ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ทั้งนี้ อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทเกิดจากองค์ประกอบระหว่างอันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile ? SACP) ของบริษัทซึ่งอยู่ที่ระดับ?bbb? และสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยหลัก (Core Subsidiary) ของ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ILINK) ตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ? (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้ง โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในการให้บริการวงจรสื่อสารข้อมูลผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสง ตลอดจนผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ และฐานรายได้ประจำของบริษัทที่มีขนาดใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนบางส่วนจากความไม่แน่นอนและความผันผวนของธุรกิจโครงการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey Project) และการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้วยเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในการให้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสง
บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการรายหลักในธุรกิจวงจรสื่อสารและการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสงในประเทศไทย โดยความได้เปรียบทางการแข่งขันของบริษัทมาจากการมีโครงข่ายใยแก้วนำแสงที่ครอบคลุมกว้างขวาง รวมถึงคุณภาพของเครือข่ายและการให้บริการที่ดี คณะผู้บริหารและวิศวกรที่มีประสบการณ์ และการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า บริษัทติดตั้งโครงข่ายใยแก้วนำแสงซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักตลอดแนวเส้นทางรถไฟและทางหลวงทั่วประเทศไทย และให้บริการเชื่อมต่อวงจรสื่อสารคุณภาพสูงแก่ลูกค้าด้วย ซึ่งจุดแข็งดังกล่าวทำให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องและเข้าร่วมในโครงการโทรคมนาคมของภาครัฐที่เกี่ยวเนื่องกับสายใยแก้วนำแสงหลากหลายโครงการ
ขยายฐานรายได้ประจำอย่างต่อเนื่อง
รายได้จากธุรกิจให้บริการโครงข่ายวงจรสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง (Data Service Business) และจากธุรกิจการให้บริการพื้นที่ศูนย์ข้อมูล (Data Center Business) ถือเป็นแหล่งที่มาของรายได้ประจำ (Recurring Income) ที่สำคัญของบริษัท โดยรายได้จากธุรกิจทั้ง 2 ประเภทนี้คิดเป็นสัดส่วนรวม 55% ของรายได้รวมของบริษัท ทั้งนี้ รายได้ประจำของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวมาอยู่ที่ระดับ 1.4 พันล้านบาทในปี 2564 จากระดับ 600 ล้านบาทในปี 2560 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ประจำของบริษัทจะเติบโตต่อไปเนื่องจากบริษัทมีจุดแข็งที่สำคัญคือโครงข่ายใยแก้วนำแสงที่ครอบคลุมกว้างขวางและคุณภาพการให้บริการที่ดีซึ่งจะช่วยให้บริษัทเข้าถึงลูกค้าใหม่ ๆ ได้มากยิ่งขึ้นและสามารถชนะประมูลโครงการใหม่ ๆ
บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีและสามารถคงสถานะทางการแข่งขันในตลาดให้บริการผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสงมาได้ ทั้งนี้ รายได้จากธุรกิจ Data Service ในช่วงปี 2559-2564 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ที่ระดับประมาณ 27% การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ได้ทำให้บริษัทเอกชนและหน่วยงานภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีรวมถึงการเชื่อมต่อเครือข่ายมาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบการสื่อสารและขั้นตอนการทำงาน ซึ่งส่งผลให้มีอุปสงค์ในการใช้บริการสื่อสารข้อมูลเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2564 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจ Data Service ที่ระดับ 1.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2563 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นและรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล
ในขณะที่รายได้จากธุรกิจ Data Center นั้นค่อนข้างคงที่โดยอยู่ที่ระดับ 85-95 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากลักษณะของสัญญาของลูกค้าส่วนมากที่เป็นสัญญาระยะยาว
รายได้โครงการมาจากโครงการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ
บริษัทได้ดำเนินธุรกิจให้บริการติดตั้งโครงข่ายโทรคมนาคม (Installation Business) ขนาดใหญ่โดยใช้ความเชี่ยวชาญในการให้บริการวงจรสื่อสารข้อมูลรวมทั้งการติดตั้งและซ่อมบำรุงสายเคเบิลใยแก้วนำแสงที่บริษัทมีมาพัฒนาต่อยอด โดยธุรกิจ Installation นั้นครอบคลุมทั้งการติดตั้งโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสง การให้บริการซ่อมบำรุง และโครงการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology -- IT) เนื่องจากธุรกิจ Installation ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นลักษณะโครงการที่รายได้เกิดขึ้นตามความสำเร็จของโครงการ ดังนั้น รายได้จากธุรกิจนี้จึงมีความผันผวนสูงกว่ารายได้จากธุรกิจ Data Service และธุรกิจ Data Center โดยในปี 2564 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจ Installation อยู่ที่ระดับ 1.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระดับ 800 ล้านบาทในปี 2563 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 44% ของรายได้รวมของบริษัท
ธุรกิจ Installation นั้นขึ้นอยู่กับโครงการภาครัฐซึ่งเกี่ยวข้องกับงบประมาณด้าน IT และการประมูลงานของหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ โครงการ IT เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเกิดความล่าช้าในการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ หลายประการ โดยการดำเนินงานมักประสบกับปัญหาต่าง ๆ เช่น ความล่าช้าในการก่อสร้างหรือในขั้นตอนการชำระเงินและบางครั้งก็ขาดความต่อเนื่องของงบประมาณด้าน IT ของหน่วยงานภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ารัฐบาลไทยยังคงมีความพยายามที่จะยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT ของประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไป เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทได้ขยายงานสู่โครงการใหม่ ๆ ที่สร้างการเติบโตของรายได้ เช่น โครงการอากาศยานไร้คนขับ (Drone) และโครงการอุปกรณ์ต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Anti Drone) รวมถึงโครงการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เช่น การติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด และโครงการเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงจำนวนโครงการที่มีอยู่ในแผนและการขยายเข้าสู่โครงการใหม่ ๆ แล้ว ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับรายได้จากธุรกิจ Installation เอาไว้ได้
มูลค่างานที่ยังไม่ได้ส่งมอบช่วยสนับสนุนรายได้
ณ สิ้นปี 2564 บริษัทมีสัญญางานที่อยู่ระหว่างการพัฒนาที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) มูลค่ารวมเกือบ 3.5 พันล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 70% เป็นงานในธุรกิจ Data Service และธุรกิจ Data Center ส่วนที่เหลือเป็นงานในธุรกิจ Installation และโครงการโทรคมนาคมอื่น ๆ โดยมูลค่างานในมือประมาณ 2 พันล้านบาทคาดว่าจะรับรู้เป็นรายได้ในปี 2565 และอีกประมาณ 1.5 พันล้านบาทจะรับรู้เป็นรายได้ในระหว่างปี 2566-2568 ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าสัญญาให้บริการที่กำลังจะหมดอายุในช่วง 1-3 ปีข้างหน้าจะได้รับการต่อสัญญาต่อไป นอกจากนี้ บริษัทยังมีเป้าหมายที่จะเข้าประมูลงานโครงการภาครัฐเพิ่มเติมซึ่งจะทำให้บริษัทมี Backlog เพิ่มมากยิ่งขึ้นและจะช่วยสนับสนุนรายได้ในอนาคต
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้อยู่ที่ 2.9-3.2 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567 เมื่อพิจารณาจากอุปสงค์การเข้าถึงการเชื่อมต่อข้อมูลและอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โครงการพัฒนาระบบ IT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่อยู่ในแผนดำเนินการ และโอกาสทางธุรกิจในอนาคต
ขยายสู่ธุรกิจออกแบบและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์
เมื่อไม่นานมานี้บริษัทได้ประกาศแผนในการขยายเข้าสู่ธุรกิจออกแบบและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ (IT Solutions) ผ่านการซื้อกิจการของ บริษัท เวทเธอเรีย อี จำกัด ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 51% ใน บริษัท บลู โซลูชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทจะจ่ายชำระการทำธุรกรรมมูลค่ารวม 153 ล้านบาทดังกล่าวด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ของบริษัท
บริษัทบลู โซลูชั่น ประกอบธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ระบบ IT และให้บริการแบบครบวงจรซึ่งรวมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจ โดยบริษัทมีรายได้ที่ระดับ 181 ล้านบาทในปี 2563 ทริสเรทติ้งคาดว่าการควบรวมกิจการในครั้งนี้จะทำให้เกิดการผสานพลังทางธุรกิจจากการประหยัดต้นทุนและการเพิ่มฐานรายได้เมื่อบริษัททำการควบรวมกิจการแล้วเสร็จและประสบความสำเร็จในการผสานธุรกิจภายหลังจากการควบรวม
มีความสามารถในการทำกำไรที่ดี
การที่บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีนั้นเกิดจากการมีฐานรายได้ประจำที่เพิ่มสูงขึ้นและการควบคุมต้นทุนที่รอบคอบ ทั้งนี้ เนื่องจากต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่ ดังนั้น รายได้ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยทำให้อัตรากำไรปรับตัวดีขึ้น โดยบริษัทมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 40%-46% ในช่วงปี 2563-2564 จากระดับ 31%-37% ในอดีต
นอกจากนี้ บริษัทยังมีอัตรากำไรที่ดีในสายธุรกิจหลักแต่ละประเภทอีกด้วย โดย EBITDA Margin ในธุรกิจ Data Service อยู่ที่ระดับ 50%-60% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ในธุรกิจ Data Center นั้นอยู่ที่ระดับ 50%-55% ส่วนธุรกิจ Installation นั้น บริษัทรักษาอัตรากำไรได้ที่ระดับประมาณ 15%-20%
ในช่วง 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ประจำรวมถึงความพยายามในการปรับปรุงการใช้สินทรัพย์ของบริษัทจะสามารถรองรับต้นทุนการดำเนินงานคงที่ที่อยู่ในระดับสูงได้และจะช่วยทำให้อัตรากำไรมีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะบริหารจัดการต้นทุนของธุรกิจใหม่อย่างระมัดระวังโดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรโดยรวม โดยในช่วงปี 2565-2567 ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA Margin ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 35%-40% อีกทั้งยังคาดว่าอัตรากำไรจากโครงการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จที่บริษัทได้งานเข้ามาใหม่จะอยู่ที่ระดับประมาณ 15%-20% ในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย
ภาระหนี้จะค่อย ๆ ลดลง
บริษัทมีกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้และภาระหนี้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ในมุมมองของทริสเรทติ้ง โดยในปี 2564 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA อยู่ที่ระดับ 4.6 เท่า รวมทั้งมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ที่ระดับ 16.3% และมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับ 62%
ในช่วง 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าระดับภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะค่อย ๆ ลดลง เนื่องจากบริษัทได้มีการติดตั้งโครงข่ายหลักครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว ดังนั้น เงินลงทุนในอนาคตของบริษัทจึงเป็นไปเพื่อการเชื่อมต่อโครงข่ายไปยังลูกค้าปลายทางเป็นหลัก โดยทริสเรทติ้งคาดว่าเงินลงทุนโดยรวมของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาทในช่วงปี 2565-2567 และเมื่อพิจารณาจากกระแสเงินสดที่เติบโตขึ้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นเงินลงทุนในบางส่วน โดยทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 1-1.2 พันล้านบาทต่อปีในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วต่อ EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 4.2 เท่าในปี 2565 และจะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3.5 เท่าในช่วงระหว่างปี 2566-2567 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะอยู่ในช่วง 17%-23% ในระหว่างปี 2565-2567
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) ชุดใหม่คือ ITEL-W3 และได้สำรองหุ้นใหม่ไว้สำหรับการใช้สิทธิในใบสำคัญแสดงสิทธิ ดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งใบสำคัญแสดงสิทธิ ITEL-W3 จะหมดอายุในเดือนเมษายน 2566 ซึ่งหากผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิมีการใช้สิทธิเพื่อซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนก็จะช่วยทำให้ฐานทุนของบริษัทแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะใช้เงินที่ได้รับจากการใช้สิทธินี้ไปชำระหนี้ที่มีอยู่และใช้สนับสนุนการดำเนินงานของบริษัท
ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีหนี้สินรวมทั้งสิ้นที่ระดับ 4 พันล้านบาท ซึ่งประมาณ 1.75 พันล้านบาทเป็นหนี้เงินกู้โครงการซึ่งมีการโอนสิทธิ์รับเงินไปที่เจ้าหนี้โครงการ (Project loans) และหนี้ที่มีหลักประกัน เนื่องจากบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่มีสิทธิ์ได้รับชำระก่อน (Priority Debt) ต่อหนี้ทั้งหมดของบริษัทอยู่ที่ระดับ 44% ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50% ตามที่กำหนดไว้ใน ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้? ของทริสเรทติ้ง ในการนี้ ทริสเรทติ้งจึงเห็นว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทไม่มีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญในการเรียกร้องค่าทดแทนจากสินทรัพย์ของบริษัท
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบไปด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 275 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2564 รวมถึงวงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกเกือบ 1 พันล้านบาท และคาดว่าจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอีกประมาณ 750-800 ล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทยังคาดว่าจะได้รับเงินสดจำนวนประมาณ 750 ล้านบาทจากการขายสินทรัพย์ Data Center เข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust ? REIT) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 นี้อีกด้วย
บริษัทจะใช้เงินทุนสำหรับการลงทุนที่จำนวน 300-400 ล้านบาทต่อปีและจะใช้สำหรับชำระหนี้สินทางการเงินที่จะครบกำหนด โดย ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีภาระหนี้ระยะสั้นมูลค่า 2.25 พันล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้เงินกู้โครงการที่จะต้องชำระคืนสถาบันการเงินเมื่อโครงการแล้วเสร็จ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงความสามารถของบริษัทในการดำเนินโครงการและสถานะเครดิตของเจ้าของโครงการแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้วงเงินกู้ใหม่เพื่อทดแทนวงเงินกู้ระยะสั้นเดิมได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน บริษัทยังมีหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดในปี 2565 อีกจำนวนประมาณ 524 ล้านบาทอีกด้วย
ข้อกำหนดทางการเงินที่บริษัทมีกับธนาคารระบุให้บริษัทต้องคงระดับอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนทุนไม่ให้เกิน 2.5 เท่าและอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Coverage Ratio ? DSCR) มากกว่า 1.2 เท่า ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2564 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 1.36 เท่าและ 1.53 เท่าตามลำดับ ในการนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขของข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวตลอดช่วงเวลาประมาณการได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จะอยู่ในช่วง 2.9-3.2 พันล้านบาทต่อปีในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า
? EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 35%-37% ในระหว่างปี 2565-2567
? เงินลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันและมีผลการดำเนินงานที่ดีในธุรกิจ Data Service รวมทั้งยังจะได้รับสัญญาโครงการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จใหม่ ๆ สำหรับธุรกิจ Installation อีกทั้งยังคาดว่าผลการดำเนินงานและระดับการก่อหนี้ของบริษัทจะยังคงสอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้งอีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากผลการดำเนินงาน ตลอดจนกระแสเงินสด และสถานะทางการเงินของบริษัทและกลุ่ม ILINK ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทและของกลุ่มถดถอยลงอย่างมาก ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจเปลี่ยนแปลงได้ด้วยเช่นกันในกรณีที่สถานะทางการเงินของ ILINK หรือสถานะของบริษัทที่มีต่อกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) (ITEL)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable