ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป” เป็น “A-” จาก “A”, แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 4, 2022 11:00 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ ?A-? จาก ?A? และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? จาก ?Negative? หรือ ?ลบ? โดยการลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานของบริษัทที่ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เนื่องจากการแพร่ระบาดที่ยาวนานของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ซึ่งส่งผลกดดันต่อสถานะเครดิตของบริษัทลดลงต่ำกว่าระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตครั้งก่อน ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นจากการกลับมาให้บริการโรงภาพยนตร์ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 หลังจากที่ถูกกำหนดให้ปิดให้บริการ 5 เดือน แต่การฟื้นตัวของผลการดำเนินงานถูกท้าทายอีกครั้งจากการเริ่มระบาดของเชื้อไวรัสตัวใหม่สายพันธุ์โอมิครอน ทั้งนี้ การเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตพิจารณาถึงภาระหนี้ของบริษัทที่ลดลงอย่างมากจากการจำหน่ายเงินลงทุนใน บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (SF) และการมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่งซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถยืนหยัดได้ในช่วงที่อาจมีผลกระทบต่อรายได้ในช่วง 2-3 ไตรมาสข้างหน้า

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย ตลอดจนการมีโรงภาพยนตร์ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดีทั่วประเทศ และสถานะที่เป็นเอกลักษณ์ของบริษัทในธุรกิจสื่อโฆษณา อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความอ่อนไหวต่อปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ต่าง ๆ อาทิเช่น ปริมาณของภาพยนตร์ที่เข้าฉาย รวมทั้งความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์ และการแข่งขันที่สูงขึ้นจากกิจกรรมนันทนาการประเภทอื่น

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ผลการดำเนินงานยังคงได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 แต่คาดว่าจะฟื้นตัว

ผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องจากโรคโควิด 19 การฟื้นตัวของผลการดำเนินงานของบริษัทล่าช้ากว่าที่ได้ประมาณการไว้เป็นอย่างมากเนื่องจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงของโรคโควิด 19 ครั้งล่าสุดและการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า แม้ว่าผู้สร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดเริ่มนำภาพยนตร์ที่มีการลงทุนสูงเข้าฉายในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 แต่รายได้ของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ยังลดลงอย่างต่อเนื่องที่ 33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเนื่องจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า โดยในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2564 บริษัทต้องปิดโรงภาพยนตร์เกือบทั้งหมดของบริษัทเป็นเวลามากกว่า 5 เดือนหลังจากที่ภาครัฐใช้มาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และบริษัทต้องลดจำนวนที่นั่งลงเมื่อกลับมาเปิดให้บริการใหม่เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม

ทริสเรทติ้งคาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วง 2 ปีข้างหน้า โรงภาพยนตร์ของบริษัทกลับมาให้บริการได้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 หลังจากที่ภาครัฐดำเนินนโยบายในการกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติและอยู่ร่วมกับโรคโควิด 19 และค่อย ๆ ผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองตามสถานการณ์ที่ดีขึ้นของโรคโควิด 19 จำนวนผู้เข้าชมในโรงภาพยนตร์ในประเทศค่อย ๆ ฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 โดยมีภาพยนตร์อย่างน้อย 3 เรื่องที่สร้างรายได้เรื่องละเกินกว่า 100 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าจะมีภาพยนตร์ที่มีการลงทุนสูงเข้าฉายมากขึ้นในปี 2565 หากผู้สร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดยังคงนำภาพยนตร์เข้าฉายตามกำหนด นอกจากนี้ ผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยก็ยังมีแผนจะนำภาพยนตร์ไทยเข้าฉายมากขึ้นในปี 2565 ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 130% ในปี 2565 และ 35% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับที่ลดลงประมาณ 30% ในปี 2564

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของผลการดำเนินงานของบริษัทมีอุปสรรคขึ้นอีกครั้งจากการเริ่มระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน แม้ว่าทริสเรทติ้งคาดว่าภาครัฐจะไม่บังคับใช้มาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวดอีกครั้ง แต่การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงก็จะส่งผลกระทบต่อความต้องการชมภาพยนตร์เนื่องจากผู้ชมมีความกังวลต่อสุขภาพ

บริษัทมีการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข็มงวดโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร บริษัทยังได้รับการยกเว้นค่าเช่าจากผู้ให้เช่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 24% ในปี 2564 เนื่องจากรายได้ของบริษัทลดลงอย่างมาก ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะปรับตัวดีขึ้นโดยอยู่ที่ระหว่าง 30%-35% ในปี 2565 และปี 2566 ตามการฟื้นตัวของรายได้

ผลการดำเนินงานขึ้นอยู่กับภาพยนตร์ที่ออกฉายทั้งในแง่ของจำนวนและความนิยม

รายได้จากผู้ชมภาพยนตร์ขึ้นอยู่กับจำนวนภาพยนตร์ที่ออกฉาย รวมถึงคุณภาพและความนิยมของภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์ต่างประเทศ ในช่วงปี 2558-2562 รายได้จากภาพยนตร์ต่างประเทศมีสัดส่วนมากกว่า 80% ของรายได้จากการฉายภาพยนตร์ของบริษัท เนื่องจากการแพร่ระบาดทั่วโลกทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดเลื่อนการฉายภาพยนตร์ที่มีการลงทุนสูงออกไปในปี 2563 ซึ่งทำให้กระทบความสามารถในการสร้างรายได้ของบริษัทแม้ว่าการแพร่ระบาดในประเทศไทยถูกควบคุมได้เป็นอย่างดี ผู้สร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดบางรายเริ่มนำภาพยนตร์ที่มีการลงทุนสูงเข้าฉายอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ตามสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ที่ปรับตัวดีขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาและมีกำหนดที่จะฉายภาพยนตร์มากขึ้นในปี 2565 อย่างไรก็ตาม กำหนดการฉายภาพยนตร์ฮอลลีวูดอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา

เพื่อหารายได้จากภาพยนตร์ให้ได้มากที่สุดในช่วงที่มีการแพร่ระบาด ผู้ผลิตภาพยนตร์รายใหญ่บางรายได้กำหนดให้มีการฉายภาพยนตร์ในโรงพร้อมกับช่องทาง Premium Video On-demand ผู้ผลิตภาพยนตร์บางรายยังลดช่วงห่างของระยะเวลาระหว่างการฉายภาพยนตร์ในโรงกับการเผยแพร่ในช่องทางอื่น ๆ เช่น Premium Video On-demand หรือการฉายในระบบบอกรับสมาชิก ความสำเร็จของรายได้จากช่องทางอื่น ๆ อาจส่งผลให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ยังคงลดช่วงห่างของระยะเวลาระหว่างการฉายภาพยนตร์ในโรงกับการเผยแพร่ในช่องทางอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าระยะเวลาที่อาจสั้นลงนั้นจะส่งผลกระทบต่อบริษัทน้อยมากเนื่องจากการฉายภาพยนตร์ผ่านช่องทาง Premium Video On-demand ยังไม่เป็นที่นิยมของผู้ชมชาวไทย นอกจากนี้ ระยะเวลาที่สั้นลงอาจส่งผลต่อประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์อีกด้วย ทริสเรทติ้งยังคงเชื่อว่าการรักษาระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างการฉายภาพยนตร์ในโรงกับการเผยแพร่ในช่องทางอื่น ๆ จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับผู้ผลิตภาพยนต์ในการสร้างรายได้ให้ได้มากที่สุดหลังจากที่การแพร่ระบาดทั่วโลกสามารถควบคุมได้เป็นส่วนใหญ่เมื่อพิจารณาถึงการลงทุนจำนวนมากที่ใช้ในการผลิตภาพยนตร์

เพื่อลดการพึ่งพิงภาพยนตร์ต่างประเทศและเพิ่มรายได้ บริษัทมีแผนจะผลิตภาพยนตร์ไทยเพิ่มมากขึ้นจากประมาณ 10 เรื่องต่อปีเป็น 20 เรื่องในปี 2565 ทั้งนี้ กลยุทธ์ของบริษัทคือการร่วมมือกับผู้ร่วมทุนหลายรายในการผลิตและฉายภาพยนตร์ไทย โดยกลยุทธ์ดังกล่าวมาจากการที่บริษัทมีจำนวนจอภาพยนตร์มากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในโรงภาพยนตร์ในต่างจังหวัดและผู้ชมก็ชื่นชอบภาพยนตร์ไทยมากกว่า โดยจำนวนภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายมากขึ้นจะช่วยให้บริษัทมีรายได้จากโรงภาพยนตร์ในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้นและจะลดการพึ่งพิงภาพยนตร์ฮอลลีวูดลง นอกจากนี้ บริษัทยังนำภาพยนตร์ไทยเข้าฉายในช่วงที่มีภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ลงทุนสูงเข้าฉายน้อยได้อีกด้วย ในการนี้ บริษัทคาดว่ารายได้จากภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ต่างประเทศจะอยู่ในสัดส่วนที่เท่ากันในอนาคต อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของภาพยนตร์ไทยที่บริษัทผลิตเองนั้นยังคงต้องรอการพิสูจน์ด้วยเช่นกัน

รายได้จากธุรกิจโฆษณาลดลง แต่คาดว่าจะฟื้นตัว

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 รายได้จากธุรกิจโฆษณาของบริษัทลดลง 62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเนื่องจากการปิดโรงภาพยนตร์และลูกค้าลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาในช่วงที่มีการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจโฆษณาของบริษัทจะฟื้นตัวในปี 2565 และปี 2566 ตามการกลับมาเปิดให้บริการโรงภาพยนตร์และจำนวนภาพยนตร์ที่มีการลงทุนสูงที่จะเข้าฉายมากขึ้นประกอบกับการฟื้นตัวของธุรกิจโฆษณา ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจโฆษณาจะอยู่ที่ประมาณ 250 ล้านบาทในปี 2564 โดยปรับเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 700 ล้านบาทในปี 2565 และ 1 พันล้านบาทในปี 2566

บริษัทเป็นที่ดึงดูดความสนใจของนักโฆษณาเพราะบริษัทมีโรงภาพยนตร์จำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศและมีปริมาณลูกค้ามาก บริษัทสามารถเสนอรูปแบบการโฆษณาได้หลากหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาในโรงภาพยนตร์ บนจอโฆษณาติดผนัง และบนจอโทรทัศน์ที่ติดตั้งภายในและรอบบริเวณโรงภาพยนตร์ โดยผู้โฆษณายังสามารถใช้โรงภาพยนตร์ของบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือเป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมทางการตลาดได้อีกด้วย

ธุรกิจโฆษณายังคงสร้างกระแสเงินสดอย่างมีนัยสำคัญให้แก่บริษัท จากการที่ธุรกิจสื่อและโฆษณามีค่าใช้จ่ายต่ำ บริษัทจึงได้รับกระแสเงินสดจากธุรกิจดังกล่าวอย่างมาก โดยในช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจากธุรกิจโฆษณาคิดเป็นประมาณ 50% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายทั้งหมดของบริษัท

เป็นผู้นำในธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย

บริษัทเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 70% ของรายได้จากการฉายภาพยนตร์ในช่วงสัปดาห์แรก ทั้งนี้ การมีสถานะเป็นผู้นำทางการตลาดช่วยให้บริษัทมีอำนาจในการต่อรองกับผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ ผู้ผลิตภาพยนตร์ และผู้จัดหาสินค้าต่าง ๆ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำดังกล่าวได้เนื่องจากบริษัทมีแผนจะเพิ่มจำนวนโรงภาพยนตร์ให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะเพิ่มจำนวนจอภาพยนตร์ให้เป็น 1,200 จอภายในปี 2568 เมื่อเทียบกับจำนวน 816 จอ ณ เดือนกันยายน 2564 ในการนี้ บริษัทจะเพิ่มจำนวนจอใหม่ในโรงภาพยนตร์ในต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่

ปัจจุบันโรงภาพยนตร์ของบริษัทตั้งอยู่ใน 60 จังหวัดทั่วประเทศไทย รวมทั้งในประเทศกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยโรงภาพยนตร์เหล่านี้มักตั้งอยู่ในทำเลที่ดีในเขตเมืองที่มีจำนวนประชากรหนาแน่น เช่น สถานที่ที่ใกล้กับห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เป็นต้น

เผชิญกับการแข่งขันจากกิจกรรมนันทนาการประเภทอื่น ๆ

ธุรกิจโรงภาพยนตร์ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากกิจกรรมนันทนาการประเภทอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ความบันเทิงที่หลากหลายผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นการสร้างทางเลือกที่มากขึ้นให้แก่ผู้บริโภค ดังนั้น บริษัทจึงได้มีการปรับปรุงโรงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่องทั้งจอภาพยนตร์ระบบดิจิทัลและระบบเสียงที่มีคุณภาพสูง รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า นอกจากนี้ บริษัทยังนำเสนอนวัตกรรมโรงภาพยนตร์รูปแบบใหม่ที่จะช่วยให้บริษัทคงความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงสร้างความแปลกใหม่ให้แตกต่างไปจากการชมภาพยนตร์ภายในบ้าน และพัฒนาคุณภาพของประสบการณ์ในการชมภาพยนตร์ในโรงให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าโรงภาพยนตร์ยังคงนำเสนอประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ที่การชมภาพยนตร์รูปแบบอื่น ๆ ยังไม่สามารถทดแทนได้ ซึ่งจะช่วยดึงดูดผู้ชมได้เป็นจำนวนมากแม้ว่ากิจกรรมนันทนาการประเภทอื่น ๆ จะมีความแพร่หลายมากขึ้นก็ตาม

ภาระหนี้ปรับตัวดีขึ้น

ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 และปี 2566 ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทลดลงสู่ระดับ 5.4 พันล้านบาทเมื่อเทียบกับระดับ 1.14 หมื่นล้านบาทในปี 2563 เนื่องจากบริษัทได้รับเงินจำนวนมากจากการจำหน่ายเงินลงทุน โดยบริษัทได้จำหน่ายหุ้นทั้งหมดที่ถือใน SF ให้กับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (CPN) มูลค่า 7.8 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวแย่ลงเป็นประมาณ 9 เท่าในปี 2564 เนื่องจากผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลง ในช่วง 2 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 2-3 เท่าตามการคาดการณ์ในการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานของบริษัท ส่วนในช่วง 3 ปีข้างหน้านั้น เงินลงทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินลงทุนอื่น ๆ มูลค่ารวมประมาณ 2.5 พันล้านบาทในปี 2565-2567

สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่งในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบไปด้วยเงินสดในมือจำนวน 2.28 พันล้านบาทและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 4.4 พันล้านบาท บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินต่าง ๆ อีกประมาณ 5 พันล้านบาท ส่วนในช่วง 12 เดือนข้างหน้านั้น เงินทุนจากการดำเนินงานก่อนการปรับปรุงสัญญาเช่าดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาท ในทางตรงกันข้าม ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าการใช้เงินของบริษัทประกอบด้วยภาระในการชำระหนี้จำนวน 2.8 พันล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นหนี้ระยะสั้นจำนวน 35 ล้านบาท งบลงทุนตามแผนอีกจำนวนประมาณ 660 ล้านบาทและบริษัทมีแผนการใช้เงินในการผลิตภาพยนตร์อีกประมาณ 100 ล้านบาทด้วย

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ เดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 0.85 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าระดับสูงสุดที่ 1.5 เท่าตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ที่กำหนดไว้

ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 3.5 พันล้านบาทซึ่งเป็นหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อนเป็นจำนวน 35 ล้านบาท โดยหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อนเป็นหนี้ที่ไม่มีการค้ำประกันในบริษัทย่อย ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมเพียง 1% ซึ่งอยู่ในระดับต่ำซึ่งแสดงถึงจำนวนที่ไม่มีนัยสำคัญของหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อน

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2564-2566 ดังต่อไปนี้

? รายได้จะลดลงมาอยู่ที่ 2.7 พันล้านบาทในปี 2564 และจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.4 พันล้านบาทในปี 2565 และ 8.7 พันล้านบาทในปี 2566

? อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่ที่ระดับ 24% ในปี 2564 แต่จะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณระหว่าง 30%-35% ในปี 2565 และปี 2566

? งบประมาณการลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 พันล้านบาทในช่วงประมาณการ 3 ปี

? อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 9 เท่าในปี 2564 และจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 2-3 เท่าในปี 2565 จนถึงปี 2566

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริทเรทติ้งว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ฟี้นตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป แต่อาจมีความผันผวนบ้างในระหว่างการฟื้นตัว และคาดว่าบริษัทจะจัดการสภาพคล่องอย่างรอบคอบ

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจปรับลดหากสภาพคล่องของบริษัทลดลงเร็วกว่าที่คาด หรือหากทริสเรทติ้งเห็นว่าการเปลี่ยนโครงสร้างของระยะเวลาการฉายภาพยนตร์กับช่องทางอื่น ๆ หรือพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปซึ่งเป็นการเปลี่ยนพื้นฐานที่จะทำให้อัตรากำไรในระยะยาวของบริษัทเสื่อมถอยลง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นหากผลการดำเนินงานของบริษัทมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนและใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิด โดยมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 3 เท่าเป็นเวลานาน

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) (MAJOR)

อันดับเครดิตองค์กร: A-

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

MAJOR222A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-

MAJOR229A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ