ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารออมสินที่ระดับ ?AAA? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานภาพในทางกฎหมายของธนาคารที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลไทยใน ?ระดับสูงสุด? (Integral) และมีบทบาทที่ ?สำคัญมากที่สุด? (Critical) ต่อการดำเนินนโยบายของภาครัฐ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลที่ครอบคลุมภาระผูกพันทางการเงินทั้งหมดของธนาคารตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 และความคาดหวังของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษจากรัฐบาลอย่างทันท่วงทีและเพียงพอในกรณีที่จำเป็นอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลในระดับสูงสุด
ทริสเรทติ้งประเมินให้ความเชื่อมโยงระหว่างธนาคารออมสินกับรัฐบาลอยู่ในระดับสูงสุดโดยพิจารณาจากการที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารแต่เพียงผู้เดียว รวมไปถึงการควบคุมที่เข้มงวดจากคณะรัฐมนตรีผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร และประวัติการได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาล ทั้งนี้ ธนาคารมีสถานภาพเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจตามกฎหมายซึ่งมีหน้าที่ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของภาครัฐ ปัจจุบันธนาคารอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
นอกจากนี้ พ.ร.บ. ธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 ยังระบุด้วยว่าภาระผูกพันทางการเงินทั้งหมดของธนาคารซึ่งประกอบด้วยเงินต้น ดอกเบี้ยเงินฝาก และการจ่ายชำระหนี้สินทางการเงินอื่น ๆ นั้นจะได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลอีกด้วย ทั้งนี้ ธนาคารเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพียงแห่งเดียวที่รัฐบาลให้การค้ำประกันภาระผูกพันทางการเงินทั้งหมดอย่างชัดเจน
มีบทบาทสำคัญมากที่สุดต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล
ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารจะยังคงมีบทบาทสำคัญมากที่สุดในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลโดยการเป็น ?ธนาคารเพื่อสังคม? ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมนิสัยการออมและวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชนไทยตลอดจนสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและส่งเสริมการพัฒนาประเทศ โดยธนาคารเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มประชาชนฐานรากให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินด้วยต้นทุนดอกเบี้ยที่เป็นธรรม โครงการของรัฐบาลที่ธนาคารเป็นผู้ดำเนินการภายใต้ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีนั้นจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเป็นประจำทุกปีโดยผ่านบัญชีที่แยกออกมาต่างหากซึ่งเรียกว่า ?บัญชีตามธุรกรรมนโยบายรัฐ? ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อในบัญชีดังกล่าวที่จำนวน 2.8 แสนล้านบาทซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในบรรดาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของไทย หรือมีสัดส่วนคิดเป็น 12.77% ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าบทบาทของธนาคารในการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลนั้นทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ทั้งนี้ เพื่อที่จะรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคโควิด 19 ธนาคารมีบทบาทสำคัญในการเป็นช่องทางให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากภาครัฐแก่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางตลอดจนภาคอุตสาหกรรมหลัก ๆ ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ดำเนินมาตรการผ่อนปรนต่าง ๆ สำหรับลูกค้ารายย่อยเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด 19 อีกด้วย
ภายใต้กลยุทธ์ธุรกิจระยะเวลา 5 ปีของธนาคารในช่วงระหว่างปี 2565-2569 นั้น ธนาคารจะยึดมั่นในพันธกิจในการมุ่งสู่การเป็น ?ธนาคารเพื่อสังคม? เพื่อที่จะลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรมตามปณิธาน ซึ่งทำให้ธนาคารมีความแตกต่างไปจากธนาคารพาณิชย์อื่นคือการไม่มุ่งหวังสร้างกำไรสูงสุด
ได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษจากรัฐบาลในกรณีที่มีความจำเป็น
อันดับเครดิตของธนาคารยังคงสะท้อนถึงการประเมินของทริสเรทติ้งว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษจากรัฐบาลอย่างทันท่วงทีและเพียงพอในกรณีที่มีความจำเป็น ซึ่งการประเมินดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานมุมมองของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างธนาคารกับรัฐบาลที่อยู่ในระดับสูงสุดและบทบาทของธนาคารที่มีความสำคัญมากที่สุดต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ การเพิ่มทุนของธนาคารสามารถกระทำได้โดยการจัดสรรเงินทุนจากเงินกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตลอดจนงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือจากแหล่งอื่น ๆ ของรัฐที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าธนาคารยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอรับการสนับสนุนเป็นพิเศษจากรัฐบาลในอนาคตอันใกล้นี้เนื่องจากธนาคารมีฐานะเงินทุนที่เพียงพออยู่แล้ว โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนของธนาคารออมสินอยู่ที่ระดับ 15.3% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ข้อบังคับขั้นต่ำของทางการ ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าความเชื่อมโยงในระดับสูงสุดที่ธนาคารออมสินมีกับรัฐบาลและบทบาทในเชิงนโยบายที่สำคัญมากที่สุดของธนาคารจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้นี้
เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งดำเนินธุรกิจธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยที่แข็งแกร่ง
ธนาคารออมสินเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเมื่อพิจารณาในแง่ของขนาดสินทรัพย์ โดยสินทรัพย์รวมของธนาคารอยู่ที่ระดับ 2.9 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยที่ ธปท. จัดให้เป็นธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) และมีส่วนแบ่งทางการตลาดในส่วนของสินเชื่ออยู่ที่ระดับ 9.8% ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้งหมดในประเทศไทย ทั้งนี้ ธนาคารมีสินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจคิดเป็นสัดส่วน 33.9% ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 และมีสินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจคิดเป็นสัดส่วน 36.5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564
ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารออมสินจะยังคงรักษาความแข็งแกร่งในธุรกิจธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท ทั้งนี้ ธนาคารได้สร้างฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งจำนวนถึง 23 ล้านราย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 โดยผ่านเครือข่ายสาขาที่กว้างขวางในต่างจังหวัด ซึ่ง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 ธนาคารมีจำนวนสาขาถึง 1,054 แห่งทั่วประเทศโดยลูกค้าของธนาคารมากกว่า 60% อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าธนาคารออมสินจะยังคงรักษาความเชื่อมโยงในระดับสูงสุดที่มีกับรัฐบาลตลอดจนสถานภาพทางด้านกฎหมายในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และบทบาทที่สำคัญมากที่สุดในการดำเนินนโยบายของภาครัฐได้ต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ทริสเรทติ้งอาจปรับลดอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารลงหากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของนโยบายของรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อบทบาทของธนาคารในการดำเนินนโยบายของภาครัฐหรือความเชื่อมโยงในระดับสูงสุดระหว่างรัฐบาลและธนาคาร
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ, 30 กรกฎาคม 2563
ธนาคารออมสิน (GSB)
อันดับเครดิตองค์กร: AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable