ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บล. ธนชาต” ที่ “A-” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 15, 2021 18:44 —ทริส เรตติ้ง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัททุนธนชาต

ทริสเรทติ้งประเมินว่า บล. ธนชาตมีฐานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัททุนธนชาต ปัจจุบันบริษัททุนธนชาตถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 50.96% ในขณะที่ Scotia Netherlands B.V. (Scotia) ถือหุ้นในสัดส่วนที่เหลือ ทั้งบริษัททุนธนชาตและ Scotia ต่างก็แต่งตั้งตัวแทนของตนเข้ามาเป็นกรรมการที่ไม่ใช่กรรมการอิสระ (Non-independent Director) จำนวนฝ่ายละ 1 คนจากกรรมการทั้งหมด 4 คน นอกจากนี้ บริษัทยังดำเนินงานภายใต้กรอบการกำกับดูแลของกลุ่มทุนธนชาตเหมือนกับบริษัทลูกอื่น ๆ ของบริษัททุนธนชาตอีกด้วย

ทริสเรทติ้งยังเชื่อด้วยว่าบริษัทมีความสำคัญต่อกลยุทธ์ของกลุ่มในระยะยาวเนื่องจากบริษัทมีบทบาทสำคัญในการเติมเต็มกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจด้านการเงินที่หลากหลายของบริษัททุนธนชาต ทั้งนี้ ธุรกิจทางด้านการเงินที่สำคัญอื่น ๆ ภายใต้บริษัททุนธนชาตประกอบด้วยธุรกิจลีสซิ่ง ธุรกิจประกัน และธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ นอกจากนี้ บริษัทยังสร้างรายได้ในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญให้แก่บริษัททุนธนชาตซึ่งคิดเป็น 17% ของรายได้รวมของบริษัททุนธนชาตในปี 2563 อีกด้วย

ยังคงรักษาตำแหน่งทางการตลาดที่ดีเอาไว้ได้

ส่วนแบ่งทางการตลาดเมื่อพิจารณาจากรายได้ของ บล. ธนชาตในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์นั้นมีแนวโน้มลดลงแต่ก็ยังบ่งชี้ถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจเมื่อเทียบกับบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อื่น ๆ ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง ถึงแม้ว่าส่วนแบ่งรายได้ในปี 2563 ยังคงลดลงเหลือ 4% จากระดับ 4%-5% ในอดีต แต่ทริสเรทติ้งก็เริ่มเห็นถึงความมีเสถียรภาพในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 โดยส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทในช่วงดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 3.7% เมื่อเทียบกับระดับ 3.8% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของสัดส่วนลูกค้าในกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อราคา เนื่องจากการให้ความสำคัญกับความสามารถในการทำกำไรมากกว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของ บล. ธนชาต ทริสเรทติ้งจึงมีความเห็นว่า บล. ธนชาตมีแนวโน้มที่จะสามารถรักษาตำแหน่งทางธุรกิจต่อไปได้เมื่อพิจารณาจากส่วนแบ่งรายได้ในระยะยาว

กลุ่มลูกค้านักลงทุนสถาบันภายในประเทศยังคงเป็นจุดแข็งของ บล. ธนชาต

ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าจุดแข็งของ บล. ธนชาตในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ยังคงอยู่ในกลุ่มนักลงทุนสถาบันภายในประเทศถึงแม้ว่าส่วนแบ่งทางการตลาดจะลดลงตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่มธนชาตก็ตาม ความได้เปรียบทางการแข่งขันของบริษัทยังคงมาจากทีมวิจัยที่มีคุณภาพและฝ่ายขายประสบการณ์สูงที่มีความสามารถ แม้ว่าส่วนแบ่งทางการตลาดในแง่ของปริมาณการซื้อขายในกลุ่มลูกค้านักลงทุนสถาบันภายในประเทศจะลดลงเหลือ 6%-7% ในปี 2563 จนถึงครึ่งแรกของปี 2564 เนื่องจากการลดลงของปริมาณการซื้อขายจากหนึ่งในลูกค้ารายสำคัญของบริษัท เมื่อเทียบกับส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 10%-12% ก่อนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกลุ่ม แต่ตัวเลขดังกล่าวยังคงแสดงสถานะของบริษัทที่เป็น 1 ใน 3 อันดับแรกของบรรดาบริษัทที่จัดอันดับโดยทริสเรทติ้ง

ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา บล. ธนชาตให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการแก่ลูกค้าสถาบัน เพื่อที่จะรักษาปริมาณการซื้อขายที่แข็งแกร่งเอาไว้ ซึ่งส่งผลทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มลูกค้าสถาบันค่อยๆ มีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยรักษาความแข็งแกร่งของบริษัทในกลุ่มลูกค้าสถาบันในระยะยาวต่อไป

การกระจายตัวของรายได้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของ บล. ธนชาตจะค่อย ๆ กระจายตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดกับรายได้เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลงได้ ปัจจุบันรายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์คิดเป็น 68% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ถึงแม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะต่ำกว่า 74% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 แต่การกระจุกตัวของรายได้ยังคงสูงกว่าของคู่แข่งที่มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อยู่ที่ระดับ 53.5% โดยเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ในการนี้ บล. ธนชาตได้ดำเนินกลยุทธ์การสร้างความหลากหลายของรายได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยการขยายไปสู่ธุรกิจที่ไม่ใช่การลงทุนในหลักทรัพย์ด้วยเงินสด ซึ่งได้แก่บริการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน การขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ การให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ และการขายกองทุนรวม จนถึงปัจจุบันความคืบหน้าของธุรกิจเหล่านี้กำลังดำเนินไปได้ด้วยดี ยกตัวอย่างเช่น บริการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนของ บล. ธนชาตผ่านบริการจัดการกองทุนส่วนบุคคลนั้นมีแนวโน้มที่จะเติบโตไปพร้อมกับสินทรัพย์ภายใต้การบริหารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความสามารถด้านการวิจัยและการจัดการการลงทุนของบริษัท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ยอดคงค้างของเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 4.4 พันล้านบาทจาก 3 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าและบริการที่นำเสนอให้แก่ลูกค้า

ความสามารถในการสร้างผลกำไรที่แข็งแกร่งจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนสถานะเงินทุนที่มั่นคง

ทริสเรทติ้งประเมินความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทให้อยู่ในระดับแข็งแกร่งเนื่องจากบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ปรับความเสี่ยงอยู่ในระดับที่มั่นคงโดยมีค่าเฉลี่ย 5 ปีของอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Earnings before Taxes to Risk-weighted Assets -- EBT/RWA) สูงกว่า 4.35% (ปี 2562-2566) ซึ่งในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่มีแนวโน้มที่จะเสริมความแข็งแกร่งและความมั่นคงให้แก่กำไรของ บล. ธนชาตในช่วงระยะ 2-3 ปีข้างหน้าแม้ว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ก็ตาม นอกจากนี้ บล. ธนชาตยังสามารถควบคุมต้นทุนได้เป็นอย่างดีเนื่องจากบริษัทให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีอัตราการทำกำไรสูง (ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจให้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แก่กลุ่มลูกค้านักลงทุนสถาบันและบริการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน) และการบริหารจัดการต้นทุน ทั้งนี้ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 อยู่ที่ระดับ 44.1% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.7% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ทริสเรทติ้งมองว่าความสามารถในการสร้างผลกำไรที่แข็งแกร่งจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุน สถานะเงินทุนที่มั่นคงของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยง (Risk-adjusted Capital Ratio -- RAC) ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของ บล. ธนชาตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 20.1% โดยเฉลี่ย 5 ปี (ปี 2562-2566) เมื่อเทียบกับระดับ 20.7% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ทริสเรทติ้งมองว่าสถานะเงินทุนที่มั่นคงของบริษัทจะเป็นเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งในการรับมือกับความสูญเสียจากการดำเนินงานที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นจากความผันผวนของตลาดได้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Ratio -- NCR) อยู่ที่ระดับ 77% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 7% ที่ทางการกำหนดอีกด้วย

นโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบ

ทริสเรทติ้งคาดว่า บล. ธนชาตจะยังคงนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบต่อไป โดยทริสเรทติ้งเห็นว่านโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบนั้นช่วยทำให้บริษัทมีความเสี่ยงน้อยกว่าคู่แข่งในสภาวะที่ตลาดการเงินมีความผันผวนสูงขึ้นในปัจจุบัน ทริสเรทติ้งเชื่อว่า บล. ธนชาตสามารถจัดการทั้งความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์และความเสี่ยงด้านเครดิตได้อย่างเหมาะสม บริษัทมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ที่ค่อนข้างน้อยเนื่องจากการลงทุนโดยบัญชีของบริษัทเองนั้นใช้กลยุทธ์ที่ไม่ผันผวนไปตามตลาดโดยเน้นที่การป้องกันความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทเสนอขายเท่านั้น ส่วนความเสี่ยงด้านเครดิตนั้นก็อยู่ในระดับปานกลางเช่นกัน โดยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 4.4 พันล้านบาทซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับเพียง 5% ของเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของทั้งอุตสาหกรรม ในขณะที่เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์คงค้างของบริษัทคิดเป็น 1.2 เท่าของส่วนทุน อนึ่ง บริษัทยังคงมีกรอบการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตที่เข้มงวดซึ่งสะท้อนจากการที่บริษัทไม่มีหนี้สูญใด ๆ จากการให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

?

สถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะแหล่งเงินทุนที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินทุนที่มีเสถียรภาพรวม (Gross Stable Funding Ratio -- GSFR) ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 113.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ลดลงจากระดับ 166.1% ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 131.4% โดยเฉลี่ยในช่วง 5 ปี (ปี 2562-2566) โดยทริสเรทติ้งมีมุมมองภายใต้พื้นฐานที่เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทในช่วง 2 ปีข้างหน้าจะยังคงอยู่ในระดับเท่ากับในปัจจุบัน

ทริสเรทติ้งมองว่าสถานะสภาพคล่องของ บล. ธนชาตอยู่ในระดับปานกลาง โดยอัตราส่วนความครอบคลุมสภาพคล่อง (Liquidity Coverage Measure -- LCM) ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.6 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 จากที่ระดับประมาณ 1.7 เท่า ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งการลดลงเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนความครอบคลุมสภาพคล่องจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.78 เท่า ในช่วง 5 ปี (ปี 2562-2566) นอกจากนี้ บริษัททุนธนชาตยังให้การสนับสนุนด้านเงินทุนและสภาพคล่องแก่บริษัทผ่านการให้วงเงินสินเชื่อจำนวน 3 พันล้านบาทโดยวงเงินดังกล่าวจำนวน 90% ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 นั้นบริษัทยังไม่ได้เบิกมาใช้

ผลการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ได้รับอานิสงส์จากมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่แข็งแกร่งขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2564

ตลาดหุ้นของประเทศไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เป็นต้นมาโดยเป็นผลจากมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยรายวันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในปี 2563 จนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ส่งผลให้บริษัทหลักทรัพย์ในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งรายงานการเติบโตของรายได้โดยรวมที่ระดับ 50.3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 ผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) รอบใหม่ที่มีต่อบรรยากาศของตลาดและมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์นั้นถือว่ามีจำกัด โดยมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยรายวันยังคงแข็งแกร่งที่ระดับ 9.7 หมื่นล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับระดับ 6.5 หมื่นล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 ส่วนดัชนีราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ยังคงอยู่ในระดับสูงโดยได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวซึ่งมีปัจจัยกระตุ้นจากการเร่งฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2564-2566 มีดังนี้

? ส่วนแบ่งทางการตลาดของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์จะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.5%

? อัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.12%-0.13%

? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิจะอยู่ที่ระดับประมาณ 44%-50%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาด เช่น ส่วนแบ่งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งให้คงอยู่ต่อไป นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนความคาดหวังของ ทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงซึ่งเป็นมาตรวัดความแข็งแรงของฐานทุนให้อยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 15% ได้ในระยะปานกลางอีกด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

การปรับเพิ่มสถานะเครดิตเฉพาะจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่ออัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 25% อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่บริษัทสามารถรักษาความแข็งแกร่งของส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เอาไว้ได้และมีแหล่งรายได้ที่กระจายตัวมากขึ้น ส่วนการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทนั้นยังไม่น่าเป็นไปได้เว้นแต่ในกรณีที่อันดับเครดิตของบริษัททุนธนชาตได้รับการปรับเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน สถานะเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันหากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทลดต่ำลงเกินกว่าระดับ 15% ยาวนานอย่างน้อย 2 ปีติดต่อกัน หรือบริษัทมีส่วนแบ่งรายได้ในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง หรือบริษัทมีความสามารถในการสร้างผลกำไรซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทยังสามารถเกิดขึ้นได้หากอันดับเครดิตของบริษัททุนธนชาตได้รับการปรับลดลงอีกด้วยเช่นกัน

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564

- Securities Company Rating Methodology, 9 เมษายน 2563

บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) (TNS)

อันดับเครดิตองค์กร: A-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ