ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท อีเทอร์นิตี้ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความคาดหวังว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมของบริษัทในประเทศเวียดนามจะสร้างผลกำไรที่แน่นอน ตลอดจนสภาพคล่องและระดับกระแสเงินสดต่อหนี้สินของบริษัทที่เพิ่มขึ้นภายหลังจากการขายเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมออกไป ในทางกลับกัน อันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนาม ตลอดจนความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจในประเทศดังกล่าว และสภาพแวดล้อมที่ท้าทายยิ่งขึ้นของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัทอีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัทแม่คือ บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิต ?BBB-/Stable?) เนื่องจากบริษัทมีบทบาทสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อกลุ่มและสร้างรายได้หลักให้แก่กลุ่ม โดยบริษัททำหน้าที่เป็นหน่วยดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าให้แก่กลุ่ม ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมีประมาณการว่า บริษัทจะสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ให้แก่กลุ่มที่ระดับประมาณ 90% ของ EBITDA ของทั้งกลุ่ม
สถานะเครดิตเฉพาะ (Standalone Credit Profile -- SACP) ของบริษัทอยู่ที่ระดับ ?bbb-? และด้วยสถานะที่เป็นบริษัทย่อยหลัก อันดับเครดิตของบริษัทจึงเท่ากับอันดับเครดิตบริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป ซึ่งอยู่ที่ระดับ ?BBB-? ด้วยเช่นกัน
รายได้ที่แน่นอนจากโรงไฟฟ้าพลังงานลม
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หลายโครงการทั้งในประเทศไทย ญี่ปุ่น และเวียดนาม นอกจากนี้ บริษัทยังถือเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมจำนวน 3 แห่งอีกด้วย เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง
ภายหลังการขายเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานแล้วหลายแห่งออกไป รายได้ของบริษัทจึงมาจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคากลุ่มเล็ก ๆ ในประเทศไทยซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และผู้ซื้อไฟฟ้าเอกชน โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าทั้งหมดเป็นแบบ Non-firm (สัญญาที่ผู้ผลิตไม่มีข้อผูกมัดเกี่ยวกับการสั่งเดินเครื่องและจะได้รับเฉพาะค่าพลังงานไฟฟ้า) อย่างไรก็ตาม บริษัทมีรายได้จากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาเพียง 80-90 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น
ปัจจุบันบริษัทกำลังก่อสร้างฟาร์มกังหันลมจำนวน 4 แห่งในประเทศเวียดนามซึ่งมีกำลังการผลิตสุทธิประมาณ 157 เมกะวัตต์ ดังนั้น รายได้ในอนาคตของบริษัทจึงขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการพัฒนาโครงการดังกล่าวเป็นอย่างมาก เมื่อพิจารณาจากความสำเร็จในการพัฒนาโครงการในอดีตของบริษัทแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมได้เสร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าฟาร์มกังหันลมจะสร้างรายได้ในระดับสูงให้แก่บริษัทอย่างต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไป ในขณะที่ความแน่นอนของกระแสเงินสดนั้นจะขึ้นอยู่กับการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity -- EVN) ตลอดจนอัตราค่าไฟฟ้าคงที่ และผลการดำเนินงานที่คาดว่าจะเป็นที่น่าพึงพอใจ
โครงการฟาร์มกังหันลมจะช่วยเพิ่มรายได้
ภายใต้ประมาณการพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะเริ่มเปิดดำเนินการฟาร์มกังหันลม 3 แห่งแรกในเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนมีนาคม 2565 ด้วยกำลังการผลิตรวม 125 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการที่เหลือซึ่งมีกำลังการผลิต 32 เมกะวัตต์จะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งทุกโครงการจะได้รับอัตราค่าไฟฟ้าคงที่ (Feed-in Tariff -- FiT) ที่ระดับ 8.5 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เมื่อฟาร์มกังหันลมทุกโครงการเปิดดำเนินการเต็มกำลังแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมจะสร้าง EBITDA ให้แก่บริษัทที่จำนวน 1 พันล้านบาทต่อปี
โรคระบาดทำให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้าง
ผู้พัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมหลายรายในประเทศเวียดนามต่างก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ซึ่งส่งผลทำให้การผลิตและการขนส่งกังหันลมมีความล่าช้า ทั้งนี้ การก่อสร้างโครงการและการติดตั้งอุปกรณ์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากมาตรการจำกัดการเดินทางและมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ซึ่งความล่าช้าในลักษณะเดียวกันก็เกิดกับโครงการฟาร์มกังหันลมของบริษัทในประเทศเวียดนามที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างด้วยเช่นกัน
ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2564 ความคืบหน้าในการก่อสร้างฟาร์มกังหันลม 2 แห่งของบริษัทในจังหวัดกว๋างตรี (96 เมกะวัตต์) อยู่ที่ประมาณ 80%-90% ในขณะที่อีก 2 แห่งในจังหวัดเกียลาย (61 เมกะวัตต์) มีความคืบหน้าน้อยกว่า ส่งผลให้รายได้ของบริษัทในปี 2564 และปี 2565 น้อยกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้
ความเสี่ยงที่อัตราค่าไฟฟ้าจะถูกปรับลดลง
รัฐบาลเวียดนามได้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่เป็นระยะเวลา 20 ปีที่ราคา 8.5 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมติดตั้งบนบกที่สามารถเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งโครงการที่ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ภายในเวลาที่กำหนดนั้นมีความเสี่ยงที่อัตราค่าไฟฟ้าจะถูกปรับลดลง เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมของบริษัทไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ตามเวลาที่กำหนดจึงมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับอัตราค่าไฟฟ้าในราคาเดิมอีกต่อไป ปัจจุบันผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหลายรายได้ร้องขอให้รัฐบาลเวียดนามขยายกำหนดเวลาออกไป แม้ว่าการตัดสินใจของรัฐบาลจะอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณา แต่ในประมาณการของทริสเรทติ้งก็ได้ตั้งสมมุติฐานว่าบริษัทจะยังคงได้รับอัตราค่าไฟฟ้าอัตราเดิมต่อไปเอาไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม หากการก่อสร้างยังมีความล่าช้าออกไปอีกก็จะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดที่คาดไว้ได้
นอกเหนือจากความเสี่ยงในการก่อสร้างแล้ว โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมก็มักมีความเสี่ยงในการปฏิบัติการที่สูงกว่า เช่น ความเสียหายทางด้านกลไกและด้านไฟฟ้า ความสำเร็จของการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความเร็วของลม ความผันแปรเล็กน้อยของความเร็วลมในช่วงระยะเวลาหนึ่งอาจทำให้จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้มีการเบี่ยงเบนอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น โครงการฟาร์มกังหันลมแห่งแรกของบริษัทจึงยังจะต้องมีการพิสูจน์ผลสำเร็จในการดำเนินงานต่อไป
การขายเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม
ในเดือนธันวาคม 2564 บริษัทได้ขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยคือ บริษัท อีสเทอร์น โคเจนเนอเรชั่น จำกัด (Eastern Cogeneration Co., Ltd. -- E-COGEN) ให้แก่ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ บีจีพี จำกัด (Univentures BGP Co., Ltd. -- UVBGP) ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าระหว่าง บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) (Univentures PLC -- UV) และ บริษัท บี. กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (B. Grimm Power PLC -- BGRIM) โดย E-COGEN ถือหุ้นในบริษัท พีพีทีซี จำกัด (PPTC Co., Ltd. -- PPTC) และบริษัท เอสเอสยูที จำกัด (SSUT Co., Ltd. -- SSUT) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 3 แห่งภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 25 ปีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสัญญาระยะยาวกับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม การขายเงินลงทุนทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทลดลงไปประมาณครึ่งหนึ่งเหลือ 164 เมกะวัตต์เมื่อวัดตามสัดส่วนของความเป็นเจ้าของโดยประกอบไปด้วยกำลังไฟฟ้าขนาด 157 เมกะวัตต์จากโครงการฟาร์มกังหันลมจำนวน 4 แห่งที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในประเทศเวียดนามและอีก 7 เมกะวัตต์จากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาที่เปิดดำเนินงานแล้ว อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าการขายกิจการไม่ได้ส่งผลกระทบต่อ EBITDA ของบริษัทแต่อย่างใดเนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมไม่ได้จ่ายเงินปันผลจากการมีปัญหาข้อพิพาทที่ยาวนานกับผู้รับเหมาด้านวิศวกรรม การจัดซื้อจัดจ้าง และการก่อสร้าง (Engineering, Procurement, and Construction -- EPC)
สภาพคล่องเพิ่มขึ้น
ธุรกรรมการขายเงินลงทุนจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่บริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับเงินสดจำนวน 1.07 หมื่นล้านบาท สุทธิจากสำรองอนุญาโตตุลาการและจะรับรู้กำไรจำนวน 2 พันล้านบาทจากการขายเงินลงทุน ทั้งนี้ ภายใต้ประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่า บริษัทจะใช้เงินประมาณ 6.3 พันล้านบาทสำหรับชำระหนี้ระยะสั้นและจะมีเงินสดคงเหลือในมือจำนวน 4.4 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 โดยบริษัทวางแผนจะจ่ายต้นทุนการก่อสร้างที่เหลืออยู่ของโครงการฟาร์มกังหันลมด้วยเงินสดเนื่องจากโครงการไม่ได้ใช้เงินทุนจากผู้รับเหมาอีกต่อไป ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะจ่ายค่าใช้จ่ายที่เหลือของโครงการฟาร์มกังหันลมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2.1 พันล้านบาทในปี 2565 ซึ่งเงินสดที่มีอยู่จากการขายเงินลงทุนสามารถรองรับภาระดังกล่าวได้ทั้งหมด ดังนั้น ความเสี่ยงจากการก่อสร้างฟาร์มกังหันลมจึงลดลงไปบางส่วน
กระแสเงินสดดีขึ้นเมื่อเทียบกับหนี้สิน
โดยรวมแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะลดลงเหลือประมาณ 33 ล้านบาทในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 900 ล้านบาทในปี 2565 จากนั้นจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.3 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2567 ในขณะเดียวกัน EBITDA ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 700 ล้านบาทในปี 2565 และ 1 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2567
ภายใต้ประมาณการพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อ EBITDA ของบริษัทจะดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3-5 เท่าภายในปี 2566 และคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 390 ล้านบาทในปี 2565 และประมาณ 570 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2567 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 10% ในปี 2565 และจะสูงถึงระดับ 16%-18% ในระหว่างปี 2566-2567 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ 23% ในปี 2564 จากระดับ 69% ในปี 2563 อีกด้วย ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้อยู่ที่ระดับประมาณ 40%-45% ซึ่งต่ำกว่าระดับ 60%-70% ในช่วงปีแรก ๆ ที่บริษัทเริ่มเปิดดำเนินงานเอาไว้ได้
สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ท้าทายยิ่งขึ้น
ทริสเรทติ้งยังคงมีมุมมองว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น โดยการแข่งขันเริ่มตึงเครียดมากยิ่งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากนโยบายเปิดเสรีของภาครัฐเพื่อจำกัดโอกาสในการเพิ่มต้นทุนค่าไฟฟ้า ส่งผลให้บริษัทเอกชนต่าง ๆ ตั้งแต่ผู้ประกอบการขนาดเล็กมากไปจนถึงขนาดใหญ่ต่างก็ขยายกิจการเข้าสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ในขณะที่อุปสงค์ในการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากผลของการแพร่ระบาด ประเทศไทยก็กำลังประสบกับปัญหากำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองส่วนเกินจำนวนมาก บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าไทยหันไปลงทุนในต่างประเทศกันมากขึ้นจากผลของการมีแรงจูงใจด้านอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ลดลง ตลอดจนการแข่งขันประมูลโครงการที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ความล่าช้าที่เกิดขึ้นต่อเนื่องของโครงการภาครัฐ และผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดต่ำลง อย่างไรก็ตาม การขยายธุรกิจไปในบางประเทศก็มีความเสี่ยงที่สูงกว่าอันเนื่องมาจากความโปร่งใสและความต่อเนื่องของกฎระเบียบของประเทศที่ไปลงทุน ตลอดจนความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อไฟฟ้า และความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม
การเปิดรับความเสี่ยงในประเทศเวียดนามเป็นอย่างมาก
บริษัทมีการเปิดรับความเสี่ยงในประเทศเวียดนามเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าในประเทศเวียดนามจะมีสัดส่วนเกือบ 100% ของกำลังการผลิตและรายได้ทั้งหมดของบริษัทเมื่อโครงการฟาร์มกังหันลมของบริษัททุกแห่งเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2565 นอกจากนี้ บริษัทยังคงมองหาโอกาสเพิ่มเติมในประเทศเวียดนามด้วยจำนวนเงินลงทุนที่มากขึ้นอีกด้วย แม้ว่าอุปสงค์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ทริสเรทติ้งก็มองว่าการลงทุนในประเทศเวียดนามมีความเสี่ยงอยู่หลายประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ การบังคับใช้สัญญา โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ และความล่าช้าในการก่อสร้าง นอกจากนี้ ความเสี่ยงของคู่สัญญาก็มีสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด ทริสเรทติ้งมองว่าสถานะเครดิตของ EVN นั้นไม่แข็งแกร่งเท่ากับผู้ซื้อไฟฟ้าไทยที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าของ นอกจากนี้ การลงทุนโดยการก่อหนี้จำนวนมากก็จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตด้วยเช่นกัน
โครงสร้างเงินทุน
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีหนี้สินจำนวน 8.9 พันล้านบาท โดยหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ของบริษัทย่อยซึ่งถือเป็นหนี้หนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน ทำให้อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้ทั้งหมดของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 59% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 50% ทริสเรทติ้งจึงมองว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญในแง่ของลำดับในการเรียกร้องต่อทรัพย์สินของบริษัท ทั้งนี้ หลังจากการขายเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ออกไปแล้ว ทริสเรทติ้งก็คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะลดลงชั่วคราวมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 10% อย่างไรก็ตาม
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะกลับมาอยู่ในระดับมากกว่า 50% เมื่อโครงการฟาร์มกังหันลมได้รับอนุมัติเงินกู้โครงการ
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? อัตราความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาจะอยู่ที่ระดับประมาณ 13%
? โครงการฟาร์มกังหันลมในประเทศเวียดนามจะใช้ประมาณการ P90 (สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในระดับความน่าจะเป็นที่ 90%)
? รายได้จะอยู่ที่ระดับ 900 ล้านบาทในปี 2565 และจะเพิ่มเป็น 1.3 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2567
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 76%-80%
? ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนโดยรวมจะอยู่ที่จำนวน 7.9 พันล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2564-2567
? บริษัทจะได้รับเงินกู้โครงการจำนวน 5.5 พันล้านบาทในปี 2565 สำหรับโครงการฟาร์มกังหันลมในประเทศเวียดนาม
? เงินปันผลจ่ายจะอยู่ที่จำนวน 687 ล้านบาทในปี 2565 และจะอยู่ที่ราว ๆ 70-100 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าโครงการฟาร์มกังหันลมของบริษัทจะเปิดดำเนินการได้ตามที่ประมาณการไว้และจะมีผลการดำเนินงานตามที่คาดไว้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะบริหารจัดการสภาพคล่องอย่างระมัดระวังในช่วงการก่อสร้างโครงการฟาร์มกังหันลมอีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดได้มากกว่าคาดอย่างต่อเนื่องและจะทำให้ระดับกระแสเงินสดเมื่อเปรียบเทียบกับระดับหนี้สินปรับตัวดีขึ้น ในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้อย่างมากซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเปิดดำเนินการที่ล่าช้าอีกของโครงการฟาร์มกังหันลม หรือจากอัตราค่าไฟฟ้าที่ลดลง หรือผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าคาดอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากบริษัทมีการลงทุนขนาดใหญ่เพิ่มเติมจนเป็นผลทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องหรือความเสี่ยงด้านการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
ตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ? ของทริสเรทติ้งนั้น อันดับเครดิตของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับบริษัทแม่คือบริษัทอีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (อันดับเครดิต ?BBB-/Stable?) โดยการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแม่จะมีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท อีเทอร์นิตี้ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (ETP)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable