ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการที่บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตลอดจนเทคโนโลยีที่ได้รับการพิสูจน์แล้วในเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Cogeneration Power Plant) และประวัติผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทก็มีข้อจำกัดจากความเสี่ยงจากการพึ่งพาสินทรัพย์ดำเนินงานที่มีเพียงแห่งเดียวด้วยเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ประโยชน์จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ.
บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 1 แห่งซึ่งเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2556 โดยบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวนาน 25 ปีกับ กฟผ. ที่ขนาด 90 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวซึ่งอยู่ภายใต้รูปแบบไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (Take-or-pay Basis) ช่วยลดความเสี่ยงด้านการตลาดได้ส่วนใหญ่ ในการนี้ กฟผ. มีหน้าที่ต้องรับซื้อไฟฟ้าอย่างน้อยในสัดส่วน 80% ของกำลังการผลิตตามสัญญาโดยขึ้นอยู่กับชั่วโมงการทำงานของโรงไฟฟ้า ในขณะที่บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75% ของยอดขายทั้งหมดต่อปีโดยมีความเสี่ยงของการไม่ได้รับการชำระเงินจากผู้ซื้อไฟฟ้าที่น้อยมาก
รายได้ที่แน่นอนของบริษัทยังมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ค่าพลังไฟฟ้า (Capacity Payment) นอกจากนี้ ผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรายังบรรเทาลงจากการปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้าที่อ้างอิงตามดัชนีอีกด้วย
มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำกับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม
บริษัทยังจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่ลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง (นิคมฯ อมตะระยอง) อีกด้วย โดยบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าขนาด 33.8 เมกะวัตต์และไอน้ำจำนวน 14 ตันต่อชั่วโมงซึ่งครอบคลุมระยะเวลาหลายปี ในการนี้ ลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมแต่ละรายมีหน้าที่ต้องซื้อไฟฟ้าและ/หรือไอน้ำจำนวนขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมในราคาที่มีส่วนลดจากราคาที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำหน่ายให้แก่ลูกค้าประเภทกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการปรับราคาเพื่อสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงผ่านค่าปรับปรุงเชื้อเพลิงหรือค่า Ft (Fuel Adjustment Charge) อย่างไรก็ตาม การปรับค่า Ft นั้นมักจะมีความล่าช้า อีกทั้งระยะเวลาและจำนวนที่ปรับนั้นก็ยังขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบอีกด้วย ดังนั้น ในกรณีที่ค่าเชื้อเพลิงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็อาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลกำไรของบริษัท นอกจากนี้ ยอดขายไฟฟ้ายังขึ้นอยู่กับอุปสงค์ซึ่งขับเคลื่อนโดยระดับกิจกรรมทางด้านอุตสาหกรรมอีกด้วย
ยอดขายไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นจากลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมรายใหม่
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ยอดขายไฟฟ้าของบริษัทในกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 123 กิกะวัตต์-ชั่วโมง (Gigawatt-hour -- GWh) หรือเพิ่มขึ้น 56% จาก 79 GWh เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนั้นมาจากลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมรายใหม่ซึ่งมีสัญญาซื้อไฟฟ้าที่ขนาด 16 เมกะวัตต์ ในขณะเดียวกัน ยอดขายไฟฟ้าในกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมรายเดิมก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้น 12% เป็น 89 GWh เนื่องจากผลของการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ในปีก่อน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออุปสงค์ในการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำของลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมได้ ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 15 ปีที่ขนาด 0.8 เมกะวัตต์กับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมรายใหม่รายหนึ่งซึ่งบริษัทคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าดังกล่าวได้ภายในเดือนมีนาคม 2565
เทคโนโลยีที่พิสูจน์แล้วในเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัทเป็นโรงไฟฟ้าที่มีการทำงานร่วมกันของระบบกังหันก๊าซและระบบกังหันไอน้ำ (Combined-cycle) โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว ระบบดังกล่าวใช้เครื่องยนต์กังหันก๊าซ 2 ชุดที่ผลิตโดย Siemens ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในตลาดโลก ทั้งนี้ กังหันก๊าซ Siemens SGT 800 มีปล่องไฟเบี่ยง (Bypass Stack) ซึ่งทำให้โรงไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัทสามารถใช้งานกังหันก๊าซได้แม้ในขณะที่กังหันไอน้ำอยู่ในระหว่างการซ่อมบำรุงหรือเพื่อวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการการเดินเครื่องจักร
การปฏิบัติงานของโรงไฟฟ้าของบริษัทนั้นอยู่ภายใต้การบริหารจัดการที่ดีโดยมีสัญญาให้บริการระยะยาว (Long-term Service Agreement -- LTSA) กับ Siemens ซึ่งสัญญาดังกล่าวได้รับการขยายเวลาไปจนถึงปี 2578 โดยครอบคลุมรอบการซ่อมบำรุงใหญ่จำนวน 2 รอบถัดไปของโรงไฟฟ้าซึ่งช่วยให้โรงไฟฟ้าของบริษัทมีความพร้อมและมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับสูง
ประวัติการดำเนินงานที่เข้มแข็ง
บริษัทมีทีมดำเนินงานและซ่อมบำรุงประจำวันของตนเอง โดยทีมงานได้รับการฝึกอบรมจาก BGRIM ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานและซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม โรงไฟฟ้าของบริษัทก็มีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามาโดยตลอดนับตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินงาน โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 โรงไฟฟ้าของบริษัทมีดัชนีความพร้อมเต็ม 100% และมีอัตราความร้อนที่ขนาด 7,537 บีทียูต่อหน่วยซึ่งดีกว่าอัตราความร้อนอ้างอิงตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีกับ กฟผ. ที่ขนาด 8,000 บีทียูต่อหน่วย ส่วนในด้านของประสิทธิภาพการใช้พลังงานนั้น โรงไฟฟ้าของบริษัทบรรลุดัชนีชี้วัดความสามารถในการใช้พลังงานปฐมภูมิในการผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนร่วมกัน (Primary Energy Saving -- PES) ซึ่งทำให้ได้รับค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมจากค่าการประหยัดการใช้เชื้อเพลิง (Fuel Saving -- FS) ที่อัตรา 0.36 บาทต่อหน่วยจาก กฟผ. ซึ่งทริสเรทติ้งพิจารณาว่าความเสี่ยงที่โรงไฟฟ้าของบริษัทจะถูกปรับหรือยกเลิกสัญญานั้นมีค่อนข้างจำกัดมาก
กระแสเงินสดที่มีความแน่นอนสูง
บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนในระดับสูงมาโดยตลอด โดยรายได้และกำไรของบริษัทนั้นมีเสถียรภาพมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วงปี 2561-2563 รายได้ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 2.3-2.6 พันล้านบาทต่อปี กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ระดับ 596-728 ล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้และ EBITDA สูงกว่าประมาณการของทริสเรทติ้ง ภายใต้ประมาณการพื้นฐานสำหรับปี 2564-2567 นั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ประมาณ 2.7-2.9 พันล้านบาทต่อปี ในขณะที่ EBITDA จะอยู่ในช่วง 640-700 ล้านบาทต่อปี อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะลดลงอย่างต่อเนื่องไปอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 3 เท่าในช่วงประมาณการ ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะลดลงต่ำกว่าระดับ 50% ในปี 2567
มีสินทรัพย์ดำเนินงานเพียงแห่งเดียว
อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการที่บริษัทมีสินทรัพย์ดำเนินงานเพียงแห่งเดียว ดังนั้นบริษัทจึงมีความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทที่ค่อนข้างสูงกว่าบริษัทผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีสินทรัพย์ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าหลายแห่ง การที่บริษัทขาดความหลากหลายในการดำเนินงานจึงอาจทำให้รายได้ของบริษัทมีความเสี่ยงจากการหยุดดำเนินงานของโรงไฟฟ้าอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง เช่น การหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเป็นเวลานาน หรือชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องจักรเกิดความเสียหาย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นมีค่อนข้างยากเมื่อพิจารณาจากประวัติการดำเนินงานที่ผ่านการพิสูจน์แล้วของบริษัทและสัญญาให้บริการระยะยาวที่เป็นประโยชน์
ความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ในเดือนเมษายน 2560 บริษัทได้ทำการกู้เงินในรูปแบบของเงินกู้ยืมระหว่างบริษัทจำนวน 3.88 พันล้านบาทจาก บริษัท อมตะ บี. กริม เพาเวอร์ เอสพีวี 1 จำกัด (ABPSPV) เพื่อนำไปชำระคืนหนี้เงินกู้โครงการคงค้างที่มีกับธนาคาร ทั้งนี้ กำหนดการชำระหนี้เงินกู้ยืมระหว่างบริษัทดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับกำหนดการชำระหนี้หุ้นกู้ที่ออกโดย ABPSPV ภาระในการชำระคืนหนี้เงินกู้ของบริษัทในแต่ละปีมีจำนวนที่ค่อนข้างแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยยอดชำระมีจำนวนตั้งแต่ 15 ล้านบาทไปจนถึง 749 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2561-2575 ซึ่งบริษัทไม่มีภาระในการชำระคืนเงินต้นในปี 2561 รวมถึงในปี 2562 ในปี 2568 และในปี 2574 ทั้งนี้ บริษัทได้จ่ายชำระคืนเงินต้นงวดแรกไปแล้วในเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถบริหารสภาพคล่องและสำรองเงินสดไว้เพื่อรองรับการชำระหนี้เงินกู้ที่มีจำนวนเงินต้นสูงในบางปีได้
ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทมีเงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 655 ล้านบาท ทั้งนี้ เงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดที่มีอยู่เมื่อรวมกับประมาณการ EBITDA แล้วน่าจะเพียงพอรองรับภาระหนี้ที่บริษัทต้องจ่ายชำระที่จำนวน 402-624 ล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2565-2567
ภาระค้ำประกันหุ้นกู้ของ ABPSPV
บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ที่มีการค้ำประกันที่ออกโดย ABPSPV โดยผู้ค้ำประกันหุ้นกู้อีก 2 ราย คือ บริษัท อมตะ บี. กริม เพาเวอร์ 3 จำกัด (ABP3) และ บริษัท อมตะ บี. กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 2 จำกัด (ABPR2) ซึ่งภายใต้เงื่อนไขการค้ำประกันนั้น ผู้ค้ำประกันทั้ง 3 รายจะให้การค้ำประกันแบบร่วมกันและแทนกันได้อย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้สำหรับหุ้นกู้ทั้งจำนวนซึ่งรวมถึงเงินต้นในวงเงินรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 1.15 หมื่นล้านบาทบวกหนี้ดอกเบี้ยหุ้นกู้และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เป็นบริษัทย่อยเชิงกลยุทธ์ภายใต้กลุ่ม BGRIM
โรงไฟฟ้าของบริษัทเป็น 1 ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมจำนวนทั้งสิ้น 22 แห่งภายใต้ BGRIM Group ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2564 กำลังการผลิตติดตั้งของบริษัทคิดเป็น 4% ของกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงทั้งหมดของ BGRIM ส่วนในด้านของกระแสเงินสดนั้น EBITDA ของบริษัทคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของ EBITDA ทั้งหมดของกลุ่ม BGRIM แม้จะมีส่วนแบ่งรายได้เพียงเล็กน้อย แต่ทริสเรทติ้งก็มองว่าบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยเชิงกลยุทธ์ของ BGRIM ทั้งนี้ ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเป็นสินทรัพย์หลักในการผลิตไฟฟ้าของ BGRIM ซึ่งคิดเป็น 73% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของกลุ่ม
BGRIM มีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในนิคมฯ อมตะระยองจำนวนทั้งสิ้น 5 แห่งซึ่งรวมโรงไฟฟ้าของ ABPR1 ด้วย ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีความสำคัญต่อ BGRIM ในด้านการบริหารจัดการประสิทธิภาพการดำเนินงานโดยรวมของโรงไฟฟ้าของกลุ่มในนิคมฯ อมตะระยอง ดังนั้น ทริสเรทติ้ง จึงคาดว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนจาก BGRIM ในฐานะบริษัทแม่เมื่อบริษัทต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน (ในระหว่างปี 2564-2567)
? โรงไฟฟ้าของบริษัทจะมีดัชนีค่าความพร้อมอยู่ในช่วง 92%-98%
? สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. จะอยู่ที่ 90 เมกะวัตต์ และกับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 33.8 เมกะวัตต์ (รวมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมรายใหม่ที่ขนาด 0.8 เมกะวัตต์ที่บริษัทจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าในเดือนมีนาคม 2565) รวมทั้งจะมีสัญญาซื้อขายไอน้ำกับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 14 ตัน/ชั่วโมง
? บริษัทจะจำหน่ายไฟฟ้าได้ประมาณ 798-851 GWh ต่อปี และจะจำหน่ายไอน้ำได้ประมาณ 68,000-73,000 ตันต่อปี
? ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ปีละ 5-38 ล้านบาท
? การชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมระหว่างบริษัทจะสอดคล้องกับกำหนดการชำระคืนหนี้หุ้นกู้มีการค้ำประกันที่ออกโดย ABPSPV
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่า ABPR1 จะยังคงสามารถดำรงประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่แข็งแกร่งต่อไปโดยที่บริษัทจะสามารถสร้างผลกำไรและรักษาระดับหนี้สินให้เป็นไปตามประมาณการของทริสเรทติ้งได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทนั้นยังมีจำกัดในช่วงระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า ในทางกลับกัน ปัจจัยกดดันที่อาจทำให้มีการปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทต่ำกว่าประมาณการของทริสเรทติ้งมาก หรือความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ? ของทริสเรทติ้งแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับสถานะเครดิตของ BGRIM หรือความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทและ BGRIM ก็อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท อมตะ บี. กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 1 จำกัด (ABPR1)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable