ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A-? พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? จาก ?Negative? หรือ ?ลบ? ตามการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตของ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WHA) ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2564 โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของ WHA ตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ? (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้ง ซึ่ง WHA ได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ ?A-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? จากทริสเรทติ้ง ในการนี้ การเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของ WHA ที่ดีขึ้นและความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้ในระดับสูงของ WHA ที่บรรเทาลง
ทริสเรทติ้งยังพิจารณาให้สถานะเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile) ของบริษัทอยู่ที่ระดับ ?a-? ซึ่งสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการสาธารณูปโภคแต่เพียงผู้เดียวในนิคมอุตสาหกรรมของ WHA ทั้งในประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนฐานรายได้ประจำที่บริษัทได้รับจากการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของบริษัทก็มีข้อจำกัดจากการมีผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าคาดในธุรกิจสาธารณูปโภคในประเทศเวียดนามและความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำในแหล่งน้ำ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของ WHA
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทเป็นบริษัทย่อยของ WHA ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่มีอำนาจควบคุมแผนกลยุทธ์และการตัดสินใจด้านนโยบายทางการเงินของบริษัทโดยตรง ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 กลุ่มบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA Group) ถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 72% บริษัทเป็นผู้ได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการเป็นผู้ให้บริการสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งทั้งในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของ บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (WHAID) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเป็นบริษัทย่อยสำคัญอีกแห่งหนึ่งของ WHA ปัจจุบันบริษัทได้สิทธิในการให้บริการสาธารณูปโภคแก่นิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 11 แห่ง (รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม) ทั้งนี้ สิทธิดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงจากการที่คู่แข่งไม่สามารถเข้ามาประกอบธุรกิจในพื้นที่ที่บริษัทให้บริการได้ นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงทุนร่วมกับหุ้นส่วนทางธุรกิจที่มีชื่อเสียงหลายรายในโครงการโรงไฟฟ้าหลายแห่งอีกด้วย
บริษัทสร้างรายได้ในสัดส่วนที่สำคัญให้แก่ผลการดำเนินงานโดยรวมของ WHA โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทสร้างรายได้ในสัดส่วน 36% ของรายได้รวมของ WHA และ 50% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของ WHA
เติบโตอย่างมีนัยสำคัญหลังจากผลกระทบจากภาวะภัยแล้งและโรคโควิด 19 ผ่านพ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคของบริษัทจะฟื้นตัวและเติบโตขึ้นในช่วงปี 2564-2566 ตามการฟื้นตัวของสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปี 2563 ตลอดจนการกลับมาดำเนินงานอีกครั้งของลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมและอุปสงค์ใหม่ ๆ จากลูกค้าใหม่ ๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าและปิโตรเคมี
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้และกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นประมาณ 37% และ 41% จากช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โดยมาอยู่ที่ระดับ 1.2 พันล้านบาทและ 263 ล้านบาทตามลำดับ ทั้งนี้ จากการที่มีปริมาณฝนที่ดีขึ้นในปี 2564 ประกอบกับอุปสงค์ที่เริ่มกลับมาจึงทำให้ยอดขายน้ำดิบและน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 80% ของยอดขายทั้งหมดของบริษัทนั้นเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้สาเหตุหลักของการเติบโตดังกล่าวเกิดจากอุปสงค์จากโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่เริ่มเปิดดำเนินการในเดือนเมษายน 2564 และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากโรงงานปิโตรเคมี
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตไปอยู่ที่ระดับ 2 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2566 ตามการขยายตัวของโรงไฟฟ้าในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 และในปี 2565 พร้อมกับอุปสงค์น้ำที่เพิ่มขึ้นจากโรงงานปิโตรเคมี นอกจากนี้ การขยายนิคมอุตสาหกรรมไปยังประเทศเวียดนามและการมี อุปสงค์สินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ของบริษัท เช่น น้ำปราศจากแร่ธาตุและน้ำสะอาดจากการบำบัดน้ำเสียจากอุตสาหกรรม ยังได้สร้างรายได้และความสามารถในการทำกำไรให้แก่บริษัทเพิ่มขึ้นอีกด้วย
นอกจากธุรกิจสาธารณูปโภคแล้ว บริษัทยังมุ่งเน้นการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ด้วย โดยบริษัทตั้งเป้าไว้ว่าจะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 90 เมกะวัตต์ภายในปี 2564 โดย ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าทั้งสิ้น 63 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ รายได้จากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาคิดเป็นสัดส่วน 3% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2563
ความกังวลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของธุรกิจสาธารณูปโภคในประเทศเวียดนาม
บริษัทวางแผนจะขยายธุรกิจสาธารณูปโภคออกไปนอกเขตนิคมอุตสาหกรรมของ WHA โดยในปี 2562 บริษัทได้ลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสาธารณูปโภคในประเทศเวียดนามจำนวน 2 แห่งคือ Cua Lo Water Supply Joint Stock Company และ Duong River Surface Water Plant JSC (SDWTP) โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมที่ประมาณ 2.5 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการเพิ่มยอดขายในธุรกิจที่ประเทศเวียดนามได้ส่งผลให้ส่วนแบ่งจากบริษัทร่วมทุนมีผลขาดทุนสะสมเป็นจำนวน 251 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2564 อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ได้มีการขยายท่อส่งน้ำไปยังอีก 2 จังหวัดใกล้เคียงเพื่อเพิ่มยอดขาย โดยผู้บริหารของบริษัทคาดว่าการใช้ประโยชน์จากโรงงานผลิตน้ำของ SDWTP จะเพิ่มจาก 60% เป็น 80% ในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็ยังคาดว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจในประเทศเวียดนามน่าจะยังขาดทุนอยู่และจะยังไม่สามารถจ่ายเงินปันผลในช่วงปีประมาณการได้เมื่อพิจารณาจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐและผลกระทบจากโรคโควิด 19 ในประเทศเวียดนาม
กระแสเงินสดจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่คาดการณ์ได้
กระแสเงินสดจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่บริษัทได้ร่วมลงทุนกับหุ้นส่วนทางธุรกิจหลายรายนั้นค่อนข้างมั่นคง โดยบริษัทถือหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าหลายแห่งภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer -- IPP) โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) และโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (Very Small Power Producer -- VSPP) ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 กำลังการผลิตติดตั้งรวมของโรงไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 596 เมกะวัตต์
บริษัทได้รับเงินปันผลจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจำนวน 1.8 พันล้านบาทในปี 2563 และจำนวน 603 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับเงินปันผลที่จำนวน 1.1-1.2 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2566 และคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (รวมเงินปันผลรับจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่ร่วมลงทุน) จะอยู่ที่ 2 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2566
ภาระหนี้ยังคงเพิ่มขึ้น
ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ปี 2562 ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 48% ซึ่งสูงกว่าระดับ 37% ในปี 2560-2561 โดยหนี้สินที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคในประเทศเวียดนามเป็นหลัก บริษัทมีเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะเติบโตในธุรกิจด้านสาธารณูปโภคและพลังงาน โดยในด้านธุรกิจสาธารณูปโภคนั้น บริษัทจะขยายกิจการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของบริษัทแม่ตามแผนต่อไปและจะเพิ่มสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาให้มากขึ้น เช่น น้ำสะอาดจากการบำบัดน้ำเสียจากอุตสาหกรรมและน้ำปราศจากแร่ธาตุ ส่วนในด้านธุรกิจพลังงานนั้น บริษัทมีกลยุทธ์ที่จะขยายการผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้นกว่าเดิมโดยเพิ่มการลงทุนในส่วนของระบบ Solar Rooftop และมีความร่วมมือกับหุ้นส่วนทางธุรกิจในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานขยะและการค้าปลีกก๊าซธรรมชาติ โดยงบลงทุนโดยรวมคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.4-2.2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีประมาณการและคาดว่าส่วนหนึ่งของแหล่งเงินทุนจะมาจากการกู้ยืม ในการนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับ 51%-54% ในระหว่างปี 2564-2566
กระแสเงินสดอยู่ในระดับที่จัดการได้
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งเงินทุนเพื่อการชำระหนี้ประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวนประมาณ 1.5 พันล้านบาท หุ้นกู้ที่ออกในเดือนกรกฎาคม 2564 จำนวน 3.5 พันล้านบาท วงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินจำนวน 2.5 พันล้านบาท และเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะได้รับอีกจำนวนราว ๆ 1.5 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งคาดว่าแหล่งเงินทุนดังกล่าวจะเพียงพอแก่การชำระหนี้เงินกู้ธนาคารและหุ้นกู้รวมจำนวน 4.7 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดในระยะ 12 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ ข้อกำหนดทางการเงินที่สำคัญของหุ้นกู้ระบุให้บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่เกินกว่า 2.5 เท่า โดยอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 0.94 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาก ดังนั้น บริษัทจึงไม่น่ามีปัญหาในการที่จะรักษาอัตราส่วนดังกล่าวให้เป็นไปตามข้อกำหนดในช่วงเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้รวมคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 30% ในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้น 10% ต่อปีในระหว่างปี 2565-2566 จากการฟื้นตัวของภาวะภัยแล้งและโรคโควิด 19 รวมทั้งจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากโรงไฟฟ้าและโรงงานปิโตรเคมีแห่งใหม่ ๆ
? อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับประมาณ 33%-35% และอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (รวมเงินปันผลรับ) จะอยู่ที่ระดับประมาณ 81%-89%
? งบลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 1.4-2.2 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2566
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ของบริษัทสะท้อนถึงแนวโน้มอันดับเครดิตของ WHA ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่ารูปแบบและระดับความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่าง WHA และบริษัทจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
เนื่องจากบริษัทเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของ WHA อันดับเครดิตของบริษัทจึงขึ้นอยู่กับอันดับเครดิตของ WHA ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดกับอันดับเครดิตของบริษัทแม่หรือสถานะของบริษัทที่มีต่อกลุ่มก็จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (WHAUP)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
WHAUP222A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
WHAUP22DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
WHAUP236A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,290 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
WHAUP237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
WHAUP247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
WHAUP256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,320 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A-
WHAUP267A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A-
WHAUP302A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable