ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของบริษัทที่อยู่ในระดับปานกลาง ฐานทุนที่แข็งแกร่ง สถานะความเสี่ยงที่เข้มแข็ง ตลอดจนสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่บริหารจัดการได้
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลาง
สถานะทางธุรกิจของบริษัทยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากบทบาทเฉพาะของบริษัทในฐานะที่เป็นสถาบันสินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์แห่งเดียวในประเทศไทยซึ่งมีพันธกิจในการเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และเป็นกลไกของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนของประเทศไทย ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทให้บริการสินเชื่อแก่บริษัทหลักทรัพย์ไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 840 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจาก 600 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563
สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจหลักคือการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin Lending) นั้นยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยค้ำจุนสถานะทางธุรกิจของบริษัท โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทอยู่ในอันดับที่ 7 ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 4.6% ลดลงเล็กน้อยจากอันดับที่ 5 และ 6 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์นั้น บริษัทมีสัดส่วนคงค้างโดยเฉลี่ยที่จำนวนประมาณ 4 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 60% จากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าระดับ 103% ของค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีการพึ่งพาบริษัทหลักทรัพย์ในการส่งต่อสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์มาให้ ซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการขยายธุรกิจมีข้อจำกัดเนื่องจากบริษัทไม่สามารถเข้าหาลูกค้าได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็คาดว่าสินเชื่อรวมของบริษัทจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากบริษัทมีแผนจะพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อส่งเสริมการแนะนำลูกค้าจากบริษัทหลักทรัพย์ให้เพิ่มมากขึ้นอีกทั้งจะทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าทั้งรายย่อยและรายใหญ่ด้วย
แหล่งที่มาของรายได้ของบริษัทกระจุกตัวอยู่ที่รายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ค่อนข้างสูง ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อสถานะทางธุรกิจของบริษัทต่อไปเนื่องจากทริสเรทติ้งมองว่าฐานรายได้ของบริษัทอาจมีความอ่อนไหวต่ออุปสงค์สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ที่ลดลงจากการเปลี่ยนแปลงความนิยม ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 รายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์คิดเป็นสัดส่วน 89% ของรายได้รวมของบริษัท ส่วนรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อสำหรับบริษัทหลักทรัพย์คิดเป็นสัดส่วน 9% ในขณะที่ฐานรายได้จากค่าธรรมเนียมยังคงมีสัดส่วนที่จำกัด ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าพัฒนาการด้านสถานะทางธุรกิจของบริษัทที่จะนำไปสู่การปรับอันดับเครดิตในทางบวกได้นั้นบริษัทจำเป็นจะต้องมีสัดส่วนรายได้ที่มีการกระจายตัวอย่างมีสาระสำคัญ
ฐานทุนที่แข็งแกร่ง
อันดับเครดิตของบริษัทมีปัจจัยสนับสนุนจากฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทโดยวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงซึ่งทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 19% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าฐานทุนของบริษัทจะยังคงมีความแข็งแรงในระยะปานกลางจากพอร์ตสินเชื่อของบริษัทที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงจากนโยบายการลงทุนที่มีความระมัดระวัง และนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่เหมาะสมของบริษัท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไป (NCR) อยู่ที่ระดับ 53.6% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ของทางการขั้นต่ำที่ระดับ 7% เป็นอย่างมาก
ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้าด้วยอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ระดับประมาณ 1% ทั้งนี้ ความสามารถในการสร้างผลกำไรให้สูงขึ้นของบริษัทนั้นถูกจำกัดด้วยบทบาทหลักในการเป็นสถาบันสินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งทำให้บริษัทไม่สามารถแข่งขันและขยายธุรกิจในเชิงรุกได้
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าการควบคุมต้นทุนทางการเงินและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ดีจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้ในระยะปานกลาง ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมอยู่ที่ระดับ 36.3% ซึ่งลดลงจากระดับ 47.1% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 อันเนื่องมาจากฐานรายได้ที่ขยายตัว
สถานะทางความเสี่ยงที่เข้มแข็ง
สถานะความเสี่ยงที่เข้มแข็งของบริษัทได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงที่รัดกุมซึ่งได้รับการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทผ่านทางคณะกรรมการบริษัท เพื่อเป็นการลดทอนความเสี่ยงทางด้านเครดิต บริษัทยังคงรักษานโยบายการควบคุมความเสี่ยงในการอนุมัติสินเชื่อ ตลอดจนการจัดระดับของหลักทรัพย์ที่อนุญาตให้ซื้อขาย และการควบคุมดูแลระดับหลักประกันที่รัดกุม ทั้งนี้ คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทยังคงเข้มแข็งและไม่มีค่าใช้จ่ายหนี้สูญเพิ่มเติมในช่วงระหว่าง 9 เดือนแรกของปี 2564 แต่อย่างใด ในขณะที่ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ของบริษัทก็ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้เนื่องจากพอร์ตเงินลงทุนของบริษัทมีขนาดเล็กและมีความเสี่ยงต่ำโดยประกอบไปด้วยเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการลงทุนของบริษัท ทั้งนี้ เงินลงทุนของบริษัทมีสัดส่วนคิดเป็นเพียง 4% ของสินทรัพย์รวมของบริษัท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 เท่านั้น
มีสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับปานกลาง
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีสถานะด้านแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับเพียงพอจากความไม่สอดคล้องกันของโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยบริษัทพึ่งพาเงินกู้ยืมระยะสั้นเป็นแหล่งเงินทุนหลักในขณะที่การใช้ไปของเงินทุนบางส่วนของบริษัทนั้นมีระยะเวลาไถ่ถอนที่ยาวนานกว่า อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งไม่มีความกังวลในเรื่องความไม่สอดคล้องกันดังกล่าวเนื่องจากบริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อที่เพียงพอจากสถาบันการเงินหลายแห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะยาวเพื่อแก้ไขความไม่สอดคล้องกันของโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินดังกล่าวอีกด้วย โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อทั้งสิ้นจำนวน 8.2 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณ 7 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 ในขณะที่วงเงินประมาณ 70% ของสินเชื่อดังกล่าวยังไม่มีการเบิกใช้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2564-2567 มีดังนี้
? สินเชื่อรวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 5-6 พันล้านบาท
? ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะแกว่งตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 3%
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 40%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสามารถดำรงสถานะฐานทุนที่แข็งแกร่งและความสามารถในการสร้างผลกำไร ตลอดจนสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องเอาไว้ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถกระจายสัดส่วนของรายได้ได้อย่างมีสาระสำคัญหรือมีฐานทุน และความสามารถในการสร้างผลกำไรที่แข็งแกร่งมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากบริษัทมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญหรือมีฐานทุน ภาระหนี้ และผลกำไรที่เสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจนทำให้อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงลดลงต่ำกว่าระดับ 15% ติดต่อกันเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน) (TSFC)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable