ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตประเทศของ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และอันดับเครดิตพันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดย สปป. ลาว ที่ระดับ ?BBB-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตพันธบัตรรัฐบาลชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 5 พันล้านบาทของ สปป. ลาว ที่ระดับ ?BBB-? ด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ยังคงยืดเยื้อซึ่งส่งผลทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต้องหยุดชะงักและความสามารถในการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ของ สปป. ลาว เกิดความขัดข้องทั้งในด้านการบริหารจัดการสภาพคล่องตลอดจนความเปราะบางในด้านการคลังและการต่างประเทศ
ในขณะที่อันดับเครดิตประเทศของ สปป. ลาว นั้นสะท้อนถึงประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กและมีศักยภาพในการขยายตัวสูงรวมทั้งมีเสถียรภาพทางการเมือง ทริสเรทติ้งคาดว่าการลงทุนในสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐานที่สร้างผลผลิตจะเป็นแหล่งที่มาของรายได้ที่มีเสถียรภาพของรัฐบาลลาวได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ในระยะปานกลางอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้ทริสเรทติ้งคาดว่าอันดับเครดิตจะยังคงมีข้อจำกัดจากสถานะการคลังและการต่างประเทศที่เปราะบางของ สปป. ลาว ต่อไป โดยความสามารถในการบริหารจัดการด้านการคลังและการชำระหนี้ของรัฐบาลลาวน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญของทริสเรทติ้งในการประเมินอันดับเครดิตของ สปป. ลาว ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
เงินที่ได้จากการออกพันธบัตรรัฐบาลชุดใหม่จะเป็นแหล่งสภาพคล่องเพิ่มเติมในการชำระหนี้ในอนาคตของ สปป. ลาว ซึ่งมีภาระหนี้ต่างประเทศที่จะต้องชำระคืนในปี 2565 มูลค่ารวม 1.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามประมาณการจากกระทรวงการเงินของลาว (Ministry of Finance of the Lao PDR -- MOFL) ซึ่งในจำนวนนี้รวมภาระดอกเบี้ยทั้งหมดและเงินต้นที่มีเงื่อนไขตามตลาด (Commercial Obligations) จำนวน 748 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในปี 2564 ภาระในการชำระหนี้ต่างประเทศของ สปป. ลาว น่าจะคงอยู่ภายใต้สภาวะกดดันจากการอ่อนค่าของค่าเงินกีบและการขาดดุลการคลังของประเทศ ในขณะเดียวกัน สปป. ลาว ก็มีพัฒนาการด้านบวกจากแนวโน้มการขาดดุลการคลังที่ลดลง รวมทั้งการคงระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าแหล่งเงินทุนสำคัญที่จะใช้ในการชำระคืนหนี้ต่างประเทศในอนาคตของ สปป. ลาว จะมาจาก 1) รายได้รับของรัฐบาลในรูปเงินตราต่างประเทศ และ 2) การเจรจาสัญญาเงินกู้ใหม่เพื่อมาใช้ทดแทนสัญญาเงินกู้เดิม (รีไฟแนนซ์) และแหล่งเงินอื่น ๆ ที่ไม่ได้มาจากการกู้ยืมให้แล้วเสร็จเพื่อให้ทันการณ์ในลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ได้ดำเนินการในปี 2564 ในขณะที่ทริสเรทติ้งมองว่าความเสี่ยงในด้านเวลาของแหล่งเงินทุนข้อที่ 2 นั้นน่าจะยังคงอยู่
สปป. ลาว มีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product -- GDP) ที่แท้จริงตามค่าเงินกีบที่ระดับ 3.5% ในปี 2564 จากประมาณการของธนาคารแห่ง สปป. ลาว (Bank of Lao ? BOL) ซึ่งต่ำกว่าประมาณการก่อนหน้าของทริสเรทติ้ง ที่ระดับ 4.3% การกลับมาเกิดการแพร่ระบาดซ้ำของโรคโควิด 19 และมาตรการกักตัวที่ตามมาในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ได้ชะลอการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนและกิจกรรมในภาคบริการ โดยที่การเติบโตของการส่งออกสินค้าภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรยังคงเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยต่าง ๆ ที่กดดันดุลการชำระเงินระหว่างประเทศและค่าเงินกีบในช่วงปี 2564 อันประกอบด้วยเงินไหลเข้าสุทธิจากการกู้ยืมและรายได้จากต่างประเทศที่ลดต่ำลงท่ามกลางการฟื้นตัวที่เชื่องช้าของเศรษฐกิจในภูมิภาคและภาวะแวดล้อมที่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงระหว่างสิ้นปี 2564 และสิ้นปี 2563 อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิง และอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์และตลาดคู่ขนานของค่าเงินกีบได้อ่อนค่าลงกว่า 19% และ 17% ตามลำดับ ในขณะที่ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศขาดดุลที่ระดับ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับอัตราเกินดุลที่ระดับ 355 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563
เมื่อมองในด้านบวกนั้น สปป. ลาว สามารถรักษาระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศและระดับของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ พร้อมกับได้ปรับปรุงสถานะของดุลบัญชีเดินสะพัดเอาไว้ได้ จากประมาณการเบื้องต้นของ BOL ระบุว่า สปป. ลาว มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ระดับ 1.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งใกล้เคียงระดับ 1.32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2563 นอกจากนี้ สปป. ลาว ยังมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่ปรับตัวดีขึ้นจากการมีดุลบัญชีการค้าที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2564 อีกด้วย ในขณะที่เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศนั้นอยู่ที่ระดับ 816 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกัน ซึ่งสูงกว่าระดับ 721 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2563
ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าสถานะการคลังและระดับหนี้สาธารณะของ สปป. ลาว นั้นยังสามารถปรับตัวดีขึ้นได้อีกจนกระทั่งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจฟื้นตัวสู่ภาวะที่ดีกว่าในปัจจุบัน ทั้งนี้ จากการประมาณการเบื้องต้นของ MOFL ระบุว่าการขาดดุลงบประมาณของ สปป. ลาว ในปี 2564 นั้นได้ลดลงสู่ระดับ 2%-3% ของ GDP จากที่ระดับเกินกว่า 5% ในปี 2563 โดยประเทศมีเงินลงทุนภาครัฐซึ่งมีแหล่งเงินจากการกู้ยืมเป็นแหล่งที่มาที่สำคัญของการขาดดุลดังกล่าว
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงผลกระทบที่ยืดเยื้อจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งยังคงเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของ สปป. ลาว และความสามารถของ สปป. ลาว ที่จะรับมือกับความท้าทายในการจัดการกับปัญหาด้านสภาพคล่องรวมถึงความเปราะบางของภาคการคลังและการต่างประเทศต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ทริสเรทติ้งอาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตของ สปป. ลาว ลงหากมีสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่เพิ่มสูงขึ้น หรือความเปราะบางในด้านการคลังและการต่างประเทศมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนส่งผลกระทบทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศของ สปป. ลาว เสื่อมถอยลงมากกว่าเดิม
ทริสเรทติ้งอาจพิจารณาปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตกลับมาเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? หากมีสัญญาณที่ชัดเจนว่า สปป. ลาว สามารถหาแหล่งเงินทุนที่เพียงพอสำหรับการชำระภาระหนี้ที่มีเงื่อนไขตามตลาดได้ในระยะ 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งอาจพิจารณาปรับเพิ่มอันดับเครดิตหากรัฐบาล สปป. ลาว แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่มีนัยสำคัญในการรับมือกับความเปราะบางที่สำคัญ ๆ พร้อมทั้งความสามารถในการสร้างสภาพคล่องเพิ่มเติม (Liquidity Buffer) และแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพเพื่อรองรับภาระหนี้ในอนาคตได้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของประเทศ (Sovereign Credit Rating), 8 ตุลาคม 2556
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao PDR)
อันดับเครดิตประเทศ: BBB-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MOFL22OA: พันธบัตรรัฐบาล 1,019.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB-
MOFL23NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,063.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB-
MOFL23NB: พันธบัตรรัฐบาล 2,546.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB-
MOFL24OA: พันธบัตรรัฐบาล 340.90 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB-
MOFL256A: พันธบัตรรัฐบาล 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB-
MOFL26NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,371.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 BBB-
MOFL27OA: พันธบัตรรัฐบาล 2,967.00 ล้านบาท ไถ่ถอน 2570 BBB-
MOFL28NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,891.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 BBB-
MOFL28NB: พันธบัตรรัฐบาล 532.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 BBB-
MOFL29OA: พันธบัตรรัฐบาล 1,505.50 ล้านบาท ไถ่ถอน 2572 BBB-
MOFL30NA: พันธบัตรรัฐบาล 2,153.20 ล้านบาท ไถ่ถอน 2573 BBB-
MOFL32OA: พันธบัตรรัฐบาล 5,375.50 ล้านบาท ไถ่ถอน 2575 BBB-
MOFL25DA: พันธบัตรรัฐบาล 162 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2568 BBB-
MOFL27DA: พันธบัตรรัฐบาล 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2570 BBB-
พันธบัตรรัฐบาลวงเงินไม่เกิน 5 พันล้านบาท อายุไม่เกิน 4 ปี BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative