ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ในการนี้ อันดับเครดิตได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นจากสถานะเครดิตเฉพาะของบริษัทเพื่อสะท้อนถึงการที่บริษัทมีสถานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งที่ระดับ ?A/Stable? โดยอันดับเครดิตที่ได้รับการยกระดับสะท้อนถึงการที่บริษัทสร้างรายได้และกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งให้แก่บริษัททุนธนชาต ในขณะที่บริษัทได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินจากบริษัททุนธนชาตเช่นกัน
สถานะเครดิตเฉพาะของบริษัทที่ระดับ ?bbb+? สะท้อนถึงความเข้มแข็งของสถานะทางการตลาดของบริษัทในตลาดเฉพาะซึ่งได้แก่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เน้นรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์และรถยนต์หรู นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสามารถในการรักษาสถานะทางการตลาด ตลอดจนการมีฐานทุนที่แข็งแรง และผลประกอบการทางการเงินที่ดีของบริษัทอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวก็ถูกลดทอนลงจากความกังวลในเรื่องสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์และคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทที่เสื่อมถอยลงจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทใน 2-3 ปีข้างหน้า
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
การสนับสนุนที่สม่ำเสมอจากบริษัททุนธนชาต
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัท ทุนธนชาต โดยทริสเรทติ้งเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่บริษัททุนธนชาตจะยังคงดำรงสัดส่วนการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทต่อไปเนื่องจากบริษัทได้กลายมาเป็นผู้สร้างรายได้และกระแสเงินสดหลักให้แก่บริษัททุนธนชาต โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทสร้างกำไรสุทธิคิดเป็น 17% ของกำไรสุทธิของบริษัททุนธนชาต ในด้านการให้การสนับสนุนทางธุรกิจนั้น บริษัททุนธนชาตเป็นผู้กำหนดกลยุทธ์ในภาพรวมของบริษัทซึ่งรวมถึงการบริหารความเสี่ยงโดยผ่านทางตัวแทนที่เป็นคณะกรรมการของบริษัท นอกจากนี้ บริษัททุนธนชาตยังให้การสนับสนุนทางด้านการเงินโดยได้เพิ่มทุนให้แก่บริษัทในเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมาซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ฐานทุนของบริษัทอีกด้วย โดยการเพิ่มทุนนั้นเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจและเป็นทุนสำรองเพื่อรองรับผลขาดทุนที่อาจจะเกิดขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจอ่อนแอ ทั้งนี้ ในระยะยาวนั้น ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนด้านเงินทุนจากบริษัททุนธนชาตต่อไปและบริษัทจะมีบริษัททุนธนชาตเป็นแหล่งพึ่งพาด้านเงินทุนแหล่งสุดท้ายในยามที่จำเป็นด้วยเช่นกัน
สถานะทางการตลาดยังคงเข้มแข็ง
บริษัทยังคงดำรงสถานะเป็นผู้นำทางการตลาดในด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ประเภทรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์เมื่อพิจารณาจากยอดสินเชื่อคงค้าง โดยยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทอยู่ที่ระดับ 4.8 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 ลดลง 7.6% จากสิ้นปีก่อนหน้าซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายขยายตัวที่ชะลอตัวลงของบริษัทอันเนื่องมาจากกลยุทธ์ในการขยายสินเชื่ออย่างระมัดระวังโดยให้ความสำคัญกับคุณภาพสินทรัพย์เป็นพิเศษในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทอยู่ที่ระดับ 4.9 หมื่นล้านบาท
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาสถานะทางการตลาดเอาไว้ได้ตลอดช่วงระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากทริสเรทติ้งเชื่อว่าการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากยอดสินเชื่อหดตัวลงนั้นน่าจะสอดคล้องกับสภาวะอุตสาหกรรมโดยรวม ในการนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่ายอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 3% ในปี 2564 และจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 6% ต่อปีในช่วงปี 2565-2566 โดยมีสินเชื่อรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ในภาคการขนส่งและรถยนต์หรูที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ นอกจากนี้ บริษัทยังจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการในธุรกิจด้านการขนส่งและการก่อสร้างภาครัฐซึ่งมีความอ่อนไหวต่อสภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ค่อนข้างน้อยอีกด้วย
คุณภาพสินทรัพย์อ่อนแอลงแต่ยังอยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้
ถึงแม้ว่าคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทจะถดถอยลงในปี 2563 แต่ทริสเรทติ้งก็คาดหวังว่าบริษัทจะยังคงสามารถบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์จนผ่านพ้นช่วงวงจรที่เศรษฐกิจอ่อนแอนี้ไปได้ โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดขึ้นใหม่ (NPL Formation) ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1.6% ในปี 2563 จาก 0.7% ในปี 2562 ท่ามกลางภาวะแวดล้อมด้านสินเชื่อที่เปราะบางอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ผนวกกับผลจากการตัดหนี้สูญลูกหนี้ที่ศาลพิพาษาแล้ว ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดขึ้นใหม่ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างคงที่ที่ 1.5% (ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปี) และทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะคงอยู่ที่ระดับนี้ต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 และจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.25% ในระหว่างปี 2565-2566 โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ กลับมาฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในระยะ 2 ปีข้างหน้า ส่วนค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้นน่าจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 1.1%-1.5% ในระหว่างปี 2564-2566 ทั้งนี้ จากการที่บริษัทมีเกณฑ์ในการอนุมัติสินเชื่อที่ระมัดระวัง ตลอดจนกระบวนการติดตามหนี้ที่ได้รับการปรับปรุงพัฒนา และการตั้งสำรองหนี้สูญที่เพียงพอ บริษัทจึงน่าจะยังคงสามารถบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอได้ เมื่อพิจารณาจากนโยบายในการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของบริษัทภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลงในปี 2564 แล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 85% ในระยะเวลาอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนดังกล่าว ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ระดับ 77%
คาดว่าความสามารถในการทำกำไรจะอยู่ในระดับปานกลาง
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาความสามารถในการทำกำไรในระดับปานกลางนี้ต่อไปได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าด้วยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยนั้นอยู่ในระดับปานกลางที่ 4.6% ในปี 2563 และ 4.4% (ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 854 ล้านบาทซึ่งลดลง 6% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยสาเหตุหลักมาจากการมีค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มขึ้นและสินเชื่อคงค้างที่หดตัวลง
ทริสเรทติ้งประเมินว่าอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยของบริษัทในช่วงปี 2564-2566 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 4.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะคงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายไว้ที่ระดับ 4.3%-4.5% ในขณะที่คงอัตราค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นให้อยู่ในระดับ 1.1%-1.5% และควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้ต่ำกว่าระดับ 14% ของรายได้รวมในช่วงปี 2564-2566 เอาไว้ได้ ทั้งนี้ นโยบายในการรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายนั้นน่าจะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ต่อไปถึงแม้ว่าการแข่งขันที่รุนแรงอาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยรับลดลงก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า อัตราดอกเบี้ยรับเฉลี่ยของบริษัทจะยังคงอยู่ที่ระดับเดียวกับระดับในปัจจุบันที่ 7% ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มลูกค้ารายย่อยให้มากขึ้นนั้นจะช่วยรักษาอัตราดอกเบี้ยรับเพื่อชดเชยกับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการใช้เงินทุนระยะยาวในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นได้
สถานะเงินทุนยังคงแข็งแกร่ง
ฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทนั้นเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท ถึงแม้ว่าสินเชื่อจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่บริษัทก็ยังคงรักษาฐานทุนที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้จากการมีกำไรสะสมที่ต่อเนื่อง โดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 22.3% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 14.9% ณ สิ้นปี 2562 ทั้งนี้ ฐานทุนที่แข็งแรงขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการเพิ่มทุนในเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ประกอบกับความสามารถในการทำกำไรที่ยังคงแข็งแกร่งของบริษัท ซึ่งสถานะเงินทุนในปัจจุบันนี้เพียงพอต่อการสนับสนุนนโยบายการเติบโตของบริษัทได้ในระยะปานกลาง
ในด้านของภาระหนี้นั้น บริษัทมีนโยบายในการรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 4 เท่า โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 3.6 เท่าและยังคงเป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินที่บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 10 เท่า ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะรักษาฐานทุนให้มีความแข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 23% และจะยังคงภาระหนี้ให้อยู่ในระดับต่ำในระหว่างปี 2564-2566 อันเป็นผลมาจากการมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่องรวมทั้งมีการขยายสินเชื่อที่ระมัดระวังและมีนโยบายจ่ายเงินปันผลในระดับปานกลาง
?
มีสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสถานะเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอเนื่องจากบริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั้งจากตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุนรวมทั้งยังมีวงเงินสินเชื่อที่มีกับสถาบันการเงินอีกหลายแห่งซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สถานะเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทได้ นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถออกตั๋วแลกเงิน (B/E) เพื่อจัดการสภาพคล่องได้เป็นระยะอีกด้วย โดย ณ เดือนสิงหาคม 2564 บริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้นจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาทจากสถาบันการเงินหลายแห่งซึ่ง 34% ของวงเงินดังกล่าวนั้นยังไม่ได้มีการเบิกใช้ ในขณะที่ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 บริษัทมีวงเงินกู้ระยะยาวที่ได้รับจากธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) อยู่ที่จำนวน 3 พันล้านบาท
ในส่วนของโครงสร้างเงินทุนนั้น ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 หนี้สินทางการเงินระยะสั้นของบริษัทมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 44% ของหนี้สินทางการเงินรวม ซึ่งลดลงจากระดับที่เกินกว่า 60% ในช่วงก่อนหน้าปี 2562 อันเป็นผลมาจากนโยบายของผู้บริหารที่จะปรับเพิ่มอัตราส่วนเงินกู้ระยะยาวให้เป็น 70% ของเงินทุนรวมหรือมากกว่า นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ที่ดีที่มีกับสถาบันการเงินหลายแห่งซึ่งทำให้บริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อที่เพียงพอนั้นจะช่วยลดทอนความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่องลงได้อีกด้วย
สินเชื่อรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ได้รับผลกระทบที่จำกัดจากสถานการณ์โควิด 19
ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์เติบโตขึ้น 6.6% ซึ่งสวนทางกับยอดขายรถยนต์นั่งที่ชะลอตัวลงถึง 5.4% ทั้งนี้ ผลกระทบที่มีต่อยอดขายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเมื่อเทียบกับรถยนต์นั่งนั้นสะท้อนถึงอุปสงค์ของรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่สูงขึ้นอย่างมากโดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากกิจกรรมการขนส่งสินค้าในช่วงมาตรการปิดเมือง (Lockdown Measure) ในขณะเดียวกัน ยอดจดทะเบียนใหม่ของรถบรรทุกก็มีอัตราเพิ่มขึ้นที่ระดับ 19% ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 ด้วย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่มีต่อตลาดรถยนต์โดยรวมเมื่อผนวกกับความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นของสถาบันการเงินก็ส่งผลทำให้ยอดสินเชื่อรถยนต์คงค้างของผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหดตัวลง 0.1% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตที่ระดับ 1.9% ในช่วงเดียวกันของปี 2563 ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2565 จะช่วยทำให้ผลการดำเนินงานของทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมสินเชื่อรถยนต์ดีขึ้น ในขณะที่คุณภาพสินเชื่อรถยนต์โดยภาพรวมที่ถดถอยลงในปี 2563-2564 นั้นน่าจะเกิดเพียงชั่วคราวและอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2564-2566 ดังนี้
? สินเชื่อคงค้างจะเติบโตที่ระดับ 3%-6% ต่อปี
? ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับ 4.3%-4.5%
? ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.1%-1.5%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาด ตลอดจนฐานทุน และความสามารถในการสร้างผลกำไรในระดับปัจจุบันเอาไว้ได้ นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถบริหารคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแออีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากฐานทุนมีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงทรงตัวอยู่ในระดับเกินกว่า 25% อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อันดับเครดิตองค์กรอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากอันดับเครดิตของบริษัททุนธนชาตได้รับการปรับเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจนกระทั่งอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงลดลงต่ำกว่าระดับ 9% หรือคุณภาพสินเชื่อถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจนทำให้อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 5% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและฐานทุนของบริษัทเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ การปรับลดอันดับเครดิตของบริษัททุนธนชาตอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้ด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (THANI)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
THANI21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 145 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A-
THANI221A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,070 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
THANI227A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,745.2 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
THANI22OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
THANI237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 486.3 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
THANI23NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,439 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
THANI247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 593.7 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
THANI254A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A-
THANI255A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 593 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A-
THANI264A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A-
THANI274A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable