ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A-? พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? จาก ?Negative? หรือ ?ลบ?
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทและผลงานในธุรกิจพัฒนาคลังสินค้าตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-suit Warehouse) และธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงฐานรายได้ประจำจำนวนมากที่บริษัทได้รับจากธุรกิจสินทรัพย์ให้เช่า ธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภค และเงินปันผลจากการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ตลอดจนความยืดหยุ่นทางการเงินจากการขายสินทรัพย์เข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT หรือทรัสต์ฯ) อีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนลงจากความเสี่ยงของประเทศจากการที่บริษัทดำเนินธุรกิจและลงทุนในต่างประเทศ ตลอดจนลักษณะที่มีความผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม
การปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตในครั้งนี้สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายหลังจากการขายสินทรัพย์เข้า REIT ผนวกกับการฟื้นตัวของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจสาธารณูปโภคภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากที่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) อยู่ภายใต้การควคุมได้แล้ว
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
หนี้สินทางการเงินจะลดลงอย่างมากภายหลังจากการขายสินทรัพย์เข้าทรัสต์ฯ
ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้สินของบริษัทจะลดลงอย่างมาก ณ ช่วงสิ้นปี 2564 จากการขายสินทรัพย์ซึ่งเป็นพื้นที่เช่าจำนวนมากให้แก่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART) ทั้งนี้ ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 บริษัทจะขายพื้นที่เช่า ประมาณ 180,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) มูลค่ารวมประมาณ 5.5 พันล้านบาทให้แก่ WHART ซึ่งธุรกรรมในครั้งนี้มีมูลค่าสูงกว่าธุรกรรมครั้งก่อนหน้า โดยครั้งนี้เป็นการขายสินทรัพย์ที่บริษัทเป็นเจ้าของทั้งหมดและรับรู้เป็นรายได้ของบริษัท ซึ่งแตกต่างจากรายการในครั้งก่อนๆที่มีสัดส่วนผสมระหว่างสินทรัพย์ที่เป็นของบริษัทและสินทรัพย์ของบริษัทร่วม ในการนี้ ทริสเรทติ้งประเมินว่าธุรกรรมในครั้งนี้จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.9 เท่าในปี 2564 จากระดับ 7.4 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2564
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากแผนการลงทุนเพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์การเติบโตของบริษัท โดยบริษัทจะใช้เงินลงทุนตามแผนจำนวนประมาณ 5-8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 ซึ่งเงินลงทุนส่วนใหญ่จะใช้ไปในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยและเวียดนาม ตลอดจนลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคและคลังสินค้าให้เช่า อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงควบคุมระดับหนี้สินทางการเงินเอาไว้ได้จากความสามารถในการขายสินทรัพย์และกระแสเงินสดที่มาจากหลายแหล่ง
ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 5.4-6.2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 5.9 เท่า ณ สิ้นปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 7 เท่าในระหว่างปี 2565-2566 และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.6 เท่าในปี 2564 และปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3.2-3.3 เท่าในช่วงปี 2565-2566
การลดลงของยอดขายที่ดิน แต่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในอนาคต
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการขายที่ดินของบริษัทในปี 2564 จะลดลงแต่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2565-2566 ทั้งนี้ ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมได้รับแรงกดดันอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และมีการฟื้นตัวที่ล่าช้ากว่าที่ทริสเรทติ้งได้คาดการณ์ไว้เดิม เนื่องจากสถานการณ์ของโรคที่ทวีความรุนแรงขึ้นจนส่งผลทำให้ต้องมีการขยายมาตรการจำกัดการเดินทางและทำให้การลงทุนในภาคเอกชนซบเซาลง สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยของบริษัทลดลงเหลือเพียง 218 ไร่ในปี 2563 และ 241 ไร่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 โดยเทียบกับระดับ 800-1,000 ไร่ในปี 2559-2562 ในขณะที่รายได้จากการขายที่ดินลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.5 พันล้านบาทในปี 2563 และ 567 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จากระดับ 3.5 พันล้านบาทในปี 2562
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าจากผลของการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและการกลับมาสู่ระดับปกติของกิจกรรมการลงทุนต่าง ๆ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าจะมีความต้องการซื้อที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าที่ชะลอการซื้อในช่วงที่ผ่านมาอีกด้วย
ทริสเรทติ้งยังคงมีมุมมองว่าธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมจะยังคงมีแนวโน้มที่ดีโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากทำเลที่ตั้งของประเทศและการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทริสเรทติ้งคาดว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตซึ่งเป็นผลมาจากความตึงเครียดที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องของสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีนตลอดจนการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) นอกจากนี้ บริษัทยังจะได้รับอานิสงส์จากการที่บริษัทมีที่ดินจำนวนมากถึง 8,058 ไร่ในประเทศไทย (รวมถึงที่ดินที่อยู่ในนิคมแห่งใหม่ที่รอการพัฒนา) อีกด้วย ซึ่ง 82% ของที่ดินทั้งหมดนี้อยู่ในเขตจังหวัดชลบุรีและระยองซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมียอดขายที่ดินในประเทศไทยจำนวนประมาณ 500 ไร่ในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่จำนวน 800-900 ไร่ต่อปีในช่วงปี 2565-2566 ซึ่งใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดโรคโควิด 19 ทั้งนี้ รายได้จากการขายที่ดินในประเทศไทยของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 1.3 พันล้านบาทในปี 2564 และจะปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.3-2.9 พันล้านบาทในระหว่างปี 2565-2566
ขยายการดำเนินงานไปยังธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม
บริษัทได้รับใบอนุญาตลงทุนจากรัฐบาลเวียดนามในการเช่าที่ดินขนาด 498 เฮกตาร์ (หรือ 3,113 ไร่) เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของบริษัทในจังหวัด Nghe-An ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม โครงการในระยะแรกของนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวมีพื้นที่สำหรับขายจำนวน 631 ไร่ และ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีที่ดินคงเหลือพร้อมขายจำนวน 334 ไร่ ทั้งนี้ การพัฒนานิคมในระยะถัดไปขณะนี้อยู่ในระหว่างการเวนคืนที่ดินและอยู่ในขั้นตอนการรอยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้าง
นิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนามมีอัตราการเติบโตที่สูงมากโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากต้นทุนค่าแรงที่ต่ำและมีทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับประเทศจีน นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะ 2-3 ปีข้างหน้าบริษัทจะต้องเผชิญกับประเด็นท้าทายที่สำคัญเกี่ยวกับการขาดแคลนพื้นที่พร้อมขายซึ่งจะส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของรายได้จากการดำเนินงานในประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ บริษัทยังมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความไม่แน่นอนหลากหลายประการทั้งจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและความล่าช้าในขั้นตอนการอนุมัติใบอนุญาตอีกด้วย เมื่อรวมผลกระทบจากความไม่แน่นอนดังกล่าวแล้ว ทริสเรทติ้งจึงประเมินว่ารายได้จากการขายที่ดินในประเทศเวียดนามของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 400-500 ล้านบาทในช่วงปี 2565-2566
อุปสงค์พื้นที่ให้เช่าเพิ่มสูงขึ้น
แม้ว่าเศรษฐกิจจะหดตัวลง แต่อุปสงค์พื้นที่ให้เช่ากลับเพิ่มมากขึ้นจากการเติบโตที่รวดเร็วของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่มีปัจจัยเร่งจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตลอดจนผลกระทบของการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งล้วนส่งผลให้อุปสงค์พื้นที่ให้เช่าของบริษัทเติบโตมากขึ้น ในการนี้ รายได้ค่าเช่าและค่าบริการของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอยู่ที่ระดับ 1.3 พันล้านบาทในปี 2563 และเพิ่มขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 782 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2564
ทริสเรทติ้งมองว่าอุปสงค์พื้นที่ให้เช่าคลังสินค้าและโรงงานจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไปอันเนื่องมาจากผลของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมใช้ช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าอานิสงส์จากโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจะช่วยกระตุ้นบรรยากาศและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มีมากขึ้นอีกด้วย
รายได้ประจำจากธุรกิจสาธารณูปโภค
รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคของบริษัทฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งภายหลังจากที่ลดลงอย่างมากในปี 2563 ทั้งนี้ รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 2.3 พันล้านบาทในปี 2562 จากระดับ 2 พันล้านบาทในปี 2559 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปี (Compound Annual Growth Rate -- CAGR) ที่ระดับ 4.1% ก่อนที่จะลดลง 9.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ 2 พันล้านบาทในปี 2563 อย่างไรก็ตาม รายได้ของบริษัทจากธุรกิจดังกล่าวฟื้นตัวขึ้นอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 โดยเพิ่มขึ้น 16.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 1.2 พันล้านบาทอันเป็นผลมาจากการที่โรงงานต่าง ๆ กลับมาดำเนินการผลิตอีกหลังจากที่หยุดการผลิตไปชั่วคราวในช่วงต้นของการแพร่ระบาดและจากการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นของหลายโรงงานหลังจากที่ลดการใช้น้ำลงในช่วงที่มีภาวะภัยแล้งรุนแรงในปี 2563 นอกจากนี้ ยังมีอุปสงค์การใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากโรงไฟฟ้าใหม่ 2 แห่งที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 อีกด้วย
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคของบริษัทจะยังคงเติบโตอย่างมั่นคงต่อไปจากการเริ่มทยอยดำเนินการผลิตของลูกค้าที่ซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัท ตลอดจนอุปสงค์การใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ๆ ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัท
ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอจากเงินปันผลจากบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้า
บริษัทลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าหลายแห่งผ่านทางบริษัทย่อย โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมของโรงไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 592 เมกะวัตต์ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับเงินปันผลจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ระดับประมาณ 0.9-1 พันล้านบาทในระหว่างปี 2564-2566 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 16%-17% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในระหว่างปี 2564-2566
เป็นผู้นำในธุรกิจคลังสินค้าที่สร้างตามความต้องการของลูกค้าและธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม
บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำใน 2 ธุรกิจ คือ ธุรกิจพัฒนาคลังสินค้าให้เช่าและธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม โดยบริษัทนั้นถือว่าเป็นผู้นำในธุรกิจคลังสินค้าที่สร้างตามความต้องการของลูกค้าในประเทศไทยด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานกว่าทศวรรษ
ภายหลังจากการซื้อกิจการของ บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (เดิมชื่อ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน)) ในปี 2558 บริษัทก็กลายมาเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 44% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนผู้นำในลำดับรองลงมาคือ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) (30%) และ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) (22%)
สภาพคล่องอยู่ในระดับเพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะยังคงอยู่ในระดับที่เพียงพอ แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับประมาณ 4.5 พันล้านบาทรวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 4 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทและเงินลงทุนตามแผนอีกประมาณ 7 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทและบริษัทย่อยยังมีความสามารถในการเข้าถึงตลาดทุนบริษัทยังสามารถขายสินทรัพย์ให้เช่าเข้า REIT ซึ่งเป็นทางเลือกในด้านเงินทุนอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ จากทางเลือกดังกล่าวทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินจำนวนมาก
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้น 35% มาอยู่ที่ระดับ 1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2564 จากการขายสินทรัพย์เข้า WHART จำนวนมาก และรายได้จะอยู่ที่ระดับ 9.7 พันล้านบาทถึง 1.1 หมื่นล้านบาทในระหว่างปี 2565-2566
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 53%-56% ในระหว่างปี 2564-2566
? ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 5-8 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2566
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะรักษาระดับภาระหนี้สินไว้ได้โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับประมาณ 7 เท่า การที่บริษัทมีรายได้ประจำจำนวนมากจากธุรกิจบริการสาธารณูปโภคและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่ารวมทั้งเงินปันผลจากธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้น กระแสเงินสดดังกล่าวเมื่อบวกกับรายได้จากการขายสินทรัพย์เข้าทรัสต์ฯ จึงน่าจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนจากยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมให้แก่บริษัทได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากภาวะการลงทุนในภาคเอกชนถดถอยลงอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้รายได้และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่คาดเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ การลงทุนขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งจะส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงและลดทอนความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทก็จะเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตได้ด้วยเช่นกัน
ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากกระแสเงินสดของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงและอย่างมีนัยสำคัญโดยที่บริษัทสามารถปรับปรุงโครงสร้างทางการเงินให้แข็งแกร่งไปพร้อมกันได้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WHA)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
WHA222A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
WHA224A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 454.2 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
WHA224B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
WHA226B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
WHA234A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
WHA234B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
WHA237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,050 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
WHA23OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 328 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
WHA244A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
WHA244B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
WHA247B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,450 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
WHA257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A-
WHA25OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,380 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A-
WHA264A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A-
WHA264B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable