ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันของบริษัทในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง รวมถึงการให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารตลอดจนนโยบายทางการเงินของผู้บริหารที่ค่อนข้างระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวก็ถูกลดทอนบางส่วนจากธรรมชาติที่เป็นวงจรขึ้นลงของสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเช่นราคาแป้งมันสำปะหลังที่ผันผวน รวมถึงอุปทานของหัวมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตแป้งมันสำปะหลังด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นจากการที่อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังค่อย ๆ ฟื้นตัว
ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2563 เป็นไปตามประมาณการของทริสเรทติ้ง รายได้จากการดำเนินงานรวมลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7.1 พันล้านบาท ในขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคงที่ที่ระดับ 7.5%
อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็น 12.9% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับระดับ 9.3% ในช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งเป็นผลมาจากการมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูงที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจแป้งมันสำปะหลังจากการค่อย ๆ ฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดหลัก ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 รายงานจากสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย ราคาขายส่งออกแป้งมันสำปะหลังเฉลี่ย (F.O.B. Bangkok) เพิ่มขึ้นเป็น 483 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เติบโต 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเนื่องมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดส่งออกตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวหลังการเปิดประเทศอีกครั้ง
ในอนาคต ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะเติบโต 23% ในปี 2564 และเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีที่ระดับ 2% ในปี 2565-2566 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้ง ยังคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 11% สำหรับปี 2564 ทั้งปี และหลังจากนั้นจะคงอยู่ที่ระดับ 9%-10% ในช่วงปี 2565-2566
การให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง
บริษัทมีการเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value-added -- HVA) เข้ามาในสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้นและยังได้ขยายบทบาทไปในตลาดโลกด้วย บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นของแป้งมันสำปะหลังดิบอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 20% ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอยู่ที่ระดับ 10%-25% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้จากผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังดิบคิดเป็น 45% ของรายได้รวม ในขณะที่รายได้จากผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงคิดเป็น 35% และรายได้จากผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (ธุรกิจอาหาร) คิดเป็น 20% ทั้งนี้ กลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลกำไรสูง และผลิตภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ตลอดจนกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการลดต้นทุน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นั้น น่าจะช่วยให้ผลการดำเนินงานของบริษัทมีความมั่นคงได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าได้
แม้ภาระหนี้ทางการเงินจะปรับตัวสูงขึ้น แต่โครงสร้างเงินทุนยังคงแข็งแรง
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเป็น 12.7% ณ เดือนธันวาคม 2563 และเป็น 16.3% ณ เดือนมิถุนายน 2564 จากเดิมที่อยู่ที่ระดับ 10.7% ณ สิ้นปี 2562 ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลผลิต
ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 300-400 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2566 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงประจำปีและใช้ในการลงทุนในโครงการผลิตภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจึงคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 12%-16% ในช่วงปี 2564-2566 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายน่าจะคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจระหว่าง 13-16 เท่าในระหว่างปี 2564-2566
สภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะยังคงมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า จากสมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ในช่วง 800-1,000 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2566 โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1,179 ล้านบาท และยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่อีกจำนวน 1.6 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระอยู่ระหว่าง 60 ล้านบาทถึง 1.0 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2566
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้รวมจะเติบโต 23% ในปี 2564 และเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีที่ระดับ 2% ในปี 2565-2566
? อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ระดับ 18%-20% และ 9%-10% ตามลำดับ ในปี 2564-2566
? ค่าใช้จ่ายลงทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2566
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจแป้งมันสำปะหลังและวุ้นเส้นในประเทศไทยเอาไว้ได้ โดยที่รายได้จากผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาแป้งมันสำปะหลังดิบที่จะมีต่ออัตรากำไรของบริษัทได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดในขณะที่ยังคงงบดุลที่แข็งแรง รวมถึงคงนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังเอาไว้ได้
ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีสาระสำคัญเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องจนส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่สูงเกินกว่าระดับ 2 เท่า ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินที่มีความเสี่ยงมากขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) (TWPC)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable