ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A? พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความหลากหลายของแหล่งที่มาของผลกำไรของบริษัท ภาระหนี้สินทางการเงินที่อยู่ในระดับต่ำ และสถานะด้านความเสี่ยงที่อยู่ในระดับดี นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทย่อยที่สำคัญของบริษัทในธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
แหล่งที่มาของผลกำไรมีความหลากหลาย
การประเมินสถานะทางธุรกิจของบริษัทสะท้อนถึงแหล่งที่มาของกำไรที่หลากหลายซึ่งครอบคลุมถึงธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจด้านการเงินอื่น ๆ อันประกอบด้วยธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจสินเชื่อที่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกัน ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ธุรกิจประกัน และธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เป็นต้น บริษัทมีบริษัทย่อยที่สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) สำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์นั้น บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้น 22% ในธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ในประเทศไทย บริษัทยังได้จัดตั้งบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดเพื่อดำเนินธุรกิจสินเชื่อที่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกันอีก 1 แห่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 โดยใช้ชื่อว่า บริษัท ธนชาต พลัส จำกัด อีกด้วย โดยบริษัทดังกล่าวเน้นให้บริการสินเชื่อแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises -- SMEs) ซึ่งมีที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันเป็นหลัก
นอกจากบริษัทจะมีโครงสร้างธุรกิจที่มีความหลากหลายแล้ว ยังมีหลักฐานของความร่วมมือทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นระหว่างบริษัทย่อยที่สำคัญของบริษัทอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยของบริษัทธนชาตประกันภัยให้แก่ลูกค้าของบริษัทราชธานีลิสซิ่ง และธนาคารทหารไทยธนชาต เป็นต้น
มีความเชี่ยวชาญในด้านการให้สินเชื่อเพื่อสนับสนุนธุรกิจใหม่
ทริสเรทติ้งมองว่าการจัดตั้งบริษัทธนชาต พลัส เป็นพัฒนาการในเชิงบวกเนื่องจากทริสเรทติ้งเชื่อว่าจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สถานะทางธุรกิจโดยรวมของบริษัทในระยะยาว ทริสเรทติ้งยังตระหนักถึงความเชี่ยวชาญที่มีมาอย่างยาวนานของผู้บริหารในธุรกิจสินเชื่อซึ่งน่าจะช่วยลดความเสี่ยงด้านเครดิตให้แก่บริษัทได้ ซึ่งในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าธุรกิจใหม่นี้จะช่วยให้บริษัทนำสภาพคล่องส่วนเกินมาใช้ได้ดีขึ้นด้วยการสร้างผลตอบแทนหลังการปรับความเสี่ยงโดยเฉลี่ยแล้วในระดับที่สูงขึ้น นับตั้งแต่การก่อตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 พอร์ตสินเชื่อของบริษัทธนชาต พลัส ก็มีมูลค่าถึงประมาณ 1 พันล้านบาทแล้วและยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องโดยได้รับแรงหนุนจากนโยบายการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดของธนาคารพาณิชย์สำหรับกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ภาระหนี้สินทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ
บริษัทมีระดับภาระหนี้สินทางการเงินอยู่ในระดับต่ำโดยวัดจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ซึ่งยังคงเป็นหนึ่งในจุดแข็งด้านเครดิตที่สำคัญของบริษัท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 0.94 เท่าโดยเทียบกับระดับ 0.93 เท่า ณ สิ้นปี 2563 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับภาระหนี้สินทางการเงินภายใต้งบการเงินรวมให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.50 เท่าต่อไปได้โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งที่คาดการณ์ว่าหุ้นกู้คงค้างของบริษัททั้งหมดจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1.1-1.3 หมื่นล้านบาทในช่วง 2 ปีข้างหน้าและนโยบายการจ่ายเงินปันผลจะยังคงเป็นอัตราแบบก้าวหน้า (Progressive Dividend Payout Policy) ต่อไป
ความหลากหลายเป็นปัจจัยสนับสนุนผลกำไร
ถึงแม้ว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจจะมีความท้าทาย แต่บริษัทยังคงมีผลการดำเนินงานที่มีเสถียรภาพโดยได้รับแรงหนุนจากโครงสร้างธุรกิจที่มีความหลากหลาย ทั้งนี้ ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าธุรกิจต่าง ๆ ของบริษัทไม่ว่าจะเป็นธุรกิจตลาดทุน ลีสซิ่ง และประกันวินาศภัยนั้นยังคงเป็นแหล่งรายได้ที่ดีซึ่งเป็นผลมาจากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจเหล่านี้และการบริหารความเสี่ยงที่มีความรอบคอบ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (ROAA) ตามปกติของบริษัทจะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.5%-4.2% ในระหว่างปี 2564-2565 จากระดับ 3.2% ในปี 2563 ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานที่เศรษฐกิจโดยรวมจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 2 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าสินเชื่อของธนาคารทหารไทยธนชาตและบริษัทราชธานีลิสซิ่งจะค่อย ๆ กลับมาขยายตัวเช่นเดิม นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดการณ์ด้วยว่าต้นทุนทางด้านเครดิตของบริษัทจะลดลงและการควบคุมต้นทุนจะทำได้ดีขึ้นหลังจากที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ได้ทำการควบรวมกันโดยสมบูรณ์แล้ว ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทธนชาตประกันภัยจะมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่ดีถึงแม้ว่าจะได้รับแรงกดดันในเรื่องต้นทุนจากการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้า
สถานะด้านความเสี่ยงยังคงอยู่ในระดับที่ดี
ทริสเรทติ้งมองว่าวิถีขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงที่ระมัดระวังยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนสถานะความเสี่ยงที่อยู่ในระดับเพียงพอของบริษัท ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทั้งธนาคารทหารไทยธนชาตและบริษัทราชธานีลิสซิ่งต่างก็สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเครดิตที่เกิดจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ยืดเยื้อมาได้ ในการนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทย่อยทั้งสองแห่งดังกล่าวได้ผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2564-2564 มาแล้วและมีแนวโน้มที่จะมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้นในปี 2565 จากการที่ภาวะเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาตามลำดับ สำหรับ บล. ธนชาตนั้น ความสามารถในการจัดการความเสี่ยงจากเงินให้กู้เพื่อซื้อหลักทรัพย์ก็สามารถพิสูจน์ได้จากการไม่มีการสูญเสียด้านเครดิตจากธุรกิจให้กู้เพื่อซื้อหลักทรัพย์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเลย ส่วนบริษัทธนชาตประกันภัยนั้นก็ยังคงใช้กลยุทธ์การเติบโตที่ระมัดระวังโดยหลีกเลี่ยงให้บริการลูกค้าในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนของบริษัทธนชาตประกันภัยอยู่ที่ระดับ 1,313% ซึ่งสูงกว่าระดับขั้นต่ำตามกฎข้อบังคับที่ 120%
สถานะเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาสถานะเงินทุนให้อยู่ในระดับที่เพียงพอได้ต่อไปในช่วง 12 เดือนข้างหน้าโดยทริสเรทติ้งพิจารณาจากค่าเฉลี่ย 5 ปีของอัตราส่วนเงินทุนที่มีเสถียรภาพ (Stable Funding Ratio -- SFR) ของบริษัทซึ่งอยู่ที่ระดับ 125% ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ความต้องการเงินทุนที่มีเสถียรภาพ (Stable Funding Needs -- SFN) ของบริษัทประกอบด้วยเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมในสัดส่วน 63% เงินกู้ยืมในส่วนที่ไม่หมุนเวียน 32% และทรัพย์สินรอการขาย 4% ในขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 67% ของแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพ (Available Stable Funding) ของบริษัท และส่วนที่เหลือประกอบด้วยหุ้นกู้ระยะยาวที่มีอายุครบกำหนดที่มีความหลากหลาย สำหรับในส่วนของบริษัททุนธนชาตเองนั้น แหล่งเงินทุนที่เป็นเงินกู้ระยะสั้นประกอบด้วยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร และในส่วนของแหล่งเงินกู้ระยะยาวนั้น บริษัทมีหุ้นกู้คงค้างอยู่ที่จำนวน 1.07 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 สัดส่วนหนี้ที่มีสิทธิได้รับการชำระคืนก่อน (Priority Debt) เมื่อเทียบกับหนี้สินรวมตามงบการเงินรวมอยู่ที่ระดับ 78% ณ เดือนมิถุนายน 2564 ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้ที่มีสิทธิได้รับการชำระคืนก่อนเมื่อเทียบกับหนี้สินรวมตามงบการเงินรวมที่อยู่ในระดับสูงเกินกว่า 50% นั้นโดยปกติจะทำให้อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันลดทอนลงจากอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท 1 ?ขั้นตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้? ของทริสเรทติ้ง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าเงินลงทุนจำนวนมากของบริษัทในธนาคารทหารไทยธนชาตทำให้โอกาสในการได้รับชำระหนี้คืนของเจ้าหนี้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันมีเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น บริษัทจึงได้รับการยกเว้นในการปรับลดอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัท
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสถานะสภาพคล่องของบริษัทจะอยู่ในระดับที่เพียงพอในอีก 12 เดือนข้างหน้า ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี (ปี 2562-2566) ของอัตราส่วนความครอบคลุมของสภาพคล่อง (Liquidity Coverage Measure -- LCM) ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 170% โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 แหล่งที่มาของสภาพคล่องจำนวนมากของบริษัทประกอบด้วยหลักทรัพย์รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจระยะสั้น ตราสารหนี้ภาคเอกชน และเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารรวมกันอยู่ที่จำนวน 7.1 พันล้านบาท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งซึ่งส่วนหนึ่งได้รับมาจากบริษัทย่อยที่สำคัญของบริษัทสำหรับในช่วง 3 ปีข้างหน้าตั้งแต่ปีบัญชี 2564 จนถึงปีบัญชี 2566 เป็นดังนี้
? รายได้รวม (ไม่รวมรายการพิเศษ) จะเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปที่ระดับประมาณ 10% ต่อปี
? ส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะคิดเป็นประมาณ 30% ของรายได้จากการดำเนินงานทั้งหมด
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมจะอยู่ที่ระดับ 28% โดยเฉลี่ย
? หุ้นกู้คงค้างเฉพาะในส่วนของบริษัทจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1.1-1.3 หมื่นล้านบาท
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาภาระหนี้สินทางการเงินให้อยู่ในระดับต่ำโดยมีการบริหารความเสี่ยงที่เข้มงวดและมีแหล่งที่มาของรายได้ที่กระจายตัวรวมถึงมีสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่อยู่ในเกณฑ์ดี
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ความเป็นไปได้ในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังมีจำกัดในระยะใกล้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากฐานทุนของบริษัทตลอดจนสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) (TCAP)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TCAP22NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
TCAP238A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
TCAP23OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
TCAP258A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable