ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?AA? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทจากการเป็นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศที่มีเครือข่ายโรงพยาบาลขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทจากการมีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับต่ำและสภาพคล่องที่เพียงพออีกด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนแอลงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ประกอบการในธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
บริษัทเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) โดยบริษัทมีรายได้อยู่ที่ระดับ 6.7-8.3 หมื่นล้านบาทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับประมาณ 50% ของรายได้รวมของกลุ่มผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนใน ต.ล.ท.
ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีเครือข่ายโรงพยาบาลรวม 49 แห่งทั่วประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้านโดยมีจำนวนเตียงรองรับการให้บริการผู้ป่วยในทั้งสิ้น 6,290 เตียง หรือคิดเป็นสัดส่วน 16% ของจำนวนเตียงในโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมดในประเทศ บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการทางการแพทย์มายาวนานกว่า 5 ทศวรรษและมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีทักษะจำนวนมากที่สุดซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถให้บริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมและให้การรักษาเฉพาะทางโดยมีแพทย์ที่ปฏิบัติงานในเครือโรงพยาบาลของบริษัทมากกว่า 11,000 คนและมีพยาบาลวิชาชีพอีกประมาณ 8,000 คน
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนขนาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศต่อไปโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีเครือข่ายโรงพยาบาลที่กว้างขวาง ทำเลที่ตั้งที่หลากหลาย ฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ และผลงานทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือ
มีแบรนด์ที่หลากหลายครอบคลุมคนไข้หลายกลุ่ม
บริษัทมีเครือข่ายโรงพยาบาลภายใต้ 5 แบรนด์หลักในประเทศไทยโดยครอบคลุมคนไข้หลากหลายกลุ่มตั้งแต่ผู้ป่วยชาวไทยที่มีรายได้ระดับปานกลางไปจนถึงสูงและผู้ป่วยต่างชาติ โดยแบรนด์โรงพยาบาลในประเทศทั้ง 5 แบรนด์ ได้แก่ ?โรงพยาบาลกรุงเทพ? ?โรงพยาบาลสมิติเวช? ?โรงพยาบาลบีเอ็นเอช? ?โรงพยาบาลพญาไท? และ ?โรงพยาบาลเปาโล? ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในกลุ่มผู้ป่วยชาวไทยเนื่องจากในแต่ละโรงพยาบาลมีทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและมีคุณภาพการให้บริการในระดับสูง นอกจากนี้ โรงพยาบาลในเครือของบริษัทจำนวน 14 แห่งยังได้รับการรับรองมาตรฐานจาก Joint Commission International (JCI) และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติอีกด้วย
ทริสเรทติ้งคาดว่าการที่บริษัทมีฐานคนไข้ขนาดใหญ่ในหลากหลายทำเลจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้แก่รายได้ของบริษัทได้ โดยเครือข่ายโรงพยาบาลของบริษัทที่ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้และภาคตะวันออกนั้นสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของรายได้จากการรักษาพยาบาลรวมของบริษัท ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กลุ่มโรงพยาบาลในแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่ลดลงอย่างมาก ในทางตรงข้าม โรงพยาบาลที่เน้นกลุ่มผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดได้ปรับตัวโดยการเพิ่มขีดความสามารถด้านการรักษาพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยโรคโควิด 19 ซึ่งส่งผลให้รายได้ของโรงพยาบาลบางแห่งในกลุ่มของบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้นเกินกว่า 10% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564
จำนวนผู้ป่วยต่างชาติจะค่อยๆ ฟื้นตัวในปี 2565
มาตรการควบคุมการเข้าประเทศที่เข้มงวดและการกักกันโรคสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยลดลงอย่างมาก ทั้งนี้ ในปี 2563 รายได้รวมของผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนใน ต.ล.ท. ลดลงประมาณ 12% จากปี 2562 ในขณะที่ผู้ประกอบการที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ป่วยต่างชาติมีรายได้ที่หดตัวมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญถึง 15%-35% ในช่วงเดียวกัน
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 รายได้รวมของผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนใน ต.ล.ท. เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตของกลุ่มโรงพยาบาลที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไข้ในประเทศ ทั้งนี้ ผู้ป่วยชาวไทยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นรวมถึงบริการทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับโรคโควิด 19 ในช่วงที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมากเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้รายได้รวมของกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนมีการเติบโต
ทริสเรทติ้งมีมุมมองที่ดีต่อแนวโน้มในระยะยาวของอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเอกชนท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 โดยทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้รวมของอุตสาหกรรมจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากจำนวนคนไข้ในประเทศที่เพิ่มขึ้นรวมถึงการเป็นสังคมผู้สูงอายุและการที่ผู้คนจำนวนมากต้องการรักษาสุขภาพแบบองค์รวมและต้องการมีสุขภาพที่ดี ในทางตรงกันข้าม ทริสเรทติ้งคาดว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอาจจะใช้เวลาสักระยะหนึ่งกว่าที่จะฟื้นตัวกลับไปเท่ากับระดับก่อนมีการแพร่ระบาด
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ภาครัฐได้ประกาศแผนผ่อนคลายมาตรการกักกันโรคสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของประเทศไทยในเรื่องของคุณภาพในการให้บริการด้านการแพทย์ ตลอดจนทำเลที่ตั้งที่สะดวก และค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่ให้บริการด้านการแพทย์แล้ว ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยต่างชาติจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564
ผลการดำเนินงานจะฟื้นตัวในปี 2565-2566
โดยปกติแล้วสัดส่วนรายได้รวมของบริษัทจะมาจากผู้ป่วยชาวไทยคิดเป็นประมาณ 70% และที่เหลืออีก 30% มาจากผู้ป่วยต่างชาติ แต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมทั้งการจำกัดการท่องเที่ยวและการเดินทางได้ส่งผลทำให้รายได้รวมของบริษัทหดตัวลงประมาณ 18% ในปี 2563 และลดลงเล็กน้อยประมาณ 1% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2464 ทั้งนี้ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หลายระลอกในปี 2563-2564 นั้น บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยชาวไทยเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 80% ของรายได้รวม
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่ปรับดีขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากจำนวนผู้ป่วยชาวไทยที่เพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวของอุปสงค์จากผู้ป่วยต่างชาติที่คาดว่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น บริษัทได้พยายามเพิ่มจำนวนผู้ป่วยภายในประเทศรายใหม่ผ่านกิจกรรมทางการตลาดต่าง ๆ ตลอดจนการส่งเสริมการขาย และการใช้ช่องทางออนไลน์ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 รายได้จากผู้ป่วยชาวไทยเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยอยู่ที่ระดับเกือบ 2.6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังทำการพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการด้านการรักษาสุขภาพ ตลอดจนยารักษาโรค และอาหารเสริมต่างๆ ผ่านระบบดิจิทัลได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย โดยคาดว่าการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านเทคโนโลยีสื่อสารทางไกล (Telemedical Consultants) จะได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นและจะสร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่บริษัทในอนาคตหลังการแพร่ระบาด
ในช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากนั้น บริษัทได้เพิ่มขีดความสามารถในการคัดกรองผู้ป่วยโรคโควิด 19 รวมทั้งเพิ่มเตียงและสถานพยาบาลเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังร่วมมือกับโรงแรมต่างๆ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงเข้ารักษาในฮอสพิเทล (Hospitel) อีกด้วย โดยอัตราการใช้เตียงในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 53% ทริสเรทติ้งคาดว่าจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่เพิ่มมากขึ้นจะช่วยให้อัตราการใช้เตียงเฉลี่ยของบริษัทในปี 2564 ปรับตัวดีขึ้นและจะช่วยชดเชยการลดลงอย่างมากของผู้ป่วยต่างชาติได้บางส่วน
สำหรับจำนวนผู้ป่วยต่างชาตินั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 หลังจากประเทศต่างๆ บรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้แก่พลเมืองของตนเอง โดยทริสเรทติ้งคาดว่าจำนวนผู้ป่วยต่างชาติจะกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับในช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดได้ภายในปี 2566 ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นโดยจะเพิ่มขึ้นที่อัตรา 5%-10% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
อัตรากำไรที่ทรงตัว
บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทในปี 2563 ซึ่งลดลง 17% จากระดับ 1.9 หมื่นล้านบาทในปี 2562 เนื่องจากบริษัทมีรายได้ลดลงและผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามารักษาด้วยโรคที่มีความซับซ้อนและมีความรุนแรงสูงมีจำนวนลดลง ส่วน EBITDA ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ระดับประมาณ 7.5 พันล้านบาท ลดลง 6% จากช่วงเดียวกันในปี 2563
ในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดยืดเยื้อ บริษัทได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายรวมทั้งเลื่อนการลงทุนหลัก ๆ ออกไปเพื่อลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังสามารถคงระดับอัตรากำไรท่ามกลางการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อและการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเอกชนเอาไว้ได้
ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 21%-22% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าเมื่อพิจารณาจากผลกระทบจากโรคโควิด 19 รวมถึงมาตรการควบคุมต้นทุนและการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัท
งบการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น
ภาระหนี้ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.6 หมื่นล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2564 จากระดับ 2.4 หมื่นล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2562 อันเป็นผลมาจากการที่บริษัทได้นำเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายเงินลงทุนใน บริษัท โรงพยาบาล บำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ไปชำระคืนเงินกู้ระยะยาวที่มีกับธนาคารจำนวนรวมประมาณ 8.5 พันล้านบาทก่อนเวลาครบกำหนด ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA อยู่ที่ระดับประมาณ 1 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2564 จากระดับ 1.3 เท่า ณ สิ้นปี 2562
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งต่อไปได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีความต้องการใช้เงินทุนในระดับปานกลางที่ประมาณปีละ 6-8 พันล้านบาท สำหรับการบำรุงรักษาสินทรัพย์ ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และขยายพื้นที่บริการทางการแพทย์เพิ่มเติมในโรงพยาบาลที่มีอยู่ ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถใช้เงินทุนจากการดำเนินส่วนใหญ่ในการลงทุนดังกล่าว ส่วนในช่วง 3 ปีข้างหน้าหากไม่มีการซื้อกิจการหรือการลงทุนขนาดใหญ่ใด ๆ แล้ว ทริสเรทติ้งก็คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ต่ำกว่าระดับ 25% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะอยู่ที่ระดับประมาณ 1 เท่าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะอยู่สูงกว่าระดับ 60%
มีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะยังคงมีสภาพคล่องในระดับดีมากในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2564 รวมถึงวงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 2.2 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับประมาณ 1.25-1.3 หมื่นล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ความต้องการใช้เงินทุนจะประกอบด้วยค่าใช้จ่ายลงทุนประมาณ 6-8 พันล้านบาทต่อปีและภาระหนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 3.1 พันล้านบาทในปี 2565 ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนเพียงพอที่จะรองรับภาระผูกพันที่จะมีในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า
ข้อกำหนดทางการเงินที่บริษัทมีกับผู้ถือหุ้นกู้และธนาคารระบุให้บริษัทต้องคงระดับอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อส่วนทุนไม่ให้เกิน 1.75 เท่าและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายไม่ให้เกิน 3.25 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนทางการเงินดังกล่าวเอาไว้ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ได้โดยมีอัตราส่วนอยู่ที่ระดับ 0.1 เท่าและ 0.6 เท่าตามลำดับ ในการนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขของข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวต่อไปได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จากการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้นโดยเติบโตที่อัตราประมาณ 5%-10% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
? EBITDA Margin จะอยู่ในช่วง 21%-22%
? เงินลงทุนจะอยู่ที่ระดับปีละประมาณ 6-8 พันล้านบาท
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเอาไว้ได้และจะยังคงมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากผลการดำเนินงานของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นจนใกล้เคียงกับระดับก่อนการแพร่ระบาดในขณะที่ยังคงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ การลงทุนและ/หรือซื้อกิจการใด ๆ โดยการก่อหนี้เชิงรุกซึ่งส่งผลให้งบการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญก็จะเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตด้วย
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS)
อันดับเครดิตองค์กร: AA
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BDMS222A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA
BDMS233A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA
BDMS242A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA
BDMS256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA
BDMS266A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable