ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. น้ำตาลมิตรผล” เป็น “A” จาก “A+”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 15, 2022 09:48 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด มาอยู่ที่ระดับ ?A? จากเดิมที่ระดับ ?A+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่?

การปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงภาระหนี้ของบริษัทที่เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้ของบริษัทจะอยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจากแผนการลงทุนของบริษัทที่จะต้องกู้เงินเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับการขยายงานจำนวนมาก อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความผันผวนของปริมาณอ้อยและราคาน้ำตาล ตลอดจนความเสี่ยงจากการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลการดำเนินงานของโรงงานน้ำตาลของบริษัทในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลระดับโลก ตลอดจนแบรนด์สินค้าซึ่งเป็นที่ยอมรับ กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ ฐานการผลิตที่กระจายตัว และแหล่งรายได้ที่หลากหลาย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ผลการดำเนินงานอ่อนตัวลงมาก แต่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคต

ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบอย่างมากจากการลดลงของปริมาณอ้อยอันเนื่องมาจากภาวะภัยแล้ง และการลดลงของพื้นที่เพาะปลูกในหลายประเทศ ปริมาณการผลิตน้ำตาลของบริษัทลดลง 18% จากฤดูเก็บเกี่ยว 2561/2562 ธุรกิจเอทานอลและธุรกิจผลิตไฟฟ้าก็ได้รับผลกระทบจากการบริโภคที่ลดลงจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไว้รัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และปริมาณอ้อยที่ขาดแคลนซึ่งส่งผลให้ต้นทุนเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น

แม้ว่าราคาน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นในปี 2564 จะส่งผลให้กำไรของธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของบริษัทลดลงมาก อันเป็นผลมาจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจไฟฟ้า และผลขาดทุนจากการลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย บริษัทบันทึกผลขาดทุนจากการลงทุนในโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ในประเทศอินโดนีเซีย จำนวนรวม 240 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ผลขาดทุนดังกล่าวเป็นผลมาจากราคาน้ำตาลในประเทศที่ลดลงในช่วงสถานการณ์โรคโควิด 19 ในขณะที่ต้นทุนการนำเข้าน้ำตาลดิบที่เพิ่มขึ้น

จากปัจจัยดังกล่าว กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทจึงลดลงมาอยู่ที่ 9.1 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับระดับ 1.0-1.3 หมื่นล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562-2563 อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 12% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 โดยเปรียบเทียบกับระดับ 15%-18% ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562-2563

ผลการดำเนินงานของบริษัทในอนาคตข้างหน้าจะยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการที่มาจากความผันผวนของราคาน้ำตาลและค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าผลกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในปีประมาณการ ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของผลผลิตอ้อยและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังวิกฤติโรคโควิด 19 ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณอ้อยจะเพิ่มขึ้นในฤดูเก็บเกี่ยวปี 2565-2566 เนื่องจากปริมาณฝนและพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มมากขึ้น ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าบริษัทจะได้รับประโยชน์จากราคาน้ำตาลที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ ตลอดจนการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้ในระยะปานกลางถึงระยะยาว

ภาระหนี้เพิ่มขึ้นมากจากการลงทุนขนาดใหญ่และความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น

บริษัทมีหนี้สินทางการเงินเพิ่มขึ้นมากจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นและการลงทุนจำนวนมาก กอปรกับอัตรากำไรที่อ่อนแอลงในช่วงวงจรธุรกิจขาลง

ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการลงทุนจำนวนมากในโรงงานน้ำตาลในประเทศอินโดนีเซีย และการซื้อโรงไฟฟ้าหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นยังเป็นผลมาจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับปริมาณและราคาน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นในไทยและประเทศจีน อัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 115 วัน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 เทียบกับระดับ 80-90 วันในช่วงเดียวกันของปี 2562-2563

อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57.3% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 เทียบกับระดับ 54% ในปี 2562 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 8.8 เท่า (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 จากระดับ 4.6-7.3 เท่าในปี 2562-2563 กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทก็ปรับตัวลดลงย่างมีนัยสำคัญในช่วงวัฏจักรธุรกิจขาลง โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ 7.8% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ลดลงจากระดับ 9%-17% ในปี 2562-2563

ในอนาคตข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังมีภาระหนี้ในระดับที่สูงจากแผนการลงทุนจำนวนมาก โดยคาดว่าบริษัทจะใช้งบลงทุนประมาณ 1-1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2565-2566 โดยส่วนใหญ่จะใช้ลงทุนในโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่และการซื้อโรงไฟฟ้าในประเทศไทย นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะลงทุนในโรงงานวัสดุทดแทนไม้ในประเทศเวียดนามด้วย ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับประมาณ 58% ในปี 2565-2566 และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 7.2 เท่าในปี 2564 แต่จะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 6.5 เท่าในปี 2566

ธุรกิจพลังงานช่วยรองรับความผันผวนของรายได้

นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาล เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจผลิตเอทานอลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยด้วย ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้ารวม 650 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาการจำหน่ายไฟฟ้าที่ทำกับหน่วยงานราชการของไทยรวม 272.8 เมกะวัตต์ ส่วนกำลังการผลิตเอทานอลสูงสุดนั้นอยู่ที่ 1.49 ล้านลิตรต่อวัน

แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนเชื้อเพลิงจากปริมาณอ้อยที่ลดลง และอุปสงค์การใช้ไฟฟ้าและเอทานอลที่ลดลงในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 แต่รายได้จากธุรกิจพลังงาน (ไฟฟ้าและเอทานอล) ของบริษัทเพิ่มขึ้น 9.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 การเพิ่มขึ้นดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนโรงไฟฟ้าของบริษัท

ปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าและเอทานอลรวมกันประมาณ 20% ของรายได้รวม ทั้งนี้ กระแสเงินสดที่มั่นคงจากการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องในธุรกิจพลังงานมีส่วนช่วยพยุงผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงที่เกิดภาวะราคาน้ำตาลตกต่ำได้บางส่วน

สภาพคล่องที่บริหารจัดการได้

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยในช่วงดังกล่าวบริษัทจะมีหุ้นกู้จำนวน 4.5 พันล้านบาทและเงินกู้ระยะยาวจำนวนประมาณ 4.5 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระรวมทั้งจะมีงบเพื่อการลงทุนอีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนแหล่งเงินทุนนั้นจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวนประมาณ 1 หมื่นล้านบาทและวงเงินสินเชื่อระยะสั้นที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินอีกประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งยังมองว่าความสามารถที่บริษัทจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายนอกทั้งจากตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศและเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์นั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่มีสิทธิเรียกร้องก่อน (Priority Debt) จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาทจากจำนวนหนี้สินทางการเงินทั้งหมดจำนวน 9.4 หมื่นล้านบาทที่ไม่รวมหนี้สินจากสัญญาเช่า หนี้สินทางการเงินที่มีสิทธิเรียกร้องก่อนส่วนใหญ่เป็นหนี้สินของบริษัทย่อยของบริษัท ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่มีสิทธิเรียกร้องก่อนต่อหนี้สินทั้งหมดของบริษัทอยู่ที่ระดับ 16% เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่มีสิทธิเรียกร้องก่อนดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 50% มาก ทริสเรทติ้งจึงจัดให้หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความเสี่ยงเรื่องการด้อยสิทธิในระดับที่ต่ำ

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? รายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.06-1.08 แสนล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2566

? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับประมาณ 12%-13% ในระหว่างปี 2564-2566

? ค่าใช้จ่ายส่วนทุนทั้งหมดจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7 พันล้านบาทในปี 2564 และอยู่ที่ประมาณ 1-1.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2565-2566

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและประเทศจีนต่อไปได้ โดยบริษัทจะยังคงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันจากฐานการผลิตที่กระจายตัว และแหล่งรายได้ที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของธุรกิจน้ำตาลได้บางส่วน

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและมีระดับหนี้สินที่ลดลง และทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่า 5 เท่าเป็นระยะเวลานาน

ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากบริษัทมีภาระหนี้สูงเกินกว่าคาดหรือมีอัตรากำไรอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ซึ่งอาจมีแนวโน้มทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 8 เท่าเป็นระยะเวลานาน

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (MPSC)

อันดับเครดิตองค์กร: A

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

MPSC229A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A

MPSC22OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A

MPSC233A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A

MPSC236A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,610 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A

MPSC249A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A

MPSC256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A

MPSC256B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,210 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A

MPSC259A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A

MPSC26DA: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A

MPSC286A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,630 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A

MPSC28DA: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A

MPSC306A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,650 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A

MPSC31NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A

MPSC33NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,150 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2576 A

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ