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง
ระดับหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่จำนวน 2.8 พันล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 2.5 พันล้านบาทและหุ้นกู้แปลงสภาพจำนวน 0.3 พันล้านบาท ภาระหนี้ของบริษัทนั้นจะลดลงอย่างมากในปีนี้หลังจากการจ่ายชำระหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือนธันวาคม 2564 นี้ ในขณะที่โครงสร้างเงินทุนของบริษัทนั้นยังคงแข็งแกร่งโดยมีฐานทุนที่จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2564
บริษัทมีสถานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดย ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดรวมทั้งสิ้นประมาณ 8 พันล้านบาทรวมถึงยังมีวงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 3.3 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ประมาณ 1.8-2.4 พันล้านบาทในช่วงเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ความต้องการในการใช้เงินทุนหลัก ๆ ของบริษัทคือการลงทุนและการจ่ายคืนหนี้ โดยบริษัทวางแผนการลงทุนที่จำนวนเกือบ 2 พันล้านบาทในปี 2564 และมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วงเดียวกันที่จำนวน 2.5 พันล้านบาท ในการนี้ ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนเพียงพอที่จะรองรับการลงทุนตามแผนรวมทั้งใช้ในการจ่ายคืนหนี้ที่จะครบกำหนดชำระและจ่ายเงินปันผลในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งโดยมีสภาพคล่องที่เพียงพอและมีความต้องการในการกู้ยืมเพียงเล็กน้อยในช่วง 3 ปีข้างหน้า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้ของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และจะฟื้นตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.2-1.7 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 18% ในปี 2564 และจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 22%-31% ในช่วงปี 2565-2567
? เงินลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 9 พันล้านบาทในช่วงปี 2564-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนสำหรับผู้ป่วยที่มีรายได้สูงและจะยังคงรักษางบการเงินให้แข็งแกร่งพร้อมทั้งมีสภาพคล่องที่เพียงพอเอาไว้ได้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในระหว่างปี 2565-2566
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่สถานะทางธุรกิจของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจเกิดจากการสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างมากหรือการฟื้นตัวของจำนวนผู้ป่วยต่างชาติมีความล่าช้าออกไปอย่างมาก ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทประสบความสำเร็จในการเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจโดยลดการพึ่งพารายได้จากผู้ป่วยต่างชาติลงและลดการกระจุกตัวของรายได้จากโรงพยาบาลหลักเพียงแห่งเดียวในขณะที่ยังคงสามารถรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) (BH)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BH21DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable