ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว
โรงไฟฟ้าเกือบทั้งหมดของบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 21 แห่งทั่วประเทศโดยมีกำลังการผลิตรวม 247.7 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ กำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 12 แห่งคิดเป็น 47% ของกำลังการผลิตรวมของบริษัท ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงคิดเป็น 46% ส่วนที่เหลืออีก 7% เป็นกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ (Waste-to-Energy -- WTE) 2 แห่ง โครงการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา 5 แห่ง และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ลอยน้ำอีก 1 แห่ง
สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทได้รับค่าไฟฟ้าแบบคงที่ในอัตรา 2.39 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) และค่าไฟฟ้าแบบแปรผันในอัตรา 1.85 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงซึ่งจะปรับค่าไฟฟ้าตามอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ยังมีส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าพิเศษที่จำนวน 0.3 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงในช่วง 8 ปีแรกอีกด้วย
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 25 ปีกับ กฟผ. ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กโดยมีกำลังการผลิตตามสัญญาที่ขนาด 90 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขของสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามาตรฐานสำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมนั้น กฟผ. ตกลงที่จะเรียกจ่ายไฟฟ้าอย่างน้อยที่ระดับ 80% ของกำลังการผลิตตามสัญญาโดยขึ้นอยู่กับชั่วโมงการทำงานของโรงไฟฟ้า สัญญาดังกล่าวเป็นแบบ Take-or-Pay ซึ่งทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดที่แน่นอน นอกจากนี้ สัญญายังประกอบด้วยสูตรที่รวมการปรับปรุงตามการเปลี่ยนแปลงราคาเชื้อเพลิงและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันและความผันผวนของค่าเงินได้อีกด้วย
การลดความเสี่ยงในการจัดหาวัตถุดิบ
โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัทใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในการผลิตไฟฟ้าซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีความผันผวนในด้านอุปทานและราคาของวัตถุดิบ ความเสี่ยงดังกล่าวลดลงได้จากการมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจสวนยูคาลิปตัสและไม้สับ (Wood Chips)
โรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบและยังได้รับการออกแบบให้สามารถใช้วัตถุดิบได้หลากหลายประเภท เช่น ไม้สับ เปลือกไม้ และเศษวัสดุเหลือใช้จากผลผลิตทางการเกษตร ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้นทุนเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเป็น 1.26 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงในปี 2563 จาก 1.54 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงในปี 2561
โรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทมีสัญญาจัดหาเชื้อเพลิงระยะยาวกับบริษัทที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความมั่นใจว่าโรงไฟฟ้าจะมีเชื้อเพลิงไม้สับและเปลือกไม้ยูคาลิปตัสอย่างเพียงพอและพร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา
มีผลการดำเนินงานที่สม่ำเสมอ
โรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทมีผลการดำเนินงานที่สม่ำเสมอมาโดยตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ค่าดัชนีความพร้อมโดยเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าอยู่ที่ระดับ 92%-95% และมีอัตราความสามารถในการผลิตในช่วงปี 2561-2563 เกินระดับ 90% ของกำลังการผลิตเต็มจำนวน ในขณะที่ค่าดัชนีการหยุดซ่อมฉุกเฉินโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.2%-4.4% ในช่วงเวลาเดียวกัน
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามาตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินงานในปี 2560 โดยมีค่าดัชนีความพร้อมอยู่ที่ระดับ 90%-99% และมีอัตราการหยุดซ่อมนอกแผนในระดับต่ำ ส่วนอัตราค่าความร้อนนั้นอยู่ที่ระหว่าง 7,441-7,693 บีทียูต่อหน่วยซึ่งดีกว่าเกณฑ์ที่ 7,950 บีทียูต่อหน่วยที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่จำนวน 1.2 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอันเนื่องมาจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อโรงไฟฟ้าใหม่จำนวน 3 แห่ง
กำลังการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าภายในปี 2568
ตามแผนการลงทุนชองบริษัท กำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 528.4 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 โดยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจาก 247.7 เมกะวัตต์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจำนวน 35 โครงการซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล 15 แห่ง โรงไฟฟ้าขยะ 2 แห่ง และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 18 แห่งซึ่งอยู่ภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจท้องถิ่น (โครงการนำร่อง)
ในช่วงปี 2561-2563 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1.6-2 พันล้านบาทต่อปี ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะแกว่งตัวอยู่ในช่วง 2.3-3.9 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2564-2567 เมื่อโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ต่าง ๆ เริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์
ระดับหนี้เพิ่มขึ้นในช่วงขยายกำลังการผลิต
ระดับหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีต่อจากนี้ โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะต้องใช้เงินลงทุน 2.1 หมื่นล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ในช่วงระหว่างปี 2564-2567 ซึ่งที่มาของเงินลงทุนคาดว่าจะมาจากการก่อหนี้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ หนี้สินรวมของบริษัทคาดว่าจะถึงจุดสูงสุดที่ระดับ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาทในปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับ 3.7 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 45%-50% ในระหว่างปี 2565-2567 จากระดับ 21% ณ สิ้นปี 2563
ระดับภาระหนี้เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดจะเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาของการขยายกำลังการผลิตด้วยเช่นกัน โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ระดับ 6.1 เท่าในปี 2565 ก่อนที่จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นจนถึงระดับที่ต่ำกว่า 5 เท่าในระหว่างปี 2566-2567 เมื่อโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งหลายทยอยเปิดดำเนินงานในระหว่างปี 2565-2567
มีสภาพคล่องที่เพียงพอ
โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัทได้รับการอนุมัติเงินกู้โครงการระยะยาวแล้ว โดยทั้งบริษัทและบริษัทย่อยสามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับเงินกู้ยืมจากธนาคาร ทริสเรทติ้งถือว่าสภาพคล่องของบริษัทนั้นมีเพียงพอ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีภาระหนี้จำนวน 620 ล้านบาทที่จะถึงกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้า ในขณะเดียวกัน บริษัทมีเงินสดในมือจำนวน 619 ล้านบาทและคาดว่าจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ประมาณ 2.3 พันล้านบาทในปี 2564
โครงสร้างเงินทุน
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีหนี้เงินกู้จำนวน 4.8 พันล้านบาทซึ่งไม่รวมสัญญาเช่าทางการเงิน โดยหนี้ทั้งหมดเป็นหนี้ของบริษัทย่อยซึ่งถือเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้รวมจึงอยู่ที่ 100% เนื่องจากอัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้ทั้งหมดนั้นมีมากกว่า 50% ตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิต ทริสเรทติ้งจึงมองว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทจะเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญในเรื่องของสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์ของบริษัท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? กำลังการผลิตติดตั้ง 247.7 เมกะวัตต์ในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 509 เมกะวัตต์ในปี 2567
? ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2564-2567
? ในระหว่างปี 2564-2567 รายได้จะอยู่ในช่วงระหว่าง 5.7 พันล้านบาทถึง 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วนประมาณการกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่จำนวน 2.3-3.9 พันล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่ราบรื่นและสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ในขณะที่คาดว่าโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของบริษัทจะสามารถเปิดดำเนินงานได้ตามแผน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้มากกว่าที่ประมาณการไว้อย่างมีนัยสำคัญและสามารถลดระดับภาระหนี้เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดได้อย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลง หากสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงเป็นอย่างมากซึ่งอาจเกิดจากความล่าช้าหรือการมีค่าใช้จ่ายที่บานปลายของ การพัฒนาโครงการใหม่ ๆ หรือการที่บริษัทมีโครงสร้างเงินทุนที่อ่อนแอลง จากการลงทุนที่มีการก่อหนี้จำนวนมาก
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) (ACE)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable