ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท บีเอสแอล ลีสซิ่ง จำกัด ที่ระดับ ?BBB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มขึ้น 1 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile ? SACP) ของบริษัทซึ่งอยู่ที่ระดับ?bbb? โดยสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งที่มีต่อสถานะของบริษัทว่าเป็นบริษัทลูกเชิงกลยุทธ์ในเครือของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ได้รับอันดับเครดิต ?AA+/Stable? จากทริสเรทติ้ง)
อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงการที่บริษัทมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง รวมถึงแหล่งเงินทุนและสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็ถูกลดทอนลงจากความกังวลในคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทและความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกหนี้ในระดับสูง นอกจากนี้ การแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมเช่าซื้อและลีสซิ่งสำหรับเครื่องจักรและยานยนต์ก็อาจเป็นปัจจัยที่จำกัดผลตอบแทนของบริษัทซึ่งจะส่งผลกดดันความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเมื่อต้นทุนทางการเงินปรับเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทลูกเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงเทพ
ธนาคารกรุงเทพมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทอยู่ 90% ซึ่งทำให้บริษัทเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ได้รับการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดของธนาคารกรุงเทพ อีกทั้งยังเป็นบริษัทลูกที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลแบบ Full Consolidation ด้วย ในการนี้ ธนาคารกรุงเทพควบคุมดูแลทิศทางและการดำเนินงานของบริษัทผ่านทางคณะกรรมการของบริษัท โดยบริษัทมีคณะกรรมการทั้งหมด 3 คน ซึ่งกรรมการจำนวน 2 คนเป็นตัวแทนจากธนาคารกรุงเทพ และอีก 1 คนเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนในด้านการเงินจากธนาคารกรุงเทพต่อไปในอนาคต ซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าธนาคารจะให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษในยามที่บริษัทต้องการ
มีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งและมีความสามารถในการทำกำไรในระดับปานกลาง
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าฐานเงินทุนของบริษัทยังอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการสนับสนุนแผนการดำเนินธุรกิจในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยฐานทุนของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงมีการปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากสินเชื่อที่ไม่ได้เติบโตขึ้น ตลอดจนอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ต่ำ และการมีผลกำไรสะสมเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในปี 2564 อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 21.4% (งบการเงินที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบ) จากระดับ 20.0% ในปี 2563 และ 17.8% ในปี 2562 ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2564 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ระดับ 2.18 เท่า (งบการเงินที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบ) ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 20% ในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า
ระดับการทำกำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยนั้นอยู่ในระดับปานกลาง โดย ณ สิ้นปี 2564 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 2.59% (งบการเงินที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบ) ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยของบริษัทจะอยู่ในระดับสูงกว่า 2% ในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า
การสนับสนุนของผู้ถือหุ้นช่วยทำให้บริษัทมีแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ
ในด้านของโครงสร้างเงินทุนนั้น ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีความไม่สอดคล้องกันในด้านของอายุเฉลี่ยของโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากบริษัทมีการใช้เงินกู้ระยะสั้นเป็นหลักเพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินในขณะที่สินทรัพย์ของบริษัทส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อระยะยาว ณ สิ้นปี 2564 สัดส่วนเงินกู้ระยะสั้นต่อเงินกู้ทั้งหมดของบริษัทมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 88% อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งไม่มีความกังวลมากนักต่อการที่บริษัทมีการใช้เงินกู้ระยะสั้นค่อนข้างสูงเนื่องจากเชื่อว่าบริษัทได้รับการสนับสนุนเงินทุนที่เพียงพอในรูปของวงเงินสินเชื่อจากผู้ถือหุ้นคือ ธนาคารกรุงเทพและ Sumitomo Mitsui Banking Corporation (SMBC) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องระยะสั้นของบริษัทได้ในยามจำเป็น
ทริสเรทติ้งมองว่าสถานะเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่เพียงพอ ผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งธนาคารกรุงเทพและ SMBC ต่างก็ได้ให้การสนับสนุนในด้านเงินทุนผ่านวงเงินกู้จำนวนมากและคาดว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนเช่นนี้ต่อไปในระยะยาว ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 บริษัทได้รับวงเงินกู้จากธนาคารกรุงเทพจำนวน 3.2 พันล้านบาทและจาก SMBC จำนวน 2.7 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 38% และ 33% ของวงเงินกู้ทั้งหมดจากสถาบันการเงินตามลำดับ ธนาคารกรุงเทพได้ปรับวงเงินกู้ที่ให้แก่บริษัทเพิ่มขึ้นจาก 1.2 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 หลังจากที่ธนาคารได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท นอกเหนือจากวงเงินกู้ที่ได้รับจากผู้ถือหุ้นแล้ว ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 บริษัทยังมีวงเงินกู้จำนวน 2.5 พันล้านบาทจากสถาบันการเงินอื่น ๆ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 30% ของวงเงินกู้ทั้งหมดอีกด้วย ในขณะที่วงเงินกู้ที่บริษัทยังไม่ได้เบิกใช้นั้นยังมีอยู่จำนวนมากที่ระดับประมาณ 4.2 พันล้านบาท ส่วนแหล่งเงินทุนอื่น ๆ ของบริษัทนั้นยังประกอบด้วยตั๋วแลกเงินจำนวน 520 ล้านบาท และกระแสเงินสดรับที่คาดว่าจะเข้ามาอีกเดือนละประมาณ 300-400 ล้านบาทจากการจ่ายชำระคืนของลูกหนี้
แรงกดดันของอัตราผลตอบแทนจากการแข่งขันที่รุนแรงและต้นทุนทางการเงินที่จะเพิ่มขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่าการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อและลีสซิ่งสำหรับเครื่องจักรและการให้เช่ายานยนต์จะอยู่ในระดับสูงต่อไปอันจะส่งผลกดดันต่ออัตราผลตอบแทนของผู้ประกอบการซึ่งรวมถึงบริษัทด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายมีการแข่งขันในด้านราคาเนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำจากธนาคารแม่และจากสถาบันการเงินที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแม้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทที่ต่ำลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ช่วยบรรเทาแรงกดดันด้านผลตอบแทนได้ แต่ก็อาจจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ต้นทุนทางการเงินโดยเฉลี่ยของบริษัทมีการปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับเฉลี่ยที่ 1.7% ในปี 2564 โดยเทียบกับระดับ 2.8% ในปี 2562 เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยที่ถูกเรียกเก็บจากเงินกู้ของบริษัทซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทเป็น 90% ของธนาคารกรุงเทพรวมไปถึงแนวโน้มดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาลง ซึ่งทั้งหมดนี้ ส่งผลให้บริษัทยังสามารถรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไว้ได้ที่ระดับ 3.6% ในปี 2564 ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของบริษัทน่าจะเริ่มปรับตัวลดลงจากการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินซึ่งสอดคล้องกับวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นในขณะที่การแข่งขันยังคงรุนแรง
คุณภาพสินทรัพย์ยังคงเป็นข้อกังวลหลักที่สำคัญ
คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทยังคงเป็นประเด็นหลักที่ทริสเรทติ้งมีความกังวลและเป็นหนึ่งในข้อจำกัดสำคัญของอันดับเครดิต การกระจุกตัวของสินเชื่อเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้บริษัทมีสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 ลูกหนี้รายใหญ่ 10 รายแรกของบริษัทคิดเป็นสัดส่วนถึง 36% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 32% และ 27% ในปี 2563 และปี 2562 ตามลำดับ อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวมของบริษัทปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2559 และระหว่างปี 2562-2563 ซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูงเนื่องจากการกระจุกตัวของสินเชื่อและการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ใช้ระยะเวลานาน ณ สิ้นปี 2564 บริษัทมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ระดับประมาณ 12.4% (งบการเงินที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบ) โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีล่าสุดที่ 4.2% ณ สิ้นปี 2560 อนึ่ง อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวมที่ยังคงอยู่ในระดับสูงนั้นเป็นผลจากการที่บริษัทไม่มีนโยบายตัดหนี้สูญหรือจำหน่ายหนี้เสียออกไปตราบเท่าที่สินเชื่อยังไม่ได้รับการจัดการจนถึงที่สุดซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของธนาคารกรุงเทพ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ใหม่ในปี 2563 และปี 2564 นั้นถือว่าค่อนข้างต่ำลงซึ่งแสดงให้เห็นถึงการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ของธุรกิจใหม่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ในอนาคต ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวมของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปหากสินเชื่อด้อยคุณภาพเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เสร็จสิ้น ทริสเรทติ้งมีข้อสังเกตว่าสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแออาจทำให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตเพิ่มสูงขึ้นซึ่งอาจส่งผลกดดันต่อสถานะความเสี่ยงของบริษัทมากยิ่งขึ้นหากสินเชื่อดังกล่าวไม่ได้รับการจัดการที่ดี
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2567 ดังนี้
? สินเชื่อใหม่ทั้งที่เป็นสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 2 พันล้านบาทในปี 2565 และจะเติบโตที่ระดับ 5% ต่อปีหลังจากนั้น
? สัญญาเช่าดำเนินงานใหม่จะคงที่ในระดับเดิม
? อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงจะคงอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 20%
? ส่วนต่างผลตอบแทนโดยรวมจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 3% ต่อปี
? ค่าใช้จ่ายด้านเครดิตจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1.0% ต่อปี
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะยังคงอยู่ที่ระดับระหว่าง 45%-50% ต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงมีฐานทุนที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความเสียหายจากคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญได้ และบริษัทจะมีผลการดำเนินงานทางการเงินตามที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งรวมไปถึงสถานะทางการตลาดที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงผลประกอบการทางการเงินและคุณภาพสินทรัพย์ที่อยู่ในระดับน่าพอใจ
ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญโดยพิจารณาได้จากสถานะด้านเงินทุน ผลประกอบการทางการเงิน หรือคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยลง
นอกจากนี้ หากทริสเรทติ้งมีมุมมองเกี่ยวกับระดับความสำคัญของบริษัทที่มีต่อกลุ่มธนาคารกรุงเทพที่เปลี่ยนแปลงไปก็อาจเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตเพื่อสะท้อนมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวด้วย
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท บีเอสแอล ลีสซิ่ง จำกัด (BSL)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable