ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB? ในขณะเดียวกันยังปรับเพิ่มแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น ?Positive? หรือ ?บวก? จาก ?Stable? หรือ ?คงที่? เพื่อสะท้อนถึงแนวโน้มที่ดีขึ้นของกระแสเงินสดของบริษัทเมื่อเทียบกับภาระหนี้อันเป็นผลจากการคาดการณ์ว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาและดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ ได้เป็นอย่างดี
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสินทรัพย์ในการผลิตไฟฟ้าจำนวนมากของบริษัทและกระแสเงินสดที่สามารถคาดการณ์ได้ในระดับสูงจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวเป็นปัจจัยสนับสนุน ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนลงจากความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในประเทศเวียดนาม ในขณะที่ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าในประเทศเวียดนามนั้นก็ยังต้องรอการพิสูจน์ความสำเร็จ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจของอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยที่มีความท้าทายมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ความเสี่ยงของโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาลดน้อยลง
บริษัทประสบความสำเร็จในการดำเนินกลยุทธ์เติบโตด้วยการขยายการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ นอกจากโครงการในประเทศแล้ว บริษัทยังพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่หลายแห่งในประเทศเวียดนามอีกด้วย ณ ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาของโครงการในประเทศเวียดนามรวมกันทั้งสิ้น 1,308 เมกะวัตต์ โดยโครงการเหล่านี้จะต้องเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตามกำหนดเวลาเพื่อให้ได้รับราคาจำหน่ายไฟฟ้าแบบ FiT (Feed-in Tariff) ตามที่ได้ตกลงกันไว้
ความเสี่ยงจากการพัฒนาลดต่ำลงหลังจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ 3 โครงการของบริษัทคือ ?Loc Ninh 1-3? ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกัน 550 เมกะวัตต์สามารถเปิดดำเนินการได้ในช่วงปลายปีที่แล้ว ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในประเทศเวียดนามที่เปิดดำเนินการแล้วรวมกันทั้งสิ้น 887 เมกะวัตต์ โดยยังเหลือโรงไฟฟ้าพลังงานลมอีก 421 เมกะวัตต์ที่จะต้องพัฒนาให้แล้วเสร็จตามกำหนดการในช่วงระหว่างปี 2564-2566 ในการนี้ ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนายังคงมีอยู่เนื่องจากบริษัทยังคงขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผลงานความสำเร็จในการพัฒนาโครงการของบริษัทที่ผ่านมาก็ช่วยลดความกังวลของทริสเรทติ้งลงไปได้บ้าง
การแพร่ระบาดส่งผลต่อกำหนดการในการพัฒนาโครงการ
ผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหลายรายในประเทศเวียดนามต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) โดยเกิดความล่าช้าในการผลิตและการขนส่งกังหันลม ในขณะที่การก่อสร้างและการติดตั้งอุปกรณ์ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการจำกัดการเดินทางและการปิดเมือง (Lockdown) ด้วยเช่นกันผลที่ตามมาอาจทำให้โครงการดังกล่าวไม่ได้รับราคาจำหน่ายไฟฟ้าแบบ FiT ที่ดีได้อีกต่อไป ผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนามจึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลเวียดนามขยายกำหนดเวลาสิ้นสุดการก่อสร้างโครงการออกไป แต่เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐบาลเวียดนาม
เช่นเดียวกับบริษัทอื่น ๆ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมของบริษัทที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างก็ประสบเหตุล่าช้าจากการแพร่ระบาดด้วยเช่นกัน ซึ่งทริสเรทติ้งก็คาดว่าการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity -- EVN) จะขยายกำหนดเวลาสิ้นสุดการก่อสร้างของโครงการให้
สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น
ทริสเรทติ้งยังคงมีมุมมองว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น โดยการแข่งขันเริ่มตึงเครียดมากยิ่งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากนโยบายเปิดเสรีของภาครัฐเพื่อจำกัดโอกาสในการเพิ่มต้นทุนค่าไฟฟ้า ส่งผลให้บริษัทเอกชนต่าง ๆ ตั้งแต่ผู้ประกอบการขนาดเล็กมากไปจนถึงขนาดใหญ่ต่างก็ขยายกิจการเข้าสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจนเกิดการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ในขณะที่อุปสงค์ในการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากผลของการแพร่ระบาด ประเทศไทยก็กำลังประสบกับปัญหากำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองส่วนเกินจำนวนมาก เทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผันไม่ว่าจะเป็นการกักเก็บพลังงานแบบประหยัดหรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการพลังงานจะเอื้อให้ภาคธุรกิจขนาดเล็กและครัวเรือนหันมาผลิตไฟฟ้าเพื่อการบริโภคและซื้อขาย บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าไทยหันไปลงทุนในต่างประเทศกันมากขึ้นจากผลของการมีแรงจูงใจด้านอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ลดลง ตลอดจนการแข่งขันประมูลโครงการที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ความล่าช้าที่เกิดขึ้นต่อเนื่องของโครงการภาครัฐ และผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดต่ำลง อย่างไรก็ตาม การขยายธุรกิจไปในต่างประเทศก็มีความเสี่ยงที่สูงกว่าอันเนื่องมาจากความโปร่งใสและความต่อเนื่องของกฎระเบียบของประเทศที่ไปลงทุน รวมถึงสถานะเครดิตของผู้รับซื้อไฟฟ้า และความท้าทายด้านสภาวะแวดล้อมอีกด้วย
การเปิดรับความเสี่ยงในประเทศเวียดนามเป็นอย่างมาก
บริษัทมีการเปิดรับความเสี่ยงในประเทศเวียดนามเป็นอย่างมาก โดยโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทในประเทศเวียดนามอาจมีกำลังการผลิตคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 2 ใน 3 ของกำลังการผลิตรวมของบริษัทเมื่อทุกโครงการเปิดดำเนินการแล้วทั้งหมด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุปสงค์ในการใช้ไฟฟ้าในประเทศเวียดนามจะเติบโตอย่างรวดเร็วอีกทั้งภาครัฐยังมีมาตรการสนับสนุนมากมาย แต่โครงการโรงไฟฟ้าในประเทศเวียดนามก็มีความเสี่ยงหลายประการ อาทิ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่าง ๆ การปฏิบัติตามสัญญา โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอ และความล่าช้าในการก่อสร้าง นอกจากนี้ ความเสี่ยงของคู่สัญญาเองก็ยังสูงกว่าอีกด้วย ซึ่งทริสเรทติ้งมองว่าสถานะเครดิตของการไฟฟ้าเวียดนามที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นนั้นไม่แข็งแกร่งเท่ากับผู้รับซื้อไฟฟ้าในประเทศไทยที่รัฐเป็นเจ้าของ
โครงการบางแห่งของบริษัทในประเทศเวียดนามได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 โดยปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ต้องถูกตัดทอนลงจากอุปสงค์ในการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงชั่วคราวและระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ไม่สามารถรองรับได้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้ การระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด 19 ทำให้แผนการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาลเวียดนามเกิดความล่าช้า ส่งผลให้บริษัทมีปริมาณไฟฟ้าโดยเฉลี่ยที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าในประเทศเวียดนามต่ำกว่าปริมาณไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ตามความน่าจะเป็นที่ระดับ 90% (ระดับ P90) อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าโรงไฟฟ้าเหล่านี้จะสร้างผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในระยะปานกลางถึงระยะยาวเนื่องจากระบบโครงข่ายไฟฟ้ากำลังได้รับการปรับปรุง
รายได้และกำไรจะยังคงเติบโต
บริษัทมีสินทรัพย์ที่เป็นโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และหลากหลายประกอบด้วยโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วจำนวนมากกว่า 100 แห่ง โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 1,468 เมกะวัตต์ โดยมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นโรงไฟฟ้าประเภทหลักซึ่งมีขนาดประมาณ 1,400 เมกะวัตต์ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงเติบโตต่อไปเมื่อพิจารณาจากโครงการที่อยู่ในแผนและกลยุทธ์การเติบโตของบริษัท ทั้งนี้ นอกจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนามแล้ว บริษัทยังวางแผนในการเพิ่มกำลังการผลิตอีกจำนวน 116 เมกะวัตต์จากโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ ในประเทศไทยซึ่งมีทั้งโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ พลังงานผสม และพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาคเอกชนอีกด้วย
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการทั้งหมดที่มีอยู่ในแผนรวมถึงโครงการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตรวมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้นถึงระดับ 2,000 เมกะวัตต์และจะทำให้รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1.47 หมื่นล้านบาทในปี 2567 ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทน่าจะอยู่ระหว่าง 7.9-9.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566 และหลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.15 หมื่นล้านบาทในปี 2567 ส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานนั้นน่าจะอยู่ระหว่าง 5.6-6.9 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.5 พันล้านบาทในปี 2567
กระแสเงินสดสามารถคาดการณ์ได้ในระดับสูง
เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว โรงไฟฟ้าของบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีและสร้างกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ในระดับสูงตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวและการที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีความเสี่ยงด้านการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำ โดยโรงไฟฟ้าเกือบทุกแห่งของบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ผลิตและผู้จ่ายกระแสไฟฟ้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐของทั้งประเทศไทยและเวียดนาม ซึ่งความเสี่ยงในการไม่ได้รับชำระเงินจากผู้รับซื้อไฟฟ้าในประเทศไทยนั้นอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ในประเทศเวียดนามนั้นอยู่ในระดับที่สูงกว่า
บริษัทมีผลงานที่เป็นที่ยอมรับในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนหลายแห่ง โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจมาโดยตลอด ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการผลิตมา ปริมาณไฟฟ้ารายปีโดยเฉลี่ยที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทนั้นบรรลุการคาดการณ์ตามความน่าจะเป็นที่ระดับ P75 ซึ่งเป็นระดับที่น่าพอใจ ในขณะเดียวกัน บริษัทยังมีการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย ซึ่งส่งผลทำให้อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัททรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่า 80% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
หนึ่งในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมของบริษัทได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานลมโดยทั่วไปแล้วนั้นจะมีความผันผวนมากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทในภาพรวมจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีในระยะ 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทน่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงระหว่าง 80%-85% จากการประหยัดจากขนาดที่เพิ่มสูงขึ้น
กระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้มีแนวโน้มดีขึ้น
บริษัทมีระดับการก่อหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนทางการเงินจากผู้รับเหมาก่อสร้างสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศเวียดนามก็ช่วยรักษาระดับการก่อหนี้ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยบริษัทจะจ่ายค่าก่อสร้างส่วนใหญ่คืนภายหลังจากที่โครงการได้เปิดดำเนินงานแล้ว
ทริสเรทติ้งคาดว่าแรงกดดันต่อระดับการก่อหนี้ของบริษัทจะลดลง โดยผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วและกระแสเงินสดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นของบริษัทน่าจะช่วยสนับสนุนการลงทุนที่วางแผนไว้ ภายใต้สมมติฐานงบลงทุนที่ระดับ 1-2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567 ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งลดลงจาก 6-7 เท่าในประมาณการครั้งก่อนของทริสเรทติ้ง ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทน่าจะอยู่ในช่วง 11%-13% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนน่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 70% หรือต่ำกว่าเมื่อเทียบกับระดับ 65%-75% ในประมาณการครั้งก่อนของทริสเรทติ้ง
การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าซุปเปอร์เอนเนอร์ยี หรือ SUPEREIF ในปี 2562 นั้นช่วยให้บริษัทสามารถบริหารจัดการภาระหนี้และขยายความสามารถในการลงทุนในอนาคตได้ โดยโรงไฟฟ้าในปัจจุบันที่ดำเนินการแล้วของบริษัทซึ่งมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่นั้นช่วยให้บริษัทสามารถจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นทางเลือกในการระดมทุนสำหรับการขยายธุรกิจได้
โครงสร้างหนี้
ณ เดือนกันยายน 2564 หนี้เงินกู้รวมของบริษัทมีจำนวนทั้งสิ้น 5.02 หมื่นล้านบาท โดยจำนวน 4.29 หมื่นล้านบาทเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) ซึ่งประกอบด้วยหนี้ของบริษัทเฉพาะส่วนที่มีหลักประกันและหนี้ทั้งหมดของบริษัทย่อย ทำให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 86% ซึ่งสูงกว่าระดับ 50% ตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้? ของทริสเรทติ้ง ส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความด้อยสิทธิ์กว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาจากสิทธิ์เรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท
สภาพคล่องยังคงบริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะจัดการสภาพคล่องได้อย่างเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทมีเงินสดและวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมกันจำนวนประมาณ 1.8 พันล้านบาท เงินทุนจากการดำเนินงานในอีก 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 5.7 พันล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีแหล่งเงินสดรวมกันที่จำนวนทั้งสิ้น 7.4 พันล้านบาทซึ่งเพียงพอต่อการชำระหนี้ระยะยาวและไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในอีก 12 เดือนข้างหน้าซึ่งรวมกันอยู่ที่จำนวน 5.7 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่คาดว่าจะเปลี่ยนไปเป็นเงินกู้โครงการระยะยาว
บริษัทและบริษัทย่อยมีข้อกำหนดทางการเงินสำหรับวงเงินกู้ที่มีกับธนาคารและหุ้นกู้ โดยบริษัทต้องดำรงอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ไว้ไม่น้อยกว่า 1.2 เท่าและต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุนที่ไม่เกิน 3 เท่า ในขณะที่บริษัทย่อยต้องดำรงอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ไว้ไม่น้อยกว่า 1-1.2 เท่าและต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุนที่ไม่เกิน 2-3 เท่า ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทและบริษัทย่อยจะสามารถบริหารจัดการภาระความรับผิดชอบภายใต้ข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? กำลังการผลิตรวมของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วของบริษัทจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 2,000 เมกะวัตต์ในปี 2567
? รายได้จากการดำเนินงานรวมคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 9.6 พันล้านบาทในปี 2565 ที่ระดับ 1.18 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และที่ระดับ 1.47 หมื่นล้านบาทในปี 2567
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ในช่วง 80%-85%
? งบลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 1-2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567
? ผู้รับเหมาก่อสร้างจะให้เครดิตระยะยาวในการชำระเงินสำหรับโครงการก่อสร้างในประเทศเวียดนาม
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Positive? หรือ ?บวก? สะท้อนถึงแนวโน้มความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่เพิ่มสูงขึ้นของบริษัทเมื่อเทียบกับภาระหนี้โดยอยู่ภายใต้การคาดการณ์ว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาและดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ ได้เป็นอย่างดี
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากผลการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามที่คาดไว้ รวมทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาแล้วเสร็จสมบูรณ์ และระดับของกระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้สอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้งโดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 6 เท่า ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงได้หากโครงสร้างหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่ถดถอยลง การลงทุนที่ใช้เงินกู้มากเกินไป โครงการมีความล่าช้า หรือต้นทุนในการก่อสร้างที่สูงเกินกว่างบที่ตั้งไว้เป็นอย่างมาก
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SUPER)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Positive